วงเสวนาชี้หากมีเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าอย่างแท้จริง อัตราเด็กถูกทอดทิ้งจะน้อยลง

เสวนา Clubhouse ครป. 'เงินอุดหนุนเด็ก “ถ้วนหน้า”...คุณภาพชีวิตจากครรภ์มารดาที่ไม่ต้องรอถึงเชิงตะกอน' ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ชี้หากมีนโยบายเงินอุดหนุนบุตรอย่างถ้วนหน้าเป็นค่าเลี้ยงดูเด็ก อัตราที่เด็กจะถูกทอดทิ้งก็จะน้อยลงไปด้วย

9 ม.ค. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2565 ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย และคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ได้จัดกิจกรรมสนทนาบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse ครป.house ตอน เงินอุดหนุนเด็ก “ถ้วนหน้า”...คุณภาพชีวิตจากครรภ์มารดาที่ไม่ต้องรอถึงเชิงตะกอน โดยมีผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, ธนวัฒน์ พรหมโชติ ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ดำเนินการสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป.
    
วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. ได้กล่าวนำการสนทนาว่าเหตุผลที่ต้องมาพูดคุยกันในวันนี้ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติ เพราะว่านโยบายเงินอุดหนุนบุตร เกิดมาจากการผลักดันของภาคประชาสังคมจนได้เริ่มต้นในปี 2558 มาจนถึงปัจจุบัน แต่การดำเนินการนโยบายดังกล่าว ยังเป็นแบบระบบคัดกรองความยากจน ที่ใช้เกณฑ์การพิจารณาแบบไม่สอดคล้องกับบริบทความยากจนที่แท้จริงของประชาชนในสังคมไทย ทำให้มีครอบครัวที่มีบุตรเป็นเด็กในช่วงปฐมวัยได้หลุดออกไปจากการได้รับสิทธินี้เป็นจำนวนมากถึงแม้ว่าจะยากจนก็ตาม ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ได้มีมติถึง 2 ครั้งว่าให้ดำเนินนโยบายนี้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป แต่สุดท้ายนโยบายนี้ก็ยังคงเป็นนโยบายที่ดำเนินโดยคัดกรองความยากจนอย่างเดิม
    
ทั้งนี้ตนในฐานะอดีตกรรมการคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครชุดแรกของประเทศไทยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ขอย้ำว่ากลไกของกฎหมายนี้คือ “สภาเด็กและเยาวชน” อันมีตัวแทนจากเด็กและเยาวชนในภาคส่วนต่างๆ กับอีกกลไกหนึ่งคือ “กดยช.” ซึ่งเป็นเสมือนกรรมการนโยบายด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ ทั้ง 2 กลไกนี้มีความสำคัญในฐานะที่ได้ให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านเด็กและเยาวชน ทั้งนี้คณะกรรมการ กดยช. นั้นมีประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ทั้งยังมีผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเพศชายและหญิงเป็นกรรมการอีกคนละ 1 ตำแหน่งด้วย (รวมคือมีเด็ก/เยาวชนเป็นกรรมการรวมกัน 3 ตำแหน่ง) ดังนั้นเมื่อ กดยช. มีมติว่านโยบายเงินอุดหนุนบุตรควรเป็นนโยบายแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม เท่ากับว่านี่คือเสียงของเด็กและเยาวชนที่รัฐบาลพึงควรรับฟังแล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดผล 
    
สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นรองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยข้อเท็จจริงในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวผลักดันนโยบายนี้ว่าแรกเริ่มเดิมทีเราต้องการให้นโยบายนี้เป็นนโยบายแบบ “ถ้วนหน้า” คือเด็กทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทยพึงควรได้รับสิทธินี้ทันทีที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนแผ่นดินไทย ขณะที่เบี้ยผู้สูงอายุ บัตรทอง (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) นโยบายเรียนฟรี 12 ปี คนไทยได้รับสิทธิกันถ้วนหน้าไม่ถามความรวยความจน แต่ประชากรกลุ่มเด็ก 0-6 ปี กลับเป็นกลุ่มโหว่ที่หลุดจากสวัสดิการถ้วนหน้า ที่จริงเราเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของเด็กกลุ่มนี้ก่อนปี 2558 ซึ่งแรกสุดที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนบุตรเป็นการนำร่องคือช่วงอายุ 0-1 ปี เป็นเงินเดือนละ 400 บาท โดยผู้ปกครองบุตรต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 36,000 บาทต่อปีเท่านั้น จนต่อมาเริ่มเกิดกระแสสังคมมองเห็นความจำเป็นในนโยบายนี้ จึงขยายสิทธิให้แก่ผู้มีบุตรวัย 0-3ปี เดือนละ400บาท และต่อมาจึงเป็น 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ขยับเส้นความยากจนของรายได้ผู้ปกครองบุตรมาที่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เราก็เห็นว่ามันควรขยับต่อไปสู่ความเป็นสิทธิ “ถ้วนหน้า” ทั้งสื่อมวลชน ทั้งองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้มี 320 กว่าองค์กร ยื่นรายชื่อประชาชน 6,000 ชื่อไปยังรัฐบาล จนมีมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จุติ ไกรฤกษ์ มีผู้แทนหน่วยงาน มีผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยร่วมเป็นกรรมการดังที่ได้กล่าวไว้ ได้มีมติออกมาในปี 2563 ว่าต้องให้เงินอุดหนุนบุตร 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า แต่ กดยช. ก็ยังขอไปศึกษาหาข้อมูลความเป็นไปได้ก่อน จนมีมติอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ยืนยันมติเดิมโดยให้เริ่มต้นภายในปีงบประมาณ 2565 (คือเริ่มตั้งแต่1 ตุลาคม 2564) แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้ในงบประมาณปี 2565 
    
ขณะนี้มีเด็กเล็ก 0-6 ปี ประมาณ 4.2 ล้านคน ได้รับเงินอุดหนุนบุตรตามฐานเกณฑ์ปัจจุบันไปแล้วประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเท่ากับว่ามีเด็กที่หลุดจากการรับสิทธินี้ 2.2 ล้านคนโดยประมาณ ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณให้มาแล้ว 15,000ล้านบาท ขาดอีกแค่ไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ก็จะทำให้บรรลุผลตามมติ กดยช. ได้ แต่รัฐบาลก็อ้างแต่เรื่องว่าไม่มีงบเพียงพอ ทั้งที่เรื่องจริงคืองบประมาณประจำปีนี้ 3.1 ล้านล้านบาท กระทรวง พม. ได้งบประมาณแค่ 20,000ล้านบาทกว่าๆ ขณะที่กระทรวงกลาโหมได้งบถึง 203,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ควรนำนโยบายนี้มาช่วยเหลือประชาชนจริงๆเสียที แค่เพียงรัฐบาลตัดสินใจนำเงินงบกลางแบ่งกลับมา ก็จะสามารถบรรลุผลตามมติ กดยช. ได้เลย แต่รัฐบาลก็ยังกลับละเลยให้ประชากรอายุ 0-6 ปี ยังเป็นกลุ่มโหว่จากการได้รับสิ่งที่ควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้าอยู่ จนวันเด็กกันมาไม่รู้กี่รอบแล้ว งานวิชาการรองรับก็มีแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ตัดสินใจทำให้เกิดผลเสียที 
    
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินปี 2566 แล้ว ก็ยังไม่มีงบสำหรับการทำเงินอุดหนุนบุตรถ้วนหน้าอีก จึงเป็นคำถามว่ารัฐบาลจะไม่ทำตามมติ กดยช. และจะไม่ทำตามนโยบายของพรรคการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ที่แต่ละพรรคต่างก็หาเสียงเอาไว้ว่าเห็นด้วยกับเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าหรือไม่ แล้วอีกไม่นานจะเลือกตั้งกันใหม่ มาหาเสียงชูนโยบายกันอีก จะตอบประชาชนว่าอย่างไร ทั้งนี้เครือข่ายเด็กเท่ากันทั่วประเทศยืนยันจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปเพื่อเป็นสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า 
    
