Skip to main content
sharethis

ทีม กมธ.ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตและสมรสมเท่าเทียม ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการปรับร่าง มีมติเอกฉันท์ต้องทันก่อนปิดสมัยประชุม 18 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม “ชานันท์” เผยยังมี กมธ. 1 คนในชุดเตรียมค้านร่างพ.ร.บ.สมรสมเท่าเทียมทุกมาตราวันโหวตรับร่างในสภา ชวนประชาชนจับตา

31 ส.ค.2565 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรายงานว่า ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต โดยแทนคุณ จิตต์อิสระ และชานันท์ ยอดหงษ์ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่างดังกล่าวว่าพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วแต่ยังคงมีคงค้างอยู่อีก 4 มาตราจากทั้งหมด 46 มาตรา ได้แก่

มาตรา 5 รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติ รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายด้วย สำหรับประเด็นที่ให้มีการเพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาความมั่นคงและสังคมของมนุษย์ให้เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยหรือไม่ จะเป็นส่วนที่พิจารณากันต่อไป

มาตรา 9 การจดทะเบียนคู่ชีวิต จะกระทำไม่ได้ในกรณีต่อไปนี้

(1) บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นคนวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

(2) บุคคลทั้งสองคนเป็นญาติสืบสาโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสาโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(3) บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว

ประเด็นที่รอการพิจารณา คือ ประเด็นการบัญญัติถ้อยคำว่า "สาโลหิต" หรือคำว่า "สายโลหิต"

มาตรา 11/1 เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตต่อนายทะเบียนได้เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวการณ์รบหรือสงคราม ถ้าได้แสดงเจตนาจะจดทะเบียนกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตของบุคคลสองคนนั้นไว้เป็นหลักฐาน และต่อมาบุคคลสองคนนั้นได้จดทะเบียนคู่ชีวิตกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทำการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทำการจดทะเบียนคู่ชีวิต และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนคู่ชีวิต ให้ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนคู่ชีวิตต่อนายทะเบียนแล้ว สรุป คือให้นายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียน ให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคคลสองบุคคลโดยไม่มีการจำกัดเพศ

มาตรา 36 ว่าด้วยเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต มีการถกเถียงกันและสงวนคำแปลญัตติไว้ คู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ฉันภรรยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ซึ่งในส่วนนี้คำว่า อาจิณ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันถึงความหมายของคำนี้ หมายถึงต้องสม่ำเสมอ หลายครั้งหรือมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป แต่มี กมธ. หลายท่านเห็นว่า เพียงแค่ 1 ครั้ง ก็นำมาซึ่งเหตุแห่งการไม่สบายใจในการใช้ชีวิตคู่เป็นเหตุแห่งการฟ้องเลิกได้

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาครอบคลุมไปถึงประเด็นบุตรบุญธรรมด้วย ในกรณีที่จะเปลี่ยนจากบุตรบุญธรรมเป็นคู่ชีวิต หรือจะเปลี่ยนจากคู่ชีวิตเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งต้องมีการพิจารณาให้ครอบคลุมในทุกมิติด้วย และมีการพิจารณาค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิตอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน รายละ 1,000 บาท

2.ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิต ณ สถานที่จดทะเบียน รายละ 500 บาท

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น

3.ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล รายละ 100 บาท

4.ค่าธรรมเนียมการคัดและรับรองสำเนาทะเบียนคู่ชีวิต รายละ 100 บาท

5.ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียน

ในกรณีการจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน

ครั้งละ 1,000 บาท

ประเด็นที่รอการพิจารณา การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุใดจึงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสมรส ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยกลับไปพิจารณาในประเด็นนี้แล้วนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 7 ฉบับ ซึ่งต้องปรับถ้อยคำให้สอดคล้องกัน

ชานันท์ ยอดหงษ์ โฆษก กมธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะ กมธ. ได้มีมติวางกรอบการพิจารณา ทั้ง 4 ร่าง ควบคู่กันไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พิจารณาทุกวันพุธ และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกว่าร่างสมรสเท่าเทียม พิจารณาทุกวันพฤหัส เพื่อให้แล้วเสร็จทั้ง 2 กลุ่มแบบคู่ขนาน อันนำไปสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2 และ วาระ 3 ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะเสนอให้ทันให้ทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้ โดยจะเสนอสภาพิจารณาทั้ง ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างสมรสเท่าเทียม ควบคู่กันโดยไม่ปัดตกร่างใด

ชานันท์กล่าวต่อว่า ในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มีส่วนที่คล้ายคลึงกันของเนื้อหาในเรื่องสิทธิ์ของ LGBTQ แต่หัวใจหลักในรายละเอียดของเนื้อหารายมาตรานั้นยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ ร่างสมรสเท่าเทียม เป็นการแก้ไข สร้างพัฒนาการให้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นกฎหมายเดิม เพื่อให้บุคคลไม่ว่าเพศวิถีเพศสภาพใดก็ตาม สามารถจดทะเบียนสมรสคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อสลายการผูกขาด ยุติการเลือกปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามาถึงสิทธิอย่างเสมอภาค หากร่างนี้ผ่านในวาระต่อไปและมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ จะถือได้ว่าเป็นการปักหมุดวิวัฒนาการของกฎหมายไทย โดยเฉพาะประมวลแพ่งและพาณิชย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเรื่อยมา ให้เท่าทันกับข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนในประเทศที่มีพัฒนาการ และประชาชนทุกคนใช้กฎหมายได้โดยไม่ถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ

โฆษก กมธ. กล่าวถึง ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็นการออกกฎหมายขึ้นมาใหม่แยกออกมาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีการปฏิบัติที่ต่างกัน เป็นร่างที่พัฒนามาจากสมัย พ.ศ. 2556 ในบริบทสากลขณะนั้น ประเทศต่างๆ ได้ออก Civil Partnership Bill สำหรับการจดทะเบียนคู่รักเพศเดียวกัน มีการใช้คำใหม่ อย่างคู่ชีวิตขึ้นมาในร่างกฎหมาย ซึ่งจะต้องไปเพิ่มคำว่า คู่ชีวิต เข้าไปกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งยังขาดการเข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการบางประการ และทาง กมธ. ก็พยายามปรับปรุงพัฒนาร่างนี้ให้เข้ากับบริบทปัจจุบันสากลที่มีการสมรสเท่าเทียมแล้ว

อย่างไรก็ตามในการแถลงของชานันท์ เดอะ สแตนดาร์ดมีการรายงานเพิ่มเติมว่า ชานันท์กล่าวพาดพิงสมาชิกของ กมธ.คนนึงว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและจะคัดค้านทุกมาตราด้วยการสงวนความเห็นของพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเพื่อไปคัดค้านและตัดออกทุกมาตราในการโหวตรับร่างกฎหมายในสภาเพื่อให้พ.ร.บ.คู่ชีวิตถูกใช้เป็นกฎหมาย และเขายังสะท้อนความเห็นของสมาชิก กมธ.คนอื่นๆ อีกว่ายังมีหลายคนที่ยังไม่เข้าและยังขาดการยอมรับศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์มีอคติต่อความหลากหลายทางเพศ ไม่ยอมรับคู่รัก LGBTQ ในฐานะคู่สมรสและยังเห็นเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

ชานันท์กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะ กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันจับตาการเคลื่อนไหวของคณะ กมธ. ชุดนี้ และการพิจารณาในสภา และช่วยกันยกระดับเพดานความคิด เปิดใจกว้างยอมรับศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใด สามารถอยู่ร่วมกันและปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกันได้ ไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ เพราะคนใดที่พยายามขัดขวางสมรสเท่าเทียม เท่ากับว่าเป็นการขัดขวางสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี และความเสมอภาคของพี่น้องประชาชนที่จะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ และต้องการรักษาการเลือกปฏิบัติ ไม่สนใจความเป็นคนของพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net