Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาชนทำกิจกรรมหน้ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต่อช่วงบ่าย เปิดด้วย เวทีรับฟังความเห็นประชาชน ยื่นหนังสือถึง รมต.พม. และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อย้ำจุดยืนไม่เอา พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน 

 

24 มี.ค. 65 แพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘No NPO Bill’ รายงานวันนี้ (24 มี.ค.) ต่อความคืบหน้าการทำกิจกรรมคัดค้าน พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน หรือชื่อทางการคือ พ.ร.บ.การดำเนินการขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่หน้ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. นัดรวมตัวโดย ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งกิจกรรมเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า 9.30-16.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านประมวลเหตุการณ์ : ‘ไม่ค้านก็ซวยหมด’ ประชาชนเดินขบวนไป พม. ต้าน พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มประชาชน 

เวลา 13.05 น. มีการจัดกิจกรรมเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... โดย สุภาภรณ์ มาลัยลอย จาก EnLaw และ นิมิตร์ เทียนอุดม จาก เครือข่ายรัฐสวัสดิการ

เปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน ต่อร่าง พ.ร.บ. ต่อต้านการรวมกลุ่มของประชาชน

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากกลุ่ม EnLaw และ นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการ ทำหน้าที่อำนวยเวทีรับฟังความเห็นประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ ‘พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ...’ 

สุภาภรณ์ ประกาศว่า “ได้ส่งหนังสือให้แก่รัฐมนตรีกระทรวง พม. มาร่วมรับฟังในวันนี้ช่วงเวลาประมาณบ่ายโมง (13.00 น.) แต่ทราบมาว่ารัฐมนตรีกระทรวง พม. (รมต.พม.) ไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว ซึ่งหาก รมต.พม.ไม่มา ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะไปยื่นหนังสือที่หน้าห้องด้วยตัวเอง ก่อนจะให้ทีมงานเดินแจกเอกสาร ให้กับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม

รู้จัก ที่มาของพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม

ก่อนจะเริ่มต้นเวทีด้วยการกล่าวถึงที่มาของกฎหมายฉบับนี้สรุปจากเอกสาร ‘พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... ’ (พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน) ระบุว่าผู้ริเริ่มคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกฤษฎีการเป็นผู้ร่างฯ ซึ่งที่มาและความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีการเขียนไว้ว่า เพราะมีองค์กรที่รวมกลุ่มกันและหาผลประโยชน์ ทำให้ประเทศชาติวุ่นวาย อันเป็นเหตุผลที่ไม่ชัดเจนและถูกอ้างบ่อยครั้งในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา

พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม แต่ยกเว้นบางกลุ่ม?

ต่อมา นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการ ได้สอบถามประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่ามีกลุ่มใดบ้างที่เข้าข่ายมาตรา 3 และอ่านนิยาม ‘องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร’ จากกฎหมายดังกล่าวทำให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมยกตัวอย่างกลุ่ม องค์กร สมาคม มูลนิธิ แม้จะมีเสียงดังขึ้นจากด้านล่างว่า “มูลนิธิป่ารอยต่อ” แต่นิมิตร์ เทียนอุดม ย้ำเตือนว่า พ.ร.บ.ที่รัฐบาลอ้างว่าสนับสนุนการดำเนินงานภาคประชาชน แท้จริงแล้วนั้น “รัฐยังสามารถยกเว้นบางกลุ่มองค์กรได้”