ธนวัฒน์ พรหมโชติ ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยในคณะกรรมการ กดยช. ในฐานะที่อยู่ในภาคนโยบายส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น (ในฐานะประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสระบุรี) ซึ่งในฐานะกรรมการ กดยช. ก็จะทำเรื่องการติดตามความคืบหน้าของนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนทั้งหมด รวมไปถึงในภาคพื้นที่ ตนก็ได้มองเห็นว่าสิ่งที่นักวิชาการและพี่ๆทุกคนที่อยู่ตรงนี้ (ในวงสนทนา) เป็นความจริง เงิน 2,000-3,000 บาท สำหรับบางครอบครัวที่ยากจนมันสำคัญขนาดนี้จริง ๆ ซึ่งถ้าตนย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กแล้วรับทราบเรื่องนี้ คงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าเมื่อไหร่จะมีสวัสดิการที่ถ้วนหน้ากับประชากรกลุ่มเด็กสักที ในรายงาน กดยช. ตนก็เห็นว่ามันมีเรื่องนโยบายเงินอุดหนุนบุตรถ้วนหน้าอยู่ แต่กลับไม่มีรายงานความก้าวหน้า ซึ่งในส่วนของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยก็ได้มีการสอบถามความคืบหน้า แต่สุดท้ายมติที่ประชุมก็ออกมาว่ารับทราบความคืบหน้า แล้วก็มีการติดตามการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ในมุมมองส่วนตัว ตนมองว่าเรื่องนี้มีความคืบหน้าช้ามาก ๆ และเรื่องมีการเรียกร้องกันในวงพูดคุยหลาย ๆ วง ก็ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิ ตนก็พร้อมจะเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องเรื่องนี้ต่อไป 
    
ในอีกมุมตนก็เห็นว่าเรายังติดขัดกับเรื่องระบบราชการที่ซับซ้อนอยู่เป็นอุปสรรค ทั้งการกระจายอำนาจที่ไม่สมบูรณ์สักทีทั้งในเรื่องเงินและเรื่องของงาน ถามว่ามันมีการกำหนดระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนโดยเป็นอำนาจของ กดยช. โดยตรง จริง ๆ ถ้าตีความแล้ว กดยช. ก็ควรสามารถทำได้เลย 
    
ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ในฐานะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกลุ่มปัญหาเด็กในครอบครัวคนยากจนในชุมชนแออัดโดยตรงและร่วมเรียกร้องนโยบายเงินอุดหนุนบุตรถ้วนหน้ามาถึงปีที่ 8 แล้ว ก็น่าตกใจว่าสวัสดิการเพื่อเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กในวัย 0-6 ปี นี้เป็นวัยที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ กลับต้องสู้มานานถึง 8 ปี และในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดเข้าสู่ปี 2 ครอบครัวจำนวนมากที่พ่อแม่ตกงาน ขาดรายได้ รวมถึงครอบครัวพ่อแม่วัยรุ่นซึ่งมีจำนวนมาก ได้มาขอถุงยังชีพ ขอนมผง ซึ่งมูลนิธิฯ ก็ได้เป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือเรื่องนมผงและอาหารสำหรับเด็กอย่างต่อเนื่อง ก็ได้เห็นว่าถ้าเราเข้าไปช่วย เด็กก็จะรอดและเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก ๆ ได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็พยายามให้เด็กได้เข้าไปสู่สวัสดิการของภาครัฐ ให้ครอบครัวของเด็กไปลงทะเบียนรับสิทธินโยบายเงินอุดหนุนบุตร ในเขตของกรุงเทพมหานคร เราก็ได้พาเด็กไปที่สำนักงานเขตเลยเพราะ 600 บาท สำหรับคนจนมันมีความหมายมาก ๆ พอที่จะซื้อไข่ไก่ ซื้อข้าวสารได้ เนื้อสัตว์ก็ได้ 

