'คนข้ามเพศ' ในยูเครนติดอยู่ในวงล้อมสงครามเพราะลี้ภัยได้ยากลำบาก

'คนข้ามเพศในยูเครน' ต้องติดอยู่ในวงล้อมสงคราม ถูก 'กีดกัน-เลือกปฏิบัติ' เพราะการรับรองเพศสถานะมีความล้าหลัง ทำให้เอกสารระบุเพศไม่ตรงกันจนถูกปฏิเสธไม่ให้ลี้ภัยจากประเทศ

5 มี.ค. 2565 ท่ามกลางสภาวะสงครามในยูเครนมีชาวยูเครนที่ต้องการลี้ภัยออกจากประเทศ เพื่อหลบหนีจากกองกำลังของรัสเซียที่รุกรานประเทศของพวกเขา แต่คนข้ามเพศก็ต้องประสบกับความยากลำบากในเรื่องนี้มากจากการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติเนื่องจากระบบการรับรองเพศสถานะมีความล้าหลังและข่มเหงคนข้ามเพศ ทำให้เอกสารระบุเพศของพวกเขาไม่ตรงกันจนถูกปฏิเสธไม่ให้ลี้ภัยจากประเทศ

กลุ่มคนข้ามเพศในยูเครนเล่าให้สื่อฟังว่าพวกเขารู้สึก "เป็นหนูติดจั่น" และ "กลัวอันตรายต่อชีวิต" ขณะที่พวกเขายังอยู่ในประเทศ หลังจากที่รัสเซียมีปฏิบัติการบุกรุกประเทศยูเครนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

มีหญิงข้ามเพศ 2 รายที่บอกว่าพวกเธอไม่สามารถเดินทางออกจากยูเครนได้ หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าพวกเธอไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนอย่างปลอดภัยได้เพราะว่าเอกสารระบุตัวตนของพวกเธอยังคงเขียนเพศของพวกเธอไว้ว่า "ชาย" และยังคงบีบให้พวกเธอต้องใช้ชื่อเก่าของพวกเธอที่เป็นชื่อแบบผู้ชาย

มีคนข้ามเพศบางคนเล่าว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนให้ "ทิ้งบัตรประจำตัว" ของพวกเขาเพื่อให้สามารถออกจากยูเครนได้ มีนักกิจกรรมประเด็นคนข้ามเพศระบุว่ากรณีที่พวกเขาไม่ได้รับการรับรองเพศสถานะทางกฎหมายเช่นนี้ทำให้มีคนข้ามเพศในยูเครน "หลายร้อยคน" ที่ตกอยู่ในสภาพเสี่ยงอันตรายอย่างหนักและรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างมาก

มีหญิงข้ามเพศรายหนึ่งที่บอกว่าเธอกลัวเมื่อถูกสั่งให้หยุดขณะที่เธอพยายามจะออกจากยูเครนและถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกองกำลังของยูเครน "ในฐานะผู้ชาย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางการยูเครนจะคอยห้ามไม่ให้ผู้ที่พวกเขามองว่าเป็นผู้ชายอายุ 18-60 ปี ออกจากประเทศ มีหญิงข้ามเพศอีกรายหนึ่งเล่าว่าเธอกลัวที่จะออกจากที่พักของตัวเองเพราะกลัวว่าจะถูกโจมตีบนฐานของความเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ในย่านที่เธออาศัยนั้นเธอเป็นคนเดียวที่ยังคงเหลืออยู่

ชายข้ามเพศรายหนึ่งที่ทำการข้ามเพศเป็นชายและใช้ชีวิตในฐานะผู้ชายมาเป็นเวลามากกว่า 6 ปีแล้วในยูเครน แต่เขามีเอกสารแสดงตัวตนที่ระบุเพศของเขาว่าเป็น "ผู้หญิง" เท่านั้น เขาบอกว่าเขากลัวที่จะออกจากบ้านและพยายามเดินทางออกจากประเทศยูเครน ในช่วงที่สื่อสัมภาษณ์เขาทางโทรศัพท์ก้ได้ยินเสียงระเบิดและเสียงคนกรีดร้องอยู่ข้างนอกแต่เขาก็ปฏิเสธที่จะหนีเพราะปัญหาเรื่องเอกสารระบุตัวตนของเขาที่ไม่รับรองเพศสถานะ

นอนไบนารี (ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศชายหญิง) ชาวยูเครนก็กล่าวถึงความกลัวของตัวเองในการที่จะเดินทางออกจากยูเครนแล้วไปยัง "สถานที่แบบโปแลนด์หรือฮังการี" ที่เขามองว่าอัตลักษณ์ของพวกเขาจะถูก "เย้ยหยัน" และไม่ได้รับการรับรองสถานะ โดนที่ฮังการีและโปแลนด์เป็นประเทศที่ปัจจุบันปกครองโดยรัฐบาลฝ่ายขวาและมีนโยบายในเชิงกีดกันความหลากหลายทางเพศ ชาวนอนไบนารีผู้นี้กลัวว่าการไปอยู่ในประเทศใหม่เหล่านี้จะทำให้เขาถูกกีดกันมากยิ่งขึ้นและอยู่ในอันตรายมากขึ้น

การรุกรานของรัสเซียทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครน โดยที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่ามีผู้ลี้ภัยจากยูเครนที่เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วอย่างน้อย 520,000 ราย นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา และเตือนว่าในขณะที่มีการรายงานตัวเลขเช่นนี้ ตัวเลขผู้ลี้ภัยก็อาจจะ "เพิ่มขึ้นเรื่อย ชั่วโมงต่อชั่วโมง ในระดับทวีคูณ"

แต่กลุ่มคนข้ามเพศก็อาจจะไม่ได้ถูกนับรวมในจำนวนตัวเลขเหล่านี้ด้วย เช่น หญิงข้ามเพศรายหนึ่งชื่อ Zi Faámelu อายุ 31 ปี จากกรุงเคียฟ เธอเป็นนักดนตรีและเคยออกโทรทัศน์ในประเทศยูเครน เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ยังคงถูกระบุในเอกสารแสดงตัวตนว่าเป็น "ชาย" ทำให้เธอรู้สึกเหมือนกับคนข้ามเพศหลายร้อยคนทั่วยูเครนที่ "อยู่ในสงครามซ้อนสงคราม"

Faámelu ร้องขอให้ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือหน่วยงานการกุศลช่วยเหลือคนข้ามเพศอย่างพวกเขาที่ติดอยู่ในยูเครนและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ซึ่งแม้แต่ตัวเธอเองก็นั่งถือมีดอยู่ในความมืดเพราะกลัวว่าใครก็ตามที่อยู่ข้างนอกจะเข้ามาทำร้ายเธอ

ถึงแม้ว่าในยูเครนคนข้ามเพศจะสามารถขอการรับรองเพศสถานะได้ตามกฎหมาย แต่ทว่าในกระบวนการที่จะได้มาซึ่งเพศสถานะนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็น "การละเมิดสิทธิ" โดย "ล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของบุคคล"

เรื่องนี้คนข้ามเพศอย่าง Faámelu ก็พูดถึงด้วยตนเองโดยที่เธอบอกว่ากระบวนการขอรับรองเพศทางกฎหมายของยูเครนนั้น มีการหยามเกียรติ์ศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนข้ามเพศ เช่นมีการกำหนดให้ต้องไปอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชเป็นเวลาหลายเดือนและบังคับให้ต้องรับการทดสอบทั้งทางร่างกายและทางจิตวิทยาเพื่อ "พิสูจน์" เพศของพวกเขาเอง

Faámelu บอกว่าคนข้ามเพศอย่างเธอไม่ต้องการผ่านกระบวนการที่กดขี่ข่มเหงเหล่านี้ทำให้พวกเขาเก็บหนังสือเดินทางที่ระบุเพศกำเนิดไว้และพยายามอยู่เงียบๆ เธอบอกว่าเสียดายที่ไม่ได้รีบออกไปจากยูเครนให้เร็วกว่านี้เพราะรอเอกสารรับรองเพศฉุกเฉินอยู่แต่จู่ๆ แพทย์ก็ปฏิเสธอย่างกะทันหันไม่ให้เอกสารกับเธอ

Faámelu เล่าว่าในเวลาที่ปกติคนข้ามเพศอย่างพวกเธอก็เผชิญความเสี่ยงอันตรายอยู่แล้ว แต่ในสภาพสงครามเช่นนี้กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเธอจะออกข้างนอก ในขณะที่คนรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับแล้วในยูเครน คนข้ามเพศอย่างพวกเขาก็เสี่ยงจากความรุนแรงและการกล่าวโจมตีพวกเขาด้วยลักษณะหน้าตาหรือสรีระ เช่น คางใหญ่ หรือไหล่กว้าง มีบางคนถูกทุบตีทำร้ายหรือกระทั่งถูกสังหาร ยิ่งในช่วงสงครามที่ผู้คนถือปืนด้วยแล้วคนพวกนี้ก็มีข้ออ้างมากขึ้นในการจะใช้ความรุนแรงก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศอย่างพวกเขาหรือพวกเธอ

"คนข้ามเพศในตอนนี้รู้สึกเหมือนถูกลืม ถูกละเลย ถูกทอดทิ้ง พวกเรากลายเป็นมนุษย์ล่องหนไปแล้วในตอนนี้ พวกเราต้องการสหประชาชาติ พวกเราต้องการองค์กรสิทธิมนุษยชน พวกเราต้องการให้มีคนช่วยทำให้เรื่องของพวกเราเป็นที่รับรู้" Faámelu กล่าว

กระบวนการลี้ภัยออกจากยูเครนเองก็เป็นปัญหา ถึงแม้ว่าในหลายประเทศใกล้เคียงจะบอกว่าพวกเขารับผู้ลี้ภัยจากยูเครนโดยไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงตัวตน แต่การเดินทางในยูเครนทำให้พวกเขาต้องเจอกับด่านตรวจโดยตำรวจและทหารซึ่งมักจะแบ่งแยกพวกเขาเป็น "ชายและหญิง" โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย

สถานการณ์เรื่องความหลากหลายทางเพศในยูเครนก่อนหน้าสงครามก็มีปัญหาอยู่แล้ว เช่นกรณีที่ตำรวจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เวลามีกรณีที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ถูกทำร้าย นอกจากนี้ในเดือน ก.พ. ก็เคยมีกรณีกลุ่มคนทำลายทรัพย์สินของศูนย์ชุมชน LGBTQ+ ในเมืองคาร์คีฟ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน มีการขีดเขียนข้อความขู่เอาชีวิตและเขียนข้อความคัมภีร์ไบเบิลทับ "จิตรกรรมฝาผนังแห่งความเท่าเทียม" ของศูนย์

อีกกรณีหนึ่งที่ชายข้ามเพศที่ชื่อ โรเบิร์ต อายุ 31 ปี อาศัยในคาร์คีฟ เขาใช้ฮอร์โมนทำให้รูปลักษณ์ดูเป็นชายแล้ว แต่ในเอกสารยังระบุเพศเขาเป็น "ผู้หญิง" โรเบิร์ตบอกว่าถึงแม้สังคมรอบตัวที่ยอมรับและเรียกเขาแบบผู้ชายแต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ของเขาเป็นเช่นไร เขาเคยถูกพ่อแม่ตัวเองขู่ฆ่ามาก่อนเมื่อเขาเปิดตัวว่าเป็นคนข้ามเพศ และในช่วงสงครามเขาก็กลัวถูกเอาชีวิต คนที่เคยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเขาตอนนี้ออกไปอยู่ประเทศอื่นๆ กันแล้ว

การที่เอกสารตัวตนไม่ตรงกับเพศสภาพของโรเบิร์ตทำให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบาก เขาจะสมัครงานก็ไม่ได้ เปิดบัญชีธนาคารก็ไม่ได้ เอาใบขับขี่ก็ไม่ได้ เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่อก็ไม่ได้เพราะมหาวิทยาลัยไม่สามารถอนุมัติเอกสารของเขา โรเบิร์ตจึงหาเลี้ยงตัวเองด้วยการทำงานรับจ้างทั้งตัดผม, ล้างห้องน้ำและทำความสะอาดอพาร์ทเมนต์ "มันเป็นแค่การดำรงอยู่ ไม่ได้นับเป็นการใช้ชีวิต" โรเบิร์ตกล่าว

ในปัจจุบันโรเบิร์ตได้รับการสนับสนุนจากนักกิจกรรม LGBTQ+ ที่ชื่อ เรน โดฟ โดยที่โดฟเพิ่งจะก่อตั้งกลุ่มและกองทุนเพื่อสนับสนุนกลุ่มชาว LGBTQ+ กลุ่มคนพิการ และครอบครัวที่ยังคงติดอยู่ในยูเครน ซึ่งทางกลุ่มได้ช่วยเหลือผู้คนออกจากยูเครนได้แล้ว "มากกว่า 700 คน" มีจำนวนมากที่เป็น LGBTQ โดยที่โดฟแนะนำวิธีการที่ชาว LGBTQ+ โดยเฉพาะคนข้ามเพศจะสามารถหลบเลี่ยงการตรวจตราในเชิงกีดกันทางเพศวิถีจากเจ้าหน้าที่ในยูเครนได้โดยการซ่อนเอกสารประจำตัวแล้วบอกว่าตัวเองเป็นนักศึกษาต่างชาติ จะทำให้พวกเขาถูกส่งไปอยู่กับกลุ่มคนต่างชาติและเมื่อไปถึงประชายแดนประเทศใกล้เคียงพวกเขาก็สามารถยื่นเอกสารประจำตัวให้ดูได้อย่างไม่มีปัญหา

เรมี บอนนี ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรที่ผลักดันเรื่อง LGBTQ+ ทั่วยุโรป "ฟอร์บิดเดน คัลเลอร์ส" กล่าวว่า "การที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนทำให้ทั่วโลกตกตะลึง และผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ได้รับผลกระทบจากสงครามนี้มากเป็นพิเศษ"

บอนนีขอร้องให้คนทั่วโลกช่วยทำอะไรก็ตามเท่าที่จะทำได้เพื่อช่วยเหลือบุคคล เหล่านี้ เช่นการบริจาคให้กับองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีการประเมินว่าเป็นไปได้ว่าจะมีผู้มีความหลากหลายทางเพศประมาณ 100,000 คนในช่วงหลายสัปดาห์นี้เดินทางลี้ภัยจากยูเครนไปยังโปแลนด์, ฮังการี และโรมาเนีย แต่ในอดีตค่ายผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาว LGBTQ+ เลย

ที่มา
Trans People Stranded and Alone in Ukraine Following Russia’s Invasion, Vice, 02-03-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท