Skip to main content
sharethis

ต่อให้เป็นสาธารณรัฐแล้ว ใช่ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะแล้วเสร็จ

ในการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบแรก ฌอง-ลุค เมลองชอง ผู้สมัครท้าชิงฝ่ายซ้ายเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมืองใหม่ทั้งหมด เพื่อพาฝรั่งเศสเข้าสู่สาธารณรัฐที่ 6 เพราะประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปัจจุบันยังมีอำนาจล้นเกินในรัฐธรรมนูญ ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยในการฟ้องร้องเอาผิด จนหลายฝ่ายเรียกปัญหาแบบนี้ว่า "ระบอบกษัตริย์แบบประธานาธิบดี (presidential monarchy)" 

นโยบายปฏิรูปการเมืองของเขาได้รับการสนับสนุนกว่า 7 ล้านเสียง เมลองชองมีคะแนนมาเป็นอันดับ 3 จึงไม่ได้เข้าสู่การเลือกตั้งรอบตัดเชือก แม้ "เอมมานูเอล มาครง" จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยแล้วในวันนี้ โดยชนะ "มารีน เลอแปน" จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติที่มีอุดมการณ์ขวาจัด แต่ขบวนการเคลื่อนไหวของเมลองชองยังคงเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในฝรั่งเศส

ประชาไทชวนทำความรู้จักความคิด ยุทธศาสตร์ทางการเมือง และความท้าทายของ 'ฌอง-ลุค เมลองชอง' ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เขาเป็นตัวแทน โดยตอนแรกชวนทำความเข้าใจการมองปัญหาและวาระทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส ที่ยังเห็นว่าอิทธิพลของระบอบกษัตริย์และแนวโน้มแบบอำนาจนิยมยังคงไม่หมดไป

"ระบอบกษัตริย์แบบประธานาธิบดี"

ขณะที่ ฌอง-ลุค เมลองชอง ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสกำลังจัดกิจกรรมหาเสียงครั้งสุดท้าย เมื่อ 3 เม.ย. ชายคนหนึ่งถือป้ายสีสันสดใสเขียนว่า "เพื่อสาธารณรัฐที่ 6"

ชายคนดังกล่าวชื่อว่าดาเมียนประกอบอาชีพครู เขาบอกกับมาร์ลอน เอ็ตตินเกอร์ นักเขียนของเว็บไซต์นิตยสารจาโคแบง สื่ออุดมการณ์ซ้ายของสหรัฐอเมริกาว่ายุคสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศสมาถึงช่วงปลายของระบอบแล้ว และฝรั่งเศสในขณะนี้ "เป็นระบอบกษัตริย์มากเกินไป และเป็นเผด็จการมากเกินไป แบบนี้เราประกาศเป็นจักรวรรดิที่ 3 ไปเลยดีกว่า !"

แม้จะโค่นล้มระบอบกษัตริย์ไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1789 (หรือ พ.ศ. 2332) แต่ฝรั่งเศสก็ยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกหลายครั้ง และอาจก่อให้เกิดความก้าวหน้าหรือความถดถอยของประชาธิปไตยก็ได้ ฌอง-ลุค เมลองชอง เป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าอำนาจแบบกษัตริย์ยังไม่หายไปจากฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยังเป็นประชาธิปไตยกว่านี้ได้

ความไม่สามารถลงรอยกันได้ระหว่างระบอบกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยเป็นโวหารสำคัญของ ฌอง-ลุค เมลองชองในการหาเสียงครั้งที่ผ่านมา และเป็นมุมมองที่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนกว่า 7 ล้านคน เมื่อพูดถึง "ระบอบกษัตริย์" ในฝรั่งเศส เขาหมายถึงปัญหาทางการเมืองในฝรั่งเศสอย่างน้อย 4 ประการที่เกี่ยวข้องกัน นั่นคือความปรารถนาของมาครง นโยบายเอื้อคนรวย มาตรการของรัฐบาลในยุคโควิด-19 และปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฝรั่งเศส

ประการแรก ใน พ.ศ. 2558 ขณะที่มาครงเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ เขาเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ "สิ่งที่ขาดหายไป (absense)" ในการเมืองฝรั่งเศส มาครงระบุว่าสิ่งขาดหายไปนี้คือ "ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งโดยแก่นแล้วผมไม่คิดว่าชาวฝรั่งเศสอยากให้หมดไป ... นับแต่นั้น เราพยายามเติมเต็มช่องว่างนี้ด้วยการใส่ตำแหน่งอื่นๆ เข้ามา เช่น เหตุการณ์ต่างๆ ในยุคของนโปเลียนและยุคของพวกโกลลิสต์ ช่วงเวลาที่เหลือ การเมืองฝรั่งเศสไม่ได้เติมเต็มช่องว่างนี้"

ประการที่สอง หลังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีใน พ.ศ. 2560 โดยชนะมารีน เลอแปงอย่างถล่มทลาย (และทิ้งห่างน้อยลงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด) มาครงปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจไม่ต่างจากกษัตริย์และส่งผลให้เขาได้รับความนิยมลดน้อยลง หนึ่งในนโยบายของเขาคือการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ด้วยการกำหนดเพดานเงินชดเชย หากมีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และลดเงินช่วยเหลือระหว่างว่างงานลงจาก 6 เดือนเป็น 3 เดือนสำหรับผู้ที่เคยทำงานมาแล้ว 2 ปี

นอกจากนี้ มาครงยังออกมาตรการเพิ่มภาษีกับผู้เกษียณอายุ นโยบายแบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่มาครงอ้างว่าช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของฝรั่งเศสได้รับการต่อต้านอย่างมาก ส่งผลให้มีผู้ออกมาประท้วงกว่า 200,000 คนในปีเดียวกันกับที่เขาเป็นประธานาธิบดี เมลองชองก็ต่อต้านมาตรการเหล่านี้ด้วย แต่ผู้ประท้วงถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา และดูเหมือนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแต่อย่างใด เมื่อการประท้วงลดขนาดลง      

ประการที่สาม เมลองชองวิจารณ์ว่ามาครงพยายามทำสิ่งที่เรียกว่า "การหักเลี้ยวเข้าสู่ระบอบอำนาจนิยม (authoritarian drift)" ในปี 2563 เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสพยายามออกคำสั่งล็อกดาวน์เป็นครั้งที่ 2 หลังเผชิญกับยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เมลองชองเขียนบล็อกประณามว่า "การเสพติดสภาวะยกเว้นอย่างถาวรของสังคมของเรา" โดยอ้างภัยอันตรายของการก่อการร้ายและสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขต่างๆ

ในความเห็นของผู้นำฝ่ายซ้าย รัฐบาลฝรั่งเศสใช้มาตรการต่างๆ เหล่านี้ ทั้งที่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นประชาธิปไตย เช่น การลงทุนเพื่อฟื้นฟูขีดความสามารถของโรงพยาบาล และใช้อำนาจรัฐเพื่อบริหารจัดการวิธีในการจัดการควบคุมโรคระบาด เช่น การติดตามผู้ป่วยและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ป่วยที่ถูกโดดเดี่ยว ผลจากการละทิ้งแนวทางเหล่านี้และการหันมาใช้มาตรการแบบอำนาจนิยมแทน ส่งผลให้เสรีภาพถดถอยลงอย่างมากในรอบหลายปี

ข้อมูลของ Freedom House ระบุว่าแม้ฝรั่งเศสจะยังคงเป็นประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาตอบโต้การก่อการร้ายด้วยการลดความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและให้อำนาจกับหน่วยงานบังคับกฎหมายเพื่อละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลดัชนีประชาธิปไตยของ EIU ระบุว่าแม้ฝรั่งเศสจะยังเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ความเป็นประชาธิปไตยของฝรั่งเศสลดลงจาก 8.12 ลงมาที่ 7.99 ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด

รัฐธรรมนูญจากช่วงสงคราม

ประการที่สี่ คือปัญหาของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในยุคสาธารณรัฐที่ 5 ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีแทบไม่สามารถถูกฟ้องร้องเอาผิดได้เลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นอย่างเร่งรีบใน ค.ศ. 1958 โดยประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล ที่กลับมารับตำแหน่งผู้นำประเทศอีกครั้งภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเขาเป็นผู้พาฝรั่งเศสจากยุคสาธารณรัฐที่ 4 เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่ 5

ใน ค.ศ. 1958 ชาร์ล เดอ โกล ขึ้นเป็นประธานาธิบดี โดยรัฐสภายอมวางอำนาจลงและให้อำนาจพิเศษกับชาร์ล เดอ โกลในการปกครองเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่เขาจะทำการร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 ขึ้นอย่างรีบร้อน และผ่านประชามติเพียง 1 เดือนหลังจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมย์ในการจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าการให้อำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติมากเกินไปในสาธารณรัฐที่ 4 เป็นปัญหาและก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ในสาธารณรัฐที่ 5 ประธานาธิบดีจึงไม่เพียงมีอำนาจในการอนุมัติหรือบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ยังสามารถร่างกฎหมายเองได้ด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นในช่วงสงคราม 1958 เป็นช่วงปีที่มีสงครามเรียกร้องเอกราชในอัลจีเรีย ซึ่ง ณ เวลานั้นยังคงเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ขณะที่เกิดการสู้รบกันอยู่นั้น เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสและกองทัพฝรั่งเศสซึ่งมีอุดมการณ์ขวาจัดรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในกรุงปารีสเพื่อปกป้องระบอบอาณานิคมเท่าที่ควร คนกลุ่มนี้เห็นว่าการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ในระบบแบบสาธารณรัฐที่ 4 ทำให้อาจไม่สามารถรักษาอาณานิคมอัลจีเรียเอาไว้ได้ และส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของเจ้าอาณานิคม ด้วยเหตุนี้ กลุ่มทหารฝรั่งเศสและเจ้าอาณานิคมในอัลจีเรียจึงขู่ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ปารีส 

กลุ่มทหารอัลจีเรียเหล่านี้กดดันให้รัฐบาลลาออกและต้องการให้ชาร์ล เดอ โกล กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าจะเป็นผู้นำที่สามารถรักษาอัลจีเรียไว้ได้ ก่อนหน้านี้ชาร์ล เดอ โกล เป็นผู้นำกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพของฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบนาซีและเคยเป็นผู้นำของรัฐบาลรักษาการณ์หลังสงครามโลกยุติ ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษในสายตาของคนกลุ่มดังกล่าว แต่เจ้าอาณานิคมก็แตกหักกับประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล หลังจากนั้นไม่นานนัก เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มเจรจากับกลุ่มนักปฏิวัติอัลจีเรียอย่างลับๆ และเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสขวาจัดในอัลจีเรียพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้ง​ แต่ประสบความล้มเหลว​ใน ค.ศ. 1961 และในที่สุดอัลจีเรียก็ได้รับเอกราชต่อมาใน ค.ศ. 1962

รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะสงครามยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านหลักการที่เรียกว่า "หลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบ" มาร์ลอน เอ็ตตินเกอร์ นักเขียนของเว็บไซต์นิตยสารจาโคแบงได้มีโอกาสพูดคุยกับ "ราเคล การิโด" ทนายความ ที่ปรึกษาคนสนิทของฌอง-ลุค เมลองชอง และสมาชิกสภาประจำแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของกรุงปารีส เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้

"ในกฎหมายรัฐธรรมนุญ เราพูดถึง 'ความรับผิดชอบ' เมื่อบุคคลที่ถืออำนาจบริหารรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจของตนก่อนอำนาจอื่นๆ ซึ่งบ่อยครั้งหมายถึงอำนาจเชิงนิติบัญญัติ" การิโด กล่าว

"ในฝรั่งเศส มีความคุ้มครองทางอาญาให้กับประธานาธิบดีของสาธารณรัฐสำหรับการกระทำที่เขาสั่งการขณะเป็นประธานาธิบดี นี่คือเหตุผลว่าทำไม ตัวอย่างเช่น นิโคลาส์ ซาร์โกซี ไม่สามารถถูกไต่สวนหรือยิ่งกว่านั้นคือไม่สามารถถูกเอาผิดได้ในข้อหาฉ้อโกง ในฝรั่งเศส ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่ออำนาจใด หรือต่อรัฐสภา แตกต่างจากรูปแบบระบบรัฐสภาอื่นๆ ทั้งหมด" การิโด กล่าว

จากการสืบค้นเพิ่มเติมพบว่านิโคลาส์ ซาร์โกซี ถูกตัดสินเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2564) ว่ามีความผิดในหลายข้อหา แต่ความผิดเหล่านี้เริ่มมีการพิจารณาคดีหลังจากเขาไม่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว เช่น ในข้อหาคอรัปชันและใช้อิทธิพล ซาร์โกซีมีความผิดจำคุก 3 ปีโดยรอลงอาญา ขณะที่คดีใช้เงินหาเสียงเกินกำหนด ซาร์โกซีมีความผิดจำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา แต่ศาลอนุญาตให้รับโทษที่บ้านได้ด้วยการใส่กำไลไฟฟ้า​ หากชนะเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งประธาน​าธิบดีต่อ​ โอกาสในการดำเนินคดีเหล่านี้คงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อถามว่าฝรั่งเศสมีกระบวนการในการขับไล่ประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การิโดกล่าวว่า "คำตอบคือไม่มี แต่ในทางทฤษฎีแล้วมีอยู่มาตราหนึ่ง มันเรียกว่าการถอดจากตำแหน่ง (destitution) แต่มันมีไว้สำหรับกรณีร้ายแรงเท่านั้น ... และมันไม่เคยถูกใช้ และเป็นไปไม่ได้เลยในการดำเนินการ"

มาตราดังกล่าวคือมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ​ฝรั่งเศส​ซึ่งระบุว่า "ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้เฉพาะในกรณีละเลยต่อหน้าที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี การถอดถอนเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำหน้าที่เป็นศาลอาญาชั้นสูง" ศาลอาญาชั้นสูงที่ว่านี้ไม่ใช่ฝ่ายตุลาการ แต่คือรัฐสภาโดยกระบวนการถอดถอนจะต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของทั้งสภาล่างและสภาสูง 

มาตรา 68 นี่เคยได้รับการแก้ไขแล้วหลายประการ เช่น จากเดิมเคยกำหนดให้ถอดถอนประธานาธิบดีได้ต่อเมื่อ "ทรยศต่อชาติอย่างร้ายแรง" เปลี่ยนเป็นถ้อยคำดังกล่าว เพราะคำว่า "ทรยศต่อชาติอย่างร้ายแรง" อาจถูกนำไปตีความได้อย่างกว้างขวาง และเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนที่จากเดิมเป็นการลงคะแนนแบบเปิด​ และใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา

กฎหมายเช่นนี้ไม่เคยมีอยู่ในสาธารณรัฐที่ 4 แต่ "เป็นประดิษฐกรรมของ [สาธารณรัฐ] ที่​ 5" การิโด กล่าว "ประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส หลังการออกจากระบอบกษัตริย์ เคยมีทั้งช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยก้าวหน้า และช่วงเวลาที่ถดถอย"

ด้วยการวิเคราะห์ปัญหาทางการเมืองของฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส คงทำให้เห็นว่าแม้แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยเบ่งบานที่สุด การปฏิรูปทางการเมืองก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง 'ฌอง-ลุค เมลองชอง' ใช้ยุทธศาสตร์แบบ 'ประชานิยมซ้าย' เพื่อต่อสู้ทางความคิด ซึ่งความหมายของคำนี้ต่างออกไปจากความเข้าใจของคนไทย ที่มักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงรูปแบบนโยบายทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่จะต้องเล่าต่อไปในครั้งหน้า 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net