Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าวฯ จัดงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่าด้วยการทำงานของสื่อที่ไปละเมิดกับสิทธิของประชาชนและสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายเสียเอง ชี้ การแข่งขันส่งผลต่อความย่อหย่อนของกองบรรณาธิการที่ควรจะกลั่นกรองข้อมูลก่อนเผยแพร่ ผู้บริโภคต้องมีบทบาทต่อการทำงานของสื่อ และมีพื้นที่กลางในการหารือ  

30 พ.ค. 2565 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนา “ถอดบทเรียนจริยธรรมสื่อ ทำงาน จัดฉาก ไสยศาสตร์ วงการสงฆ์” หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่จีรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลา ได้พาสื่อมวลชนไปบุกที่สำนักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร โดยอ้างว่าได้รับรายงานจากหญิงสาวรายหนึ่งถูกหลวงปู่แสงเอามือลูบไล้ที่หน้าอกของเธอและแม่ จากนั้นได้มีการบุกตรวจสอบสำนักสงฆ์ดังกล่าว แต่กระแสสังคมตีกลับเมื่อพบว่าหลวงปู่แสงเป็นโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งหนึ่งในประเด็นที่เกิดขึ้น นักข่าวหญิงสังกัดช่องเวิร์คพอยท์ วาสนา ศรีผ่อง ถูกปลดออกจากงานด้วยเหตุผลว่ามีกิริยาไม่เหมาะสมต่อแหล่งข่าวและแสดงออกซึ่งความไม่เป็นกลาง และตัดสินใจร่วมกับสื่อสำนักอื่นและแหล่งข่าวในการสร้างหลักฐานโดยไม่ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาหรือรายการต้นสังกัด จนเป็นกระแสสังคมที่ตั้งคำถามต่อการทำงานของสื่อมวลชน

ถ่ายทอดสดเสวนา (ที่มา: Facebook/สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association)

ชำนาญ ไชยศร รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฎิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานเสวนา “ถอดบทเรียนจริยธรรมสื่อ ทำงาน จัดฉาก ไสยศาสตร์ วงการสื่อ” เพราะที่ผ่านมาการทำงานของสื่อในเรื่องไสยศาสตร์และเรื่องของสงฆ์มีประเด็นถกเถียงกันเกิดขึ้นในเรื่องของการจัดฉาก หรือในเรื่องของการทำงานของสื่อ ซึ่งการจัดงานเสวนาขึ้นเพื่อหาทางออกในการทำงานของสื่อและการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พีรวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Cofact Thailand วุฒิชัย​ พุ่มสงวน ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว ดำเนินรายการโดย ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การแข่งขันแซงหน้าหลักวิชาชีพ

พีรวัฒน์กล่าวว่าในกรณีที่เกิดขึ้นเรื่องของหลวงปู่แสง แม้ว่าจะเป็นวิกฤตสื่อ แต่อยากให้ได้หยุดทบทวนเกี่ยวกับการทำงานของสื่อในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่บทเรียน แต่เป็นการนำมาแก้ไขอย่างจริงจัง 

ทุกครั้งที่พูดเกี่ยวกับสื่อ ก็จะมีการพูดถึงการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของสื่อ มีเหตุมีผลที่สื่อทีวีดิจิตอลต้องแข่งขันกันโดยมีค่านิยมและเรตติ้งเป็นตัวกำหนด จึงจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้รายการข่าวช่องทีวีสร้างรายได้ เป็นสิ่งที่กองบรรณาธิการมักพูดว่ามีความเจ็บปวดแต่จำเป็นต้องทำ เพราะว่าต้องรักษาเรตติ้งเพื่อรักษารายได้ ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบกับภาพรวมของสำนักข่าว

พีรวัฒน์วิเคราะห์จากข้อมูลของบริษัทที่จัดทำเรตติ้งอย่าง AC Nielsen และการศึกษาด้วยตนเอง ประเมินว่าการแข่งขันทำข่าวของช่องทีวีนั้น ต่อให้ดึงอารมณ์หรือทำไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เรตติ้งก็ไม่ได้เพิ่มเกิน 3 (ผู้ชมราว 1.8 ล้านคน) โดยรายการข่าวดังๆ ก็มีเรตติ้งผู้ชมอยู่ที่ 1.5 - 2.7 ซึ่งรักษามาตฐานไว้ได้อยู่แล้ว ดังนั้น ต้องมาทบทวนว่ารายได้จากการแข่งขันแบบนี้คุ้มค่าพอที่จะเสียจุดยืนหรือภาพลักษณ์ของความเป็นสื่อหรือไม่พอที่จะเสียจุดยืนหรือภาพลักษณ์ของความเป็นสื่อหรือไม่

กรณีที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่แสง เห็นได้เลยว่า กระแสสังคมไม่ยอมรับ ภาพที่เห็นเป็นแค่ปลายเหตุของเหตุการณ์ การแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อที่รุนแรงทำให้กองบรรณาธิการ การบริหารจัดการข่าวและเนื้อหาขาดความละเอียดอ่อน ขาดความรัดกุม ขาดการตรวจสอบ นักข่าวคนเดียวไม่สามารถที่สร้างสภาวะแบบนั้นขึ้นมาเองได้   นอกจากนั้น มาตรฐานของการมีตัวตนบนโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องแสดงตัวตน (persona) บางอย่างออกมา เพราะเคยมีตัวอย่างแล้วว่าทำแบบนั้นแล้วได้รับการยอมรับ ก็เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดภาพดังที่เกิดขึ้นขึ้นมา ถ้าหากทบทวนในประเด็นนี้ ก็ต้องคิดด้วยว่าอะไรจะเป็นเบ้าหลอมให้กับคนที่จะเข้ามาในวงการสื่อในอนาคต

พีรวัฒน์มองว่าสังคมกำลังตั้งคำถามกรณีของหลวงปู่แสงว่า ผู้สื่อข่าวสามารถทำข่าวได้เองจริงหรือไม่ เป็นไปได้จริงไหมว่ากองบรรณาธิการจะไม่รู้ เพราะว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น คนที่รับผิดชอบก็คือกองบรรณาธิการ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะขาดความรอบคอบ ขาดการกลั่นกรอง กองบรรณาธิการต้องประชุมว่านักข่าวต้องทำอะไร และตามหลักแล้ว นักข่าวไม่ควรเข้าไปเป็นตัวละครหรือจัดฉากเอง

กสทช.ต้องสื่อสารกับสื่อและผู้บริโภคเพื่อหาสมดุล ใช้ประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

สุภิญญากล่าวว่า เดือน พ.ค. เป็นเดือนที่มีการจัดอันดับเสรีภาพของสื่อมวลชนในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่อับดับ 115 จากอันดับที่ 137 เมื่อปีที่แล้ว แต่สื่อไทยก็ยังทำหน้าที่ได้อย่างยากลำบาก ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่าเกี่ยวโยงกับเรื่องจริยธรรมสื่อ หลายครั้งที่สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้เสรีภาพมากเกินไป แต่ถ้าหากมาดูที่การจัดอันดับข้างต้น ที่ไทยมีระดับเสรีภาพน้อย สรุปว่าปัญหาอยู่ที่การมีเสรีภาพมากไปหรือน้อยไปกันแน่ 

เมื่อพูดถึงเสรีภาพของสื่อ ก็มักจะนึกถึงเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัด จึงทำให้สื่อไปแสดงความคิดเห็นกับอย่างอื่นแทนแล้วไปล้ำเส้นจริยธรรม โดยไม่ต้องถูกกดดันจากทางการเมือง ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับ กสทช. ในอดีต ซึ่งจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาถกเถียงมาตลอด คือการไม่ได้ดุลกันระหว่างทางสื่อกับฝ่ายที่กำกับดูแล หลายเรื่องที่กระทบต่อประชาชน การกำกับดูแลของรัฐก็อ่อนแอ และเรื่องที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ อย่างเช่นสื่อขุดเรื่องของประโยชน์สาธารณะ ก็อาจจะถูกเซ็นเซอร์หรือไม่ก็ลงโทษ

สุภิญญามองว่าการแก้ปัญหาระยะยาวเป็นเรื่องของการประคับประคองระหว่างการกำกับการรายงานข่าวของสื่อกับความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง ที่ผ่านมาสองอย่างนี้ไม่ได้ดุลกันตลอด การทำข่าวในเรื่องการเมือง เรื่องเกี่ยวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไปจนถึงเรื่องวัคซีนโควิด-19 มักเป็นเรื่องที่รัฐบาลอ่อนไหว สื่อก็มักถูกเรียกไปเตือนจนเกิดความกลัวและไม่กล้านำเสนอข่าว แต่สิ่งที่สื่อ จะเลยเส้นไปคือ ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างในกรณีของบ้านกกกอก ซึ่งผู้ตายเป็นเด็ก หรืออย่างล่าสุดก็คือกรณีพระสงฆ์ สื่อก็คาดการณ์ผิดคิดว่าสังคมจะเชียร์ แต่จริงๆ สื่อล้ำเส้นมาหลายกรณี แต่ว่าสังคมอาจจะแบ่งความคิดเห็นเป็นสองแบบ อย่างเช่น บ้านกกกอก มีฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ก็มีฝ่ายที่เชียร์และชอบอยู่ด้วย ตอนแรกช่องไม่เล่นข่าวดราม่า แต่ทนไม่ไหวก็เล่นไปด้วย เพราะมีบางช่องที่ทำแบบขยี้จริงจัง และก็ไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก กสทช. มันก็เลยทำให้ช่องอื่นทนไม่ไหวแล้วทำตาม เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียรายได้เป็นต้น

ทั้งนี้ สุภิญญามองว่าถ้าสื่อจะโทษในเรื่องของกำไรหรือภาระ ทาง กสทช. ก็ได้ปลดล็อกเรื่องของค่าใช้จ่ายของใบอนุญาตและเรื่องโครงข่ายแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุที่สื่อจะอ้างได้ว่าจะต้องแข่งขันกันแบบล้ำเส้น

ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact กล่าวว่ากรณีหลวงปู่แสงที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าพลังของผู้บริโภคศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการคว่ำบาตรสื่อ เป็นครั้งแรกที่สื่อออกมาแสดงความรับผิดชอบมากขนาดนี้ แต่ทั้งนี้ความรับผิดชอบยังไปตกอยู่ที่ตัวนักข่าว จุดนี้จึงเป็นจุดที่ดีที่จะผ่าวิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาส ในเฉพาะจุดที่องค์กรวิชาชีพเถียงกันอยู่เรื่องโมเดลการกำกับดูแล ฝ่ายหนึ่งอยากจะออกกฎหมายมาส่งเสริม อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าไม่ต้องออก กสทช.ชุดใหม่กำลังมาพอดี ก็เป็นความหวังใหม่ เพราะชุดเดิมก็ทำสิ่งที่ไม่ได้ไว้เยอะ ต้องคอยสื่อสารกันระหว่างสื่อและผู้บริโภค เพื่อที่จะหาจุดสมดุล โดยต้องมีเส้นที่สื่อจะไม่ล้ำ โดยเอาสาธารณประโยชน์เป็นตัวตั้ง เพราะถ้าเอาการเมืองเป็นตัวตั้งก็จะไปกระทบกับสิทธิและเสรีภาพ ทั้งนี้ กสทช.ต้องสื่อสารกับสื่อและผู้บริโภคเพื่อหาสมดุล เอาประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง 

ต่อนิยามของผลประโยชน์ของสาธารณะ วุฒิชัยจากสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่าไม่มีความหมายกลางในทางกฎหมาย ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานไหนตีความ แต่โดยหลักทั่วไปของประโยชน์สาธารณะหมายถึง ประโยชน์ของกลุ่มชนในเวลานั้น กลุ่มชนในปี 2490 กับกลุ่มชนในปี 2565 ประโยชน์สาธารณะอาจจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอัยการโจทย์หรือทนายจำเลยในการนำเสนอข้อเท็จจริงตรงนี้ต่อศาล ถึงแม้จะเป็นข้อกฎหมายที่ศาลรู้เองก็ตาม แต่ว่าในทางปฏิบัติ ศาลก็จะถาม เอาข้อเท็จจริงตรงนี้ มาประมวลรวมกัน ย้ำว่านักข่าวไม่รู้กฎหมายก็จริง แต่ถ้าทำตามจริยธรรมของสื่อมวลชน แบบนั้นไม่ผิดกฎหมายแน่นอน 

ข้อกฎหมายของสื่อมวลชนที่ควรตระหนัก

วุฒิชัยกล่าวว่าวงการสื่อกำลังมีปัญหาจากเม็ดเงินโฆษณาที่มีจำนวนลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของสื่อใหม่ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย ที่มาแบ่งส่วนแบ่งของรายได้ที่มีน้อยอยู่แล้วและภาวะการแข่งขันเพื่อเรตติ้งและรายได้ ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนผิดไปจากบทบาทที่สังคมไทยให้ความสำคัญในฐานะอาชีพที่มีความสำคัญในการชี้นำสังคม

วุฒิชัยยกตัวอย่างรายละเอียดทางกฎหมายที่สื่อมวลชนหรือรายการอื่นๆ ที่เข้าไปทำรายการในสถานที่ต่างๆ อาจมีความเสี่ยงในการละเมิด โดยตั้งต้นว่าไม่ใช่การพูดถึงกรณีที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นแนวปฏิบัติของอัยการที่จะไม่พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือคดีความที่กำลังดำเนินอยู่ ดังนี้ 

กฎหมายเรื่องการบุกรุก การที่สื่อจะเข้าไปทำข่าวจะต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่ก่อน หากเจ้าบ้านไม่ได้หวงห้ามก็ถือว่าไม่ผิด แต่หากเจ้าบ้านขอดูหมายค้นหรือมีท่าทีหวงห้าม ไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถเข้าไปได้ แม้ความผิดลักษณะนี้จะเป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ แต่ถ้าหากผู้บุกรุกกระทำการร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีการใช้กำลัง ขู่เข็ญ มีลักษณะเชิงรุมสัมภาษณ์ ก็ถือว่าผิดอาญาแผ่นดิน เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ และฟ้องร้องดำเนินคดีโดยใครก็ได้ จึงเป็นข้อควรระวัง การที่สื่อมวลชนตามเจ้าหน้าที่เข้าไปทำข่าวการตรวจค้นสถานที่นั้นสามารถทำได้ แต่การค้นสถานที่จะกระทำได้โดยเจ้าพนักงานเท่านั้น อีกประการหนึ่งก็คือการบุกรุกโบราณสถานอย่างที่รายการสยองขวัญมักทำ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่หรือหน่วยงานราชการที่ดูแลสถานที่นั้นๆ เพราะหากเข้าไปแล้วเกิดความเสียหาย หรือทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า มีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน พ.ศ. 2504 มีโทษจำคุก 

กฎหมายดูหมิ่นและหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่สื่อมวลชนโดนกันเยอะ แบ่งออกได้เป็นสองกรณี หนึ่ง การดูหมิ่นซึ่งหน้า เช่น การแสดงกิริยาวาจาที่เหยียดหยามหรือด่าทอ ข้อนี้ต้องกระทำต่อหน้าและถึงเนื้อถึงตัวตามที่ศาลฎีการองรับไว้ชัดเจน สอง การหมิ่นประมาท เช่น การใส่ความบุคคลที่สาม จะต้องมีคนด่า มีคนฟัง และมีคนที่ถูกกล่าวถึง ไม่จำเป็นต้องเป็นคำหยาบ การด่าว่า ทุจริต ฉ้อโกง ขายชาติ แม้แต่การเขียนข้อความที่จะทำให้เกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียงก็เป็นการหมิ่นประมาท

วุฒิชัยได้กล่าวต่อว่าด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนา กฎหมายดูหมิ่นพระสังฆราชก็เป็นความผิดตามมาตรา 44 ตรี ดูหมิ่นคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ในที่นี้หมายถึง สงฆ์ในสงฆ์ในวัดหนึ่งๆ หรือกลุ่มหนึ่งๆ ถ้าเป็นพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจะไปใช้เรื่องการดูหมิ่นแบบธรรมดา ดูหมิ่นบุคคลก็ว่าไปตามกฎหมายทั่วไป มาตรา 206 ดูหมิ่นเกี่ยวกับศาสนา การกระทำใดๆกับวัตถุหรือสถานที่ที่เป็นที่เคารพในทางศาสนา อันเป็นการหยาดหยาม แม้ไม่ได้เจตนา แต่มีลักษณะการกระทำ บุคคลทั่วไปมองว่าเป็นการหยาดยาม ก็จะผิดตามมาตรานี้ ยกเว้นพระสงฆ์ที่ไม่ใช่วัตถุทางศาสนา 

สำหรับนักข่าวที่ถูกไล่ออกหรือถูกพักงาน วุฒิชัยตอบในเชิงหลักการว่าสามารถร้องเรียนได้ที่ศาลแรงงาน ไม่ต้องใช้ทนาย สามารถเดินเข้าไปดำเนินการได้เลย จะมีนิติกรช่วยอำนวยความสะดวกให้เสร็จ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net