Skip to main content
sharethis

สภาล่มครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน รวมครั้งที่ 16 แล้วในรัฐบาลชุดนี้ ด้านที่ปรึกษาประธานสภาฯ แจงองค์ประชุมไม่ครบมีทุกยุคทุกสมัย ชี้ ให้พิจารณาดูเนื้องานของสภาฯ ที่ผ่านมา ขณะที่ ‘ก้าวไกล’ เเถลงหลังสภาไม่รับรายงานศึกษา ‘ขุดคลองไทย’ เผย แค่ขายฝัน ไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้

4 ก.พ.2565 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (4 ก.พ.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม เวลา 14.45 น. ชวน ได้กดออดเชิญให้สมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อเสียบบัตรแสดงตน และประกาศผลองค์ประชุม ปรากฏว่า มีสมาชิกเพียง 197 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.50 น.

ผู้จัดการออนไลน์ยังรายงานด้วยว่าที่ประชุมใช้เวลาในการยื้อ เพื่อนับองค์ประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง และสภาฯล่มครั้งถือเป็นครั้งที่สอง ของเดือนก.พ. และเป็นครั้งที่ 16 ในรัฐบาลชุดนี้ โดยสนุกดอทคอมระบุด้วยว่า เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน และครั้งที่ 3 เมื่อนับตั้งแต่ต้นปีนี้

ที่ปรึกษาประธานสภาฯ แจงองค์ประชุมไม่ครบมีทุกยุคทุกสมัย ชี้ ให้พิจารณาดูเนื้องานของสภาฯ ที่ผ่านมา

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานดว้ยว่า นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบองค์ประชุม เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า กรณีองค์ประชุมไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 หรือสภาล่มนั้น มองว่ามีทุกยุคสมัยไม่ใช่เฉพาะสภานี้ ส่วนหน้าที่การรักษาองค์ประชุม ทั้งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ไม่ได้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สมาชิกทุกคนควรมาประชุมและเข้าแสดงตน โดยที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้พยายามอย่างมากให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 และขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาลให้ความร่วมมืออย่างดีตลอดมา ทั้งนี้ หากไม่กล่าวถึงเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ เนื้องานของสภาฯ สามารถพิจารณาทั้งกระทู้ถาม และได้พิจารณารับทราบรายงานของหน่วยงานต่างๆไปได้หลายเรื่อง

ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าวเพิ่มว่า การประชุมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ปรากฎเป็นข่าวสภาล่มซ้ำซาก แต่หากพิจารณาดูเนื้องานในวันดังกล่าว สภาฯ ผ่านพิจารณาร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเสนอได้ถึง 5 ฉบับ เรื่องค้างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติผ่านไป 1 ฉบับ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 1 ฉบับ และคณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณา 1 ฉบับ จนถึงร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เมื่อถึงเวลาลงมติ ประธานในที่ประชุมเห็นว่าองค์ประชุมไม่ครบจึงได้ทำการปิดประชุมก่อนในเวลา 18.25 น. หลังจากที่ประชุมมาแล้วตั้งแต่ 09.30 น. รวมเวลา 8 ชั่วโมง 45 นาที ซึ่งถือเป็นระยะเวลาการประชุมที่ยาวนานพอสมควร และในเวลานั้นมีองค์ประชุมขาดไปเพียง 4 คนเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลที่เล่นเกมการเมืองกัน มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสภามีทุกยุคสมัยอยู่แล้ว

‘ก้าวไกล’ เเถลงหลังสภาไม่รับรายงานศึกษา ‘ขุดคลองไทย’ เผย แค่ขายฝัน ไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ 

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยมติ 143 ต่อ 121 จากผู้ลงมติ 317 คน  งดออกเสียง 53 เสียง จากผู้ลงมติ 317 คน ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (4 ก.พ.65) อาคารรัฐสภา สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สมชาย ฝั่งชลจิตร, ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนภาคใต้ พรรคก้าวไกล เเถลงต่อสื่อมวลชน หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับร่างรายงานผลการพิจารณาศึกษาดังกล่าว โดย สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เหตุผลหลักของพรรคก้าวไกลในการไม่รับรายงาน คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ไม่ควรอยู่บนความรู้สึกส่วนตัว เเต่ต้องศึกษาอย่างจริงจังในรายละเอียดเช่นใครจะมาลงทุน คุ้มค่ากับสิ่งที่ทำไปหรือไม่ หรือจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ความจริงวาระนี้ควรจะลงมติตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่เเล้ว ซึ่งพรรคก้าวไกลชัดเจนแต่แรกว่าจะไม่รับรายงานฉบับนี้ เเต่ก็เป็นเรื่องดีที่การลงมติในวันนี้ฝ่ายรัฐบาลให้ฟรีโหวตทำให้เสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่รับ เพราะรายงานฉบับนี้มีลักษณะชี้นำมากเกินไป มีหลายประเด็นยังตอบคำถามไม่ได้ ประเด็นแรก การขุดคลองไทยตัดผ่านภูเขาสูง 383 เมตร ซึ่งสูงกว่าตึกมหานคร ในทางวิศวกรรมจะทำได้อย่างไร หรือทำได้แล้วคุ้มค่าหรือไม่ เราต้องทำบนความเป็นไปได้ ไม่ใช่คิดบนแผนที่

ประเด็นต่อมา จะคุ้มค่าหรือไม่ หากเปรียบเทียบการขนส่งยุคปัจจุบันอย่าง คลองสุเอซ ย่นเวลาได้ 8-10 วัน ,คลองปานามา ย่นเวลาได้ 22 วัน แต่คลองไทย ย่นเวลาได้แค่ 2 วัน ในมุมคมนาคมไม่คุ้มค่าแน่นอน ประเด็นที่สาม ต้องเวนคืนที่ดินแปลงยักษ์ รวมพื้นที่มากกว่า 8,100 ตารางกิโลเมตร เปรียบเทียบคือ 14 เท่าของจังหวัดภูเก็ต คิดว่าเราจะต้องพิจารณาศึกษาบนความเป็นจริง ไม่ใช่ความฝัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกล ไม่รับรายงานฉบับนี้

สมชาย กล่าวเสริมว่า คนอยู่ในพื้นที่เวนคืนมีหลายเเสนคน คำถามคือ เราจะอพยพคนเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังมีทิศทางการผลักดันชี้นำมาจากบริษัทในประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลต่อยุทธศาสตร์ประเทศไทยท่ามกลางดุลอำนาจของมหาอำนาจด้วย จึงต้องขอถามย้อนกลับไปว่า แล้วคนไทยจะได้อะไรบ้างจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วยแต่แรกกับการที่จะให้สภาชี้นำให้สังคมเห็นชอบผ่านการรับหลักการของรายงานนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net