Skip to main content
sharethis

จีนยังคงใช้นโยบาย 'โควิดเป็นศูนย์' ควบคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงเดือน มี.ค. 2565 การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อคนทำงานในจีนมากมาย พนักงานฝ่ายผลิตต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่โรงงาน - ไรเดอร์ส่งอาหารต้องนอนข้างถนน - คนทำงานด่านหน้าต้องทำงานภายใต้อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่เพียงพอ

  • จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อประชากรมีต่ำมาก ภายใต้การนโยบาย 'โควิดเป็นศูนย์' (Zero-Covid) ซึ่งมีการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การล็อกดาวน์ การตรวจหาเชื้อจำนวนมาก และการบังคับผู้เดินทางเข้าพื้นที่ให้กักตัว เพื่อรักษายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เป็นศูนย์
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาให้ความเห็นว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนเริ่มเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที เนื่องจากส่งผลกระทบแง่ลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของโลก
  • ช่วงเดือน มี.ค. 2565 จีนมีคำสั่งใช้มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มอีกในหลายพื้นที่ของประเทศ เพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระลอกใหม่
  • การล็อกดาวน์ได้ส่งผลกระทบต่อคนทำงานในจีนมากมาย พนักงานฝ่ายผลิตต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่โรงงาน - ไรเดอร์ส่งอาหารต้องนอนข้างถนน - คนทำงานด่านหน้าต้องทำงานภายใต้อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่เพียงพอ

31 มี.ค. 2565 ประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อประชากรมีต่ำมาก ภายใต้นโยบาย 'โควิดเป็นศูนย์' (Zero-Covid) ซึ่งมีการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การล็อกดาวน์ การตรวจหาเชื้อจำนวนมาก และการบังคับผู้เดินทางเข้าพื้นที่ให้กักตัว เพื่อรักษายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เป็นศูนย์

เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาให้ความเห็นว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนเริ่มเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที เนื่องจากส่งผลกระทบแง่ลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของโลก

ต่อมาในช่วงเดือน มี.ค. 2565 รัฐบาลจีนมีคำสั่งใช้มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มอีกในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะมณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือทั้งมณฑล เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลดังกล่าวซึ่งมีประชากร 24 ล้านคน รวมทั้งมีการปิดเมืองเซินเจิ้นที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ ไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2565 เพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระลอกใหม่

การล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้น ส่งผลกระทบต่อกิจการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ในจีน โดยโรงงานหลายแห่งต้องปิดลงและหยุดการผลิตชั่วคราว เช่น Toyota, Volkswagen และ Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ให้กับแบรนด์ Apple

ต่อมาช่วงปลายเดือน มี.ค. 2565 รัฐบาลจีน ประกาศการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เมืองที่ใหญ่ที่สุดของจีนและยังเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจการเงิน ส่งผลกระทบกับประชาชนราว 25 ล้านคน โดยการล็อกดาวน์แบ่งเป็น 2 ช่วงใน 2 เขต ช่วงแรกล็อกดาวน์ฝั่งตะวันออกของเมืองระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. 2565 และจากนั้นจะล็อกดาวน์ฝั่งตะวันตกระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย. 2565 

คนทำงานในจีนเผชิญความยากลำบากจากการล็อกดาวน์ระลอกใหม่

ไรเดอร์ส่งอาหารในจีน หากพวกเขากลับที่พักก็จะไม่สามารถออกมาทำงานในช่วงล็อกดาวน์ได้ แต่หากพวกเขาเลือกที่จะทำงานต่อและไม่กลับที่พัก พวกเขาอาจต้องถูกบังคับให้นอนข้างถนน ในเต็นท์ หรือใต้สะพานแทน | ที่มาภาพ: China Digital Times

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่าแม้จะมีการล็อกดาวน์ แต่จีนก็ได้ขอความร่วมมือให้โรงงานต่างๆ ที่ต้องการทำการผลิตต่อไปใช้ระบบ 'closed-loop' คือกันพนักงานออกจากสาธารณะ ตัวอย่างเช่นโรงงานผลิตของ General Motors หรือ GM ในเซี่ยงไฮ้ ได้ขอความร่วมมือให้พนักงานใช้ชีวิตในโรงงานแทนที่การกลับไปยังที่พักช่วงการล็อกดาวน์

