Skip to main content
sharethis

รายงานเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ตของฟรีดอมเฮ้าส์ฉบับปี 65 จัดให้ไทยอยู่อันดับ 51 จาก 70 ประเทศที่มีการศึกษา ดีขึ้นจากปี 64 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังถูกจัดว่า "ไม่เสรี" เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน หากนับตั้งแต่มีการศึกษาเรื่องนี้มา 11 ปี พบไทยถูกจัดว่า "ไม่เสรี" กว่า 10 ปี มีเพียงปีเดียวที่เป็น "กึ่งเสรี" คือปี 2556

ในปี 65 ประเทศไทยได้คะแนนเสรีภาพอินเตอร์เน็ต 39 คะแนน ห่างจากการเป็นประเทศกึ่งเสรีเพียง 1 คะแนน ไทยเคยได้คะแนนเท่ากันนี้ในปี 2554 และ 2555 ก่อนได้เป็นประเทศ "กึ่งเสรี" ในปี 2556 และกลับมาเป็นประเทศไม่เสรีนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 

 

เกณฑ์การประเมินแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ปัจจัยด้านอุปสรรคการเข้าถึง ปัจจัยข้อจำกัดด้านเนื้อหา และปัจจัยด้านการละเมิดสิทธิผู้ใช้ หากมีปัจจัยลบสูงคะแนนจะยิ่งต่ำ ในปี 65 ไทยคะแนนปัจจัยด้านอุปสรรคการเข้าถึง 16/25 คะแนน ปัจจัยข้อจำกัดด้านเนื้อหา 14/35 คะแนน และปัจจัยด้านการละเมิดสิทธิผู้ใช้ 9/40 คะแนน

จุดอ่อนใหญ่ที่สุดที่ทำให้ไทยสอบตกด้านเสรีภาพอินเตอร์เน็ตยังคงเป็นปัญหาด้านการละเมิดสิทธิของผู้ใช้ ขณะที่ระหว่างปี 54-56 ประเทศไทยยังมีคะแนนในด้านการละเมิดสิทธิผู้ใช้เกิน 10 คะแนนขึ้นไป แต่หลังการรัฐประหาร 57-65 เป็นต้นมาพบว่าคะแนนในด้านการละเมิดสิทธิผู้ใช้ยังไม่เคยเกิน 10 คะแนนแม้แต่ครั้งเดียว

สำหรับการละเมิดสิทธิผู้ใช้พบว่าแนวโน้มใหม่ในปี 65 ได้แก่ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงออกบนอินเตอร์เน็ต การดำเนินคดี พ.ร.บ. คอม และมาตรา 112 กับผู้เห็นต่างบนอินเตอร์เน็ต การที่รัฐบาลอาจใช้สปายแวร์กับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และการข่มขู่และเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของนักกิจกรรม

ส่วนแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ การควบรวมทรูกับดีแทค ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อุปสรรคสำคัญต่อความหลากหลายของเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ความพยายามในการปิดเว็บไซต์ที่เรียกร้องให้มีการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 และปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาที่แสดงออกถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ในระดับอาเซียนพบว่ามีประเทศที่ถูกศึกษาทั้งหมด 8 ประเทศ 2 ประเทศที่ไม่ถูกศึกษาได้แก่ลาวและบรูไน ในกลุ่มที่ถูกศึกษาพบว่ามีประเทศถูกจัดเป็นประเทศ "กึ่งเสรี" 5 ประเทศ  คะแนนเรียงตามลำดับ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ขณะที่ประเทศ "ไม่เสรี" คะแนนเรียงตามลำดับ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และพม่า ทั้งนี้ ไทยมีคะแนนเป็นอันดับ 6 จาก 8 ประเทศที่มีการศึกษา

พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าเสรีภาพอินเตอร์เน็ตถดถอยลงมากที่สุด โดยอยู่ในกลุ่มเดียวกับรัสเซีย ซูดาน และลิเบีย จีนยังคงเป็นประเทศที่เสรีภาพอินเตอร์เน็ตเลวร้ายที่สุดเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน ขณะที่สหรัฐอเมริกาพบว่าคะแนนเสรีภาพอินเตอร์เน็ตดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สถานการณ์ดีขึ้นในรอบ 6 ปี นับเป็น 1 ใน 26 ประเทศที่สถานการณ์เสรีภาพบนอินเตอร์เน็ตพัฒนาขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมาพบว่า 'ฟรีดอมเฮาส์' เผยแพร่รายงานเรื่องอิทธิพลรัฐบาลจีนต่อสื่อทั่วโลก แต่ไม่พบไทยในรายชื่อ 30 ประเทศที่ได้รับการศึกษา จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า หนึ่งในหลักเกณฑ์คัดเลือกคือต้องเป็นประเทศเสรี/กึ่งเสรี แต่ไทยถูกจัดเป็นประเทศ 'ไม่เสรี' ตามดัชนีเสรีภาพโลก ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดทำขึ้นโดยแยกกับดัชนีเสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net