Skip to main content
sharethis

ผลโพลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันเกี่ยวกับเรื่องความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนและนาโต้นั้น ส่วนใหญ่ต้องการให้มีทางออกในเชิงการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงคราม หลังจากที่เกิดวิกฤตล่าสุดจากการที่รัสเซียมีท่าทีตั้งเป้าหมายกับยูเครนและนำกองทัพไปวางกำลังไว้ที่เบลารุสใกล้กับชายแดนยูเครน

 

 

ผลโพลที่ออกมาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาทำการสำรวจชาวอเมริกัน 1,214 ราย มีร้อยละ 58 ระบุว่าพวกเขาต้องการให้ชาติตะวันตกหารือข้อตกลงกับรัสเซียเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามบนพื้นที่ยูเครน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งคนที่สนับสนุนวิธีการทางการทูต "อยู่บ้าง" และสนับสนุน "อย่างหนักแน่น"

ในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้มีผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตที่ต้องการให้เกิดการเจรจาทางการทูตระหว่างรัสเซียกับนาโต้ร้อยละ 71 มีกลุ่มที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ร้อยละ 51 ที่สนับสนุนการเจรจา และมีร้อยละ 46 ของกลุ่มตัวอย่างผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนนโยบายการแก้ปัญหาเชิงการทูต

การสำรวจดังกล่าวนี้จัดทำโดยองค์กร เดตา ฟอร์ โปรเกรส ซึ่งเป็นองค์กรด้านข้อมูลและคลังสมองที่มีจุดยืนทางการเมืองแบบก้าวหน้า ผลสรุปข้อมูลของพวกเขาระบุว่า หลังจากที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้วางกำลังกองทัพรัสเซีย 10,000 นาย ใกล้กับพรมแดนของยูเครนขู่ว่าจะใช้กำลังทหารกับยูเครนทำให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ สั่งการให้กองทัพ 8,500 นายอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมระวังภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กำลังชั่งน้ำหนักการโต้ตอบทางเศรษฐกิจและทางการทหารอยู่

ผลการสำรวจที่ออกมายังตรงกับแนวทางของนักการเมืองสายก้าวหน้าในสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้ไบเดนเน้นใช้วิธีการทางการทูตในการแก้ไขวิกฤตยูเครน ซึ่งสองประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์มีส่วนเกี่ยวข้อง

Pramila Jayapal ประธานกลุ่มส.ส.ฝ่ายก้าวหน้าในพรรคเดโมแครตและ ส.ส. เดโมแครต Barbara Lee แถลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วว่า "วิธีการทางการทหารไม่ใช่ทางออก" ขณะที่ในวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา Lloyd Austin รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวว่าความขัดแย้งกับรัสเซียนั้น "เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดได้" และบอกว่ายังคงมีเวลาในการทำให้เกิดการเจรจาทางการทูตที่ส่งผลทางบวกอยู่

ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย Sergey Lavrov อ้างว่าเรื่องที่จะเกิดสงครามหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัสเซียแต่ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะยกระดับความขัดแย้งหรือไม่ Lavrov กล่าวว่า "พวกเราไม่ต้องการสงครามแต่พวกเราจะไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ของพวกเราถูกย่ำยี ถูกเพิกเฉย"

รัสเซียอ้างว่าสาเหตุที่พวกเขาเคลื่อนกองกำลังราว 100,000 นาย ไปที่ใกล้ชายแดนทางตะวันออกของยูเครนเนื่องจากกลัว "การยุแหย่" ของสหรัฐฯ อย่างการขยายองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ โดยในพื้นที่ที่รัสเซียนำกองทัพเข้าไปนั้นมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียสู้รบกับรัฐบาลยูเครนที่ได้รับการหนุนหลังจากชาติตะวันตกอยู่แล้วนับตั้งแต่ปี 2557

รัสเซียพยายามจะทำให้ยูเครนไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรส่วนหนึ่งของนาโต้ ซึ่งเป็นองค์การที่รัสเซียมองว่าต่อต้านรัสเซีย แต่ทางการสหรัฐฯ ก็ไม่ได้การันตีรัสเซียในข้อเรียกร้องนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯเตือนว่าถ้าหากรัสเซียกระทำการใดๆ ที่เป็นการรุกรานยูเครนก็ตาม พวกเขาจะต้อง "เผชิญกับการโต้ตอบอย่างหนักและมาจากความร่วมมือกัน" ของกลุ่มประเทศสมาชิกนาโต

ทั้งนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีปูตินเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา จากการที่เขาได้โทรศัพท์หาประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง บอกว่า "ต้องการให้มีการเจรจาต่อไป และต้องการให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงมินส์ก" ซึ่งหมายถึงข้อตกลงที่มีการหารือกันระหว่าง 4 ประเทศคือ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย และยูเครน ในเรื่องสงครามทางตะวันออกของยูเครน

ผู้นำสหรัฐฯ ไบเดน ได้พูดคุยกับตัวแทนยูเครนในวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำในเรื่องที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรมีการเตรียมพร้อมที่จะโต้ตอบอย่างเด็ดขาดถ้าหากรัสเซียยังคงรุกรานยูเครนต่อไป


เรียบเรียงจาก
Poll Shows Majority in US Want Diplomacy, Not War With Russia Over Ukraine, Common Dreams, 28-01-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net