ปัญหาด้านความซ้ำซ้อนและการตีความ

นิมิตร์ ยกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมว่า เหตุที่กลุ่มภาคประชาสังคมออกมาต่อต้านเพราะมีการดำเนินการไม่โปร่งใสโดยเฉพาะด้านการเงิน ผู้อำนวยเวทีรับฟังความเห็นจึงชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการของกลุ่มองค์กรต่างๆ มีกฎหมายอื่นในการควบคุมการดำเนินงานอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ที่ควบคุมองค์กรสมาคมและมูลนิธิ, พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความโปร่งใสทางการเงิน อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังมีคำสำคัญที่ปรากฏให้เห็นในกฎหมายหลายฉบับช่วงที่ผ่านมาอย่าง “ความมั่นคงของรัฐ”, “ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี” และ “ไม่สร้างความแตกแยก” ซึ่งมีปัญหาในด้านการตีความ
.
สุภาภรณ์ ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานที่อาจจะถูกตีความว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ เช่น การเรียกร้องค่าแรงที่เป็นปัญหาของประชาชน แต่สาเหตุหลักคือโครงการของรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชน แต่กฎหมายนี้กลับอนุญาตให้รัฐตีความว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนขัดกับความมั่นคงของรัฐ หรือกรณีการจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ หากถูกตีความว่าขัดกับศีลธรรมอันดี ก็จะเป็นเหตุให้ถูกระงับและมีโทษตามกฎหมาย ทั้งที่รัฐไม่ควรมีบทลงโทษกับผู้ที่มีมุมมองขัดกับรัฐอย่างเป็นระบบเช่นนี้

พม.รับหนังสือ

ต่อมา เวลา 14.20 น. ตัวแทนขบวนประชาชนต่อต้านกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มประชาชนอ่านแถลงการณ์ต่อหน้า นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งลงมาพบมวลชนตามคำเรียกร้อง โดยแถลงการณ์นั้นขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งยุติกระบวนการร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ 

หลังจากนั้น ได้มอบหนังสือแก่นายจุติ ซึ่งตอบมวลชนเพียงสั้นๆ ว่า “ได้ตั้งใจฟังข้อคิดเห็น จะเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป” และจากนี้จะมีตัวแทนรัฐมนตรีรับฟังการปราศรัยแทน

ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ท่อนหนึ่งระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้มีเจตนารมณ์สนับสนุนให้องค์กรไม่แสวงหากำไรทำงานได้ง่าย แต่เป็นมุ่งเน้นไปที่การแทรกแซงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานคือการรวมกลุ่มของประชาชนทุกคน ซึ่งถือเป็นการคุกคาม และกำจัดกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง กำจัดประชาชนที่เรียกร้องต่อรัฐและผู้มีอำนาจเพื่อต้องการการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกว่าเป็นหลัก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องรัฐบาลที่กำลังขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง 

จึงขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งยุติกระบวนการร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หยุดถ่วงรั้งการพัฒนา หยุดทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน หยุดทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการกำจัดคนเห็นต่างทางการเมือง ด้วยการหยุดกระบวนการในการร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ...” ทุกฉบับ 

เราเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ จันโอชาและองคาพยพลาออกเพื่อเปิดทางให้มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และเพื่อรื้อถอนอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างโอกาสที่ประชาชนในการกลับสู่หนทางประชาธิปไตย ประชาชนสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้อย่างแท้จริง

จุติ ไกรฤกษ์ รมต.พม. ลงมารับหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ค้านการรวมกลุ่มประชาชน (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก No NPO Bill)

ความเห็น ปชช.ต่อร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม

เฟซบุ๊กเพจ ‘No NPO Bill’ รายงานต่อว่า เมื่อเวลา 15.22 น. เวทีรับฟังความเห็นช่วงที่ 2 มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนจากที่ต่างๆ มาร่วมสะท้อนปัญหาของตัวบทกฎหมาย 

ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ระบุว่า “กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์จริง แต่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ แม้กระทั่งงานเย็นอย่างเกษตรทางเลือก” และกล่าวเพิ่มเติมว่า “เครือข่ายของผมตั้งขึ้นมาเพราะอยากทำเกษตรอินทรีย์ ทำในท้องถิ่น จึงไม่อยากให้มีสารเคมีขายในประเทศไทย งานของผมอาจถูกตีความว่า ขัดต่อระบบเศรษฐกิจของไทยได้”

“เราพัฒนาพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ซึ่งสวนกระแสกับกลุ่มทุนและโครงการของรัฐ ผมอาจจะโดนปรับห้าแสน และวันละหมื่น ผมคงต้องไปกราบกรานและสยบยอมต่ออำนาจรัฐ จนเครือข่ายต้องง่อยเปลี้ยเสียขาไป”

ด้านตัวแทนจากขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (PDMT) กล่าวถึงความเป็นเผด็จการของรัฐที่ส่งผลต่อการไม่สนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชน “เมื่อรัฐบาลเผด็จการเข้ามา ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียไป พวกเราแค่รวมกลุ่ม มันผิดอะไร นี่มันคือสิทธิ นี่มันคือเสรีภาพของประชาชน พวกเราเป็นแค่คนธรรมดา ไม่มีอำนาจรัฐในมือแบบพวกคุณ พวกคุณมีอำนาจรัฐ แต่กลับทำแบบนี้หรือ”

“พวกเราเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับพวกคุณ นายกรัฐมนตรี หรือใหญ่กว่านั้น ก็เป็นคนเท่านั้น” ตัวแทน PDMT กล่าว

ตัวแทนจากเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงปัญหาที่ประสบจากการที่กฎหมายหลงลืมคนหลากหลายทางเพศแต่ในทางกลับกันก็ถูกควบคุมด้วย โดยระบุว่า “ปกติแล้ว คนหลากหลายทางเพศไม่ถูกคุ้มครองอยู่แล้ว” และ “เมื่อพวกเราขายตัว ก็ถูกควบคุมร่างกายอยู่แล้ว แล้วถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา เราจะขายให้ใคร จะประกอบอาชีพได้อย่างไร”

“ที่ผ่านมาเราถูกปิดสถานบริการกว่าห้าร้อยแห่ง และกว่าสองปีที่เราไม่มีรายได้มาดูแลครอบครัว เราเรียกร้องความชดเชย ไม่ใช่การเยียวยา ที่ผ่านมาเราถูกกระทำจากกฎหมายออกโดยรัฐบาลทุกฉบับ กม.ที่เอาเปรียบประชาชนต้องหมดไป” ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ กล่าว 

ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายที่ดินทำกินภาคใต้ ชี้ให้เห็นความสำคัญของเสียงประชาชนที่มาจากการรวมกลุ่มว่า “การรวมกลุ่มเรียกร้องเรื่องที่ดิน จำเป็นต้องเป็นกลุ่มองค์กร เพราะถ้ามาเป็นแค่คน-สองคน ก็ไม่มีใครได้ยิน” และ “พวกผมเดินทางมาร่วมกันวันนี้ เหนื่อย ไม่อยากจะมา เพราะถ้าเราพูดเบาแล้วเขาได้ยิน ก็ไม่อยากจะมา ผมอยู่ในชนบทแต่วันนี้จำเป็นต้องมา เพราะรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจไว้ที่นี่ทั้งหมด”

นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายที่ดินทำกินภาคใต้ ยังกล่าวถึงปัญหาการออกกฎหมายฉบับนี้และกฎหมายฉบับอื่นๆจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ว่า “การออกกฎหมายแบบนี้ละเมิดสิทธิพื้นฐานหมด ไม่น่าเชื่อว่ามาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” และ “กฎหมายหลายมาตรา ล้วนละเมิดสิทธิเราทั้งหมด พี่น้องเราทุกคนที่มา เจตนาคือไม่รับ”

“ที่เรามาวันนี้ มาเพื่อบอกว่าเราไม่เอา ถ้านายกไม่หูหนวก คงต้องได้ยินอยู่แล้ว” เครือข่ายที่ดินทำกิจภาคใต้ ระบุ 

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่ผาจันได จ.หนองบัวลำพู ระบุว่า “ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออก ป่าประเทศไทยมันสิบ่เบิ้ดไปบ่” ก่อนจะอธิบายว่า ที่ผ่านมา ประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่มีความเข้าใจและหวนแหนพื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัย หากกฎหมายที่ขัดขวางการรวมตัวของประชาชนฉบับนี้ผ่าน ก็จะส่งผลเสียต่อกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมกันปกป้องแผ่นดินเกิด

“ป่ามันยังสิยังบ่ ถ้าบ่มีประชาชนตัวเล็กตัวน้อยมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่ผาจันได กล่าว

ปชช.พยายามแขวนป้าย แต่ถูก ตร.ขวาง เพราะมีพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งด้วยว่า เมื่อเวลา 15.45 น. ที่งานคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มของประชาชน หน้า พม. มีความพยายามแขวนไวนิลสีเหลืองขนาดใหญ่ แต่ถูกตำรวจขวางเพราะมีพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10

เวลา 15.50 น. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ใจความว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อขจัดพลังของประชาชน แบ่งกลุ่มองค์กรขบวนประชาชนที่ดีในสายตาของรัฐแยกออกจากกลุ่มองค์กรที่เลวในสายตาของรัฐออกจากกัน นี่คือการกระทำที่มองเห็นประชาชนเป็นศัตรู 

ภารกิจของประชาชนในการคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ยุติแค่เพียงวันนี้ แต่จะทำงานทางความคิดและขยายเครือข่ายประชาชน เพื่อให้ประชาชนเห็นผลกระทบของร่างกฎหมายและไปเรียกร้องยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เราจะไม่หันหลังกลับจนกว่ารัฐบาลจะยุติการผลักดันร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน

จุดไฟเผาร่าง พ.ร.บ.จำลอง

เฟซบุ๊กเพจ ‘No NPO Bill’ รายงานว่า ก่อนยุติกิจกรรม เครือข่ายประชาชนที่มาร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.การควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ต่างร่วมกันชูกระดาษขนาด A4 ปรากฏข้อความว่า “การวมกลุ่มมคือพื้นฐานประชาธิปไตย ใยมาทำลายแบบเผด็จการ” 

แล้วหันไปทางป้ายสีเหลืองขนาดใหญ่ที่หันหน้ามาทาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยในป้ายมีข้อความว่า “หยุด พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน พวกเราจะซวยกันหมด”

ตามด้วยกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงออกไม่รับร่างกฏหมายฉบับนี้ ด้วยการเผากระดาษจำลองร่าง พ.ร.บ.การควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ป้ายกระดาษปรากฏข้อความมากมาย อาทิ “ขอรัฐสวัสดิการแต่ได้กฏหมายสามานย์ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน” “พัฒนาสังคมยังไม่ดียังกดขี่การรวมกลุ่มประชาชน” “การวมกลุ่มมคือพื้นฐานประชาธิปไตย ใยมาทำลายแบบเผด็จการ? ” และวางพวกรีด “ร่างพระราญบัญณัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ก่อนยุติกิจกรรมเวลา 16.16 น. 

ยื่นรายชื่อ 12,222 รายชื่อ ค้าน พ.ร.บ. พรุ่งนี้ 

ในวันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา 12.00 น. แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน’ เผยว่า ทางเครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่น 12,222 รายชื่อ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนว่า "พวกเราคัดค้านและไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกรูปแบบ" ต่อนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

นอกจากนี้ ในโพสต์ข้อความระบุด้วยว่า หากไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมที่ พม. ได้ แต่ต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สามารถทำได้ดังนี้

1.  Email Bomb (อีเมล บอมบ์) : ร่วมกันส่งอีเมลเขียนข้อความแสดงความรู้สึก และความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ส่งไปอย่างพร้อมเพรียงกันที่ npo.draff@gmail.com ในวันที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 12.00 น. 

2. Mention Bomb (เมนชัน บอมบ์) : ในการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในครั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าภาพหลักได้จัดทำแฟนเพจขึ้นมาเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสาร เราจึงอยากชวนปฏิบัติการช่วยกันใส่ @(mention) ในทุก Status บนเฟซบุ๊กส่วนตัว หรือแฟนเพจขององค์กร ว่าท่าน/องค์กรของท่านไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยใส่ Mention ไปที่ @รับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร

3. Hashtag Hijack (แฮชแท็ก ไฮแจ็ค) : ชวนติด 2 แฮชแท็ก (#) ร่วมกัน ในเนื้อหาที่ท่านโพสต์บนออนไลน์ว่า “#ไม่เอาพรบควบคุมภาคประชาสังคม” และ “#หยุดกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร”


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net