พิจารณาร่างงบฯ 66 วันที่ 2 'จิราพร เพื่อไทย' อัด รบ.ถังแตก ไม่อาจเห็นชอบงบฯนี้ 'ประยุทธ์' แจงดูแลคนทุกกลุ่ม

 

  • 'จิราพร เพื่อไทย' อภิปรายลดวงเงินกู้ เลี่ยงฉายารัฐบาล ‘very กู้’ เก็บภาษีจากรัฐวิสาหกิจ แต่สุดท้ายรัฐวิสาหกิจผลักมาเก็บกับประชาชน สุดท้ายประชาชนเสียภาษีทั้งขึ้นทั้งร่อง ปี 66 จะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า และรัฐกู้เงินไม่ได้อีก รัฐบาลถังแตก จึงไม่อาจเห็นชอบต่องบประมาณฉบับนี้ คืนอำนาจให้ประชาชน
  • 10 ส.ส.เพื่อไทย อัดรัฐบาลหมดสภาพ ที่ถึงทางตันในทุกมิติ 'สมคิด' ติงงบทหาร บางเรื่องไม่เกี่ยว
  • ซัด งบ 66 ไม่ใช่เเค่ช้างป่วย แต่ควาญช้างโง่ด้วย ‘อมรัตน์ ก้าวไกล’ หวั่น พาประเทศถึงทางตัน ชำเเหละยิบงบ ตำรวจ- กอ.รมน.-ศาล ชงหั่นงบศาลรัฐธรรมนูญ 100% เพราะต้นเหตุทำลายประชาธิปไตย
  • 'ประยุทธ์' แจงการจัดสรรงบฯ ดูแลคนทุกกลุ่ม อย่างพุ่งเป้า ขออย่านำไปเทียบต่างประเทศที่เก็บภาษีสูง แต่ละประเทศต่างกัน 

1 มิ.ย.2565 วันนี้ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท วันที่ 2

'จิราพร เพื่อไทย' อภิปรายลดวงเงินกู้ เลี่ยงฉายารัฐบาล ‘very กู้’

เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พรรคเพื่อไทย'  รายงานว่าา จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ถึงกลไกดังกล่าว และนิยามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ฉบับนี้ว่าเป็น ‘ฉบับขูดรีดประชาชน’

ส.ส. ร้อยเอ็ด อภิปรายว่า 8 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่ามีการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 2 ฉบับ จนรัฐบาลได้ฉายา ‘very กู้’ บ้าง ‘นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ บ้าง จนมาถึงการจัดทำงบประมาณฯ ปี 66 ครั้งนี้รัฐบาลยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเช่นเดิม แต่ลดตัวเลขเงินกู้ลงมาให้เหลือเพียง 695,000 ล้าน (จากยอดกู้เต็มเพดานอยู่ที่ 717,000 ล้านบาท)

การที่รัฐบาล ไม่ยอมกู้เต็มเพดาน อาจเพื่อให้ตัวเลขการกู้นั้นดูน้อยกว่าปีที่แล้ว 5,000 ล้านบาท แต่เลือกที่จะมาเพิ่มประมาณการรายได้แทน โดยปี 2566 รัฐบาลตั้งประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 90,000 ล้านบาท คำถามคือ รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ ได้ตามเป้าจริงหรือ? และนี่คือการตั้งประมาณการรายได้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตน้ำมัน วิกฤตเงินเฟ้อ วิกฤตสงคราม วิกฤตความขาดแคลนอาหารอันเนื่องจากสงคราม และ วิกฤตที่มาจากการบริหารที่ล้มเหลวเดิมของรัฐบาล

ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยอภิปราย รัฐบาลตั้งเป้าเก็บภาษีในปี 2566 จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (ภาษีนิติบุคคล) จำนวน 670,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 99,000 ล้านบาท จิราพรตั้งคำถามว่า ‘จะเก็บเพิ่มจากใคร’ จากบริษัทขนาดใหญ่ จากบริษัทขนาดกลาง จากบริษัทขนาดเล็กหรือSME ซึ่งเราต่างเข้าใจหัวอกกันดีว่า วันนี้บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก ต่างบอมช้ำจากวิกฤตโควิดอย่างที่วันนี้ยังไม่อาจตั้งตัวได้

แม้มีข้อสังเกตว่า รายได้ภาษีนิติบุคคลกว่า 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาลอาจต้องมีนโยบายหรือมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ให้มีรายได้เพิ่มเพื่อมาจ่ายภาษีนิติบุคคลให้เข้าเป้าตามตั้งไว้ โดยอาจละเลยและไม่ใส่ใจนโยบายที่สนับสนุนบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก SME ซึ่งถ้าดูแล้วว่าถ้ามีแนวโน้มที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่ได้ไม่ตามเป้า กรรมก็อาจตกมาอยู่กับ SME ซึ่งวันนี้ก็บอบช้ำมากอยู่แล้ว และจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีก

ยังมีการประกาศจะเริ่มเก็บภาษีที่ดิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือการเก็บไม่ได้ เพราะคนรวยมีที่ปรึกษาที่พร้อมหลบเลี่ยงภาษี แต่หวยไปออกที่ชนชั้นกลางเพิ่งเริ่มต้นชีวิต เพิ่งซื้อบ้านซื้อที่ดินแต่ก็ต้องจ่ายภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยแทน

เก็บภาษีจากรัฐวิสาหกิจ แต่สุดท้ายรัฐวิสาหกิจผลักมาเก็บกับประชาชน สุดท้ายประชาชนเสียภาษีทั้งขึ้นทั้งร่อง

ส.ส. ร้อยเอ็ด ยังอภิปรายต่อว่า รัฐบาลยังเรียกเก็บเงินจากรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง (กฟผ. กฟน. กฟภ.) เข้าคลังเพิ่มขึ้นอีก 5% จากเดิม 45% เป็น 50% นั่นเท่ากับว่ารายได้ ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของรัฐวิสาหกิจจะต้องส่งเข้าคลัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลขอเก็บภาษีเพิ่มจากรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่เข้าไปกำกับดูแล ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นกลับมาเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มที่ประชาชน หลักฐานคือ วันนี้ค่าไฟขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วย สูงสุดเป็นประวัติการณ์

“การที่รัฐบาลยอมปล่อยให้รัฐวิสาหกิจขึ้นค่าไฟโดยไม่เข้าไปกำกับ เพราะต้องการที่จะได้ส่วนแบ่งกำไรนี้มาเป็นงบประมาณของรัฐบาลใช่หรือไม่? สรุปประชาชนเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ภาษีก็เสีย ค่าไฟก็จ่ายแพงขึ้น ค่าครองชีพพุ่งกระฉูด แต่เงินในกระเป๋าลดลง แทบไม่มีช่องทางให้ลืมตาอ้าปากได้ รัฐบาลนี้กำลังปล่อยให้ประชาชนไปตายเอาดาบหน้า

“รัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งนี้ แม้จะต้องนำเงินส่งรัฐบาลเพิ่ม แต่ก็ยังมีกำไรรวมกันมากกว่า 30,256 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายและเข้าไปกำกับไม่ให้ค่าไฟขึ้น ดิฉันไม่ได้หมายความว่าต้องให้รัฐวิสาหกิจขาดทุน แต่ให้ลดกำไรลงบ้าง ไม่ต้องมาเก็บประชาชนเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือเจือจุนประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงไม่รู้สึกรู้สาเดือดร้อนอะไร เพราะอยู่บ้านหลวง ไฟฟรี น้ำฟรี รถหลวงฟรี จนเคยตัว จึงไม่เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชน” ” จิราพรกล่าว

ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์กระทำการรัฐประหารในปี 2557 และบริหารประเทศมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สถิติการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลเข้าเป้าแค่ปีเดียวคือ ปี 2562 ซึ่งก็เป็นการเกินเป้ามาแค่ ‘ปริ่มน้ำ’ และไม่ได้เกิดจากความสามารถในการบริหารของพลเอกประยุทธ์ แต่เก็บได้เกินเป้าเพราะรัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้าคลังเยอะ แต่อีก 7 ปีที่เหลือปรากฏว่าพลาดเป้าทั้งหมด สะท้อนว่ารัฐบาลนี้บริหารไร้ประสิทธิภาพและไร้ทิศทาง หาเงินไม่เป็น มาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้ว

ปี 66 จะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า และรัฐกู้เงินไม่ได้อีก รัฐบาลถังแตก จึงไม่อาจเห็นชอบต่องบประมาณฉบับนี้ คืนอำนาจให้ประชาชน

ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อว่า ต้องไม่ลืมว่าในปี 2563 - 2565 รัฐบาลได้เงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ทั้ง 2 ฉบับด้วย ทำให้ ทั้ง 3 ปีนี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ใช้เงินลงทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมกันกว่า 3.4 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า ดังนั้นในปี 2566 จึงประเมินได้ว่ามันจะไม่เข้าเป้าแน่นอน และในเมื่อรัฐบาลไม่มีเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ อีกแล้ว จะเหลือแค่งบลงทุนแค่ 695,000 ล้านบาท จาก พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้เท่านั้น

“รัฐบาลนี้ นอกจากไม่ดูดำดูดีประชาชนแล้ว ยังหาทางขูดรีดจากประชาชนเพิ่ม ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ‘รัฐบาลนี้ใช้เงินมือเติบสุรุ่ยสุร่าย แต่หารายได้ไม่เป็น’

“ดิฉันไม่ต้องการให้รัฐบาลเอากลับไปแก้ เพราะให้แก้ไปหน้าตาก็จะเหมือนเดิมแบบ 8 ปีที่ผ่านมา ดิฉันขอให้ พ.ร.บ. งบประมาณฉบับนี้ได้ถูกตีตกไปพร้อมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้มาจัดทำงบประมาณฉบับใหม่เพื่อคืนความหวังให้กับคนไทย” จิราพร กล่าว

10 ส.ส.เพื่อไทย อัดรัฐบาลหมดสภาพ ที่ถึงทางตันในทุกมิติ

เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พรรคเพื่อไทย' ยังรายงานว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันอภิปรายชำแหละร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และรัฐบาลหมดสภาพ ที่ถึงทางตันในทุกมิติ สิ้นหวัง ส่อโกง และเอื้อประโยชน์พวกพ้อง พร้อมยืนยันไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ไร้ทิศทางในการนำพาประเทศออกจากวิกฤต โดยเฉพาะภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายปียิ่งสร้างปัญหา ก่อวิกฤตสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไม่น่าไว้วางใจให้บริหารประเทศและบริหารงบประมาณต่อไป เพราะแม้แต่เรื่องของเด็กแรกเกิด หรือเรื่องของคนตาย ก็ยังไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ได้

วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย อภิปรายว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ จัดทำงบประมาณมาแล้ว 9 ฉบับ สิ่งที่เห็นชัดเจนมากขึ้นคือรัฐบาลจัดงบประมาณแบบขาดดุล ต้องกู้เงินเข้ามาชดเชยงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2563 ต้องกู้เงินชดเชยมา 4.69 แสนล้านบาท และกู้เพิ่มขึ้นทุกปี จนล่าสุดปี 2566 กู้เงินชดเชยมากถึง 6.95 แสนล้านบาท อีกทั้งเมื่อกู้มาแล้วก็ใช้จ่ายไม่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เกษตรกร ที่กำลังทุกข์ยากลำบากกับพิษโควิด ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และพิษเศรษฐกิจน้ำมันแพง แต่รัฐบาลกลับนำเสนอการนำเงินงบประมาณไปซื้อเครื่องบินรบ F-35 ในราคา 1.38 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการตั้งงบประมาณดังกล่าวนี้จึงไม่ตอบโจทย์ปัญหา กระจุกและจุนเจือช่วยเหลือแต่กลุ่มพวกพ้อง ที่อ้างว่ากระตุ้นการใช้จ่าย แต่แท้จริงแล้วคือการเอาเงินไปแจก ไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ได้

วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ส.ส.ศรีสะเกษ อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนและมีกำลังหลักคือผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ แต่กลับไม่มีการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะที่ผ่านมาเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 พวกเขากลับไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเต็มที่จากต้นสังกัด ทั้งๆ ที่กระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับงบประมาณเพิ่มตลอด แต่ไม่เคยแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรได้เลย ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้งและราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ พี่น้องเกษตรกรยังคงต้องประกอบอาชีพอย่างยากลำบากและยากจนกันมาโดยตลอด

สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส. กทม.อภิปรายว่า ภารกิจสำคัญในวันนี้ คือต้องเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการให้สามารถฟื้นคืนได้ เพราะวิกฤตโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการล้มตายจำนวนมาก วันนี้เรายังซ้ำด้วยวิกฤตสงครามโลก ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและเงินเฟ้อให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก แต่งบประมาณฯ 66 เป็นการจัดที่ไม่สอดคล้องกับวิกฤตใดๆ สะท้อนว่ารัฐบาลจัดงบอย่างไม่เข้าใจปัญหา และจะไม่สามารถแก้ไขวิกฤตประเทศทั้งวันนี้และในอนาคตได้เลย

สมบัติ ศรีสุรินทร์ ส.ส. สุรินทร์ อภิปรายว่า วิกฤตโควิด ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศที่มีอยู่เป็นจำนวนมากต้องหยุดกิจการทันที โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของประเทศหยุดชะงักตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่งบประมาณฉบับนี้ไม่มีการจัดสรรสำหรับฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กำลังจะเข้ามาสร้างรายได้ให้คนไทยเลย รวมไปถึงผู้ประกอบรายย่อยในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายมหาศาล หากรัฐสนับสนุนในส่วนนี้ก็จะเกิดการกระตุ้นเศรฐกิจให้หมุนเวียนได้เป็นอย่างดี มีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นคนตัวเล็กแต่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

งบประมาณฉบับนี้ดูอย่างไรก็ทำให้หมดหวังโดยสิ้นเชิงที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูประเทศ ซึ่งนอกจากงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ยังใช้ไม่ถูกที่ ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นของประเทศ และบางส่วนยังถูกจัดสรรไปซื้ออาวุธ ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศเลย พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เพราะไม่หวังดีต่อปะรเทศ แต่เรามองเห็นถึงเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาของประเทศได้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากกว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ได้

มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส. ขอนแก่น อภิปรายว่า งบประมาณฯ ปี 66 เป็นการจัดงบประมาณที่มองไม่เห็นชีวิตของผู้คนอยู่ในนั้น เช่น งบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับการจัดสรร 24,626,908,000 บาท แต่เมื่อลงไปดูที่รายละเอียด ไม่พบว่ามีงบสำหรับเด็กวัยแรกเกิด ถึง 6 ปี อย่างจริงจัง ทั้งที่ช่วงวัยนี้คือวัยที่สำคัญ งบประมาณสำหรับผู้สูงอายุก็ยังให้เพียง 852.4 ล้านบาท หรือที่ผิดพลาดและแสดงออกว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจที่สุด คือการค้างจ่ายเงินช่วยเหลือค่าทำศพ 3,000 บาท/ราย ค้างกว่า 60,000 คน ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการบริหารจัดการเงินที่ล้มเหลวทั้งสิ้น

กิตติกร โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง อภิปรายว่า งบประมาณฉบับนี้ ไม่มียุทธศาสตร์แก้ปัญหาค่าครองชีพแพง ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากปัญหาราคาพลังงาน รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยการให้กองทุนน้ำมันไปกู้เงินจากสถาบันการเงินมาตรึงราคา ซึ่งกองทุนน้ำมันติดลบ 80,000 ล้านบาท แล้วใครจะให้กู้ ซึ่งไม่ทราบว่าเพราะอะไรจึงไม่แก้ปัญหาด้วยการการที่รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณไปให้กองทุน สะท้อนว่ารัฐบาลตั้งสมมุติฐานผิดพลาดทำให้การแก้ไขปัญหาไม่เป็นผล ดังนั้นในวันนี้รัฐบาลควรชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาพลังงานอย่างไร ตรึงราคาไว้ที่เท่าไร กลุ่มเป้าหมายไหน เพื่อจะได้ใช้งบประมาณได้ถูกเป้าหมายและจะประหยัดงบประมาณแผ่นดินด้วย

มนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม อภิปรายว่า ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นอกจากใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาอย่างสุรุ่ยสุร่ายแล้ว เรายังพบว่า มีการนำเอาผืนป่าที่เป็นที่ดิน ส.ป.ก. ที่ออกให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์การเกษตร นำไปจัดสรรให้นายทุน EEC ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 โดยรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงผังเมืองจากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและขยายบริเวณออกไปเกินกว่าอย่างกว้างขาง ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ไม่เปิดรับฟังความเห็นของพี่น้องเกษตรกร

พื้นที่ ส.ป.ก. ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า ‘นา ขา วัง’ คือภูมิปัญญาการทำนาปีในพื้นที่เฉพาะที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา คือเป็นที่ดินน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืดสลับกันตามฤดูกาล โดยชาวบ้านปลูกข้าวช่วงน้ำจืด เลี้ยงกุ้งปลาช่วงน้ำเค็ม สร้างความอุดมสมบูรณ์มั่นคงด้านอาหารให้ชุมชนมาร้อยปี แต่กลับถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงผังเมืองให้สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ทุกชนิด จึงอาจกล่าวได้ไม่ผิดว่า การใช้งบประมาณในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC จึงเป็นแค่เกมเศรษฐีใช้งบประมาณประเทศเพื่อสร้างความมั่งคั่งของคนรวยและนายทุนเท่านั้น

กฤษฏา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย อภิปรายว่า เราเคยถูกสอนว่า ไทยคือศูนย์กลางของภูมิภาค ภูมิประเทศเราได้เปรียบเชื่อมทั้งทะเลแปซิฟิกและอันดามัน เราเป็นประเทศทางออกสู่ทะเลของจีน เราควรมีส่วนได้เสียมหาศาล แต่วันนี้ รัฐบาลชุดนี้ได้เปลี่ยนความได้เปรียบด้วยการบริหารงานผิดพลาด จนไทยกำลังกลายเป็นประเทศที่ถูกลืมจากประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างที่กำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด แต่เรากำลังถอยหลัง

"บ้านผมอยู่หนองคายตรงข้ามประเทศลาว มีสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขง ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของสองประเทศอย่างช้าๆ วันนี้เราต้องบอกว่า ลาวไปไกลว่าเราจริงๆ ทั้งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เม็ดเงินลงทุน กำลังซื้อ ผมนั่งมองรถไฟฟ้าลาวสร้างผลประโยชน์มหาศาล แต่เราทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากตกขบวนรถไฟฟ้า ผมจึงมีคำถามต่อรัฐบาลชุดนี้ว่า ทำไมสิ่งที่ควรทำไม่ทำ สิ่งที่ทำก็ทำไม่สำเร็จ และ 8 ปีมากเพียงพอหรือยังที่พาประเทศเราถอยหลัง ล้าหลัง และสิ้นหวัง เพราะท่านไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นประชาชนได้ประโยชน์อะไร เพราะท่านคิดเพียงแต่ว่า ท่านได้อะไร เท่านั้น" ส.ส.หนองคาย อภิปราย

ธนกร ไชยกุล ส.ส.ยโสธร อภิปรายว่า งบประมาณสำหรับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการลดลงต่อเนื่องทุกปีส่งผลกระทบต่อนักเรียนในระดับอนุบาล ประถม มัธยม สายอาชีวะ ตลอดจนปริญญาตรีสายปฏิบ้ติ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยนักเรียน ครู และผู้ปกครอง สะท้อนปัญหาฝากไปยังกรรมาธิการได้พิจารณาได้แก่การขอเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ซึ่งวันนี้แค่ 21 บาท/หัว เป็น 25 บาท/หัว ขอเพิ่มงบอุดหนุนนักเรียนรายหัวประมาณ 3 พันบาท ของบประมาณครูธุรการและนักการภารโรงคืนโรงเรียนรวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างบ้านพักครู โดยควรเป็นงบประมาณรายจ่ายตรงถึงโรงเรียน รวมถึงในสถาบันอาชีวศึกษา อยากให้ช่วยกระจายอำนาจให้สถาบันอาชีวศึกษาได้เป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานรับงบประมาณในสังกัดเพื่อสามารถจ้างครูอัตราจ้างได้ค่าตอบแทนสมเหตุผล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและพัฒนาศักยภาพให้ครูมีประสิทธิภาพ จึงขอนำความคิดเห็นนี้เพื่อปรับแก้ไขให้เกิดประโยชน์กับร่างงบประมาณนี้ต่อไป

ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย อภิปรายว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ สร้างหนี้ให้ประเทศไปแล้วกว่า 6.3 ล้านล้านบาท แต่การจัดทำงบประมาณ 2566 กลับล้าหลังไม่สอดคล้องกับวิกฤตประเทศที่เผชิญอยู่ มองไม่เห็นว่าประเทศไทยจะก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างไร โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการพัฒนาความก้าวหน้าของประเทศและได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้ให้เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่

'สมคิด' ติงงบทหาร บางเรื่องไม่เกี่ยว

สำนักข่าวไทยรายงาน การอภิปรายของ สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ด้วย ว่า ตนตั้งรับนายกรัฐมนตรีไม่ทัน เมื่อเช้านี้ ไม่รู้ว่าอารมณ์เสียมาจากไหน ก็มาใส่ในสภา อารมณ์มาอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น

“พวกเราไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์ นายกฯ ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน แล้วก็มาบ่นว่าขอความร่วมมือจากใครก็ไม่ได้ ยืนยันว่า พวกเราทำงานได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่ารู้จักให้เกียรติหรือไม่ และเมื่อสักครู่นายกฯ ก็ปรับอารมณ์อีก ผมก็ตามไม่ทันเหมือนกัน เดี๋ยวอารมณ์ดีอารมณ์ร้ายยังไงไม่รู้ ก็ขอให้ไปปรับ สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาฯ ที่พวกเราต้องแสดงความคิดเห็น บอกความเป็นจริงซึ่งกันและกันว่าใครทำงานอย่างไร รัฐบาลก็ทำงานไป ส่วนผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ทำงานไป ขอให้ใจเย็น ๆ มีอะไรว่ากันได้ นายกฯ จะอารมณ์เสีย ผมก็รับได้ ขอให้พูดกันดี ๆ นายกฯไม่อยู่ไม่เป็นไร แต่อยู่ไหน ท่านก็ฟัง” สมคิด กล่าว

สมคิด กล่าวถึงงบประมาณของกระทรวงกลาโหมว่า เป็นกระทรวงที่รับงบประมาณมาตั้งแต่ปีไหนไม่รู้ ไล่มาตั้งแต่ปี 2562 เยอะทั้งนั้น 2 แสนกว่าล้านบาท จนถึงปี 2565 มาลดในปี 2566 งบของกระทรวงกลาโหมเหลือ 1.97 แสนล้านบาท แต่ก็ยังติดอันดับท็อปไฟฟ์ วิสัยทัศน์ของกระทรวงกลาโหมระบุว่ามีศักยภาพทางทหารที่ทัดเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2570 ตนมองว่า เหมือนจะสร้างอาณาจักร จึงขอถามว่า วันนี้จะไปรบกับใคร สงครามขนาดใหญ่ในภูมิภาคก็ไม่น่าจะมี ถึงมีก็เป็นสงครามตัวแทน

“กระทรวงกลาโหมทำทุกเรื่อง แม้กระทั่งอีอีซีก็จัดงบไป 716 ล้านบาท ก็สงสัยว่าไปเกี่ยวข้องอะไร และยังทุ่มให้กับกองทัพเรือ โดยอ้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 เป็นแผนบูรณาการเขตเศรษฐกิจ หมุดหมายที่ 2 ที่ 5 ที่ 8 และยังไปทำพื้นที่เมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่และปลอดภัย ถามว่ากระทรวงกลาโหมจะทำทุกเรื่องเลยหรือ ทำให้เห็นว่า จัดงบไม่ถูกที่ถูกทาง ทำไมทหารไม่เป็นส่วนสนับสนุน แต่ขอเป็นพระเอกทุกเรื่อง พร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบโดยตั้งวงเงินถึง 78,000 ล้านบาท ไม่รู้ว่าเป็นภัยคุกคามอย่างไร ทุกวันนี้เป็นการคุกคามกันเอง” สมคิด กล่าว

ส่วนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สมคิด ตั้งคำถามว่า มีเพื่อไปรบกับใคร เชื่อว่า ยังมีทหารที่ดี มีฝีมือที่อยากทำให้กองทัพเป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่วันนี้เดินไปไหน คนรุ่นใหม่พูดถึงกองทัพอย่างไม่ให้เกียรติ การจัดวางงบประมาณในโครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกสูงกว่า 5,000 ล้านบาท กองทัพเรือกว่า 3,000 ล้านบาท กองทัพอากาศตั้งงบอีก 2-3 โครงการกว่า 7,000 ล้านบาท ขณะที่กองทัพไทยก็กว่า 400 ล้านบาท และยังมีโครงการเสริมสร้างกองกำลังต่างๆ

สมคิด กล่าวว่า การเกณฑ์ทหารในปีหนึ่ง 120,000 คน จึงถามว่าเอาคนเหล่านี้ไปใช้ทำอะไร เพราะตนอยากให้เป็นกองทัพที่ทันสมัย จิ๋วแต่แจ๋ว แต่หลายงบประมาณที่อยู่ในเล่ม ไม่มีรายละเอียด ดังนั้น ในชั้นกรรมาธิการต้องดูอีกครั้ง อีกทั้ง พบว่ายังมีเงินราชการลับอีก จึงอยากจะเตือนไปยังผู้จัดทำงบประมาณว่า ขอให้เห็นใจประชาชนบ้าง งานไอโอ งานความลับทั้งหลาย อย่ามาทำในยุคที่โลกเปลี่ยน ตนไม่ได้บอกว่าไม่ควรซื้อยุทโธปกรณ์ แต่ขอให้จัดลำดับความสำคัญ เพราะประชาชนกำลังลำบาก ขอให้หยุดก่อนได้หรือไม่ จึงไม่เห็นด้วยที่จะตั้งงบประมาณแบบนี้ ขอให้ไปจัดทำมาใหม่

ซัด งบ 66 ไม่ใช่เเค่ช้างป่วย แต่ควาญช้างโง่ด้วย ‘อมรัตน์ ก้าวไกล’ หวั่น พาประเทศถึงทางตัน ชำเเหละยิบงบ ตำรวจ- กอ.รมน.-ศาล ชงหั่นงบศาลรัฐธรรมนูญ 100% เพราะต้นเหตุทำลายประชาธิปไตย

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ นี้ ในงบประมาณส่วนกระบวนการยุติธรรม กิจการศาล และองค์กรอิสระ โดยกล่าวว่า เห็นด้วยที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปรียบงบประมาณรายจ่ายปี 66 เป็นเหมือนช้างป่วย แต่คิดว่านอกจากช้างจะป่วยแล้ว ควานช้างยังโง่เขลาเบาปัญญาด้วย จึงเกรงว่าจะพาช้างไปใกล้ขอบเหวลึกมากยิ่งขึ้นทุกที ปีนี้ก็ยังจัดทำงบขึ้นมาใหม่ไม่ได้จึงไปคัดลอกของปีเก่ามา เรียกง่าย ๆว่าเป็นการจัดงบแบบอยู่ไปวันๆ ที่สำคัญคือเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่ตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ซ้ำยังให้ความสำคัญกับงบความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น สภาความมั่นคงที่ได้รับงบประมาณเพิ่ม แต่งบเพื่อประชาชนกลับถูกปรับลดลงถ้วนหน้า

อมรัตน์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ยืนยันได้ดีว่าภัยความมั่นคงได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้วอย่างสิ้นเชิงก็คือ การที่ 3 เหล่าทัพประกาศรบกับลาซาด้า พี่น้องร่วมชาติจึงรู้สึกสิ้นหวังเหมือนยืนอยู่ก้นเหวเหวลึก เพราะกฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ศาลไม่เป็นศาล องค์กรอิสระถูกครอบงำ ตนจึงขออภิปรายงบประมาณแห่งความหวัง เป็นงบประมาณที่จะเอื้อต่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่งบประมาณตำรวจ อัยการ ศาล และเรือนจำ อันเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรมไทย 

เริ่มที่งบตำรวจ ต้นน้ำแห่งความหวังของการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณจำนวน 115,000 ล้านบาท แต่พบว่า กว่า 70% หรือคิดเป็นกว่า 80,000 ล้านบาท เป็นงบบุคลากรหรือเรียกง่ายๆว่างบเงินเดือนประจำ และต่อไปจะมากขึ้นกว่านี้ไปถึง 90% ในอนาคต

“งบตำรวจที่อุ้ยอ้ายขึ้นทุกวันเกิดจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแบกรับภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจตำรวจ ถึงเวลาที่จะต้องถ่ายโอนภาระงานที่ไม่ใช่ภารกิจออกไป เพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาตำรวจในส่วนที่สำคัญจำเป็นกว่าและเป็นงานที่เป็นหัวใจของงานตำรวจอย่างแท้จริง เช่น งานสอบสวน เรายังขาดงบประมาณในการพัฒนาตำรวจ สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับลดหรือตัดภารกิจที่ล้าสมัยที่ไม่ใช่งานตำรวจที่แท้จริงออกไปให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยถ่ายโอนงานกองทะเบียนออกไปให้กับกรมการขนส่ง”

งบ กอ.รมน.ควรตัดเพราะไม่เห็นว่ามีความสำคัญอะไรนอกจากจะทำหน้าที่เป็นไอโอ ส่วนงบของตำรวจตระเวนชายแดนก็ต้องปรับ เพราะหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเพื่อหลอกตาองค์กรระหว่างประเทศในการเลี่ยงใช้คำว่าทหารมาใช้คำว่าตำรวจ คือตัวเป็นตำรวจแต่ปฎิบัติภารกิจทหาร ซึ่งขณะนี้แนวชายแดนมีบริบทที่ต่างออกไปจากยุคสงครามเย็นอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นยุคของการสู้รบด้วยไอที ดังนั้น จะจัดงบแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อภารกิจที่ลดลงก็จำเป็นต้องจัดงบประมาณให้เหมาะสม  ตชด.ได้รับงบประมาณปี 2566 จำนวน 2,782 ล้าน มากเทียบเท่ากับงบหน่วยงานตำรวจขนาดใหญ่รวมกันถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจนครบาลได้ 1,200   ล้านบาท ตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 800 ล้านบาท และภูธรภาค 2 จำนวน 800 ล้านบาท”

อมรัตน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อดูงบตำรวจส่วนที่เหลือจากงบบุคลากรราว 20 % ตอนแรกหวังว่าจะเป็นงบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเป็นงบสร้างและซื้อ มีงบเพื่อการก่อสร้างอย่างน้อย 6,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นการก่อสร้างสถานีตำรวจใหม่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นการก่อสร้างแฟลตตำรวจ สุดท้ายงบประมาณด้านการบังคับใช้กฎหมายและบริการประชาชนเหลือประมาณ 10% เท่านั้น

อมรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนงบของอัยการและศาล ตนมีความเห็นเกี่ยวกับระเบียบบางอย่างที่สร้างความลำบากให้กับผู้ต้องคดีในชั้นอัยการ คือการมารายงานตัวกับอัยการ ที่บางครั้งต้องเดินทางจากต่างจังหวัดมากรุงเทพ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เพื่อมาฟังคำว่า เลื่อนส่งฟ้องจากอัยการแค่ครึ่งนาที สำนักงานอัยการสูงสุดควรแก้ระเบียบในเรื่องนี้ เพื่อทำให้การรายงานตัวเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น เช่น อาจแก้ไขระเบียบให้สามารถรายงานตัวหรือแจ้งผลการพิจารณาทางออนไลน์ได้ หากอัยการมีความกังวลว่าผู้ต้องคดีจะหนี ก็ให้รายงานตัวทางออนไลน์ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ที่สถานีตำรวจหรือสำนักงานอัยการจังหวัดที่ผู้ต้องคดีสะดวก การอำนวยความสะดวกเพียงเท่านี้ก็จะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องคดีมากขึ้น 

“อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องฝากสำหรับอัยการคือ เมื่อเกิดคดีความกับเยาวชน กฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการต้องไปสอบสวนร่วมกับตำรวจ ได้โปรดเดินทางไปพร้อมกัน อย่าสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปรับตัวเยาวชนจากราชทัณฑ์มาพบอัยการที่สำนักงานและต้องพากลับไปส่งที่ราชทัณฑ์อีก”

สำหรับศาล งบประมาณในส่วนของการจัดทำหลักสูตรคอนเนคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) หรือหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รวมไปถึงการให้ผู้พิพากษาไปเข้าร่วมหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ขอให้เลิก เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ 

“สิ่งสำคัญคืองบศาลรัฐธรรมนูญที่ควรถูกตัดออกไปทั้งก้อน 100% เพราะงานที่ออกมานอกจากจะไม่สามารถสร้างข้อยุติความขัดแย้งการตีความกฎหมายแล้ว ยังมีคำวินิจฉัยมากมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับและสร้างความขัดแย้งให้สังคม ศาลที่ไม่เข้าใจว่า ‘ปฎิรูป’ กับ ‘ปฎิเสธ’ ว่ามีความต่างกันอย่างไร ไม่เข้าใจว่า ‘ปฎิรูป’ กับ ‘ล้มล้าง’ ต่างกันอย่างไร องค์กรเช่นนี้ไม่สมควรเรียกว่าศาล นอกจากนี้ เมื่อมีหน้าที่ตัดสินคดีการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกวิจารณ์ได้ หากวิจารณ์ไม่ได้ก็ไม่สมควรดำรงอยู่ฉุดรั้งความเจริญของประชาธิปไตยไทยอีกต่อไป” อมรัตน์ กล่าว

ในส่วนของงบเรือนจำ จากจำนวนผู้ต้องขังที่ลดลงประมาณ 50,000 คน แต่กรมราชทัณฑ์กลับยังตั้งงบประมาณปีนี้ถึง 14,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มมาเป็นค่าก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ที่จังหวัดลำปาง ส่วนการจัดงบประมาณอีกกว่า 13,000 ล้านบาท เป็นค่าบุคลากร 5,000 ล้านบาท และเป็นค่าควบคุมผู้ต้องขัง 6,000 ล้านบาท ขณะที่ 4,400 ล้านจาก 6,000 ล้าน เป็นงบค่าอาหารผู้ต้องขังเฉลี่ยแล้วตกหัวละ 15 บาทต่อมื้อซึ่งน้อยกว่างบค่าอาหารกลางวันนักเรียนเสียอีก

สุดท้าย อมรัตน์ อภิปรายถึงงบประมาณในส่วนของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่าได้ขอจัดสรรงบประมาณปี 66 ทั้งสิ้น 9,700 ล้านบาท แต่รัฐบาลโดยสำนักงบประมาณได้เสนอจัดสรรให้เพียง 1,707 ล้านบาทเท่านั้น  เมื่อไปดูงบประมาณสำหรับจัดการเลือกตั้งมีการขอไป 6,900 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรมาเพียง 244 ล้านบาทเท่านั้น 

“การใช้ข้ออ้างว่า กกต.เตรียมงบไว้แล้วตั้งแต่ปีก่อน ก็ไม่ใช่จำนวนที่เพียงพอจะจัดเลือกตั้ง และหากหาข้ออ้างว่าจะใช้งบกลางมาจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องถามว่ารู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2566 แน่ แล้วทำไมรัฐบาลถึงไม่จัดสรรงบเตรียมการเลือกตั้งให้ กกต. โดยตรงเลย หรือพลเอกประยุทธ์ตั้งใจว่าจะไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือติดใจจะใช้วิธีปล้นประชาธิปไตยที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 57”  อมรัตน์ ระบุ 

นอกจากนี้ อมรัตน์ ยังกล่าวว่า งบประมาณสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนให้ทำหน้าที่สังเกตการณ์เลือกตั้ง ซึ่งเดิมเคยมีแต่มาหายไปภายหลังการรัฐประหาร กกต.ควรมีหน้าที่จัดหางบประมาณมาสนับสนุนให้มีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งให้ครบถูกหน่วยเลือกตั้งที่มีประมาณ 92,000 หน่วยทั่วประเทศ เพื่อรับประกันความบริสุทธิ์เที่ยงธรรมของผลการนับคะแนน มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของสังคม ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่อภิปรายมา จึงไม่สามารถยกมือโหวตรับหลักการงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ในวาระที่ 1 ได้

'ประยุทธ์' แจงการจัดสรรงบฯ ดูแลคนทุกกลุ่ม อย่างพุ่งเป้า ขออย่านำไปเทียบต่างประเทศที่เก็บภาษีสูง แต่ละประเทศต่างกัน 

สำนักข่าวไทย รายงานคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงภายหลังสมาชิกอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบฯ วันที่สอง โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ติดตามฟังมาตลอดและขอบคุณการอภิปรายของสมาชิกเข้าใจว่าทุกคนมีความมุ่งหวังให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและเติบโต แต่ตนก็แปลกใจว่านี่คือการพิจารณางบประมาณปี 2566 หรือพิจารณางบประมาณของพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งยังไม่ได้เป็นรัฐบาลในเวลานี้ ขออย่าใช้โอกาสนี้หาเสียงถือว่าผิดเวที

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดเก็บรายได้ที่รัฐบาลได้ผ่อนคลาย ผ่อนผัน และลดดอกเบี้ยหลายอย่าง ซึ่งรายได้ที่จะได้กลับมาต้องน้อยลง เพราะมีสถานการณ์โควิด-19 ความขัดแย้งในภูมิภาคอื่น และสงครามการค้า แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อจะทำให้จีดีพีประเทศสูงขึ้น เพราะถ้าหาเงินเข้ามาไม่ได้ก็จะจ่ายไม่ได้ ดังนั้น ต้องใช้จ่ายแบบพุ่งเป้าผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในวันนี้คือต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่รอด ซึ่งแน่นอนว่ามีความลำบาก รัฐบาลไม่ได้สบายใจหรือมีความสุข และทำงานอย่างเต็มที่ ผลงานหลายอย่างก็ปรากฏอยู่ การที่พูดว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ถือว่าไม่เป็นธรรมและประชาชนจะไม่เข้าใจ เรื่องการจัดเก็บรายได้ที่นำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เก็บภาษีถึงร้อยละ 30 เทียบกับประเทศไทยเก็บได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถเพิ่มอัตราภาษีได้ เพราะยังไม่แข็งแรงพอ 

“ส่วนผู้ที่อภิปรายว่ารัฐบาลหารายได้ไม่เป็น ขอให้มองย้อนกลับไปว่า รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ยกตัวอย่าง คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงในโอกาสต่าง ๆ คือเรื่องความเท่าเทียม  ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หลายอย่างต้องแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ  ดังนั้น ขอความร่วมมือว่าหากสิ่งใดที่เป็นกฎหมายสำคัญ ขอให้ผ่านไปโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของประเทศ อย่าไปเปรียบเทียบประเทศที่มีรายได้สูงมากนัก เราต้องพยายามไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ แต่ความแตกต่างในบริบทของแต่ละประเทศต่างกัน ขอให้ดูตรงนี้ด้วย หน่วยงานชี้แจงก็ไม่ฟัง ดูแต่โซเชียลฯ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนข้อเสนอที่จะให้ลดบุคลากรของหน่วยงานของรัฐลง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายไปแล้วว่าแต่ละปีทุกกระทรวงต้องลดจำนวนข้าราชการลง ซึ่งต้องดูความพร้อมและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และลดการบรรจุข้าราชการใหม่ งบประมาณที่ใช้จ่ายดูแลบุคลากรภาครัฐที่มีสัดส่วนสูงขึ้น พบว่าเป็นไปเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน เช่น เงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนรายจ่ายประจำ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งโครงการอินเทอร์เน็ต โครงการสายเคเบิลใต้น้ำ โครงการ 5G  บัตรโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพย์ การชำระเงินผ่านอิเล็คทรอนิกส์ แอพพลิเคชั่นถุงเงิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐอย่างเร็วที่สุด ซึ่งในส่วนของดิจิทัลจะทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศได้พอสมควร สามารถเชื่อมโยงการค้าการลงทุน ในภูมิภาค

“ท่านไม่พูดถึงเลย พูดถึงแต่ว่าอันนี้ก็ไม่มี อันนั้นก็ไม่ทำเวลาพูดก็ไม่ฟังและหาทางโจมตีให้มากที่สุด ผมจำเป็นต้องชี้แจง ไม่เช่นนั้นประชาชนก็ตามไปหมด ให้ประชาชนเลือกและเข้าใจว่าจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลได้อย่างไร เมื่อท่านเป็นรัฐบาลก็ต้องทำแบบผม ทำอย่างไรประชาชนจะร่วมมือ ผมไม่โทษใคร แต่หลายอย่างต้องร่วมมือ เข้าใจคำว่าร่วมมือหรือไม่ อะไรที่ไม่ดี อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็จะรับไปพิจารณา สิ่งที่เสนอมาก็ต้องผ่านข้างล่างขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะส่วนท้องถิ่น ส่วนจังหวัด กระทรวงทบวงกรม สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะไปตั้งโครงการเอง ทำไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกันดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีใครบริหารงานได้ท่ามกลางความขัดแย้ง และขอให้ศึกษากฎหมายกันด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลก็มีความกังวลและเห็นใจประชาชน พยายามทุ่มงบประมาณอย่างทั่วถึง นโยบายของเราคืออยู่รอดปลอดภัย พอเพียง ลดหนี้สิน ลดปัญหาสุขภาพ และต้องเกิดความยั่งยืน ส่วนการใช้งบกลาง ที่บอกว่านายกรัฐมนตรีเก็บไว้ใช้เองหรือรับประโยชน์ ซึ่งการพูดแบบนี้ ถือว่าไม่มีหลักการ เพราะการใช้งบประมาณต้องมีหลักการและกฎระเบียบอยู่ทุกข้อ ขอให้ตรวจสอบ

“ยืนยันผมไม่เคยสั่งให้ไปใช้ในโครงการใด ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องคิดและติดตามการดำเนินโครงการ ผมรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การที่เข้ามาทำหน้าที่แปดปี รู้อะไรอีกมากมายว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ถูกครอบงำหรือถูกสั่งการหรือไม่ เพราะฉะนั้น อย่ามาพูดเรื่องนี้กับผม เคยปรึกษาข้าราชการและดูแผนสภาพัฒน์หรือไม่ รู้จักคำว่ายุทธศาสตร์หรือไม่ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยดู เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีสั่งได้ทั้งหมด สั่งผู้ว่าฯและสั่งท้องถิ่น แต่ผมไม่เคยทำแบบนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบกลางนำไปใช้ดำเนินการหลายอย่าง ทั้งเรื่องโควิดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม เข้าไปดูแลให้เปิดได้และให้มีแรงงานเพียงพอ ซึ่งหลายประเทศชื่นชมการดูแลเรื่องโควิด แต่คนในประเทศกลับไม่พอใจ ส่วนงบประมาณสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดสรรงบประมาณตามสัดส่วนที่กำหนด ทุกวันนี้ต้องดูภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยว่ามีจำนวนมาก ดูแลโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ดูแลความสงบเรียบร้อย ตนทำงานกับมือ และไม่ได้ทำหรือคิดเพียงคนเดียว แต่มีคณะทำงานจำนวนมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท