Skip to main content
sharethis

เศรษฐกิจทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพลในโลกปัจจุบันอย่างมาก ในขณะที่กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นโจทย์หนึ่งของตลาด คำถามที่เกิดขึ้นคือ มันเกิดขึ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน หนึ่งในสัญญาณของคำตอบอาจอยู่ที่โครงการกาแฟในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดน่าน

ภาพเมล็ดกาแฟ (ที่มา: pixnio)

ทุนนิยมสีเขียวคือแนวคิดที่เข้ามาพร้อมกับแนวคิดที่ว่า การพัฒนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้กลายเป็นหนึ่งในพระเอกทางนโยบายสำหรับประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ มีแรงงานทำงานในภาคส่วนนี้เยอะ แต่ยังมีผลได้ทางเศรษฐกิจน้อยกว่าขนาดตัวสัดส่วนทรัพยากรแรงทุน แรงเงิน และแรงงานที่ลงไป เมื่อเกิดแนวคิดการให้ความสำคัญกับการยกระดับผลิตภัณฑ์การเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ชาวนาชาวสวนร่ำรวยขึ้นจากการขยายตลาดสินค้า และในเวลาเดียวกันก็ยังสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมในโมงยามที่โลกกำลังเจอกับวิกฤตสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปในตัว ก็เหมือนจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร แต่ในชีวิตจริง ทุกสิ่งจะสวยงามเช่นนั้นจริงหรือ อะไรเป็นการบ้านในการทำให้ฝันสีเขียวนี้เป็นจริง

ประเด็นข้างต้นกลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของกิจกรรม PSDS Talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ ทุนนิยมสีเขียวและนิเวศวิทยาการเมืองของกาแฟ โดย วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยมี ศักรินทร์ ณ น่าน อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสร้อยมาศ รุ่งมณี  อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้มาร่วมเสนอแนวทางและปัญหาที่เกิดขึ้นของทุนนิยมสีเขียว

จากปัญหามลพิษสู่แนวคิดรักสิ่งแวดล้อม

ศักรินทร์ ได้กล่าวถึงกรณีศึกษาของตนที่ได้ไปลงพื้นที่ทำวิจัย โดยใช้ชื่อสมมติว่า  “หมู่บ้านบรรจบ” หมู่บ้านบรรจบเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณเขตอนุรักษทางภาคเหนือของจังหวัดน่าน อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านคือทำอาชีพเกษตรกร โดยพืชที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นข้าวโพด ข้าว และยางพารา ปัญหาของการปลูกข้าวโพดและข้าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยว เพราะต้องมีการเผาทำลายพืช  ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 และหน้าดินเสื่อมโทรม ในภายหลังได้มีการเสนอปลูกพืชทางเลือกอื่นเพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน

จนกระทั่งปี 2558 มีหน่วยงานเอกชนเข้ามาช่วยทดลองจัดการปัญหาฝุ่นควันจากการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในหมู่บ้านบรรจบ โดยมีการเสนอโมเดล ‘สร้างป่า สร้างรายได้’  ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟทดแทนการปลูกข้าวโพด มีการจัดตั้งโรงงานแปรรูปกาแฟ รวมไปถึงการจัดตั้งร้านกาแฟที่หมู่บ้านบรรจบเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมทางตลาดที่เหมาะสมสำหรับกาแฟ 

พืชแห่งความหวัง

กาแฟเป็นพืชได้รับความนิยมมายาวนานและเป็นที่รู้จักในระดับโลก  วัฒนธรรมการกินกาแฟในหน้าประวัติศาสตร์คือเครื่องสะท้อนภูมิทัศน์ทางตลาดของกาแฟได้ชัดเจน ซึ่งสามารถมองได้แบบใหญ่ๆ เป็นสี่ระลอก จากคลื่นลูกที่หนึ่งในช่วงเวลา ค.ศ. 1850 ที่คนการบริโภคกาแฟเน้นการบริโภคกาแฟผงสำเร็จรูป จึงทำให้เกิดกาแฟบรรจุพร้อมดื่ม 3 in 1 สู่คลื่นลูกที่สองในช่วงหลัง ค.ศ.1960 เป็นที่ผู้บริโภคนิยมการบริโภคกาแฟสกัดแบบของเอสเปรสโซ่  Espresso คือการสกัดตัวกาแฟไม่เกิน 30 วินาที ออกมาเป็นช็อต ทำให้เกิดร้านกาแฟตามหัวเมืองต่าง ๆ เปลี่ยนทำให้การดื่มกาแฟในร้านเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต  คลื่นลูกที่สามคือการมาของทางเลือกใหม่ๆ แบบ  Slow Bar  ที่ชงกาแฟด้วยวิธีการเช่น การดริป Drip Coffee   หรือการชงแบบบพิเศษการสกัดเย็น (cold brew) Cold Brew Coffee ทำให้เกิดร้านกาแฟอิสระ คอกาแฟมีทางเลือกใหม่กับการดื่มกาแฟ ผลัดเปลี่ยนมาถึงคลื่นลูกที่สี่ ที่นำความรู้ทางวิทยาศาตร์มาใช้มากขึ้นในหลายระดับนับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นยุคที่ผู้บริโภคมีการใส่ใจในเรื่องของรสชาติกาแฟและกระบวนการผลิตที่มากขึ้น

