Skip to main content
sharethis

'เป็นวิธีที่ป่าเถื่อนประเทศเจริญแล้วไม่ทำกัน' เปิดวีรกรรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ตั้งแต่ 2 น้องสุเทพทุ่มเก้าอี้ บีบคอวัดชีพจร กลางสภา รังสิมาลากเก้าอี้ประธานสภา เหนือสิ่งอื่นใดคือคว่ำบาตรการเลือกตั้งมา 3 ครั้งโดยที่ 2 ครั้งหลังทำให้กลไกการเมืองปกติไม่สามารถหาทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองได้จนนำมาสู่การรัฐประหาร

16 ก.พ.2565 จากกรณีที่ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.หลายสมัย เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กวิจารณ์กรณีการนับองค์ประชุมของฝ่ายค้านเพื่อกดดันให้รัฐบาลรักษาองค์ประชุม จนสภาล่ม ว่าเป็นวิธีที่ป่าเถื่อนประเทศเจริญแล้วไม่ทำกัน เช่นเดียวกับที่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่องค์ประชุมสภาไม่ครบทำให้ต้องปิดการประชุม ว่า ไม่ใช่เป็นการดิสเครดิตรัฐบาล แต่เป็นการสร้างเสียหายให้กับประชาชน และภาพลักษณ์ของสภา นั้น (ที่มา มติชนออนไลน์ 1 และ 2 )

อย่างไรก็ตามเมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านก็มีปฏิบัติการทางการเมืองในสภาเช่นกัน เช่น 

30 พ.ค.55 ลากเก้าอี้ประธานสภา

ระหว่างการประชุมสภาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับ หลังเสร็จสิ้นความพยายามบรรจุวาระดังกล่าวของสมศักดิ์ ปรากฏว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นออกจากที่นั่งด้านล่าง ขึ้นไปบนบังลังก์ เพื่อขอให้ยุติการลงมติเพื่อให้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างกรูขึ้นไปบนบัลลังก์ซึ่งที่นั่งของประธานสภาฯด้วย ปกป้องประธานบนบัลลังก์ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาต้องเร่งนำตัวสมศักดิ์ออกจากห้องประชุมไปอย่างเร่งด่วน พร้อมสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที 

รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินเข้าไปถึงเก้าประธานและรองประธานทั้ง 3 ตัว ซึ่งระหว่างที่ดึงเก้าอี้ตัวที่2 นั้น ปรากฏว่าส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย ที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่เดินเข้ามาเพื่อที่จะแย่งเก้าอี้คืน

รังสิมา เปิดเผยภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ว่า เหตุการณ์การแย่งเก้าอี้ประธานสภาคืน เพราะตนเห็นว่าประธานทำหน้าที่ไม่เหมาะสม ซึ่งระหว่างตนก็กำลังลังลากเก้าอี้ประธานและรองประธานลงจากบัลลังก์ ก็มีสส.หญิงพรรคเพื่อไทย อาทิ เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย  และขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลีลาวดี วัชโรบล ส.ส.กทม. และชมพู จันทาทอง สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ได้กรู่กันขึ้นมาหลังบัลลังก์แย่งชิงเก้าอี้คืน แต่ไม่มีการกระทบกระทั่งกัน ไม่มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งตนทำตามหน้าที่เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วย และสส.พรรคก็ไม่เห็นด้วย แต่ประธานสภาก็ยังวินิจฉัยเหมือนเดิม การปรองดองก็จะไม่เกิดขึ้นยิ่งจะทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตมากขึ้น

(ที่มา : โพสต์ทูเดย์)

31 พ.ค.55 น้องสุเทพวัดชีพจรจิรายุ 

ระหว่างการประชุมสภาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ธานี เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ บีบคอ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยัน พรรคประชาธิปัตย์ จะยังเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นี้ แม้ว่าจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของพรรค ก็ยินยอมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และแม้ว่าสุดท้าย จะไม่มีการประชุมสภาในวันนี้ ก็จะไม่ถือเป็นชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ แต่จะถือเป็นชัยชนะของคนทั้งประเทศ

สุเทพ ระบุเหตุที่ ธานี น้องชายตนเองบีบคอ จิรายุนั้น เป็นเพียงการตรวจวัดชีพจรเท่านั้น

ขณะที่ ธานี กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน เป็นการกอดคอ ค้ำคอ หยอกเล่นกันมากกว่า ซึ่งจังหวะนั้นก็มีการพูดยั่วยุต่างๆ มากมาย ก็ไม่อยากให้มีเรื่อง และตนไม่ได้โกรธเคืองอะไรนายจิรายุ แต่ก็เข้าใจว่านายจิรายุก็คงทำหน้าที่ของตนไป ซึ่งทราบจากข่าวว่าได้ไปแจ้งความไว้ แต่ยังไม่ทราบว่าข้อหาอะไร ซึ่งก็ยืนยันว่าไม่ได้บีบคออะไร ส่วนหลังจากเกิดเหตุแล้วนั้น ยังไม่มีโอกาสได้พบเจอ เพราะวันนี้ตนเดินทางมาที่สภาแล้ว แต่นายจิรายุยังไม่เดินทางมา

(ที่มา : ไทยรัฐ

5 ก.ย.56 : ทุ่มเก้าอี้

ระหว่างการพิจารณาญัตติด่วนเรื่องปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกแจ้งว่า ประชาชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แจ้งมาว่าได้ใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม ดังนั้นขอให้รัฐมนตรีชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม พายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติให้ปิดการอภิปราย ดังนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงกรูเข้าห้องประชุม จนทำให้ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุม ได้ขอให้พายัพถอนญัตติการปิดอภิปรายออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม พายัพเห็นว่า เรื่องนี้เป็นญัตติด่วน และสมาชิกอภิปรายอย่างรอบด้านแล้ว ดังนั้น สภาฯ ควรรีบปิด เพราะเกษตรกร รออยู่

ต่อมา วิสุทธิ์ จึงให้ยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง ซึ่งทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจ โดยเฉพาะ เชน เทือกสุบรรณ น้องชายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้แสดงอาการโมโห พร้อมกับระบุว่า เดี๋ยวนี้เอะอะก็จะปิดสภา ทั้งๆ ที่มีเรื่องของชาวบ้านที่จะต้องแก้ไข หลังจากนั้นก็ได้ยกเก้าอี้ทุ่มไปข้างหน้า ข้ามโต๊ะที่นั่งไป 1 แถว และทุ่มเก้าอี้อีก 1 ตัวไปโต๊ะที่นั่งไป 2 แถว ทำให้ที่พักหักไป 1 ตัว หลังจากนั้นเชนก็เดินไปข้างหน้า พร้อมโวยวายใส่วิสุทธิ์ ทำให้วิสุทธิ์ต้องไกล่เกลี่ยให้ใจเย็นๆ เพราะไม่เคยเห็นเชนเป็นแบบนี้ ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างเข้ามาปราบเชนให้ใจเย็นๆ

(ที่มา : กระปุก)

และพรรคประชาธิปัตย์เคยคว่ำบาตรการเลือกตั้งมา 3 ครั้งแล้วคือในปี 2495, 2549 และ 255ึ7 โดยที่ 2 ครั้งหลังทำให้กลไกการเมืองปกติผ่านระบบเลือกตั้งและรัฐสภาไม่สามารถหาทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองได้จนนำมาสู่การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net