Skip to main content
sharethis

หุ่นรถถังสีแดงในเรือนไม้มลายู “ศิลปะบอกความจริงชายแดนใต้? ที่ “อึดอัดและทับซ้อน” ในเทศกาลศิลปะแห่งแหลมมลายู Kenduri Seni Nusantara 2022 ณ Patani Artspace พื้นที่แห่งเสรีภาพทางศิลปะ เพราะต้องเข้าใจความทับซ้อน จึงจะสร้างสันติภาพได้

หุ่นรถถังสีแดงในเรือนไม้มลายู ส่วนหนึ่งของงานเทศกาลศิลปะแห่งแหลมมลายู Kenduri Seni Nusantara 2022

เอ๊ะ ! นี่มันบ้านเรานี่

บ้านเรา แต่ทำไมไม่เหลือทางให้เราเดินเลยหรือนี่

บ้านของเรา แต่กลายเป็นพื้นที่ของคนอื่นหมดแล้วหรือ

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากผู้ชม “หุ่นรถถังสีแดงในเรือนไม้แบบมลายู” หลังเล็กๆ ที่ดูแล้วช่างรู้สึกอึดอัดยังไงก็ไม่รู้ และเป็นเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ของผู้เข้าชมงานศิลปะชิ้นนี้ ณ Patani Artspace หอศิลป์ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ใน ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตามที่ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ผู้ก่อตั้ง Patani Artspace แกลลอรีอาร์ตแห่งแรกในจังหวัดปัตตานี บอกไว้

หุ่นรถถังสีแดงในเรือนไม้มลายู เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลศิลปะแห่งแหลมมลายู Kenduri Seni Nusantara 2022 ที่จัดแสดงเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.-30 พ.ย. 2565 ร่วมกับผลงานและการแสดงของศิลปินกว่า 50 คนทั้งจากในพื้นที่และต่างประเทศที่สลับกันมาร่วมในงานนี้ตลอดช่วง 4 เดือนนี้ ซึ่งนับว่าเป็นเทศกาลศิลปะที่ดีแห่งหนึ่งในประเทศไทย

“ผมโดนเพ่งเล็งเลยครับกับงานชิ้นนี้”

ผศ.เจะอับดุลเลาะ หรือชื่อที่คนในพื้นที่เรียกว่า อาจารย์เจ๊ะ บอกว่า งานศิลปะชิ้นนี้ เป็นได้หลายบริบท คนในพื้นที่บอกว่าเป็นบ้าน ส่วนคนในที่อยู่นอกพื้นที่เห็นแล้วก็นึกถึงบ้าน แต่ชาวต่างชาติที่มาชมงานก็เห็นเสมือนเป็นประเทศ

นี่คือภาพสะท้อนของประเทศ..? 

นอกจากความรู้สึก “อึดอัด” ที่ศิลปินต้องการให้สัมผัสแล้ว ศิลปินยังต้องการแสดงให้เห็นถึง “ความทับซ้อน” ของชีวิตท่ามกลางความรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งแล้วแต่ว่าใครจะตีความ “ความทับซ้อน” นั้นอย่างไร

“อึดอัดและทับซ้อน” คือการสะท้อนความจริงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันผ่านงานศิลปะ ซึ่ง “ศิลปะคือการสะท้อนความจริง โกหกไม่ได้”

แล้วแต่ว่าใครจะตีความอย่างไร จะเข้าใจ Text (ข้อความ)ที่ศิลปินต้องการสื่อสารออกมาได้อย่างไร “เราต้องการให้คนชมได้ดีความ ซึ่งมันสนุกตรงนี้เอง และยิ่งมันตรงกับความคิดของเรา ยิ่งทำให้เขาสนุกกับการจินตนาการกับพื้นที่ตรงนี้”

ผศ.เจะอับดุลเลาะ บอกว่า Overlap Land พื้นที่ทับซ้อน เป็นหัวข้อหลักของเทศกาลศิลปะครั้งนี้ซึ่ง“พื้นที่ทับซ้อน” นั้นมีอยู่ทุกแห่ง ยิ่งใน “นูซันตารา” ยิ่งมีความทับซ้อนเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องศาสนา ชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง อาหารการกิน ทุกอย่าง ทุกมิติ

บางทีการจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องเข้าใจความทับซ้อนด้วย

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ผู้ก่อตั้ง Patani Artspace แกลลอรีอาร์ตแห่งแรกในจังหวัดปัตตานี

“ใช่ เราต้องเข้าใจบริบทของความทับซ้อนนี้ก่อน ไม่ว่าเรื่อง ศาสนา ชาตพันธุ์ เศรษฐกิจ การเมือง ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราก็จะเปิดโลกทัศน์ และพยายามเรียบเรียง ทำความเข้าใจในแต่ละประเด็น จะแยกแยะประเด็นต่างๆออกได้ แต่ถ้าคนไม่เข้าใจก็ยาก”

