Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์อาวุโสเกี่ยวกับประเด็นยูเรเชียมานานกว่า 10 ปี มองปรากฏการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย ยูเครน และนาโต โดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการเจรจาหารือประเด็นยูเครนในช่วงที่ผ่านมาถึงมักจะไม่เป็นผล

13 ก.พ. 2565 ในช่วงที่มีการวางกำลังทหารจากทั้งฝ่ายรัสเซียและฝ่ายองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต โดยรอบยูเครน กลุ่มผู้นำยุโรปก็พยายามผลักดันทางการทูตอย่างหนักให้มีการเจรจาในประเด็นยูเครนเพื่อป้องกันสงคราม ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง จัดหารือกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ที่มอสโกในวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินทางเยือนยูเครนในวันถัดจากนั้นเพื่อหารือกับประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อหารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพื่อหารือให้เกิดสันติภาพในประเด็นรัสเซีย-ยูเครน

การเจรจาเช่นนี้จะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงไม่กี่วันถัดจากนี้ จากที่มีผู้สังเกตการณ์จำนวนมากมองว่าวันที่ 20 ก.พ. ที่จะถึงนี้น่าจะเป็นวันตัดสินใจของรัสเซียเนื่องจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นวันที่สิ้นสุดการซ้อมรบร่วมกับเบลารุส วันสิ้นสุดโอลิมปิกฤดูหนาวของจีน และวันครบรอบการที่รัสเซียบุกยึดแคว้นไครเมียของยูเครนในปี 2557

ยูจีน เชาซอฟสกี นักวิจัยจากสถาบันนิวส์ไลน์และนักวิเคราะห์อาวุโสเกี่ยวกับประเด็นยูเรเชียมานานกว่า 10 ปี มองว่าความขัดแย้งไครเมียเมื่อ 8 ปีที่แล้วมาจนถึงความขัดแย้งในปัจจุบันชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมการพยายามเจรจาสันติภาพถึงล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ มันไม่ได้ให้บทเรียนอะไรนอกเหนือจากการมองโลกในแง่ร้ายหรือมีอะไรที่เคลื่อนไปข้างหน้าเลยหรอกหรือ

แม้กระทั่งล่าสุดนอกจากรัสเซียจะวางกำลังใกล้กับชายแดนยูเครนจำนวนมากแล้ว ยังมีการวางเรือเรือรบบนทะเลดำที่มีอาณาเขตติดกับทั้งยูเครนและรัสเซียโดยอ้างว่าเพื่อซ้อมรบกับเบลารุส แต่ทางการยูเครนก็วิจารณ์ว่าการซ้อมรบใกล้กับชายฝั่งทางใต้ของพวกเขาเป็นการปิดกั้นเส้นทางลำเลียงสินค้าทางน่านน้ำสำหรับยูเครนและวิจารณ์รัสเซียว่าทำ "สงครามผสมผสาน" (hybrid war) ซึ่งหมายถึงยุทธศาสตร์ในการใช้สงครามตามรูปแบบผสมกับสงครามนอกรูปแบบ มีการใช้สงครามไซเบอร์และการชักจูงทางจิตวิทยาอย่างข่าวปลอมหรือการแทรกแซงอื่นๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง

ในเรื่องนี้กระทรวงต่างประเทศยูเครนแถลงประณามเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าการกระทำของรัสเซีย "แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนต่อการละเลยหลักเกณฑ์และหลักการของกฎหมายนานาชาติ" และระบุอีกว่าทางการยูเครนจะร่วมมือกับชาติพันธมิตรในการเตรียมการโต้ตอบ

นักวิเคราะห์เชาซอฟสกีชวนย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียในยุคปัจจุบัน ที่มีมาตั้งแต่ก่อนหน้าต้นปี 2557 ช่วงที่รัสเซียผนวกรวมเอาแคว้นไครเมียเป็นของพวกเขาโดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในทางยูเครนตะวันออก เรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2556 เมื่อประธานาธิบดีของยูเครนในสมัยนั้นคือ วิกเตอร์ ยานูโควิช ถอนตัวอย่างกะทันหันออกจากการหารือกับสหภาพยุโรปในเรื่องการค้าเสรีและข้อตกลงการเข้าร่วมสหภาพยุโรป แล้วหันไปเข้าหาใกล้ชิดกับรัสเซียแทน

การกระทำของยานูโควิชในตอนนั้นทำให้เกิดการประท้วงในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครนยาวนานเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งทำให้ยานูโควิชถูกโค่นล้มจากตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือน ก.พ. 2557 แล้วถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลที่สนับสนุนชาติตะวันตกเหตุการณ์นี้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อว่า "การปฏิวัติยูโรไมดาน"

เชาซอฟสกีชี้ว่ารัสเซียและชาติตะวันตกต่างก็ตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปแตกต่างกัน ฝ่ายสหรัฐฯ และอียูมองว่ายูโรไมดานเป็นชัยชนะของ "การปฏิวัติประชาธิปไตยรากหญ้าที่มีต่อรัฐบาลอำนาจนิยมผู้ฉ้อฉล" ขณะที่รัสเซียมองว่ายูโรไมดานเป็น "การรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย" ที่ได้รับการหนุนหลังจากชาติตะวันตกโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ในการพยายามแผ่ขยายอิทธิพลมาสู่โลกตะวันออก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการมองกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่ในทางตะวันออกของยูเครนต่างกันด้วย ฝ่ายสหรัฐฯ และอียู มองว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่รัสเซียใช้เพื่อให้ตัวเองมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งได้ในฐานะคู่สงคราม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ต้องสงสัยว่ารัสเซียเป็นผู้สนับสนุนและมีส่วนร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้อย่างชัดเจน ขณะที่รัสเซียกล่าวหาว่าการลุกฮือของประชาชนรากหญ้าที่ไม่พอใจรัฐบาลยูเครนในการปฏิวัติยูโรไมดานเป็นอิทธิพลจากชาติตะวันตกและอ้างว่าประชาชนในท้องถิ่นไม่ยอมรับและนับเป็นเรื่องไร้ความชอบธรรม

เชาซอฟสกีบอกว่าการตีความเหตุการณ์ต่างมุมมองกันระหว่างสองคู่ขัดแย้งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาปกคลุมกระบวนการเจรจาหารือเพื่อยุติข้อขัดแย้งมาตั้งแต่ต้นแล้ว

มีการยกตัวอย่างกรณีการพยายามเจรจาหารือในเรื่องการสู้รบในแคว้นดอนบัส ซึ่งมีสิ่งที่สร้างความซับซ้อนให้กับกระบวนการเจรจาหารือระหว่างรัสเซีย, ยูเครน และกลุ่มชาติตะวันตก นั่นก็คือบทบาทของรัสเซียในกรณีความขัดแย้งดอนบัสต่างจากกรณีของไครเมียที่รัสเซียเข้ามาแทรกแซงทางการทหารโดยตรง ในดอนบัสนั้นรัสเซียใช้วิธีการแบบ "สงครามผสมผสาน" ทั้งการให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนอย่างลับๆ และวางกำลังทหารกับกองกำลังฝ่ายความมั่นคงแบบไม่ได้ระบุตำแหน่งหลายพันนายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนในยูเครน

การที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ว่าจะนิยามสภาพของความขัดแย้งยูเครนอย่างไร ในการเล่าแบบรัสเซียก็จะบอกว่าความขัดแย้งในยูเครนเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และรัสเซียก็คอยสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบัส ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยูเครนมองว่าสงครามที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระดับนานาชาติระหว่างยูเครนกับรัสเซียโดยมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นแค่ผู้ทำสงครามตัวแทน (proxy) ของรัสเซียเท่านั้น

สภาพการณ์แบบนี้ทำให้ยูเครนไม่ยอมรับการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน มองว่าการร่วมเจรจากับกลุ่มเหล่านี้นับเป็นการให้ความชอบธรรมทางการเมืองแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน นั่นทำให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนของยูเครนถูกกีดกันออกไปจากผู้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการในกระบวนการก่อนหน้านี้ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในเชิงวัฒนธรรมและขัดขวางไม่ให้กระบวนการเจรจาต่อรองมีความคืบหน้า

ฝ่ายยูเครนกับกลุ่มชาติตะวันตกที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางต่างก็มองว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นฝ่ายเดียวกับรัสเซีย ขณะเดียวกันรัสเซียก็ไม่เคยยอมรับว่าพวกเขามีบทบาทเกี่ยวกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและยืนกรานว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นกลุ่มอิสระ ในแง่นี้เองทำให้รัสเซียเล่นบทเป็นทั้งผู้ไกล่เกลี่ยและคู่สงครามไปในเวลาเดียวกันโดยการใช้การทูตแบบข่มขู่คุกคามจากการสนับสนุนทางการทหารและการเงินต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ขณะเดียวกันก็มีส่วนเข้าร่วมในการเจรจาหารือด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีความกำกวมอยู่ แต่การเจรจาในปี 2557 ก็นำมาสู่ข้อตกลงยุติความขัดแย้งที่เรียกว่า "พิธีสารมินสก์" ที่ระบุถึงหลักปฏิบัติ 12 ข้อที่ครอบคลุมถึงด้านความมั่นคง, เศรษฐกิจ และการเมืองไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงหยุดยิงทั้งสองฝ่าย ข้อตกลงให้มีการตรวจสอบและยืนยันเรื่องการหยุดยิงจากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ข้อตกลงปล่อยตัวตัวประกัน และการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางยูเครนด้วยการใช้กฎหมายการปกครองตนเองในภูมิภาคที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในพื้นที่เหล่านี้

แต่พิธีสารมินสก์ก็ล่มแทบจะทันทีหลังจากที่ออกมา เพราะไม่มีฝ่ายใดเลยที่ปฏิบัติตามข้อแรกในสนธิสัญญาหยุดยิง ทำให้ในปีถัดจากนั้นมีการพยายามเจรจาอีกครั้งโดยให้เยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นตัวกลางร่วมกับ OSCE ทำให้เกิดข้อตกลงมินสก์ที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคล้ายกับพิธีสารแรกแต่เพิ่มรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับการถอนทัพและยุทโธปกรณ์จากพื้นที่ที่มีการประจันหน้ากัน

