Skip to main content
sharethis

ไอลอว์เปิดรายงานชี้ 8 ปี คสช.ปฏิรูปประเทศล้มเหลว คณะกรรมการปฏิรูปเป็นเพียงอุตสากรรมสร้างรายได้ให้พวกพ้องและสืบทอดอำนาจกัน ตัวชี้วัดความสำเร็จตั้งไว้ต่ำแค่จัดกิจกรรม อบรม ทำคู่มือก็นับเป็นผลงาน ซ้อนทับงานประจำของราชการ

14 ก.ย. 2565 iLaw เปิดรายงาน “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ: เริ่มต้นด้วยคนหน้าซ้ำ-จบลงด้วยความไม่คืบหน้า” ประมวลการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่คณะกรรมการเกือบครึ่งอยู่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ยุครัฐบาลทหารจนเพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนเป็นเพียงอุตสหากรรมสร้างรายได้และสืบทอดอำนาจให้กับเครือข่ายคณะรัฐประหารแต่ไม่ได้มีผลงานออกมา

ไอลอว์ระบุว่า ภารกิจการปฏิรูปประเทศเริ่มต้นตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 ด้วยการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอในการปฏิรูปด้านต่างๆ จำนวนมาก แม้สององค์กรที่มีหน้าที่ปฏิรูปจะถูกยุบไปหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่การดำเนินการปฏิรูปประเทศยังคงดำเนินต่อไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกำหนดระยะเวลาในการปฏิรูปประเทศไว้ 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับว่าภารกิจปฏิรูปประเทศที่ดำเนินมายาวนาน 8 ปี กำลังจะสิ้นสุดลง ที่ผ่านมาโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ติดตามกระบวนการปฏิรูปประเทศของ คสช. พบว่า การปฏิรูปประเทศตลอด 8 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวเป็นเพียงวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมในปกครองและการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. และเครือข่าย ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งปี 2562 เท่านั้น

หลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำหน้าที่ร่างแผนปฏิรูปประเทศและติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยระยะเวลาเพียง 5 ปีของการปฏิรูปประเทศมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ รวมกันสองชุด จากการสำรวจรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ จำนวนทั้งสิ้น 185 คน พบว่า กรรมการปฏิรูปฯ จำนวนเกือบ 40% ล้วนเป็นคนที่เคยทำงานร่วมกับ คสช. มาตั้งแต่ปี 2557 ในองค์กรเช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 คณะ ที่ได้รับการแต่งตั้งก็หมดวาระตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดตามกฎหมายและรณรงค์ ไอลอว์ กล่าวว่า “การปฏิรูปประเทศเป็นเหมือนอุตสาหกรรมการปฏิรูปที่สร้างงานและรายได้ให้กับเครือข่ายของ คสช. ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 สืบเนื่องจากจนถึงปี 2565 ดังจะเห็นได้ว่า มีคนหน้าซ้ำในเครือข่ายของ คสช.เข้ามานั่งทำหน้าที่ปฏิรูปตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยใน 5 ปีหลังนับแต่ตั้งมีรัฐธรรมนูญ 2560 เราต้องจ่ายค่าเบี้ยประชุมให้กรรมการปฏิรูปประเทศไม่น้อยกว่า 64 ล้านบาท แต่ผลงานการปฏิรูปกลับไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง และถ้าย้อนไปถึงปี 2557 เราลงทุนไปในอุตสาหกรรมปฏิรูปไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท”

ความไม่จริงใจในการปฏิรูปประเทศ สะท้อนผ่านกระบวนการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศที่พบความผิดพลาดอย่างร้ายแรง กล่าวคือ แผนปฏิรูปประเทศฉบับแรกที่ประกาศใช้ในวันที่ 6 เม.ย. 2561 จัดทำเสร็จก่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งเป็นแผนหลัก ดังนั้นเมื่อมีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติในภายหลังในวันที่ 13 ต.ค. 2561 คณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงต้องทำการแก้ไขแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และกว่าจะดำเนินการจัดทำและประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศฉบับใหม่เสร็จก็คือวันที่ 25 ก.พ. 2564 ซึ่งเหลือเวลาในการปฏิรูปประเทศเพียงหนึ่งปีกว่าๆ เท่านั้น ส่งผลให้การปฏิรูปประเทศเกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก

แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุงทำให้มีการเปลี่ยนเกณฑ์ชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย จากเดิมแผนการปฏิรูปประเทศฉบับแรก นั้นประเมินผ่านประเด็นปฏิรูปจำนวนทั้งหมด 173 เรื่อง ในขณะที่การประเมินความคืบหน้าการปฏิรูปในแผนล่าสุดลดลงเหลือเพียง 62 กิจกรรม

อย่างไรก็ตามแผนปฏิรูปประเทศพบเจอปัญหาหลายประการ เช่น การขาดตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นสากล อีกทั้งหลายตัวชี้วัดยังถูกเขียนในลักษณะที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง และยังมีการตั้งเกณฑ์ไว้ต่ำเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดได้อย่างง่ายดาย เช่นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือจัดเสวนา ทำคู่มือ จัดอบรมต่างๆ การใช้หน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักจนขาดการมีส่วนร่วม หรือบางเป้าหมายก็ไม่ได้ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และประเด็นการปฏิรูปจำนวนมากก็ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หน่วยงานราชการทำอยู่แล้วจึงเกิดความทับซ้อน นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ มักมีการเขียนโดยใช้คำยอดฮิตให้ดูทันสมัย

“การปฏิรูปตลอด 8 ปีที่ผ่านมาเป็นวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศของ คสช. เท่านั้น ผลงานการของการปฏิรูปที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงละครปาหี่ที่มีตัวแสดงหน้าซ้ำเข้าไปมีบทบาทในการปฏิรูปโดยใช้ทรัพยากรที่มาจากภาษีประชาชน โดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงเลย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับรู้รับทราบว่ามีการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นตลอด 8 ปีที่ผ่านเลย” รัชพงษ์ กล่าวปิดท้าย

 

อ้างอิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net