Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากกรณี ตม.ไทยจับกุมนักเคลื่อนไหวชาวเวียดนาม หลายองค์กรสิทธิฯ แถลง 5 ข้อถึงรัฐบาลไทย ย้ำต้องไม่ส่งเขากลับไปเผชิญอันตราย และขอให้สืบสวนว่ามีการส่ง จนท.รัฐต่างประเทศเข้ามาปราบปราบผู้ที่กำลังลี้ภัยในไทยหรือไม่

14 มิ.ย. 2567 ทีมสื่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งข่าวว่า องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งร่วมกันออกแถลงการณ์ ข้อเสนอแนะต่อกรณีการจับผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม และข้อห่วงใยต่อการส่งตัวบุคคลไปสู่อันตรายในประเทศเวียดนาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์

ข้อเสนอแนะต่อกรณีการจับผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม และข้อห่วงใยต่อการส่งตัวบุคคลไปสู่อันตรายในประเทศเวียดนาม

 

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจคนเข้าเมืองได้จับกุมตัว อี ควิน เบอดั้บ (Mr. Y Quynh Bdap) นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาชาวเวียดนาม อายุ 32 ปี ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์โดยได้รับสถานะผู้ลี้ภัย และการคุ้มครองระหว่างประเทศจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees - UNHCR)  อีฯ เป็นแกนนำเรียกร้องสิทธิเสรีภาพการนับถือศาสนาให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ถูกรัฐบาลเวียดนามตั้งข้อหาก่อการร้ายจากเหตุจลาจลปีที่ผ่านมา ซึ่งอีฯ ให้การปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว และอ้างว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของอีฯ เป็นการกระทำโดยสงบและไม่มีความรุนแรง โดย อี ควิน เบอดั้บ  ถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจ หลังจากสัมภาษณ์กับสถานทูตประจำประเทศแคนาดาเพื่อการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ประเทศที่สาม และอาจจะถูกส่งตัวกลับเวียดนาม โดยใช้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ทางเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจึงใคร่ขอแสดงความห่วงใยว่าการจับกุมผู้ลี้ภัยกรณีดังกล่าวเป็นการกดปราบข้ามชาติ (Transnational Repression) ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่ทำข้อตกลงกันไว้ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งผิดหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติข้อ 6 และข้อ 7 ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) บทบัญญัติข้อ 3 ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (The Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT)  และบทบัญญัติข้อ 16 ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) และหลักนี้ยังถือเป็นหลักกฎหมายบังคับเด็ดขาด (jus cogens) และเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Right) ที่รัฐมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นในทุกกรณี และในทุกสถานการณ์  รวมถึงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 ระบุไว้ว่าห้ามมิให้หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคล เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะตกไปอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ถูกกระทำให้สูญหาย เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้ทางการไทยพิจารณาข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลไทยตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศเข้าทำการสืบสวนหรือทำการใดที่ไม่ถูกกฎหมายในไทยในการจับกุมนักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยรายนี้และรายอื่นๆหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นการละเมิดกฎหมายไทย ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญาต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสตรวจสอบการใช้อำนาจได้เพื่อป้องกันการกดปราบข้ามชาติ
  2. ไม่ส่งตัว อี ควิน เบอดั๊บ ให้กับทางการเวียดนาม ตามหลักการไม่ส่งกลับ และมาตรา 13 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. 2565
  3. ให้การจับกุมดังกล่าวเป็นไปตามมาตรการกระบวนการจับกุมตามมาตรา 22 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งพนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. 2565
  4. อี ควิน เบอดั๊บ พึงได้รับสิทธิการประกันตัวเพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างมีความเป็นธรรม เนื่องจากมีการตั้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจทำให้อี ควิน เบอดั๊บไม่ได้รับการประกันตัวเนื่องจากหมายจับผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว
  5. ประสานงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในการส่งตัว อี ควิน เบอดั๊บ ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2566 ว่าจะขยายความร่วมมือกับประเทศที่สามในการหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้หนีภัยกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย

แถลง ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2567

  1. มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ
  2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  3. Manushya Foundation
  4. ALTSEAN
  5. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  6. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
  7. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net