ประเทศไทยมีการส่งออกกาแฟและนำเข้าจำนวนมาก จากข้อมูลที่ศักรินทร์มานำเสนอระบุว่า ในปี 2560 มูลค่าตลาดในธุรกิจร้านกาแฟในไทยมีมูลค่าสูงถึง 38,000 ล้านบาท มากไปหว่านั้น การแสวงหาพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟก็ขยายตัวจากภาคใต้ไปยังภาคเหนือ จากข้อมูลที่ศักรินทร์รวบรวมมาพบว่า อัตราส่วนการผลิตกาแฟอราบิก้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2555-2564 เพิ่มขึ้นสวนทางกับอัตราการผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตหลักของกาแฟชนิดโรบัสต้าด้วย และด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ก็อาจเป็นท้องเรื่องที่ทำให้หมู่บ้านบรรจบมีโครงการกาแฟเข้าไปในพื้นที่

แนวโน้มการเติบโตและความนิยมของกาแฟในไทย ทำให้เกิดแบรนด์ผู้ผลิตและการนำเข้ากาแฟใหม่ ๆ จำนวนมาก จำนวนผู้เล่นที่มากขึ้นก็ตามมาด้วยโปรโมชั่นและแคมเปญการขายสารพัด การทำให้ผลิตภัณฑ์กาแฟของตัวเองมีเรื่องราวในแง่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเอาใจใส่ธรรมชาติ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนเอง

โจทย์ทางการเมืองอาจดับฝันสีเขียว

การศึกษาพื้นที่ของศักรินทร์ยังพบว่ามีช่องโหว่อีกมากในการทำให้โครงการประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริงด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก ภาครัฐยังไม่ได้มีการประกันราคาของกาแฟ จึงทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจที่จะเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดมาปลูกกาแฟ เพราะการปลูกกาแฟมีต้นทุนที่สูง ประการที่สอง ผู้ปลูกกาแฟยังขาดการเข้าถึงที่ดิน พื้นที่ในหมู่บ้านบรรจบมีพื้นที่ที่เป็นเขตป่าสงวนจึงต้องมีใบอนุญาตจากกรมป่าไม้เข้ามาใช้งานได้ก่อน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อไม่มีหลักประกันทั้งด้านราคาและที่ดิน ความเสี่ยงย่อมตกไปอยู่ที่เกษตรกรผู้ลงทุนลงแรง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การปลูกข้าวโพดก็ยังดำเนินต่อไป ส่วนการทดลองปลูกกาแฟก็ดำเนินไปบนผืนที่ดินที่มีคุณภาพแย่ที่สุดทำให้กาแฟตาย ท้ายที่สุดโครงการของภาคเอกชนก็อาจจะสูญเสียในด้านการลงทุน ซึ่งศักรินทร์เองมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาความซับซ้อนในเชิงอำนาจที่ทำให้การสนับสนุนทางเลือกใหม่ให้กับชาวบ้านไม่มีความมั่นคง

นอกจากนั้น ศักรินทร์ยังตั้งคำถามถึงโครงการการปลูกกาแฟว่าจะแก้ปัญหาการเผาไหม้ได้ขนาดไหน เพราะในทางปริมาณการเพาะปลูกข้าวโพดใน จ.น่าน ถ้าบริษัทอยากจะจัดการเรื่องมลพิษ ทำไมถึงไม่ไปทำโครงการที่ อ.เวียงสา ที่มีการปลูกข้าวโพดสูงที่สุดอยู่ที่จำนวน 249,332 ไร่เมื่อปี 2562/63 ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่หมู่บ้านบรรจบตั้งอยู่

สุดท้าย ศักรินทร์และสร้อยมาศมองว่า ทุนนิยมสีเขียว บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นการ “ซักฟอกสีเขียว” หมายถึงการทำลายพื้นที่สีเขียวที่หนึ่งแล้วไปสร้างพื้นที่สีเขียวอีกที่หนึ่ง คำถามก็คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อธรรมชาติจะสามารถดำเนินไปได้จริง โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของแรงงานได้หรือไม่ เพราะด้านหนึ่ง การลดมลภาวะจากการใช้เครื่องจักรและสารเคมีก็อาจหมายถึงการใช้แรงงานมนุษย์เข้ามาจัดการกับผลิตผลมากขึ้นเช่นกัน

“ ถ้าเป็นพืชแห่งความหวัง มันก็ต้องช่วยผู้คนลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่กดทับผู้คน ” ศักรินทร์ กล่าว

กาญจนาภรณ์ ที่รัก เป็นนักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net