Skip to main content
sharethis

ตัวแทนจากกลุ่มตาลีบันเข้าพบปะหารือกับตัวแทนจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อต้องการให้ชาติตะวันตกช่วยปลดล็อกเงินทุนซึ่งจะใช้นำมาแก้ปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรม โดยที่ชาติตะวันตกขอให้มีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิสตรีเพื่อแลกกับการช่วยเหลือนี้

กลุ่มตัวแทนจากรัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถานนำโดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ อามีร์ ข่าน มุตตาคี จัดประชุมหารือกับทูตจากยุโรป 16 ประเทศในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เป็นวันที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา

แถลงการณ์ของกลุ่มตาลีบันระบุว่า "ผู้เข้าร่วมทุกคนสัญญาว่าจะใช้ความพยายามอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในทุกด้านของประชาชนชาวอัฟกานิสถาน" อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์ไม่ได้ระบุรายละเอียดเป็นอย่างๆ ว่าประชาคมนานาชาติมีแนวทางอย่างไรในการบรรลุเป้าหมาย

โทมัส นิคคลาสสัน ผู้แทนพิเศษของอียูด้านอัฟกานิสถานผู้ที่เข้าร่วมหารือด้วยกล่าวว่าทางอียูยังคงมีพันธกรณีที่จะต้องให้ความช่วยเหลือต่ออัฟกานิสถานในวงเงิน 500 ล้านยูโร (ราว 18,000 ล้านบาท) ผ่านทางสหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

จนถึงตอนนี้รัฐบาลตาลีบันยังไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศใดๆ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตาลีบันก็ยังคงถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและยูเอ็น นอกจากนี้อัฟกานิสถานยังถูกตัดขาดออกจากสถาบันทางการเงินของนานาชาติจนทำให้เกิดวิกฤตการธนาคารในประเทศของพวกเขาด้วย

หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้กลุ่มตาลีบันก็เคยพบปะหารือกับทูตตะวันตกที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีการหารือประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความต้องการการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นิคคลาสสัน ระบุทางทวิตเตอร์อีกว่ากลุ่มตาลีบันแสดงให้เห็น "พันธกรณีในการเปิดโรงเรียนประถมและมัธยมให้ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงทั่วประเทศเข้าเรียนได้ภายในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้เป็นอย่างช้า"

เมื่อเดือน ส.ค. 2564 กลุ่มตาลีบันทำการยึดอำนาจรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกที่นำโดยประธานาธิบดี อัชราฟ กานี ในตอนนี้รัฐบาลตาลีบันก็เผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กำลังเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว จากการประเมินขององค์กรจากยูเอ็นระบุว่าประชากรร้อยละ 97 ของประเทศอัฟกานิสถานเสี่ยงที่จะร่วงลงไปต่ำกว่าระดับเส้นความยากจน

กลุ่มตาลีบันยังเรียกร้องให้ชาติตะวันตกเลิกระงับธุรกรรมการเงินหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ชาติตะวันตกและสถาบันทางการเงินนานาชาติก็ระบุว่าจะยกเลิกการระงับธุรกรรมการเงินก้อนนี้ถ้าหากอัฟกานิสถานมีพัฒนาการทางสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิสตรี

ในสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน แถลงว่าจะมีการแบ่งเงินทุนสำรองอัฟกานิสถานที่อยู่ในสหรัฐฯ ไปใช้ทำอย่างอื่น โดยส่วนหนึ่งจะเป็นเงินช่วยเหลืออัฟกานิสถานและอีกส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยให้กับเหยื่อการก่อการร้ายวันที่ 11 ก.ย. 2544

มุตตาคีระบุผ่านแถลงการณ์ทักท้วงว่ามันเป็นเรื่อง "ยอมรับไม่ได้" ที่จะให้สหรัฐฯ จะนำเงินนี้ไปใช้ในเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือการชดเชย

เงินทุนที่ชาติตะวันตกระบุว่าจะให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้จะมีการให้ผ่านช่องทางกลไกเฉพาะที่ไม่ได้ผ่านทางภาคส่วนของรัฐบาล

สื่อตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ตาลีบันเคยเน้นย้ำซ้ำๆ ว่าจะมีการปกครองโดยใช้อำนาจที่เบาลงเมื่อเทียบกับช่วงที่พวกเขามีอำนาจในปี 2539-2544 แต่ก็ยังคงมีการใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของผู้หญิงอยู่ เช่น การกีดกันไม่ให้ผู้หญิงทำงานในหลายภาคส่วน การห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าเรียนชั้นเรียนระดับมัธยม โดยที่ตาลีบันสัญญาว่าจะอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าเรียนได้ในทุกระดับชั้นภายในเดือนหน้า

ในวันที่ก่อนหน้าที่จะมีการหารือกับชาติตะวันตก กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศก็ยกเรื่องสิทธิในการทำงานและการศึกษาของผู้หญิงในที่ประชุมหารือกับตัวแทนตาลีบันด้วย

เรียบเรียงจาก : 

Taliban delegation holds talks with EU, US diplomats in Doha, Aljazeera, 16-02-2022 https://www.aljazeera.com/news/2022/2/16/taliban-meets-with-eu-us-in-bid-to-unlock-funds-for-afghanistan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net