Skip to main content
sharethis

สื่อเรดิโอฟรีเอเชีย ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้เวียดนามจะเคยมีความสัมพันธ์กับรัสเซียมาก่อนในสมัยที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต แต่สื่อเวียดนามก็นำเสนอเรื่องความขัดแย้งได้อย่างละเอียดโดยหลีกเลี่ยงไม่เอียงข้างรัสเซีย

26 ก.พ. 2565 หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนครั้งใหญ่ด้วยกำลังทหาร เวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากที่สุดในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดยังคงสงวนท่าทีไม่ได้แสดงความคิดเห็นที่มีนัยสำคัญใดๆ นอกเหนือไปจากแถลงการณ์ในเชิงขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นซึ่งเป็นแถลงการณ์แบบสูตรสำเร็จทั่วไป

แต่ที่มีการตั้งข้อสังเกตคือ การที่สื่อเวียดนามซึ่งรายงานเรื่องกรณีรัสเซียกับยูเครนอย่างละเอียดนั้นไม่ได้มีความโน้มเอียงเข้าข้างรัสเซียแต่อย่างใด ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกใจสำหรับสื่อเรดิโอฟรีเอเชียที่มองว่าเวียดนามมักจะรายงานข่าวในเชิงเข้าข้างรัสเซียอยู่เสมอ

มีการยกตัวอย่างกรณีการรายงานข่าวเข้าข้างรัสเซีย คือในสมัยปี 2557 ที่มีการประท้วงยูโรไมดานที่ยูเครนแล้วตามมาด้วยการที่รัสเซียเข้าควบรวมพื้นที่ไครเมียให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตัวเองนั้น สื่อรัฐบาลของเวียดนามก็มักจะชี้นิ้วกล่าวหาอยู่เสมอว่าวิกฤตนี้เป็นความผิดของ "ชาติตะวันตก" โดยอ้างว่าสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่เพื่อดึงเอายูเครนออกมาจากขอบเขตอิทธิพลของรัสเซีย

แต่การนำเสนอในสื่อเวียดนามทุกวันนี้ต่างออกไปในประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งรัสเซียยูเครน เช่นสื่อ Nhan Dan เดลี ซึ่งเป็นปากกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามรายงานการโต้เถียงจากทั้งสองฝ่ายในการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับประเด็นยูเครน ซึ่งพวกเขาทำการอ้างคำพูดไม่เพียงแค่ของฝ่ายรัสเซียและจีน แต่อ้างอิงคำพูดของทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติและถ้อยแถลงของประธานาธิบดียูเครนด้วย

สื่อออนไลน์ของทางการเวียดนาม Bao Tin Tuc ยังคงให้พื้นที่สื่อจากการนำเสนอมุมมองฝ่ายรัสเซียต่อวิกฤตการณ์นี้มากกว่าฝ่ายอื่นๆ แต่ก็มีการรายงานเรื่องที่ชาติตะวันตกประณามประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ในเรื่องที่ให้การรับรองการแบ่งแยกดินแดนของโดเนตสก์และลูฮันสก์ของยูเครนด้วย

ทั้งนี้ในบทความแสดงความคิดเห็นของสื่อ Bao Tin Tuc ถึงขั้นระบุว่าการกระทำของปูตินเป็นการ "ทำลายความหวังที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ด้วยวิธีทางการทูต"

Nguyen Hong Thach เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำยูเครนแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเวียดนามว่าเขา "ประหลาดใจอย่างถึงที่สุด" และไม่คาดคิดว่าปูตินจะส่งกองทัพบุกเข้ายูเครนเร็วและอย่างเด็ดขาดขนาดนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเวียดนามนับย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ให้การรับรองในเชิงการทูตต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนามซึ่งเป็นชื่อของเวียดนามในยุคปี 2493 ในปัจจุบันเวียดนามมีชื่อเต็มว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

รัสเซียเป็นประเทศพันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำหรับเวียดนามที่มาเป็นอันดับแรก และเป็นเพียงหนึ่งในสามของ "พันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม" สำหรับเวียดนามนอกเหนือจากจีนและอินเดีย นอกจากนี้รัสเซียยังเป็นประเทศที่บริจาคให้เวียดนามมากที่สุดด้วยจนกระทั่งถึงตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

จนถึงตอนนี้รัสเซียก็ยังคงเป็นพันธมิตรทางการทหารที่สำคัญสำหรับเวียดนาม เป็นผู้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์รายหลักแก่เวียดนาม

ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองทำให้การวิจารณ์รัสเซียและนโยบายการต่างประเทศของปูตินโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเวียดนามโดยตรงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

เวียดนามไม่มีสื่อเอกชนและสื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้โดยคณะกรรมการกลางด้านการโฆษณาชวนเชื่อและการศึกษาของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ถึงกระนั้นก็ตามประชากรเวียดนามมากกว่าร้อยละ 70 ก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และนักข่าวที่เป็นคนรุ่นใหม่ในเวียดนามก็สามารถเข้าถึงสื่อภาษาอังกฤษได้ มี "แนวคิดแบบตะวันตก" แทรกเข้ามาสู่สื่อในประเทศของเวียดนามมากขึ้นซึ่งทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมผิดหวัง

สำหรับรัฐบาลเวียดนามพวกเขานังไม่ได้แถลงอะไรจริงจังเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นแต่ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับความตึงเครียดก่อนหน้าการประกาศสงครามโดยระบุว่าขอให้ทุกฝ่ายมีความอดกลั้นและใช้วิธีการทางการทูตในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติโดยตั้งอยู่บนฐานของกฎบัตรสหประชาชาติและหลักการพื้นฐานของกฎหมายนานาชาติ

แต่ชาวเน็ตในเวียดนามก็เริ่มพูดคุยอภิปรายเรื่องนี้ในพื้นที่โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะในเฟสบุคที่มีผู้ใช้งานชาวเวียดนามราว 66 ล้านราย โดยระบุถึงเรื่องชุมชนชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในยูเครน 6,000-7,000 คน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก กับเรื่องข้อพิพาทกับจีน

ถึงแม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามจะมีสายสัมพันธ์กันอยู่แต่ก็มีการสงสัยระแวงและแข่งขันกันอยู่ด้วย เช่น ในเรื่องข้อพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้

มีนักวิเคราะห์การเมือง Nguyen Ngoc Truong ที่เป็นอดีตเอคอัครราชทูตเตือนให้เอเชียระวังจีนนเรื่องที่เขามองว่า "จีนร่วมมือกับรัสเซียเพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่"

มีนักวิเคราะห์การเมืองอีกรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเวียดนามกล่าวว่าการที่สหรัฐฯ สู้รบกับรัสเซียจะเป็น "ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์" เพราะ "คู่แข่งที่แท้จริงคือจีน" ทำให้ต้องต่อสู้กับทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน

รัฐบาล โจ ไบเดน กล่าวว่าพวกเขาจะไม่ส่งกองทัพเข้าไปสู้รบในยูเครน และจีนก็บอกว่าพวกเขาจะไม่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์นี้โดยบอกว่าพวกเขาไม่มีผลได้ผลเสียในประเด็นยูเครน มีเสียงจากชาวเวียดนามจำนวนมากที่บอกว่าพวกเขากังวลกลัวว่าสหรัฐฯ จะมัวแต่สนใจความตึงเครียดในยูเครนจนทำให้จีนฉวยโอกาสผลักดันวาระของตัวเองในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกได้ ซึ่งไต้หวันกับทะเลจีนใต้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับจีน


ที่มา
On Ukraine crisis, Vietnam media stray from typical pro-Russia coverage, Radio Free Asia, 24-02-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net