Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจาก East Asia Forum ชี้การลดลงของแรงงานภาคเกษตรและพื้นที่เพาะปลูก อาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร แนะต้องใช้แนวทางเกษตรอัจฉริยะ-สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่-ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานแรงงานภาคเกษตรจากต่างชาติให้ดีขึ้น

Summary

  • หนึ่งในปัญหาที่ท้าทายที่สุดสำหรับภาคการเกษตรในญี่ปุ่นคือการขาดแคลนแรงงานอย่างเรื้อรัง อัตราส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้สมัครงานของภาคการเกษตรนั้นสูงกว่าภาคอื่นๆ
  • นอกจากนี้การลดลงของแรงงานภาคเกษตรและเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระ พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง อาจส่งผลต่อขีดความสามารถของประเทศในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
  • East Asia Forum ชี้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้แนวทางการเกษตรอัจฉริยะ, มาตรการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ การเพิ่มขนาดของฟาร์ม และมาตรการในการปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานแรงงานภาคเกษตรจากต่างชาติให้ดีขึ้น


ที่มาภาพประกอบ: Dave Halberstadt (CC BY-NC-ND 2.0)

ช่วงเดือน มี.ค. 2565 East Asia Forum ได้นำเสนอรายงานพิเศษในประเด็นการรับมือการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรของประเทศญี่ปุ่น

ในรายงานระบุว่าหนึ่งในปัญหาที่ท้าทายที่สุดสำหรับภาคการเกษตรญี่ปุ่นคือการขาดแคลนแรงงานอย่างเรื้อรัง อัตราส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้สมัครงานของภาคการเกษตรนั้นสูงกว่าภาคอื่นๆ และในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้น ก็มีความพยายามดิ้นรนในการจัดหาคนทำงานให้เพียงพอ

ใน 'แผนพื้นฐานสำหรับอาหาร เกษตรกรรม และพื้นที่ชนบท 2020' ซึ่งเป็นแผนฉบับล่าสุดของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น (MAFF) แสดงความกังวลเกี่ยวกับฐานการผลิตทางการเกษตรที่อ่อนแอของประเทศ อันเนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกและจำนวนเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระลดลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม คำถามยังคงมีอยู่ว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรของญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะใช้นโยบายใดในการแก้ไข


นอกจากจำนวนเกษตรกรที่หดตัวลง ญี่ปุ่นยังเผชิญปัญหาการขยายการเพาะปลูกเติบโตช้าลง รวมทั้งพื้นที่การเกษตรถูกละทิ้งกว่า 400,000 เฮกตาร์ | ที่มาภาพประกอบ: Wndrenvy (CC BY-NC-ND 2.0)

จำนวนเกษตรกรญี่ปุ่นลดลงอย่างรวดเร็ว จากสำมะโนเกษตรและป่าไม้ปี 2563 ระบุว่าญี่ปุ่นมีคนทำงานภาคเกษตร 1.52 ล้านคน จากในปี 2558 ที่จำนวนคนทำงานภาคเกษตรอยู่ที่ 1.97 ล้านคน ลดลงร้อยละ 20 ในระยะเวลาเพียง 5 ปี ในปี 2563 คนงานภาคเกษตรประกอบด้วยเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระ 1.36 ล้านคน และแรงงานภาคการเกษตร 160,000 คน (หมายถึงผู้ที่ทำงานให้กับเกษตรกรรายอื่นมานานกว่า 7 เดือนในรอบ 1 ปี) จำนวนนี้น้อยกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2523 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 50,000 คนต่อปี

จำนวนครัวเรือนเกษตรกรลดลง ร้อยละ 20 ในรอบ 10 ปี จาก 2.2 ล้านคน ในปี 2553 เหลือเพียง 1.7 ล้านคน ในปี 2563 นอกจากนี้การขยายการเพาะปลูกเติบโตช้าลง รวมทั้งพื้นที่การเกษตรถูกละทิ้งกว่า 400,000 เฮกตาร์ ในบรรดาเกษตรกร 1.7 ล้านครัวเรือน ร้อยละ 40 หรือประมาณ 700,000 ครัวเรือนเป็นเกษตรกรรายย่อย พวกเขามีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร และมักจะผลิตผลทางการเกษตรมูลค่าต่ำกว่า 5 แสนเยน (ประมาณ 1.33 แสนบาท)

อัตราการผลิตอาหารที่ต่ำของญี่ปุ่น (ร้อยละ 37 อิงตามแคลอรี่ และร้อยละ 66 อิงตามมูลค่าการผลิตในปี 2564) มักจะถูกนำเสนอเพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนเกษตรกร แผนพื้นฐานของ MAFF ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อ 'ปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร' แสดงให้เห็นถึงข้อโต้แย้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีอัตราการพึ่งตนเองด้านอาหารอยู่ที่ร้อยละ 45 โดยอิงตามแคลอรี่ และร้อยละ 75 ตามมูลค่าการผลิตภายในปี 2573 [ข้อมูลเมื่อปี 2553 พบว่าอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของญี่ปุ่นลดลงอย่างมากจาก ร้อยละ 73 เหลือเพียง ร้อยละ 43 ในระยะเวลา 30 ปี (2508- 2538)]


เกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระในญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 65 ปี | ที่มาภาพ: atacamaki (CC BY-NC-ND 2.0)

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ MAFF ให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมด้วยมาตรการหลายประการ ซึ่งรวมถึงระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เช่น โดรน หุ่นยนต์ และแพลตฟอร์มดิจิทัลในการรวบรวมข้อมูลทางการเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมเพื่อประหยัดแรงงานและลดต้นทุนการผลิต

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าญี่ปุ่นต้องการเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระอายุน้อยจำนวนที่มากขึ้น เพื่อรักษาความยั่งยืนในภาคการเกษตร แต่ปัจจุบันการผลิตอาหารของญี่ปุ่นต้องพึ่งพาแรงงานสูงอายุเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระในญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 65 ปี ในขณะที่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระประมาณ 53,700 คน ที่เพิ่งเข้าร่วมในภาคการเกษตรปี 2563 นั้นมีเพียง 1 ใน 3 (18,400 คน) ที่มีอายุต่ำกว่า 49 ปี อัตราการหมุนเวียนเข้า-ออกจากอาชีพอิสระในภาคการเกษตรนี้เป็นปรากฏการณ์ปกติ ที่ส่งผลให้สัดส่วนของเกษตรกรรายย่อยลดลงเรื่อยๆ

เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของคนหนุ่มสาวในภาคการเกษตร มีความคาดหวังให้รัฐบาลญี่ปุ่นควรสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนเกษตรกร แต่การเป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของเงินทุน พื้นที่เพาะปลูก และทักษะ ในปี 2560 หอการค้าเกษตรกรแห่งชาติ (NCA) รายงานในการสำรวจว่าเกษตรกรรายใหม่เกือบครึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในการเริ่มต้นฟาร์มของตนเอง ต้นทุนเริ่มต้นเฉลี่ยสำหรับการทำฟาร์มอยู่ที่ 5.7 ล้านเยน (ประมาณ 1.52 ล้านบาท) ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้เฉลี่ยต่อปีของผู้ชายในญี่ปุ่น


แรงงานภาคเกษตรจากต่างชาติจำนวนมากได้รับคัดเลือกภายใต้โครงการฝึกงานด้านเทคนิคของรัฐบาลญี่ปุ่น (TITP) | ที่มาภาพ: East Asia Forum

การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรส่งผลกระทบอย่างหนักในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้แรงงานมาก นอกจากนี้แรงงานพาร์ทไทม์ก็ยังหาได้ยากยิ่ง ด้วยเหตุนี้เกษตรกรชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจึงพยายามหาแรงงานต่างชาติ โควิด-19 ทำให้ปัญหานี้แย่ลง ด้วยจำกัดการเดินทางไม่ให้แรงงานต่างชาติเข้าประเทศ

แรงงานภาคเกษตรจากต่างชาติจำนวนมากได้รับคัดเลือกภายใต้โครงการฝึกงานด้านเทคนิคของรัฐบาลญี่ปุ่น (TITP) ผู้เข้ารับการฝึกอบรมของ TITP ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน มีจำนวนประมาณ 350,000 คนในปี 2564 อย่างไรก็ตาม TITP ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงวิธีการที่เอื้อให้เกษตรกรญี่ปุ่นได้เข้าถึงแรงงานราคาถูก แม้ว่าโครงการจะมีเป้าหมายในขั้นต้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในหมู่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติให้มากขึ้น แต่การปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเดือนและสภาพการทำงานควรมีความสำคัญสูงสุด

มีการมองว่าการขาดแคลนแรงงานเกษตรกรรมของญี่ปุ่นเกิดจากปัญหามากมายในตลาดแรงงานและสถานการณ์ด้านประชากรศาสตร์ ซึ่งในรายงานชิ้นนี้ East Asia Forum ชี้ว่าแต่ละปัญหาต้องการแนวทางแก้ไขที่แตกต่างกัน ในสถานการณ์นี้ไม่มีวิธีแก้ไขง่ายๆ ในทางกลับกัน รัฐบาลต้องใช้แนวทางที่ครอบคลุมในประเด็นนี้ผ่านการเกษตรอัจฉริยะ มาตรการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ การเพิ่มขนาดของฟาร์ม และมาตรการในการปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานแรงงานภาคเกษตรต่างชาติให้ดีขึ้น.

 

ที่มา
Combatting Japan’s agricultural worker shortage (Yusaku Yoshikawa, JIN Corporation, East Asia Forum, 3 March 2022)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net