'คณะก้าวหน้า' เปิดหลักสูตรปั้นนักบริหารท้องถิ่นวันแรก นายกท้องถิ่น-คนรุ่นใหม่ร่วม

คณะก้าวหน้าประเดิมหลักสูตรนักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้ารุ่นแรก 61 คน โดยนายกท้องถิ่น-คนรุ่นใหม่-นักศึกษา ร่วมเรียนในหลักสูตรที่อัดแน่นด้วยวิชาเกี่ยวกับท้องถิ่นกว่า 30 รายวิชา 107 ชั่วโมง ครบครันทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาเมือง หวังสร้างนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นใหม่เข้ามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงเมือง

 

3 มิ.ย.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้ารายงานต่อสื่อมวลชนว่า ทางคณะก้าวหน้า เปิดการอบรมหลักสูตรนักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า รุ่นที่ 1 วันแรก จากหลักสูตรระยะ 7 สัปดาห์ 16 วัน รวมทั้งสิ้น 107 ชั่วโมง ที่จัดให้ผู้เข้าร่วมการอบรมรุ่นแรกที่มาจากทั่วประเทศ 61 คน ได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นในแบบของคณะก้าวหน้า ซึ่งมีทั้งหลักสูตรด้านประวัติศาสตร์ กฎหมาย การพัฒนาเมือง รวมทั้งการจัดเวิร์กช็อปและดูงานในสถานที่จริง โดยวิทยากรหลากหลายแขนงวิชา

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้กล่าวต้อนรับ โดยระบุว่าหลักสูตรนี้เริ่มต้นมาจากการที่คณะก้าวหน้าเล็งเห็นว่าการเมืองท้องถิ่นไทยต้องมีคนหน้าใหม่ๆ และองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทเพื่อนำไปสู่การยุติรัฐราชการรวมศูนย์ สอดคล้องกับที่ผ่านมาคณะก้าวหน้ามีโอกาสได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกท้องถิ่น และได้เข้าไปสนับสนุนการบริหารท้องถิ่นหลายแห่ง จนได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ คณะก้าวหน้าจึงตัดสินใจเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาภายใต้วัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) การสร้างคน คือคนรุ่นใหม่หน้าใหม่ ทั้งที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และการเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นมีส่วนร่วมในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง (2) การส่งต่อความรู้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ การออกแบบพัฒนาเมืองของตัวเอง การวางแผนยุทธศาสตร์และการกระจายงบประมาณ และ (3) การสร้างเครือข่าย ร้อยรัดผู้เข้าอบรม วิทยากร และผู้บริหารหลักสูตร ที่สนใจเรื่องการกระจายอำนาจ ปรารถนาให้ไทยยุติรัฐราชการรวมศูนย์ มาเป็นเครือข่ายร่วมกัน

“หลักสูตรนี้ เรามุ่งหวังที่จะให้ทุกท่านได้เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน และมุ่งสู่อนาคต มีวิชาที่แตกต่างจากสถาบันอื่นๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ คือเราสอนทั้งประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ว่าเหตุใดปัจจุบันประเทศไทยกระจายอำนาจไม่สำเร็จเสียที รวมทั้งการเรียนรู้ปัจจุบัน ในแง่ของอุปสรรคข้อจำกัดต่างๆ ของการกระจายอำนาจ ทั้งในเรื่องของกฎหมายและงบประมาณ ที่เป็นความท้าทายของนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงการมองไปยังอนาคต เมื่อการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นแล้ว เราอยากพัฒนาจัดการเมืองของเราอย่างไร” ปิยบุตรกล่าว

การเปิดอบรมวันแรกนี้ เริ่มด้วยการบรรยายจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะประธานหลักสูตร ที่มาเปิดประเดิมการบรรยายด้วยหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย” บอกเล่าถึงที่มาของโครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายด้านเศรษฐกิจ และตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นระบบเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่จากสนธิสัญญาเบาว์ริง การปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งและสะสมทุนของชนชั้นนำ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การรัฐประหาร 2500 และการเข้ามามีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจของนายทหาร ข้าราชการ และกลุ่มทุนผูกขาด จนถึงการขึ้นมามีบทบาทของกลุ่มทุนธนาคาร กลุ่มทุนอุตสาหกรรมในระยะหลัง และวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเศรษฐกิจไทย เป็นต้น

ธนาธรกล่าวว่า การเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ก็เพื่อปูพื้นฐานให้เห็นว่าเหตุใดการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมในประเทศไทย และทุนผูกขาดในประเทศไทย จึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบการเมืองเผด็จการในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงส่งผลต่อลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยและการเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ในปัจจุบัน

“การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ เศรษฐกิจคือเรื่องของการกระจายทรัพยากร การเมืองก็คืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากร มันคือการตอบโจทย์ ว่าเราจะเลือกพัฒนาอุตสาหกรรมอะไร และดอกผลที่ได้มาไปอยู่กับใคร การที่เราไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ คือเหตุผลว่าทำไมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของเรามากขนาดนี้ มีการผูกขาดของกลุ่มทุนในประเทศไทยมากขนาดนี้ ที่เราบ่นกันว่าทำไมชีวิตเราไม่ดีขึ้น คำตอบอยู่ที่นี่” ธนาธรกล่าว

โดยการบรรยายในวันนี้ ยังมีวิทยากรรับเชิญประกอบด้วย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่มาบรรยายในหัวข้อประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และยังมีเสวนาในช่วงเย็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, สมฤทธิ์ ลือชัย และ ธีระพล อันมัย

นอกจากนี้ ตลอดหลักสูตรกว่า 107 ชั่วโมงในการอบรม 16 วันของหลักสูตรดังกล่าว คณะก้าวหน้ายังได้เชิญวิทยากรจากภายนอกอีกกว่า 30 คน ทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง มาร่วมการอบรมในทั้ง 4 หมวดวิชาของหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย หมวดวิชาพื้นฐาน, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น, การบริหารและการจัดการเมือง, และทักษะจำเป็นสำหรับนักการเมืองท้องถิ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท