Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ‘สุเทพ’ และพวกในคดีฮั้วประมูลสร้างโรงพัก 396 แห่ง มูลค่ากว่า 6,672 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า สุเทพไม่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากมีอำนาจกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่ "ชํานาญ จันทร์เรือง" นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง ชี้ว่า คดีนี้ยังสามารถอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้อีก ภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 195

 

20 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพวก ได้แก่ พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต. สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท. สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ วิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1 – 6 ในกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดเเทน 396 แห่งทั่วประเทศ

ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง สุเทพ จำเลยที่ 1 และ พล.ต.อ.ปทีป จำเลยที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า สุเทพไม่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 อนุมาตรา 1 ประกอบ ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบตามหลักการที่หน่วยงานราชการเสนอเท่านั้น เว้นแต่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

โดยศาลตัดสินว่า สุเทพซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีอำนาจกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการ จึงไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลย 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามสายงานราชการ ไม่พบการใช้อำนาจในทางมิชอบ รวมถึงยกฟ้องจำเลยที่เหลือในคดีนี้ด้วย

คดีนี้เรื่องเกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีสุเทพเป็นรองนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง โดยไม่ได้อนุมัติแนวทาง รูปแบบ หรือวิธีการจัดจ้าง พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงแหล่งรายได้จากหลักทรัพย์เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้ก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจทดแทนอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม จำนวนกว่า 396 แห่งทั่วประเทศ ในวงเงิน 6,672 ล้านบาท

ป.ป.ช. ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์ การจัดจ้างครั้งนั้นจัดทำโดยส่วนกลาง โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำสัญญาเดียว 396 หลัง ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา จำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ และจำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย

หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา ชํานาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง ชี้ว่า คดีนี้ยังสามารถอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้อีก ภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 195

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net