Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดแถลงข่าวสาธารณะ "สรุปวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มองอนาคตการเมืองไทยไปอย่างไรต่อปีหน้า" วิพากษ์ความล้มเหลวรัฐบาลส่งท้ายปี มองการเมืองไทยปีหน้ามีระเบิดเวลารอหลายลูก

26 ธ.ค. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดแถลงข่าวสาธารณะ "สรุปวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มองอนาคตการเมืองไทยไปอย่างไรต่อปีหน้า" ที่โรงแรมมณเทียรริเวอร์ไซด์ ถ.พระราม 3 นำแถลงโดย  นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ปรึกษา ครป. นายปรีดา เตียสุวรรณ์  ที่ปรึกษา ครป. นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง  รองประธาน ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล  รองประธาน ครป. ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์  กรรมการ ครป. เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) นายสาวิทย์ แก้วหวาน  กรรมการ ครป. อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเมธา มาสขาว  เลขาธิการ ครป.

นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงว่า 10 จุดบอด ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นเหตุผลสำคัญว่าไม่สามารถบริหารประเทศได้คือ 1. ล้มเหลวในการปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (2557 - รธน. 2560 - ปัจจุบัน) กรณีบอส กระทิง แดง ผกก.โจ้ เสี่ยโจ้ ร่างกฎหมายไปไม่ถึงไหน ฯลฯ

2. ความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปิดกว้าง
ประชาชนทุกข์ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ได้เอ่ยอ้างไว้

3. ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ คอรัปชั่น ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก กรณีนักการเมืองในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล) ทั้งยังขาดธรรมาภิบาล จริยธรรมทางการเมือง แม้ว่าจะอวดอ้างว่า รธน. 2560 นั้นเป็น "ฉบับปราบโกง"

4. ล้มเหลวในการยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วาระแห่งชาติ ที่เคยประกาศ แต่ไม่มีผลในความคืบหน้าใดๆ ไม่ยึดหลัก Non Refoulement อันเป็นสาระสำคัญของหลักมนุษยธรรมสากล ด้วยการผลักดันกลับผู้อพยพ ลี้ภัยทางการเมือง อย่างไม่ใยดี 5. ล้มเหลวในกิจการต่างประเทศ ภารกิจในทางสากล ท่าทีคบคิดกับเผด็จการทหารของพม่า ท่าทีต่อการประชุม COP26 ท่าทีต่อการร่วมประชุมผู้นำทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (HLPF@SDG 2030 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564) และต่อที่ประชุม UPR คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council เมื่อเดือนตุลาคม 2564)

6. ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน สิทธิของผู้บริโภค เอื้ออำนวยให้บรรษัททุนขนาดใหญ่มีการควบรวมกิจการ ทั้งด้านโทรคมนาคม ด้านการอุปโภคบริโภค ฯลฯ และจะนำมาซึ่งการผูกขาด ถือเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง ท่าทีที่เพิกเฉยในกาจัดการปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็เออำนวยให้ทุนใหญ่ได้เติบโตมายิ่งขึ้น จึงเป็นการขัดกับหลัก "ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ" ที่รัฐพึงยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

7. ล้มเหลวในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม การผลักดัน ร่าง กฎหมายเพื่อควบคุมองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ถือเป็นการ "ถอยหลังเข้าคลอง" "จมดิ่งสู่ก้นเหว" ทั้งที่ในทางสากล ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติรับรองการปฏิบัติหน้าที่ และคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ซึ่งประเทศไทยก็ได้ให้ความเห็นชอบด้วย นอกเหนือจากนี้วาระการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ก็
จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและแรงหนุน และการเป็นหุ้นส่วนทางสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งรวมทั้งองค์การพัฒนาเอกชน องค์การสาธารณประโยชน์ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวถูกติติงจาประชาคมระหว่างแประเทศแล้วว่า เป็นการสวนทางกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแท้

8. ล้มเหลวในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ - รัฐบาลที่จริงใจ และชาญฉลาดย่อมไม่ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวรุนแรงในการจัดการปัญหาที่ละเอียดอ่อน สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม รัฐบาลเพิกเฉยในการสร้างความเข้าใจ แต่กลับใช้มาตรการที่รุนแรง และมาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องร้องคดี ปิดปากเยาวชนประชาชนผู้เห็นต่าง ที่ตกเป็นจำเลยในคดีความอาญาต่างๆ จำนวนมาก 9. ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ทั้งที่รัฐสามารถใช้มาตรการที่สร้างสรรค์ ถ้อยที ถ้อยอาศัย ปรึกษาหารือให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่การปรองดอง และความยุติธรรม - การปราบปราม การสลายการชุมนุมโดยไม่ยึดถือแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในทางสากล จับกุมคุมขัง ใช้มาตรกาทางกฎหมาย กับเด็กเยาวชน ทั้งบางรายอายุยังไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำ จนทำให้ถูกติเตียนโดยประชาคมระหว่างประเทศ เสียภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของชาติอย่างรุนแรง น่าเป็นห่วงว่าหากความโกรธ เกลียดชังระหว่างกลุ่มชนขยายตัวไปเกิดความรุนแรงมากกว่านี้ อาจเกิดโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับ กรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็อาจเป็นไปได้ จึงขอเตือนไว้มา ณ ที่นี้

10. ล้มเหลวในการสร้างธรรมาภิบาล และยึดถือหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ ด้วยการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พรบ.คุ้มครองคนหายและต่อการกาซ้อมทรมาน ร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ ร่าง พรบ.องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่รัฐมีอคติ จึงต้องการตรวจสอบกลุ่มองค์กรเหล่านี้ที่อาจมีความเห็นต่างจากรัฐบาล ในข้อหาฟอกเงิน กระทบต่อความมั่นคง ฯลฯ ถือเป็นการต่อต้านการมีส่วนร่วมของสังคม ขาดจริยธรรมทางการเมืองและสังคม โดยแจ้งชัด

"10 ประการ ดังที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า นายประยุทธ์ จันทร์ โอชา ขาดคุณสมบัติ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดจริยธรรม ขาดเจตจำนงทางการเมือง ขาดความสามารถ และขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไป" นายบุญแทนกล่าว

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า รัฐบาลพยายามจะรักษาอำนาจให้ครบวาระ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หมดคุณค่าและไม่สามารถเป็นเสาหลักของชนชั้นนำได้อีกแล้ว เพราะการสำรวจของนิด้าโพลเมื่อต้นปีที่ผ่านมาความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ จาก 29% ปัจจุบันอยู่แค่ 19ู% ซึ่งเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด

ปรากฎการณ์เลือกตั้งซ่อมทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลพยายามช่วงชิงส่งผู้สมัคร ทั้งที่เมื่อก่อนจะไม่แข่งขันกันเอง เพื่อเอาเป็นฐานสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป และความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเองที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อคุมการนำภายในพรรคได้ ซึ่งแสดงให้เห็นการเล่นเกมอำนาจท่ามกลางความขัดแย้งและระส่ำระสายภายใน นอกจากนั้นปรากฎการณ์สภาล่มที่ล้มครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในการกำกับ ส.ส.ในสังกัดของตนเอง แสดงว่าพลังของพล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป.อ่อนล้าลงทุกขณะ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปีหน้า จะแสดงว่ารัฐบาลเอาอยู่หรือไม่ หรือจะยุบสภากลางปีหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่จะถูกขับไล่โดยสภา นอกจากนั้นยังมีเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณด้วยที่อำนาจอยู่ที่ ส.ส. รวมถึงข้อเสนอปลดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ออกไปนั้น ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจหมดลง แต่รัฐบาล 3 ป.จะยินยอมหรือไม่ เพราะจะเป็นจุดจบของตนเอง หรือจะยกมือล้มข้อเสนอนี้ตั้งแต่วาระแรก

"ผมคิดว่ากุนซือของรัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ถ้าฉลาดมากพอในการหาทางออกจากวิกฤตการเมือง และชนชั้นนำควรจะตระหนักว่าสติปัญญาของพล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานในการสร้างการยอมรับทางสังคมและจะสร้างความอับอายให้ชนชั้นนำเอง" นายพิชายกล่าว

นายปรีดา เตียสุวรรณ์  ที่ปรึกษา ครป. และนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ รวบอำนาจเข้ามาส่วนกลางสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยจนชื่อเสียงของเราถอยหลังลงในฐานะประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยล่าสุดไม่ได้รับการเชิญไปร่วมประชุมประเทศประชาธิปไตยโลก แสดงว่าเกรดของไทยตกต่ำลง

"ผมในฐานะนักธุรกิจของไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ในฐานะธุรกิจที่ต้องค้าขายกับโลก แต่ต่างชาติเขาก็มองที่ประเทศต้นทาง วันนี้มีคำกล่าวว่า ทุกเรื่องรัฐบาลประยุทธ์ยึดอำนาจมาที่ส่วนกลางหมด ยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องขยะที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทำ"

ปัญหาเรื่องโลกร้อนที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลกนั้น เกี่ยวพันกับปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ ที่แก้ปัญหาได้โดยการกระจายอำนาจออกไปให้แต่ละพื้นที่ ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของตนเองในท้องถิ่น สิ่งที่รัฐบาลทำมาหลายปีกลับค้านกระแสการพัฒนาของโลกที่ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาโลกร้อนร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ยี่ห้อของประเทศไทยมัวหมอง ทั้งเรื่องภาวะโลกร้อนและความเป็นประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่สำคัญการผูกขาดอำนาจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ได้ส่งเสริมให้มีเกิดเศรษฐกิจผูกขาดด้วย โดยทำร้ายประเทศให้มีการผูกขาดของกลุ่มทุนในตลาด และปิดโอกาสของรายเล็กรายน้อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย ไม่ได้รับโอกาสเข้าสู่ตลาดเพราะถูกผูกขาดหมดแล้ว  7 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นเลย ประชาชนถูกดูดเงินจนลงเรื่อยๆ และรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศถูกดูดเข้าสู่กระเป๋าของกลุ่มทุนถูกขาด

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา คสช.สถาปนาตนเองเป็นรัฐฎาธิปัตย์ แต่ปัญหาต่างๆ กลับไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลที่มีอำนาจมากมาย รวมถึงรัฐบาลที่ต่อเนื่องจาก คสช. ก็ล้มเหลวไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้ วันนี้ทุกสถาบันในประเทศไทยเกิดวิกฤตศรัทธาอย่างกว้างขวางจากประชาชน แทนที่รัฐบาลจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กลับใช้อำนาจทางกฎหมายและกำลังปราบปรามปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ซึ่งตนขอยกย่องแกนนำราษฎร เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

"กลไกที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 60 ส้รางปัญหาให้ประเทศไทย ผมขอประณามคนที่ร่างรัฐธรรมนูญขนาดนี้ที่สร้างปัญหา แม้แต่รัฐสภาก็ยังไม่สามารถใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขปัญหาได้ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วยที่วินิจฉัยคดีต่างๆ โดยไม่ได้เป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม จึงรู้สึกเป็นห่วงว่าทุกสถาบันกำลังเสื่อมถอย เสื่อมศรัทธา อาจเกิดภาวะล้มละลายได้ และอาจเกิดความรุนแรงทางสังคมในอนาคต" นายสมชายกล่าว

ปัญหาเกิดจากการผูกขาดอำนาจ ซึ่งคนรุ่นตนพูดถึงนายทุน ขุนศึก ศักดินา และวันนี้ก็มีการพูดถึงกันอีกครั้งอยากชัดเจน ซึ่งเป็นโจทย์เก่าการเมืองไทยที่ยังดำรงอยู่ และกระจายไปสู่ท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างการพัฒนาแบบนี้ ที่กลุ่มทุน ขุนศึก ศักดินา มากำหนดอนาคตของท้องถิ่นภายใต้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นกรณีจะนะและที่อื่นๆ ซึ่งกลุ่มทุน ขุนศึก ศักดินา จะไม่สามารถปิดกั้นหยุดยั้งการเติบโตของประชาชนและประชาธิปไตยได้อีกต่อไป แม้ว่าวันนี้จะมีการออกกฎหมายควบคุมประชาชนต่างๆ มากมาย 

ในอนาคตปีหน้า มีโอกาสอย่างสูงที่จะเกิดวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเกิดจากวิกฤตศรัทธาในปีนี้ต่อสถาบันต่างๆ ทางสังคม ซึ่งกำลังเกิดการปฎิรูปทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ในหมู่ประชาชน และจะเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงในปี 2565 ไม่ว่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในปี 2565 หรือไม่ก็ตาม ขอให้ประชาชนร่วมกันติดตามกลโกงของผู้มีอำนาจจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคหรือการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือการล้มทั้งกระดาน ซึ่งกำลังจะมีการปั่นกระแสความขัดแย้ง สร้างบรรยากาศของขั้วข้างทางการเมืองเพื่อสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน 

"บทเรียนความขัดแย้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เป็นประโยชน์ที่สร้างสรรค์กับสังคมไทยเลย ประชาชนจะต้องรู้เท่าทันผู้มีอำนาจเหล่านั้น เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดเพื่อการเปลี่ยนแปลง" นายสมชายกล่าว

นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง  รองประธาน ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และรองประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ปีหน้าจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เรื่องแรก การเมืองที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานและทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อพี่น้องแรงงานทุกระบบทั้งเกษตรกร แม้แต่ผู้ประกันตนตามตรา 40 ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาการประกันการว่างงานแต่ไม่ได้รับการตอบสนองนอกจากการจะให้ลดเงินสมทบ 6 เดือน รัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ปัญหาโครงสร้าง ดังนั้นการเมืองเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนไม่ดีขึ้นเลย ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นอันดับหนึ่งไปแล้ว

สอง การเมืองว่าด้วยการเพิกเฉยและละเลยข้อเสนอของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย เรื่องข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและรัฐสภา การยกเลิกการสืบทอดอำนาจและอำนาจ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมายกมือให้นายกรัฐมนตรี ข้อเสนอของประชาชนถูกปัดตกในรัฐสภาและจะเป็นระเบิดเวลาในปี 2565 แน่นอน แม้แต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ถูกสภาตีรวนบ่ายเบี่ยง จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตีความไปในทางไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งจะเข้า ครม.ในวันอังคารนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นระเบิดเวลาที่ขัดแย้งกันระหว่างประชาชนและรัฐบาล

นอกจากนี้ยังมีการซื้อเวลาโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีจะนะ นาบอน และบางกลอย โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาและไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง เพราะคนในรัฐบาลมีส่วนในโครงการต่างๆ

สาม การเมืองเรื่องภาพลักษณ์และความสง่างามในเวทีระหว่างประเทศ กรณีจุดยืนไทยในปัญหาพม่า ซึ่งหลายเรื่องดูขัดแย้งกับจุดยืนอาเซียนในการส่งเสริมประชาธิปไตยในภูมิภาค หากพล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ ประเทศไทยก็ไม่สามารถรักษาเกียรติภูมินี้ไว้ได้ ปัญหารายงาน UPR ที่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ทักท้วงมาหลายข้อยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและการชุมนุม ที่รัฐบาลคุกคามประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โทษประหารชีวิตยังดำรงอยู่โดยไม่มีการทบทวน และมีการสั่งประหารชีวิตในยุคพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งๆ ที่ไม่มีการประหารมากว่า 9 ปีแล้ว

"ในเวที COV26 พล.อ.ประยุทธ์ทำไทยขายหน้าชาวโลกมาแล้วจากการลอกสปีช และเวทีเอเปคในปลายปี 2565 นี้ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ ก็หวั่นเกรงว่าเขาจะทำให้ประเทศไทยจะสูญเสียเกียรติภูมิของชาติอีก มีวิธีเดียวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญไทยในปีหน้าเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ" นางสุนทรีกล่าว

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธาน ครป. ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ กำลังรักษาสถานะเดิมโดยใช้วิธีการสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยังคงเป็นวิธีการที่ล้าหลังแบบเก่าเดิม เช่น หนึ่ง การทำลายสถาบันการเมืองหรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม สอง การทำลายรัฐธรรมนูญ และสาม การทำลายศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้ผูกพันกับทุกองค์กร แต่ปัจจุบันถูกทำให้ไม่ถูกยอมรับเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญขาดความเป็นอิสระทางการเมืองอย่างแท้จริง

ปัญหาหลักในปัจจุบันคือการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอ่อนแอลง การขาดความต่อเนื่องของการเลือกตั้งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปเยอะมาก ถูกจำกัดการจัดสรรเงินอุดหนุนประจำปีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถ่ายโอนงบประมาณไม่พอยังจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินสำรองมาใช้ผ่านโครงการที่ควรเป็นขององค์กรการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดเป็นอุปสรรคในการพัฒนาและการกระจายอำนาจไปให้ประชาชน

"การทำลายความเข้มแข็งและการรวมตัวของประชาชนผ่านกฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อควบคุมการรวมกลุ่มทางสาธารณะของประชาชน ทั้งที่การทำงานของเขาชดเชยความบกพร่องของรัฐด้วยซ้ำ กฤษฎีกาของไทยก็ล้มเหลวรัฐประโยชน์ไปแล้ว การที่รัฐบาลใช้วิธีแบบฟาสซิสต์โบราณเหมือนในอดีตไปกดหัวประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนตื่นตัวยิ่งขึ้นในอนาคต ชนชั้นนำของประเทศไทยพยายามกันประชาชนออกเพื่อเสวยสุขต่อเนื่องไป ช่องว่างของผลประโยชน์และอำนาจนี้จะยิ่งหนักขึ้นไปอีกและน่าห่วงใยอย่างยิ่ง" นายศักดิ์ณรงค์กล่าว 

นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์  กรรมการ ครป. เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) กล่าวว่า ปัญหาประเทศไทยยังวนเวียนอยู่ที่เรื่องรัฐธรรมนูญ และเรื่องกระจายอำนาจ โดยเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ประชาชนต้องการกำหนดอนาคตตนเอง
 
แต่ที่ผ่านมาเราได้ระบบธนาธิปไตย ที่เงินเป็นใหญ่ในการเลือกตั้งทุกระดับ แม้ว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาจำนวนมาก แต่การเมืองไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงสูงในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และมีนัยว่าเงินไม่ใช้ตัวกำหนดการลงคะแนนอีกต่อไป

"ปีหน้านี้จะมีการเลือกตั้ง กทม. ซึ่งมีผู้ว่ากทม.มาจากการแต่งตั้งตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งควรมีการเลือกตั้งนานแล้ว และการเลือกตั้งกทม.จะเป็นตัวชี้สำคัญ และค่านิยมของรัฐบาลตกต่ำลงใช่หรือไม่จะถูกเลื่อนลงไปเรื่อย แต่ประชาชนจะต้องลุกขึ้นทวงอำนาจและตรวจสอบผู้ว่ากทม. เพื่อให้การพัฒนาของกทม.มีความหวังขึ้น และปีหน้านี้ควรจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งโจทย์คือทำอย่างไรให้การเลือกตั้ง ส.ส.มาจากเจตจำนงค์ของประชาชนอย่างแท้จริงที่สะท้อนออกในนโยบายสาธารณะ ตามที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้เพราะหลายพรรคการเมืองไม่ได้ทำตามนโยบายสาธารณะ อย่าปล่อยให้นโยบายเป็นเพียงสิ่งที่หลอกลวงประชาชนและเป็นภาพฝันที่หลงลืม โดยไม่มีการตรวจสอบ" นางสาวลัดดาวัลย์กล่าว

นายสาวิทย์ แก้วหวาน กรรมการ ครป. อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ปัญหาหลักของประเทศไทยคือการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการเลยนอกจากทำเรื่องบัตร 2 ใบเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ช่องว่างการกระจายอำนาจห่างกันหลายสิบเท่าจนน่าตกใจ โดยเฉพาะการเอื้อทางนโยบายให้เอกชนมาถือครองทรัพย์สินสาธารณะเกิน 50% ซึ่งทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ

แต่วันนี้กลุ่มทุนผูกขาดเข้ายึดครองผูกขาดตลาดทั้งในทุ่งนาการเกษตรไปจนถึงในห้างสรรพสินค้า น่าแปลกที่ข้าวสารราคาแพงแต่ข้าวเปลือกของชาวนาราคาถูก นี่คือปัญหาทางโครงสร้างที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ที่ส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรอื่นๆ เป็นลูกโซ่ แต่รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรความเป็นธรรมได้ กิจการของรัฐทั้งหมดในเวลานี้ ทั้งบนดิน ใต้ดิน ซึ่งสร้างมาจากภาษีประชาชนทั้งหมด วันนี้กำลังยกให้เอกชนทั้งหมด ทั้งรถไฟบนดิน ใต้ดิน แอร์พอร์ทลิ้ง ระบบขนส่งทางราง ไปจนถึงองค์การสุราที่เหลือแค่การผลิตแอลกอฮอล์

พล.อ.ประยุทธ์ ทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ใครที่ต่อต้านต้องมาโดนคดีมากมาย วันนี้คนงานถูกเลิกจ้างมากมายโดยนายจ้างอ้างเหตุสุดวิสัยจากวิกฤตโควิดจึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งไปตกเป็นภาระประกันสังคม โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการแชดเชยเยียวยาแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม 

"ผมวิจารณ์รัฐบาลทุกรัฐบาล แต่ปัญหาในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หนักที่สุด มีผลกระทบด้านสังคมมหาศาล ปีหน้าสถานการณ์จะทรุดลงกว่าเดิมและน่าเป็นห่วง จึงไม่อาจคาดหวังอะไรไม่ได้เลยจากรัฐบาลปัจจุบัน องค์กรตรวจสอบก็ไม่ทำงาน การทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยังดำรงอยู่มากมายทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่คาดหวังจากประชาชนที่ต้องรวมพลังดูแลตัวเองและร่วมกันกำหนดทิศทางเพื่อการเปลี่ยนแปลง" นายสาวิทย์กล่าว 

นายกษิต ภิรมย์ฺ ที่ปรึกษา ครป. และอดีตรัฐมนตรีการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาประเทศไทยตอนนี้มี 9 เรื่อง  1.  สังคมไทยอยู่ในสภาวะของการรักษาฐานันดรเดิม (Status Co) คือไม่ประสงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปโฉมสังคมไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยและมีความทันสมัยยิ่งขึ้น 2.  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันประกอบด้วย ฝ่ายราชการทหาร พลเรือน ฝ่ายพรรคการเมืองและนักการเมือง ฝ่ายธุรกิจระดับสูง และชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีความได้เปรียบทางสังคม ครอบครองและครอบงำกลไกและวิถีชีวิตทางการเมือง อาทิ การไม่แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ

3.  การบริหารราชการเต็มไปด้วยนโยบายและมาตรการประชานิยม ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างคะแนนนิยมและฐานเสียงมากกว่าการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจัง  การกู้หนึ้อย่างมากมายมหาศาลเพื่อตอบสนองนโยบายประชานิยม เป็นการหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่รากฐาน และเป็นการโยนภาระไปให้อนุชนรุ่นหลังอย่างไม่ถูกต้อง 4.  การบริหารราชการโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี เต็มไปด้วยคำว่า "ผมได้สั่งการ" แต่ขาดการบอกกล่าวเกี่ยวกับวิธีการ และบรรดารัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง จะพูดอะไรก็ต้องเริ่มด้วยวลีที่ว่า "ท่านนายกว่าอย่างโน้นอย่างนี้" แล้วก็ไม่มีรายละเอียดใดๆ

5.  ผู้นำประเทศต้องพูดจากับประชาชนพลเมืองทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะที่มีความเห็นต่าง ไม่ใช่นิ่งเฉย และย้อนรอยด้วยการปราบปรามและการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เป็นการตอกย้ำความแตกแยก และใฝ่หาจุดร่วม เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า 6.  สังคมไทยจึงอยู่ในความมืดมนของความอับทางปัญญา การไร้ความกล้าหาญที่จะคิดที่จะพูดและดำเนินการเพื่อประเทศชาติเป็นส่วนรวม

7.  สถานะของประเทศและการยอมรับนับถือในสายตาของประชาคมโลกตกต่ำโดยตลอด และจะยังตกต่ำต่อไปถ้ายังไม่มีการแก้ไขใดๆ โดยฝ่ายผู้นำต้องเป็นผู้เริ่มต้น เพราะมีอำนาจ พละกำลังและบารมี

8.  อีกประเด็นปัญหาหนึ่งคือ บรรดากลุ่มผู้นำทั้งหมดต้องการรักษาสถานะของตนเองไว้ให้ได้ที่สุด ไม่คิดอ่านที่จะแก้ไขใดๆ เพราะเกรงว่าจะมีผลเสียต่อสถานะความได้เปรียบของตนเอง และ 9.  ในโลกสมัยนี้การปิดบังข้อมูลข่าวสาร และการกดขี่ ก็จะกระทำได้ในระดับหนึ่งและในระยะเวลาหนึ่ง แต่มนุษย์ทุกคนใฝ่หาความยุติธรรมและความถูกต้อง  สังคมไทยก็รอเวลาที่ความแตกร้าวจะระเบิดออกมา นายกษิตกล่าว

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวสรุปการแถลงข่าวว่า ปีหน้าจะเกิดวิกฤตการณ์ในหลายด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และมีระเบิดเวลาอีกหลายลูกที่ถูกจุดโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่กลายมาเป็นคู่ความขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นระเบิดเวลาที่รัฐสภาจะร่วมหาทางออกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือกฎหมายงบประมาณต่างๆ รวมถึงระเบิดเวลาโดยรัฐธรรมนูญ และการลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนเพื่อบอกว่าพอกันที และ ครป.ขอสวัสดีปีใหม่ประชาชนไทยและเป็นกำลังใจให้คนไทยต่อสู้ต่อไป แม้เราไม่อาจคาดหวังอะไรจากรัฐบาลได้แล้ว แต่เราคาดหวังว่าประชาชนจะไม่เสื่อมศรัทธาในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net