สิ่งที่ทำให้ข้อตกลงครั้งที่ 2 แตกต่างจากครั้งแรกคือช่วงเวลาที่มีการทำสัญญา ช่วงที่ทำสัญญาครั้งที่ 2 นั้น ฝ่ายที่ทำการสู้รบต่างก็กำลัวเหนื่อยล้า มีการตรึงกำลังมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างฝ่ายที่สู้รบน้อยลง แต่ถึงแม้จะมีสภาพที่เอื้อต่อการหารือยุติความขัดแย้งแต่พิธีสารมินสก์ที่ 2 ก็ไม่ได้นำมาใช้ มีการฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงไม่นานหลังมีการลงนามข้อตกลงนี้

เชาซอฟสกีชี้ว่าสิ่งที่ทำให้พิธีสารมินสก์ฉบับที่ 1 ล่มเพราะไม่มีการตกลงกันอย่างชัดเจนว่าข้อตกลงทางการเมืองคือการห้สภานะพิเศษของพื้นที่ๆ มีกลุ่มกบฏอยู่ควรจะมาก่อนหรือหลังข้อตกลงทางความมั่นคงที่ระบุให้ต้องมีการถอนกำลังทหารที่รัสเซียนำเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มกบฏ ฝ่ายยูเครนกับชาติตะวันตกต้องการให้ทำอย่างหลังก่อน ในการที่จะนำไปสู่พิธีสารมินสก์ที่ 2 ได้ แต่รัสเซียต้องการให้ทำอย่างแรกก่อน

นอกจากเรื่องการตีความที่ต่างกันของทั้งที่มาของความขัดแย้งและการวางลำดับความสำคัญของข้อตกลงแล้ว เชาซอฟสกีระบุว่ามีสิ่งที่อยู่ลึกไปกว่านั้นในการที่ทำให้ความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่คือการที่รัสเซียและชาติตะวันตกมองเรื่องโครงสร้างความมั่นคงของยุโรปต่างกัน ฝ่ายรัสเซียมักจะไม่สบายใจกับสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นแผ่ขยายอำนาจของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะจากนาโตเข้ามาในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียตหลังสงครามเย็น และปูตินก็มองการปฏิวัติยูโรไมดานว่าเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งชี้นำให้เห็นถึงการแผ่ขยายอำนาจนี้

สำหรับยูเครน ความสัมพันธ์ของพวกเขากับตะวันตกและกับนาโตก็มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับรัสเซียพวกเขามองว่าไม่เหลือเวลาให้ต้องเสียอีกต่อไปแล้ว พวกเขาต้องพยายามเสนอข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงเพื่อให้เป็นไปตามภาพโครงสร้างความมั่นคงยุโรปในแบบที่พวกเขาต้องการซึ่งข้อเรียกร้องน้มีการเสนอในการเจรจากับสหรัฐฯ และนาโตเมื่อเดือน ธ.ค. 2564

ในที่นี้ทำให้ยูเครนเป็นจุดสำคัญสำหรับรัสเซีย แต่ก็เป็นแต่จุดหนึ่งในภาพรวมด้านความมั่นคงสำหรับพวกเขา มุมมองของความขัดแย้งที่มากไปกว่ายูเครนเช่นนี้เองทำให้เชาซอฟสกีมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้การเจรจาประเด็นยูเครนเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความคืบหน้า ขณะเดียวกันมันก็อธิบายเรื่องการสั่งสมกองกำลังของรัสเซียในพื้นที่ใกล้กับยูเครนได้ด้วยว่าไม่ใช่แค่เรื่องการเตรียมการรุกรานยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นการบีบให้ชาติตะวันตกต้องวางกรอบความคิดใหม่ต่อความสัมพันธ์กับพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียตทั้งในแง่บทบาทหน้าที่และในแง่ความเป็นสถาบัน

เซาซอฟสกีตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องหลังสุดนี้ได้ผลในระดับหนึ่งจากการที่มาครงยอมรับในการเจรจากับปูตินรอบล่าสุดว่า "เป้าหมายทางภูมิศาสตร์การเมืองของรัสเซียทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ยูเครน แต่เป็นการสร้างความชัดเจนต่อกฎการอยู่ร่วมกันกับนาโตและอียู"

เชาซอฟสกีระบุว่ามันเป็นเรื่องยากในการสร้างความคืบหน้าในการเจรจาถ้าหากทั้งสองฝ่ายยังยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้เป็นมากกว่าประเด็นยูเครนแต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทั้งหมดทั้งมวลระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก การวางกรอบคิดใหม่ในเรื่องนี้จะช่วยทำให้หลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และไม่มีการเดิมพันครั้งใดสูงไปกว่านี้อีกแล้ว


เรียบเรียงจาก
Why Mediation Around Ukraine Keeps Failing, 10-02-2022
Ukraine says Russian drills in Black Sea made shipping 'virtually impossible', Reuters, 10-02-2022


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/การสงครามผสมผสาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net