จุดหนึ่งที่เราเห็นเกี่ยวกับพ่อแม่กลุ่มเปราะบางเหล่านี้คือเขาทุกข์ แล้วก็ท้อใจ บางคนก็อยากฆ่าตัวตาย ทางมูลนิธิฯก็ได้เข้าไปโอบอุ้ม สำหรับภาพใหญ่ของประเทศ ณ ตอนนี้ การตกงานที่เกิดขึ้น คนหลั่งไหลกลับบ้านต่างจังหวัด ก็ไม่มีงาน คนมีลูกก็เดือดร้อนมาก แน่นอนว่าอาหารของเด็ก ๆ ต้องบกพร่องแน่ ๆ ภาวะโภชนาการของเด็กๆขาดสารอาหารแน่ ๆ กว่า 4.2ล้านคน แต่กลับไม่มีมาตรการใดๆออกมาช่วยเด็ก ๆ เงินเยียวยา รัฐบาลก็ให้เป็นครั้ง ๆ แต่เด็กต้องกินข้าวกินนมไปตลอด ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ก็เป็นวิกฤตที่รัฐบาลควรจะเร่งเข้ามาช่วยเด็ก ๆ รัฐบาลกลับบอกไม่มีเงิน แต่กลับไปหมดเงินกับเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้จำเป็นแก่ประชาชน วิกฤตครั้งนี้เด็กไร้ที่พึ่ง ศูนย์เด็กเล็กก็ปิดตามประกาศของรัฐบาลมานานมาก รวมถึง ศูนย์เด็กเล็ก 4 แห่งของมูลนิธิฯ ด้วย พ่อแม่เด็กก็ไม่มีค่าจ้างเลี้ยง ครอบครัวที่เคยมาขอรับอาหาร นมผงก็หมดที่พึ่งไปด้วย ทั้งยังมีเด็กกำพร้าเนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตเยอะมาก ตัวเด็กติดโรคโควิด-19 พ่อแม่ติดโรคโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวล่มสลายเลย เราก็คาดหวังจะมีนโยบายเงินอุดหนุนบุตรอย่างถ้วนหน้าเป็นค่าเลี้ยงดูเด็ก อัตราที่เด็กจะถูกทอดทิ้งก็จะน้อยลงไปด้วย
    
ทั้งนี้ประมาณ 30% ของคนยากจนที่ควรอยู่ในฐานะที่จะได้รับเงินอุดหนุนบุตรตามนโยบายปัจจุบันก็ตกหล่นไปจากการได้รับสิทธิ จำนวนมากก็ไม่ทราบเลยว่ามีนโยบายนี้อยู่ พวกเขามีสิทธิ ทั้ง ๆ ที่ก็อยู่ในสลัมพื้นที่กรุงเทพฯ การประชาสัมพันธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็ยังมีน้อยมากๆ ทางเรา (มูลนิธิฯ) ต้องไปเดินแจ้งตามบ้าน บางรายเด็กถูกฝากให้ผู้สูงอายุช่วยเลี้ยงแทน ผู้สูงอายุก็ไม่ทราบสิทธิ ขั้นตอนการลงทะเบียนรับสิทธิก็ยาก ส่วนราชการมีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ประชาชนก็ไปลงทะเบียนไม่ได้ ทั้งการลงทะเบียนแต่ละครั้งต้องใช้เอกสารมากมาย ต้องลางานมาเพื่อลงทะเบียน ก็ทำให้ขาดรายได้อีกสำหรับกลุ่มแรงงานจ้างรายวัน ทั้งมีภาระค่าเดินทาง เดินทางมาแล้วเอกสารไม่ครบก็ต้องเดินทางมาใหม่อีก ทั้งยังต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการที่ทางสำนักงานเขตจะมาตรวจเยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบความยากจน ทั้งบางทีมีปัญหาไม่มีผู้เซ็นรับรองความยากจน ซึ่งการต้องพิสูจน์ความยากจนแบบนี้ นอกจากทำให้หลายคนไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิแต่เข้าถึงสิทธิได้ยากแล้ว ยังสร้างความรู้สึกว่าถูกตีตราให้แก่พวกเขาอีกด้วย แทนที่จะได้รู้สึกภาคภูมิใจว่ารัฐบาลเห็นคุณค่าของเด็ก จึงจัดสวัสดิการนี้เพื่อเด็ก ทั้งนี้มีครอบครัวยากจนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีอย่างมูลนิธิฯเราเข้าไปช่วยดูแลพาไปลงทะเบียนรับสิทธิ การเข้าถึงสิทธิก็ยากลำบากเข้าไปอีก
    
ศีลดายังย้ำอีกว่าหากรัฐบาลคาดหวังว่าอีก 20 ปี เด็ก ๆ เหล่านี้จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ แต่วันนี้การได้รับการเลี้ยงดูและเข้าถึงโภชนาการอย่างเหมาะสมในเด็กกลุ่มนี้ได้บกพร่องไปแล้ว ส่งผลต่อเด็กๆเหล่านี้สมองพัฒนาการช้า ความสามารถในการเรียนรู้ถดถอยจนเติมไม่ได้แล้ว และถ้าเราติดตามข่าว ก็จะเห็นว่ามีกรณีที่พ่อแม่ฆ่าตัวตาย มีกรณีเด็กถูกทำร้ายมากขึ้นเพราะผู้ปกครองเกิดภาวะความเครียด นี่คือวิกฤตของประเทศในอนาคต 
     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท