เปิด 7 ข้อโต้แย้งคน 'กะเบอะดิน' ต่อข้อเสนอบริษัทเหมืองแร่อมก๋อย

บริษัทฯ เจ้าของโครงการเหมืองแร่อมก๋อย และผู้นำท้องถิ่นเข้ายื่นข้อเสนอต่อประชาชนในพื้นที่กะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หลังศาลปกครองเรียกบริษัทฯ เข้ามาเป็นคู่กรณีในคดี บริษัทฯ เสนอจะปรับปรุง EIA ใหม่ , แบ่งเปอร์เซ็นต์จากการทำเหมืองให้ชุมชน พร้อมสัญญาฟื้นฟูพื้นที่ ทำรีสอร์ต สถานที่ท่องเที่ยวหลังทำเหมืองเสร็จ ด้านคนกะเบอะดินย้ำ ถ้าจะทำ EIA ใหม่ ต้องถอน EIA เดิม พร้อมแสดงจุดยืนยุติเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย

ประชาชนในพื้นที่กะเบอะดินเดินเท้าไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565

 

10 มิ.ย. 2565 เฟซบุ๊กเพจ “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” รายงานความคืบหน้าหลังประชาชนในพื้นที่กะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50 คน ร่วมกันยื่นฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครองเป็นคดีหมายเลขดำ ส.1/2565 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ต่อมาศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีของประชาชนในพื้นที่กะเบอะดินเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 พร้อมทั้งมีคำสั่งเรียกบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด เจ้าของโครงการเหมืองแร่เข้ามาเป็นคู่กรณีโดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องที่ 2

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 เฟซบุ๊กเพจ “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด เจ้าของโครงการเหมืองแร่อมก๋อย และผู้นำท้องถิ่นได้ยื่นข้อเสนอ 6 ข้อต่อชาวบ้าน ดังนี้

1. จะนำ EIA มาปรับปรุงใหม่โดยให้มหาวิทยาลัยนเรศวรทำและลงพื้นที่จริงทุกขั้นตอนให้ชุมชนได้รับรู้และมีส่วนร่วม

2. จะขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ในการขนส่งเส้นทางใหม่ที่ไม่กระทบต่อชุมชนทางผ่าน

3. ระหว่างที่ขุดเหมืองจะแบ่งให้องค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย 15 เปอร์เซ็นต์ ในการบริหารจัดสรรงบประมาณในพื้นที่อื่น และให้ชุมชนกะเบอะดิน 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นกองทุนหมู่บ้าน

4. หลังจากทำเหมืองเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปีในการทำ เสร็จแล้วจะฟื้นฟู ทำบ่อกักเก็บน้ำ ทำรีสอร์ต สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ปลูกผักออร์เกนิค ผักอินทรีย์เพื่อสุขภาพของชุมชน

5. จะพบปะหารือกับเยาวชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้รับทราบข้อเสนอทั้งหมด

6. ตอนนี้ทางบริษัทฯ เสียเงินไปมากแล้วกว่า 20 ปีที่ตั้งใจจะสร้าง และฟ้องอุตสาหกรรม 3 ปี ยังไม่มีวี่แววอะไร ตอนนี้ต้องการได้ใบประทานบัตร เพื่อจัดกระบวนการและขั้นตอนต่อไป

 

ขณะที่วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่กะเบอะดินและทางทนายความที่เกี่ยวข้องได้ตอบกลับข้อเสนอของทางบริษัทฯ ดังต่อไปนี้

1. EIA จะทำใหม่ต้องถอนหรือขอยกเลิก EIA เดิมจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

2. หลังจากถอน EIA แล้วต้องให้ สผ. และ กพร. มีคำสั่งให้อนุญาตก่อน

3. การขอกรมป่าไม้เปลี่ยนเส้นทางขนส่งจะต้องขอถอนคำขออนุญาตเดิม และเริ่มทำการขออนุญาตใหม่ ทำประชาคมใหม่ ขอมติสภา อบต. ใหม่

4. การแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ อบต. และชุมชน แบ่งจากรายได้ หรือกำไร หรือแบ่งจากมูลค่าของถ่านหิน มีอะไรเป็นหลักประกันในการแบ่งรายได้

5. เยาวชนเป็นส่วนหนึ่งการคัดค้าน ยังมีผู้ฟ้องคดีอีก 50 คน ผู้สนับสนุน 600 คน ไม่ว่ายังไงก็ต้องฟังเสียงของทุกคน

6. ผู้ที่มีความสำคัญที่สุดในการต่อสู้ครั้งนี้คือชาวบ้านทุกคน ถ้าไม่มีชาวบ้านก็ไม่มีการต่อสู้ เราคงเดินมาถึงวันนี้ไม่ได้ และความถูกต้องและแม่นยำที่สุดคือหลักความเป็นจริงตามกฎหมาย มิใช่ข้อเสนอที่เป็นเท็จเพียงเพราะต้องการถ่านหิน

7. คดีปกครองไม่มีจำเลย มีแต่ผู้ถูกฟ้องคดี และเราไม่ได้ฟ้องบริษัทฯ แต่ศาลเรียกให้บริษัทเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกับหน่วยงานรัฐ เป็นคำสั่งของศาล

 

ประชาชนในพื้นที่กะเบอะดินแสดงจุดยืนย้ำว่า การต่อสู้ครั้งนี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนและชาวอมก๋อยทุกคน เชื่อมั่นพลังมวลชน จุดยืนเดียวที่ประชาชนในพื้นที่กะเบอะดิน คือ “ยุติเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท