Skip to main content
sharethis

การตะโกนวิจารณ์ สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยมากเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้อย่างเสรี และไม่ถูกดำเนินคดีจากทางการ แต่ในไทยนั้น ประชาชนตะโกนวิจารณ์กษัตริย์กลับถูกจับกุม ข้อหา ม.112 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ‘อติรุจ’ วัย 25 ปี ถูกจับที่ศูนย์สิริกิติ์ เหตุไม่ยอมนั่งลง และตะโกนวิจารณ์ ระหว่างขบวนเสด็จรัชกาลที่ 10-พระราชินี เคลื่อนผ่าน หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดศูนย์ประชุมฯ ล่าสุด (17 ต.ค. 65 เวลา 17.00 น.) สำนักข่าวราษฎรรายงานว่าอติรุจได้รับการปล่อยตัวแล้ว 

ประชาไทชวนดูกรณีประชาชนตะโกนวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อังกฤษ หลังการสวรรคตของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ไล่เรียงตั้งแต่คำที่ตะโกนวิจารณ์ บริบทที่ทำให้เกิดการวิจารณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ตลอดจนกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการประท้วงสหราชอาณาจักร มาตรการรักษาสงบเรียบร้อยที่ไม่ทิ้งเรื่องการรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน

มัดรวมเหตุการณ์ ตะโกนวิจารณ์ราชวงศ์อังกฤษ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 65 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด มีเหตุการณ์ชายคนหนึ่งตะโกน ‘ใครเลือกท่านเข้ามา’ ในช่วงพิธีประกาศให้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ

ชายคนนี้คือ ‘ไซมอน ฮิลล์’ เป็นครูสอนประวัติศาสตร์วัย 45 ปีผู้ที่ได้ร่วมฟังประกาศดังกล่าวด้วยความบังเอิญขณะกำลังเดินกลับบ้าน เขาเปิดเผยกับสำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ยูเคว่า หลังจากที่ตะโกนถ้อยคำดังกล่าวออกมา ก็มีประชาชนบางคนในฝูงชนบอกให้เขาหุบปากไปซะ แต่เขาก็ไม่ได้ตอบโต้กลับไป แต่ตอบกลับด้วยการยืนยันว่า ‘ประมุขของประเทศได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากเรา’ หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรีบพุ่งเข้ามาชาร์จ เขาถูกตำรวจนำตัวขึ้นรถตู้ ตำรวจระบุว่า ฮิลล์ถูกจับกุมตัวโดยตั้งข้อสงสัยว่าก่อความไม่สงบในที่สาธารณะ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความสงบเรียบร้อยของประชาชนปี 1986 (Public Order Act 1986) ซึ่งกำหนดความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่สบายใจ โดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 ปอนด์ แต่สุดท้ายเขาได้รับการปล่อยตัวจากสถานีตำรวจ อินดิเพนเดนท์ยูเครายงานเพิ่มเติม อ้างอิงจากข้อความในทวิตเตอร์ของ ‘อลัน ไวท์’ นักข่าวที่อยู่ร่วมในพิธีระบุว่า คนในฝูงชนบอกให้เขาเงียบปากซะ แต่เท่าที่เห็นก็ไม่มีใครขอให้ตำรวจเข้ามาจัดการ

เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ที่เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ สื่อหลายสำนักรายงานเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งตะโกน ‘ตาเฒ่าจิตป่วย’ ใส่เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสองค์ที่ 2 ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขณะอัญเชิญพระบรมศพของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากพระราชวังโฮลีรูดไปยังมหาวิหารเซนต์ไจลส์ โดยการตะโกนวิจารณ์ดังกล่าวนั้นอ้างถึงกรณีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น จากคลิปวีดิโอจากเดอะการ์เดียน หลังจากที่เขาตะโกนถ้อยคำดังกล่าวแล้วผู้เข้าร่วมงานที่อยู่รอบๆ ลากตัวเขาออกไปจากพิธี ก่อนถูกตำรวจเข้ามาจับกุม ข้อหาทำลายความสงบ โดยความผิดฐานทำลายความสงบในสกอตแลนด์ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 ปอนด์ และจำคุกไม่เกิน 12 เดือน ก่อนถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ยืนยันว่าการสืบสวนคดีของชายคนนี้จะดำเนินต่อไปหรือไม่

ภาพเหตุที่ชายชาวเวลส์ ตะโกน ‘ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าไฟที่บ้าน แล้วยังต้องมาจ่ายค่าจัดงานให้ท่านอีก’ ใส่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

สำนักข่าวนิวส์จากออสเตรเลีย รายงานเหตุการณ์ที่ชายชาวเวลส์ ตะโกน ‘ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าไฟที่บ้าน แล้วยังต้องมาจ่ายค่าจัดงานให้ท่านอีก’ ใส่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ขณะเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนในแคว้นเวลส์ครั้งแรกหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ โดยการวิจารณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤตค่าครองชีพในสหราชอาณาจักร ที่ทำให้ประชาชนรับภาระหนักขึ้น โดยเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อนานกว่า 7 เดือนแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ หน่วยรักษาความปลอดภัยรีบกันชายคนดังกล่าวออกไปทันที ประชาชนคนอื่นตะโกนสรรเสริญว่า ‘ก็อดเซฟเดอะคิง’ (God Save the King) ด้านกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ก็เดินออกจากบริเวณนั้นเพื่อไปพูดคุยกับประชาชนตรงอื่นแทน นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จเยือนเวลส์ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์คลิปวีดิโอที่ประชาชนส่งเสียงโห่ต้านกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 และราชินีคามิลลา ณ ปราสาทคาร์ดิฟ แคว้นเวลส์ 

 

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการประท้วง ในสหราชอาณาจักร

สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด แปลและเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ อ้างอิงจากเดอะการ์เดียน โดยกฎหมายระบุไว้ว่า ‘ทุกคนมีสิทธิที่จะประท้วงได้อย่างสันติ’ โดยประชาชนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกอย่างเสรี และมีเสรีภาพในการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน (Human Rights Act) ซึ่งบัญญัติตามมาตรา 10 และ 11 ของอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองยุโรป (European Convention on Human Rights)

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการประท้วงตามกฎหมายของอังกฤษและเวลส์นั้น ‘มีข้อจำกัด’ ตามที่ระบุในพระราชบัญญัติความสงบเรียบร้อยของประชาชนปี 1986 หรือ พ.ศ.2529 (Public Order Act 1986) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยเฉพาะ ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการก่อจลาจล การก่อความไม่สงบเรียบร้อย การทะเลาะวิวาท และการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงระหว่างการชุมนุม อีกทั้งยังให้อำนาจเจ้าพนักงานในการควบคุมความสงบในการชุมนุมด้วย

นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติตำรวจ อาชญากรรม การพิจารณาพิพากษา และศาล (Police, Crime, Sentencing and Courts Act: PCSC) ที่เพิ่งบังคับใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มอำนาจให้ตำรวจในการควบคุมและปราบปรามการประท้วงมากกว่าในอดีต เช่น เจ้าหน้าที่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่าการชุมนุมต้องเริ่มและจบลงเวลาใด หรือการชุมนุมใช้เสียงดังได้เท่าไร อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสั่งห้ามการประท้วงอย่างเด็ดขาด

ส่วนในสกอตแลนด์ก็มีการใช้กฎหมายที่คล้ายคลึงกันในรูปแบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) และตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการออกใบอนุญาตปี 2010 หรือ พ.ศ.2553 (Criminal Justice and Licensing (Scotland) Act 2010) ส่วนในไอร์แลนด์เหนือนั้นจะมีกฎหมายด้านการควบคุมการประท้วงของตนเองโดยเฉพาะ ตามที่ระบุในคำสั่งด้านความสงบเรียบร้อยปี 1987 หรือ พ.ศ.2530 (The Public Order (Northern Ireland) Order 1987)

สหราชอาณาจักร มีกฎหมายคล้าย ม.112 หรือไม่ 

สำหรับกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่พอเทียบเคียงได้กับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยนั้น คือ พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานกบฎ ค.ศ. 1848 หรือ พ.ศ.2391 (Treason Felony Act) ว่าด้วยใครก็ตามที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์อาจถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้เป็นความคล้ายคลึงในทางเทคนิคเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงกฎหมายฉบับนี้ไม่เคยถูกนำไปใช้ดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 1879 หรือ พ.ศ.2422 แล้ว 

ฉะนั้นการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ พลเมืองอังกฤษจะไม่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าในสหราชอาณาจักรโดยส่วนใหญ่แล้วสามารถกระทำได้อย่างเสรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ที่ถูกจับกุมตัวส่วนมากจะโดนข้อหาก่อความไม่สงบในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ก็ถูกกันตัวออกไปจากพิธี แต่ไม่ใช่การตั้งข้อหาที่ร้ายแรงอย่างการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายราชวงศ์

ปัจจุบัน เมื่อมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สมาชิกเชื้อพระวงศ์ของอังกฤษ ศาลจะใช้เพียงกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปหรือกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของความขัดแย้งระหว่างเจ้าชายแฮรี และเมแกน แมร์เคิล กับเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ และสื่อที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เมื่อ พ.ย.64 บีบีซีไทย รายงานย้ำด้วยว่า "ปัจจุบันสหราชอาณาจักรไม่ได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ย้อนไปเมื่อปี 2010 หรือ พ.ศ.2553 สกอตแลนด์ได้ยกเลิกกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยความผิดฐานปลุกระดมและดูหมิ่นประมุขของรัฐนั่นก็คือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ไปแล้ว

จากรายงานการประชุมพิจารณายกเลิกกฎหมายในครั้งนั้น เฟอร์กัส อิววิง รัฐมนตรีด้านความปลอดภัยชุมชนของสกอตแลนด์ บอกว่า ถึงเวลาที่สกอตแลนด์ต้องยกเลิกความผิดอาญาฐานปลุกระดมและการดูหมิ่นตามชาติอื่น ๆ ในสหราชอาณาจักรแล้ว

รัฐมนตรีด้านความปลอดภัยชุมชนของสกอตแลนด์ บอกว่า บทบัญญัติเหล่านี้เป็นแค่ของแปลกไว้ให้นักเรียนกฎหมายได้ครุ่นคิดเพื่อความสนุกสนาน และที่สำคัญกว่านั้น การที่สหราชอาณาจักรมีกฎหมายเหล่านี้อยู่เป็นการเปิดทางให้คณะผู้ปกครองในประเทศต่าง ๆ ที่กดขี่ประชาชนตัวเองใช้เป็นข้ออ้างง่าย ๆ ที่จะใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกัน พร้อมระบุว่าการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือที่ใช้คำว่า "leasing-making" ในกฎหมายสกอตแลนด์ จะช่วยให้สหราชอาณาจักรมี "อำนาจทางศีลธรรม" มากขึ้นเวลาต้องเจรจากับรัฐที่กดขี่ประชาชน

อย่างไรก็ดี การยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในครั้งนั้นก็เป็นการกระทำในเชิงทฤษฎีเท่านั้น โดย อิววิงบอกว่าไม่มีรายงานว่ามีการดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ปี 1715 หรือ พ.ศ.2258 แล้ว

นักกิจกรรมยืนยัน การประท้วงเป็นสิทธิ

สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด แปลและเรียบเรียงความคิดเห็นจากนักรณรงค์ด้านเสรีภาพอ้างอิงจากบีบีซีระบุว่า ‘รูธ สมีธ’ หัวหน้าผู้บริหารของ Index on Censorship ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก กล่าวว่า การจับกุมตัวผู้ประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายงดใช้สถานการณ์นี้มาเป็นสิ่งที่ทำลายเสรีภาพในการแสดงออกที่ประชาชนทั้งประเทศพึงมี

ด้าน ‘ซิลกี คาร์โล’ ผู้อำนวยการ Big Brother Watch องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งต่อต้านการคุกคามต่อเสรีภาพของพลเมือง กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนในการประท้วงด้วยเช่นกัน ตราบเท่าที่พวกเขามีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนที่แสดงออกถึงการสนับสนุน แสดงความเสียใจ หรือแสดงความเคารพต่อราชวงศ์ 

สอดคล้องกันกับความคิดเห็นของ ‘โจดี เบก’ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายและการรณรงค์ของ Liberty องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนสิทธิพลเมืองที่กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่ได้เห็นตำรวจบังคับใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นบทลงโทษหนักต่อประชาชน พร้อมย้ำว่า การประท้วงไม่ใช้ของขวัญที่รัฐมอบให้ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว

ตะโกนวิจารณ์ขบวนเสด็จ รับคดี ม.112

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (อัพเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565) นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 216 คน ใน 235 คดี โดยคดีล่าสุดนั้น คือ คดีของอติรุจ (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 65 และนำตัวไปแจ้งข้อหาที่ สน.ลุมพินี เหตุมาจากไม่ยอมนั่งลงและตะโกนวิจารณ์ ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ระหว่างการเสด็จกลับจากการเปิดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

วันนี้ (17 ต.ค. 65) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทวีตว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ฝากขังอติรุจ เป็นเวลา 12 วัน หลังพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินียื่นฝากขังครั้งที่ 1 ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวต่อทันที ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันด้วยวงเงิน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ อติรุจจึงจะได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมตัวอยู่นาน 2 คืน

เวลา 17:00 น. สำนักข่าวราษฎรรายงานว่าอติรุจได้รับการปล่อยตัวแล้วโดยมีมวลชนที่มารอให้กำลังใจได้เข้ามอบดอกไม้ และ ส.ส เบญจา แสงจันทร์ ก็ได้มามอบดอกไม้ให้กำลังใจด้วย

เรียบเรียงจาก:

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net