“ผมคิดว่า ตัวศิลปินและงานศิลปะ ก็คือตัวสื่อสารกับผู้ชมอยู่แล้ว คนมาดู มาเห็นแล้วก็จะตั้งคำถามว่า มันคืออะไร เขาก็จะอ่านนิยามของศิลปินอย่างไร แล้วย้อนกลับมาดูบริบทในพื้นที่ว่า สิ่งที่ศิลปินบอกนั้นมันเป็นอย่างนี้หรือไม่ บางคนค้อให้บอกอย่างไรก็ไม่เข้าใจ แต่พอมาดูงานของศิลปิน เขาเริ่มเก็ต(เข้าใจ) อย่างที่ศิลปินนำเสนอ ศิลปะอธิบายเป็นภาพได้ แล้วคนไปตีความเอง”

“ศิลปะบอกความจริง โกหกไม่ได้”

ผศ.เจะอับดุลเลาะ บอกว่า เสน่ห์ของศิลปะคือการที่ศิลปินได้แสดงออกจากความรู้สึกของตัวเอง ศิลปะแสดงออกถึงความจริง โกหกไม่ได้ ศิลปินรู้อย่างไร ก็แสดงออกโดยการสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นศิลปะจึงทำหน้าที่ให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความจริง แต่บางทีความจริงเหล่านี้อาจทำให้บางคนชอบ ไม่ชอบ เจ็บปวดหรือรู้สึกดีกับมัน ก็แล้วแต่

หน้าที่ของศิลปะคือการถ่ายทอดให้คนรู้สึก เมื่อรู้สึกแล้ว เขาจะไปต่อยอดอย่างไรต่อก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนแล้ว สมมุติว่า ครูมาเห็นงานชิ้นนี้แล้วรู้สึกหดหู่ แล้วอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยนำไอเดียจากงานศิลปะชิ้นนี้ไปต่อยอดโดยการสอนเด็กว่า การแก้ปัญหาต่างๆ อย่าพยายามใช้ความรุนแรง หรือใช้กำลัง

คนที่ดูงานศิลปะต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะศิลปะไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่เปิดโลกทัศน์ จรรโลงจิตใจเพื่อให้คนได้ตระหนัก นึกคิดถึงความเป็นไปในแต่ละสังคม

“งานศิลปะอาจจะดูหนักหน่วง แต่เป้าหมายคือการนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม”

ตัวอย่างงานศิลปะที่แสดงในเทศกาลศิลปะแห่งแหลมมลายู Kenduri Seni Nusantara 2022

เคยมีคนมาถามว่า งานศิลปะที่แสดงนั้นสมควรหรือไม่ ทำไมไม่เสนอภาพที่สวยงาม ผมเข้าใจคนที่ถาม แต่ประเด็นคือ ศิลปินต้องพูดความจริง เพราะเราต้องการให้เกิดสันติภาพ ต้องการให้ยุติความรุนแรงในบ้านเรา ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม

เราอยากให้ทุกคนสู้ด้วยปัญญา เพราะหมดยุคของการใช้กำลังแล้ว แต่ความป่าเถื่อนก็ยังมีอยู่ในหัวใจของมนุษย์ อย่างเช่น สงครมรัสเซีย-ยูเครน ที่แม้โลกพัฒนาไปไกลแล้ว สุดท้าย ในความคิดของผม ยุโรปก็ยังเป็นคนล้าหลังอยู่ดีจากการใช้ความรุนแรง ทั้งที่ทุกคนต้องตายอยู่แล้ว แต่มนุษย์กลับใช้สารเร่งให้เกิดความตาย

ผมจริงยายามสื่อสารสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดชาติใด ศาสนาใด พื้นที่ใดก็ตาม ผมเข้าใจในเรื่องการต่อรองอำนาจทางการเมือง แต่ในท้ายที่สุดมนุษย์ก็ยังกลับมาใช้ความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจ ทั้งที่การสู้ด้วยปัญญาที่ดี คนนั้นเป็นผู้ประเสริฐ”

สำหรับเทศกาลศิลปะแห่งแหลมมลายู Kenduri Seni Nusantara 2022 ถือเป็นเทศกาลศิลปะที่สำคัญที่เป็นที่รู้จักในระดับโลกแล้ว โดยมีศิลปินกว่า 50 คนเข้ามาร่วมทั้งจากในพื้นที่ 3 จังหวัด ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ หรือที่เรียกว่าภูมิภาคนูซันตารา นอกจากนี้ยังมีศิลปินจากประเทศหญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมแสดงในงานด้วย โดยตลอดระยะเวลา 4 เดือนมีการจัดแสดงผลงานศิลปะและกิจกรรมต่างๆมาแล้วหลายรอบ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นศิลปะการแสดงสด เรียกว่า Performance Art และ Artist talk

โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ทุกวัน ส่วนผู้ที่ไม่รวมกิจกรรมต่างๆ ก็สามารถติดตามได้ทางเพจ Kenduri seni Nusantara 2022 https://www.facebook.com/kenduriseninusantara/ หรือในเพจ Patani Artspace https://www.facebook.com/PataniArtspaceArtMuseum/

Kenduri seni Nusantara

ผศ.เจะอับดุลเลาะ พูดถึงชื่องานเทศกาลศิลปะว่า Kenduri seni Nusantara ว่า คำว่า Kenduri หมายถึงเทศกลาล เป็นคำที่คนในนูซันตาราเข้าใจ เพราะเป็นคำที่คนทุกชนชั้นใช้กัน แม้แต่คนที่อยู่ภาคใต้ตอนบนของไทยก็ใช้ คือคำว่า นูหรี เพราะฉะนั้น Kenduri เป็นภาษาพื้นฐานที่สุด ซึ่งจำเป็นมากที่ศิลปะต้องเข้าไปถึงคนทุกชันชั้น วรรณะ และทุกบทบาทให้ได้ ศิลปะจึงจะเข้าไปอยู่ในหัวใจคน

เมื่อเราใช้คำว่า Kenduri กับงานศิลปะมันก็เกิดความน่าสนใจขึ้นมา เพราะแทนที่คนจะนึกว่าไปงานบุญ หรือแทนที่จะเป็นงานตลาดนัดศิลปะอย่างที่คุ้นเคยกัน คนก็จะเอ๊ะขึ้นมาว่า เราไปงาน Kenduri seni (ไปงานบุญศิลปะ)

ส่วนคำว่า Nusantara นั้นเป็นเรื่องของวิถีวัฒนธรรมที่อยู่ในแหลมมลายู และหมู่เกาะ เพราะอยากให้คนในพื้นที่เหล่านี้มีความรู้สึกร่วม คนอินโดนีเซีย มาเลเซียมีก็ดูงาน แม้แต่คนญี่ปุ่นก็มา เพราะเป็นงานศิลปะที่ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกจับมองมาก และเป็นงานศิลปะที่จัดโดยคนในท้องถิ่น โดยไม่มีรัฐบาลหรือนายทุนใหญ่มาสนับสนุน แต่เราเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่สามารถสร้างศักยภาพตรงนี้ได้ ชื่อนี้จึงติดปากและมีการพูดถึงมาก

Patani Artspace พื้นที่แห่งเสรีภาพทางศิลปะ

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เล่าว่า Patani Artspace ตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากการที่ตนเองได้ตระเวนออกไปนอกพื้นที่เมื่อครั้งเรียนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่าที่นี่ไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกในทางศิลปะ จึงอยากให้มีพื้นที่แบบนี้ขึ้นมา ประกอบกับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานการณ์ความรุนแรง จึงอยากให้มีพื้นที่ในการสร้างบทสนทนาและการแสดงออก เป็นพื้นที่ที่มีสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ได้

“ที่สำคัญคือการมีพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะพูดคุยอะไรก็ได้ ทั้งกับคนนอก และคนใน เพราะศิลปะคือการสื่อสารอย่างหนึ่งอยู่แล้ว เราต้องการให้คนมาเจอกัน แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน ได้มาชมศิลปะแล้วเกิดบทสนทนากันในประเด็นทางสังคม

ในแต่ละปี Patani Artspace จะมีโปรแกรมศิลปะที่วางไว้อย่างน้อยหนึ่งเทศกาลและ 4 นิทรรศการ และ 2 ปีครั้งจะมีเทศกาลศิลปะครั้งใหญ่คล้ายๆ งานศิลปะ Biennale โดยเชิญศิลปินต่างประเทศเข้ามาร่วม เทศกาลศิลปะครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อปี 2561 ใช้ชื่อว่า Reforming Patani จากนั้นก็ไม่ได้จัดเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19

เราพยายามเชื่อมโยงศิลปะกับชุมชนท้องถิ่น กีฬาพื้นบ้าน งานประเพณีต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าที่สำคัญ และต้องการให้คนข้างนอกได้เห็น

นอกจากนี้เรายังเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามาจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การพูดคุยเสวนาทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เป็นต้น บางทีก็มีการเปิดตัวหนังสือ ทำให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย เรามีร้านกาแฟและร้านอาหารที่พยายามนำศิลปะมาเชื่อมกับเรื่องอาหารท้องถิ่น เพื่อให้งานศิลปะมีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย บางคนอาจจะมองไร้ค่า บางคนอาจจะมองว่าศิลปะไม่มีประโยชน์ เราจึงพยายามทำให้มันกินได้ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net