Skip to main content
sharethis

“ตอนนี้บ้านเราไม่มีใครดูแลความยุติธรรมในภาพรวม ทุกคนเห็นแต่ปัญหาส่วนของตัวเอง แก้เฉพาะตัวเอง ไม่เห็นภาพรวม จึงเป็นการแก้แบบปะผุ ทำสี ขันน็อต แต่ไม่เคยได้แก้โครงสร้างกันจริงจัง”

นี่คือคำวิเคราะห์สถานการณ์วงการกฎหมายอาญาในประเทศไทยของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาไท” ในประเด็นว่าด้วยกฎหมายต่างๆ ที่กำลังเป็นที่กังขากับสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะหลังปรากฏการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนในช่วงปี 2563 ซึ่งตามมาด้วยการรุกหน้าของภาครัฐ เหวี่ยงแหเอาผิดบรรดาแกนนำ นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย-ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

จนกลายเป็นภาพนักกิจกรรมถูกคุมขังขณะดำเนินคดี บ้างก็ถูกตีเงินประกันจำนวนหลายแสนบาท บ้างก็สามารถออกจากเรือนจำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างเข้มงวด ตามที่ปรากฏให้เห็นกันในข่าว

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)

ปริญญาออกตัวตั้งแต่เริ่มให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเขาเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาโดยตรง เพราะสอนกฎหมายมหาชน แต่เขาก็มองว่าปมเงื่อนงำต่างๆ ในระบบกฎหมายอาญาของบ้านเรา เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี 

เพราะแม้แต่ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” อันเป็นเสมือนหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม กลับมีเนื้อหาสวนทางกับรัฐธรรมนูญเองด้วยซ้ำ?

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

ปริญญา: ต้องขอเล่าย้อนไปนิดนึงก่อนว่า ตามหลักการเลย กระบวนการยุติธรรม มีสองแบบ 

แบบแรกคือ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” หรือ “presumption of guilt” จับตัวมาก่อน เมื่อจับมาแล้ว จะปล่อยก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันนี้คือกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิมของมนุษย์เลย มีมาตั้งแต่คนยังป่าเถื่อน เชื่อว่าเป็นแม่มด ก็จับมาขึ้นศาลศาสนา เชื่อว่าทำผิด ก็ให้ลุยไฟพิสูจน์ตัวเอง  

พอโลกเข้าสู่สมัยใหม่ ก็มีความคิดว่าเฮ้ยทำงั้นมันไม่ได้หรอก มันต้องมีตุลาการที่อิสระ คุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจของรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุมและตั้งข้อหามา คนจะพิพากษาได้ก็คือศาลเท่านั้น ให้ถือไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าเจ้าหน้าที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผิดจริง ดังนั้นให้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เป็นที่มาของกระบวนการยุติธรรมแบบที่สอง ที่เรียกว่า “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” หรือ “presumption of innocence”

ทีนี้มาดูในประเทศไทยครับ คุณรู้ไหมครับว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เราไม่มีวิธีพิจารณาคดีอาญาใดๆ ทั้งสิ้น การพิจารณาคดีเป็นไปตามอำเภอใจผู้พิพากษา เราเพิ่งมาประมวลวิธีพิจารณาคดีกันหลังปี 2475 นี้เอง ประกาศใช้ในปี 2477 ชื่อว่า “ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา” หรือที่เราเรียกกันว่า “ป.วิอาญา” นั่นล่ะครับ เพื่อให้ระบบกฎหมายของเราเป็นที่ยอมรับว่าสากล

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเรามีวิธีพิจารณาคดีอาญาแล้ว แต่เรายังไม่มีหลัก presumption of innocence ครับ ยังเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ประเทศไทยต้องรออีกตั้ง 15 ปีครับ กว่าที่จะมีการยืนยันเรื่องหลัก presumption of innocence คือในรัฐธรรมนูญปี 2492 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกเลยที่บัญญัติหลักการนี้ไว้ อยู่ในมาตรา 30 วรรค 2 ครับ

“มาตรา ๓๐ ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

 

ก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” 

รัฐธรรมนูญกี่ฉบับๆ หลังจากนั้น ก็จะมีข้อความนี้ตลอดครับ รวมถึงในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย อยู่ในมาตรา 29 วรรค 2 แต่ป.วิอาญา ของเรา ยังเป็นฉบับเดิมครับ มีแก้หรือเพิ่มเติมบ้าง แต่เป็นอันเดียวกัน

เพราะงั้นเราถึงมีสถานการณ์แบบนี้ครับ ป. วิอาญา ใช้หลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” แต่รัฐธรรมนูญใช้หลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” เพราะหลักของ ป วิอาญามาก่อน หลักในรัฐธรรมนูญเพิ่งมาทีหลัง

อยากให้ยกตัวอย่างของการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” ใน ป. วิอาญาหน่อย?

ไปดูเรื่องการประกันตัวเลยครับ 

สังเกตครับว่า ใน ป. วิอาญา เค้าไม่เรียกว่าประกันนะครับ ใช้คำนี้เลย “ปล่อยชั่วคราว” คำว่าประกันๆ คือเราใช้เรียกกันเอง ซึ่งผมสงสัยเรื่องนี้มาตลอด ทำไมเราไม่เรียกว่า “ประกันตัว” แต่ดันไปใช้คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” เอ้าแบบนี้ก็แสดงว่าการจับมาขังเป็นหลัก การปล่อยเป็นชั่วคราวสิครับ แบบนี้ล่ะครับที่เรียกว่า “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอเจ้าหน้าที่สงสัยว่าใครทำผิด ก็มาขังไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษา แล้วค่อยมาดูอีกทีว่ามีเหตุอันควรให้ปล่อยไหม ถึงให้ปล่อย แทนที่จะมาดูว่ามีเหตุให้ขังไหม ถึงจะขังเขาได้ แล้วดูนะครับคำว่า “ปล่อยชั่วคราว” ไม่ได้ปล่อยไปตลอดนะ เพราะชื่อก็บอกแล้วว่าปล่อยตัวชั่วคราว แปลว่าสันนิษฐานไว้แล้วว่า เดี๋ยวก็ต้องกลับมาโดนขังอีกรอบ 

ป.วิอาญามีการแก้ไขอยู่เรื่อยๆ อย่างในปี 2547 มาตรา 180 มีการเขียนว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” แต่สังเกตว่ายังใช้คำเดิมนะ ขังเป็นหลัก ปล่อยเป็นชั่วคราว

อีกมาตราที่แรกเข้ามาคือ มาตรา 108/1 ครับ บอกว่าการที่จะไม่ปล่อยชั่วคราวมีแค่ 5 เหตุเท่านั้นคือ 

“(๑) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

 

(๒) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

 

(๓) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

 

(๔) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

 

(๕) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล”

แต่มาดูครับว่า รัฐธรรมนูญบอกว่าเหตุที่จะไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยนี่ มีเหตุผลอะไรบ้าง อยู่ในมาตรา 29 วรรค 3

“การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” 

เห็นไหมครับ มีแค่ข้อเดียวคือ มิให้หลบหนี มีแค่นี้เองครับ ไม่มีเหตุอื่นนะครับ เพราะฉะนั้น (เสียงเข้ม) ถ้าพูดในหลักการ การไม่ให้ประกันตัวมากกว่าเหตุแค่นี้คือขัดรัฐธรรมนูญนะครับ 

แล้วทำไมถึงยังไม่แก้ไข ป.วิอาญา ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ?

เพราะรัฐธรรมนูญ 2492 อยู่ได้แค่ 2 ปีครับ แล้วก็โดนรัฐประหารในปี 2494 ฉีกรัฐธรรมนูญเดิม ให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2475 ชั่วคราว ซึ่งไม่มีหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ เพราะตอนนั้นยังไม่ได้เขียน 

หลังจากนั้นพอเข้าสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เราไม่มีรัฐธรรมนูญเลยด้วยซ้ำ กว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญกลับมาอีกก็ในปี 2511 อยู่ได้ไม่กี่ปี ถนอมก็ปฏิวัติตัวอีกในปี 2514 กลับมาอีกรอบในปี 2517 แต่ก็โดนรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังไม่ได้ทันได้แก้ป.วิอาญา ก็มีรัฐประหารกันเสียก่อนทุกครั้งครับ หลังจากนั้นก็เหมือนเราก็จะลืมไปแล้ว การพยายามแก้ป.วิอาญา ก็เลยหายไปเลย 

ต่อมาในช่วงปี 2547-2549 มีการแก้ป.วิอาญาหลายมาตรา แต่ก็เหมือนเป็นปรับปรุงบ้านเฉพาะบางส่วน ไม่ได้แก้โครงสร้าง หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดถึงยังปรากฏมาถึงทุกวันนี้ครับ

ย้อนกลับไปเรื่องประกันตัว อาจารย์กำลังจะบอกว่าถ้าเอารัฐธรรมนูญเป็นหลัก มีแค่เหตุผลเดียวที่จะไม่ปล่อยตัวได้ คือกลัวว่าจะหลบหนี? 

ถูกต้องครับ รัฐธรรมนูญบอกว่ามีแค่เหตุเดียว แต่ป.วิอาญางอกขึ้นมาเพิ่ม กลายเป็น 5 เหตุ

ที่ผมกังวลอย่างยิ่งคือ ในทางปฏิบัติพักหลังๆ มานี้เราเริ่มเห็นการไม่ให้ประกันที่อ้างเหตุผลนอกเหนือจากในป.วิอาญาด้วย โดยเฉพาะในคดีนักกิจกรรม มีการไม่ให้ประกันเพราะว่า "อัตราโทษสูง" หรือ “จำเลยเคยกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี” หรือ “จำเลยอาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” 

มาดูแต่ละข้อ ไม่มีคำพวกนี้ในกฎหมายเลยนะครับ

ถ้าจะไม่ให้เพราะ “อัตราโทษสูง” แบบนี้มันก็ขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์สิครับ เพราะการประกันตัวไปขึ้นอยู่กับว่า ตำรวจตั้งข้อหาหนักมาแค่ไหน เพราะตำรวจเค้าจับมาก็ต้องตั้งข้อหาไว้แรงๆ อยู่แล้ว ถ้าการประกันตัวจะอ้างอิงกับอัตราโทษของข้อหาที่ตำรวจแจ้ง แบบนี้รัฐบาลอยากจับใคร ก็ไปสั่งตำรวจให้จับตัวมาแล้วก็ตั้งข้อหาแรงๆ สิครับ กลายเป็นการขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจด้วยนะ 

ส่วนคำว่า “จำเลยอาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” ก็ไม่มีเหมือนกันนะครับ เค้าใช้คำว่า “ก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ครับ แปลว่าต้องไม่เกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาด้วยนะ 

เพราะฉะนั้น ศาลท่านต้องระมัดระวังนะครับ แค่ตัวเหตุไม่ให้ประกันของป.วิอาญา ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญในตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าหากศาลมีเหตุไหนเพิ่มขึ้นมาจากป.วิอาญาอีก จะกลายเป็นว่าขัดกับทั้งกฎหมายอาญา และขัดทั้งรัฐธรรมนูญนะครับ 

มีแง่ไหนของการประกันตัวที่นอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญพูดถึงอีก? 

หลักทรัพย์การประกันตัวครับ เรายังเห็นกรณีการตีหลักทรัพย์สำหรับประกันตัวสูงๆ อยู่เรื่อยๆ อย่างที่เป็นข่าวฮือฮากัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ในมาตรา 29 แบบนี้ครับ

“คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้”

ห้ามเกินควรแก่เหตุครับ ส่วนในป.วิอาญา มาตรา 110 บอกด้วยนะครับว่า ศาลไม่จำเป็นต้องสั่งให้วางหลักประกันเลยก็ยังได้ 

“ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้

 

ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้”

แล้วสังเกตนะครับว่า ป. วิอาญา มาตรา 110 ไม่มีคำว่าเงินนะครับ แต่ใช้คำว่า “หลักประกัน” ก็คืออะไรก็ได้ เป็นคนก็ได้ ใครก็ได้ที่รับรองไม่ให้หนี แต่เรากลับยังเห็นการประกันตัวด้วยเงิน วงเงินสูงๆ กันอยู่ หรือบางกรณี โดนไม่ให้ประกันเพราะ “หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ” ซึ่งอยู่ในเหตุไม่ปล่อยตัวของมาตรา 108/1 แต่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก 

ในทางปฏิบัติ ศาลท่านจะมีหลักเรื่องวงเงินประกันอยู่ครับ ไล่ระดับไปตามอัตราโทษของข้อหา เช่น ข้อหาที่มีโทษประหารชีวิต เงินประกันไม่เกิน 800,000 บาท จำคุกตลอดชีวิต ไม่เกิน 600,000 บาท โทษจำคุก 20 ปี ไม่เกิน 400,000 บาท เป็นต้น 

ที่ผมสงสัยคือ หนึ่ง ศาลออกกฎหมายเองได้ไหม? ในเมื่อในรัฐธรรมนูญหรือ ป.วิอาญาไม่ได้พูดตรงไหนเรื่องการวางเงินเลย พูดแค่หลักประกัน 

สอง ถ้าเราเอาอัตราโทษไปผูกไว้กับเงินประกัน งั้นตำรวจอยากให้ใครโดนขัง ก็ตั้งข้อหาไว้สูงๆ สิ จะได้ประกันไม่ได้ 

สาม ถ้าเราเอาเงินมาเป็นเงื่อนไขหลักในการให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน แบบนี้คนมีเงินก็มีสิทธิ์สู้คดีนอกคุก ส่วนคนจน ต่อให้เป็นแพะ ก็โดนขังไว้สิครับ เพราะไม่มีเงินประกัน ขัดหลักความเสมอภาคนะครับ เพราะคนเรามีเงินไม่เท่ากัน นี่คือเหตุผลครับว่าทำไมป.วิอาญาไม่มีแม้แต่คำเดียวเลยที่บอกว่า ต้องวางเงิน พูดแค่หลักประกัน หลักการคือเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี ถ้ามีวิธีอื่น ไม่ต้องใช้เงินก็ได้ 

ถึงเป็นที่มาของคำว่าที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”? 

ใช่ครับ ผมถึงได้ผลักดันเรื่องนี้มาประมาณ 5 ปีแล้ว ผ่าน “เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน” ที่ทำอยู่ ต้องไม่มีใครติดคุกเพียงเพราะเขาเป็นคนจน ซึ่งทุกวันนี้สถานการณ์ดีขึ้นนะครับ มีการประกันตัวโดยไม่ต้องใช้เงินมากขึ้น ศาลให้ประกันบ่อยขึ้น ผ่อนปรนบ่อยขึ้น สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เราต้องไปแก้ไขครับ 

เช่นเรื่องอะไรบ้าง? 

เรื่องที่ต้องแก้เร่งด่วนเลย พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ครับ ทุกวันนี้นักโทษเด็ดขาดและผู้ต้องขังระหว่างคดีโดนขังรวมกันครับ ต่อให้ศาลยังไม่พิพากษา แต่ไม่ได้ประกันตัว หรือประกันตัวไม่ได้ เค้าก็เอาไปขังรวมกัน มาตรา 4 ผู้ต้องขัง หมายถึงนักโทษเด็ดขาดและผู่้ต้องขังระหว่างคดี ต่อให้ศาลไม่พิพากษา แต่ประกันไม่ได้ เค้าเอาไปขังรวมกันนะครับ ตอนนี้มีแตกต่างกันแค่ทรงผมกับสีเสื้อ เท่านั้นเอง ที่เหลือโดนปฏิบัติเหมือนกันเลย

คุกต้องมีไว้แค่ขังคนที่ตัดสินว่าผิดแล้วสิครับ แต่นี่เราเอาคนผิดกับคนที่ยังไม่ตัดสินว่าผิดไปอยู่เหมือนกัน แล้วถ้าคดีร้ายแรง ต้องใส่ตรวนด้วยอีกต่างหาก ย้ำว่านี่คือขนาดศาลยังไม่พิพากษานะครับ แต่ระเบียบของราชทัณฑ์ทำกับเขาแบบเป็นคนตัดสินโทษไปแล้ว 

ถามว่าศาลท่านทราบไหม ต้องทราบสิครับ เพราะเห็นอยู่แล้วเวลาเบิกตัวจำเลยมาศาล ใส่ตรวนมาแบบนั้น ท่านก็ทราบว่ายังไม่พิพากษา เราถึงต้องแก้ไขกันเยอะครับ อย่างถ้ากรณีไม่ให้ประกัน ต้องไม่เอาไปขังรวมกับนักโทษคนอื่นๆ ต้องหาวิธีขังเพื่อไม่ให้หลบหนีแค่นั้น 

อีกเรื่องที่ผมอยากให้คนพูดถึงเยอะๆ คือ กระทรวงยุติธรรมครับ ทุกวันนี้กระทรวงยุติธรรมทำอะไรได้บ้าง? มีแค่คุกกับคุมประพฤติ ดูแค่นั้น กระทรวงยุติธรรม แต่ดูแลแค่เรื่องคุก ไม่เหมือนชื่อเลยครับ กระบวนการยุติธรรมเราถึงเป็นคนละทิศคนละทางเลย ตำรวจอยู่ใต้นายกรัฐมนตรี อัยการเป็นอิสระ ศาลเป็นอิสระ คุกอยู่กับกระทรวงยุติธรรม 

ตอนนี้บ้านเราไม่มีใครดูแลความยุติธรรมในภาพรวม ทุกคนเห็นแต่ปัญหาส่วนของตัวเอง แก้เฉพาะตัวเอง ไม่เห็นภาพรวม จึงเป็นการแก้แบบปะผุ ทำสี ขันน็อต แต่ไม่เคยได้แก้โครงสร้างกันจริงจัง 

หนึ่งคือ ป.วิอาญา ที่ยังใช้หลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” ที่ผ่านมาเราไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไปแก้ที่ปลายเหตุอย่างเดียว แต่มันผิดแต่แรกไงครับ เช่น การที่เอาเค้ามาขังต้องทำได้เฉพาะมีเหตุว่าจะหลบหนีเท่านั้น กระทรวงยุติธรรมต้องไปแก้เรื่องนี้ แก้ไขเรื่องหลักเกณฑ์เงินประกันตัวด้วย ไปแก้หลักการให้ประเมินความเสี่ยง เท่านั้นเอง 

สอง กระบวนการยุติธรรมทุกวันนี้ ไม่มีการประเมิน ไม่มี feedback ไม่มีการแก้ไข ในความเป็นจริง มันต้องการประเมินด้วยสิครับ ต้องมี feedback เช่นทำไมคนจนยังอยู่ในคุก? ทำไมยังมีคนไม่ได้ประกันตัวเพราะไม่มีเงินประกัน? ทำไมคนล้นคุก? มันพลาดตรงไหน พลาดตรงอัยการ หรือศาล หรือตำรวจ หรือตัวกฎหมาย จะได้ไปแก้ในจุดต่างๆ แต่ตอนนี้ไม่มีใครทำไงครับ ไม่มีการแก้ ต่างคนต่างอยู่ 

ปริญญา โพสต์เมื่อ พ.ย.2560

แต่ตามหลักการ เขาบอกว่าศาลกับอัยการต้องเป็นอิสระ?

ต่อให้เป็นหน่วยงานอิสระต้องอยู่ใต้กฎหมายครับ ตอนนี้ในบ้านเมืองเราทุกคนอยากเป็นอิสระหมด แต่ไม่อยากมี accountability [การถูกตรวจสอบ] ไม่ได้นะครับ องค์กรอิสระต้องถูกตรวจสอบได้ ไม่ใช่ว่าพอมีคนไปตรวจสอบก็หาว่าแทรกแซง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือองค์กรอิสระก็อิสระมากจนไม่มีใครตรวจสอบได้เลย รวมถึงศาลด้วย การที่ไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลซึ่งผิดทั้งหลักการและผิดทั้งกฎหมาย มีใครทำอะไรได้บ้างล่ะครับ?

กระทรวงยุติธรรม ถึงต้องมีบทบาทในการสร้าง accountability กับทั้งกระบวนการยุติธรรมไงครับ กระบวนการยุติธรรมและศาล ต้องอิสระและมี accountability พร้อมๆกัน ส่วนจะทำอย่างไร มาว่ากัน แต่เราต้องเริ่มทำครับ

จะเริ่มจากจุดไหนก่อน

ตัวผมเองเพิ่งมารับหน้าที่ผู้อำนวยการคนใหม่ของ “ศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์” เมื่อไม่นานมานี้ครับ ศูนย์นิติศาสตร์เป็นโครงการของมหาวิทยาลัย ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป แต่คนไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยมาหาเรานะครับ นักศึกษาเองก็เถอะ เราก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าเป็นเพราะอะไร เราจะสร้างความน่าเชื่อถือของเราอย่างไร ผมก็หวังว่าการมาทำหน้าที่ตรงนี้ จะช่วยผลักดันแก้ไขกระบวนการยุติธรรมของเราได้บ้าง 

ตอนนี้ก็มีการแก้ไขกันบ้างแล้ว เป็นเรื่องที่ดีครับ อย่างเมื่อเดือนก่อน บิ๊กโจ๊ก [พลตำรวจเอก​ สุรเชษฐ์​ หัก​พาล รองผู้​บัญชาการ​ตำรวจ​แห่งชาติ​] เค้ามาหาผมครับ เค้ามาปรึกษาผม บอกว่าเค้าอยากจะแก้ไขเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากร น่าชื่นชมครับที่มีคนคิดทำตรงนี้ ผมช่วยเค้าเต็มที่เลย เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก คุณรู้ไหมครับ ทะเบียนประวัติอาชญากรประเทศเรามีตั้ง 10 กว่าล้านคน ทั้งที่ตามสถิติแล้วประเทศเรามีอาชญากร 2-3 ล้านคนเท่านั้นเองนะครับ 

ทำไมทะเบียนประวัติอาชญากรถึงเยอะขนาดนั้น? ก็เพราะว่าในความหมายของตำรวจ แค่โทษปรับก็ถือว่าอาชญากรอยู่ในทะเบียนได้นะครับ คดียังไม่สิ้นสุด หรือคดีสิ้นสุดแล้วแต่ยกฟ้อง ก็ถือว่าเป็นอาชญากรในทะเบียนครับ มันกระทบต่อชีวิตคนนะครับ พอจะไปสมัครงานก็มีประวัติอาชญากร 

แล้วที่ผ่านมา การลบออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรมีแค่ตำรวจยอมรับว่า “จับผิดตัว” กับ “ตาย” ครับ แค่นั้นเองครับ ต้องตายก่อนถึงจะลบออกได้ ขนาดยกฟ้อง ก็ไม่ลบนะครับ นี่ไงครับที่ผมเรียกว่า “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” ในกระบวนการยุติธรรมประเทศเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net