นอกจากนี้ China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่จับตาประเด็นแรงงานในจีนได้รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2565 ว่าจากตัวอย่างการล็อกดาวน์ที่เซินเจิ้น สำหรับไรเดอร์ส่งอาหารหากพวกเขากลับที่พักก็จะไม่สามารถออกมาทำงานในช่วงล็อกดาวน์ได้ แต่หากพวกเขาเลือกที่จะทำงานต่อและไม่กลับที่พัก พวกเขาอาจต้องถูกบังคับให้นอนข้างถนน ในเต็นท์ หรือใต้สะพานแทน

การล็อกดาวน์ยังได้ทำให้ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ 24 ชั่วโมงและบริการที่พักต่างๆ ปิดไปโดยปริยาย จากที่เคยเป็นที่พักของแรงงานหนุ่มสาว ทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องนอนข้างถนน ที่สาธารณะ หรือสถานีขนส่งแทน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

CLB ยังระบุว่าคนทำงานด่านหน้าในเซี่ยงไฮ้ต้องทำงานภายใต้อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่เพียงพอ โรงพยาบาลถูกปิดผนึกเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนออกไป พยาบาลต้องสวมเพียงหน้ากากทางการแพทย์เท่านั้นในขณะดูแลผู้ติดเชื้อ

ในจีนเคยมีพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตระหว่างการล็อกดาวน์ ตัวอย่างเช่นในเดือน มี.ค. 2563 CLB พบเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เสียชีวิต 22 ราย โดยครึ่งหนึ่งต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนที่เหลือเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป ตามรายงานในเดือน มี.ค. 2565 มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 2 คนเสียชีวิต รายงานยังเปิดเผยว่าคนทำงานที่ทำการทดสอบเชื้อด้วยวิธี PCR ในเซี่ยงไฮ้ทำงานอย่างต่อเนื่อง 36 ชั่วโมง โดยแทบจะไม่มีเวลาพักรับประทานอาหาร

นอกจากนี้คนทำงานด่านหน้าต่อสู้กับโควิด-19 ในจีนมักจะเป็นงานคล้ายอาสาสมัคร ส่วนใหญ่มีสัญญาจ้างชั่วคราวที่ไม่มั่นคง ขาดการฝึกอบรมที่ดี เผชิญกับความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ แต่ยังได้รับค่าจ้างต่ำและมีความมั่นคงทางการเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตัวอย่างเช่นงานตรวจตราชุมชนและงานตรวจเชื้อในช่วงล็อกดาวน์ ทั้งที่เป็นงานเสี่ยงสูงแต่พวกเขาได้รับเงินตอบแทนเพียง 220 หยวนต่อวัน 

CLB ชี้ว่าการลดต้นทุนและการขาดความรับผิดชอบเช่นนี้ เป็นสาเหตุให้โควิด-19 แพร่กระจายจากซีอานในเดือน ธ.ค.2564 เป็นต้นมา แม้ว่าจีนจะใช้นโยบายการป้องกันที่เข้มงวดและรุนแรง แต่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดกลับล้มเหลวในระดับคนทำงานด่านหน้า เนื่องจากคนทำงานได้รับค่าจ้างต่ำและไม่มีการฝึกอบรมหรือการป้องกันที่เหมาะสม


ที่มา
China’s zero-Covid policy now looks like a ‘burden’ and it needs to reassess, IMF says (Karen Gilchrist, CNBC, 21 January 2022)
China: Businesses shut as officials widen Covid lockdowns (Zubaidah Abdul Jalil and Annabelle Liang, BBC, 15 March 2022)
General Motors told Shanghai workers to sleep on factory floors to keep up production during the city's new lockdown, report says (Bill Bostock, Business Insider, 29 March 2022)
Workers live in factories, food delivery drivers sleep outside, and medical staff die from overwork in Covid-19 wave (China Labour Bulletin, 30 March 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net