คนงานแพทย์ เตรียมทวงความคืบหน้ากับ ก.สาธารณสุข พรุ่งนี้ ปมขอความเป็นธรรมชั่วโมงทำงานแพทย์

สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และเครือข่าย เผยเตรียมทวงความคืบหน้ากับ ก.สาธารณสุข พรุ่งนี้ หลังร้องขอความเป็นธรรม เรื่อง ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันการทำงานของบุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานกับรัฐบาล มีจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่สูงมาก ทั้งในเวลาและเวรนอกเวลาราชการ 

24 ต.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน Nurses Connect และ สหภาพคนทำงาน Workers' Union ในฐานะผู้ร้องเรียนให้มีการกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ประกาศว่า วันที่ 25 ต.ค.นี้  เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร นำโดย สุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการ และคณะ พร้อมด้วยตัวแทนจาก สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และ Nurses Connect จะเข้าติดตามความคืบหน้าการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และประชุมร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือปัญหาเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ณ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

โดยระบุว่าก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องของทีมบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเรียกร้องให้มีการกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยในการประชุมแต่ละครั้งนั้น ได้มีผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข เข้ารับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและข้อเสนอแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนน้านี้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เข้ายื่นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร  เพื่อขอความเป็นธรรม เรื่อง ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันการทำงานของบุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานกับรัฐบาล มีจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่สูงมาก ทั้งในเวลาและเวรนอกเวลาราชการ 

จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2562 เรื่อง "ภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบต่อผู้ป่วย" โดย รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ พบว่า มีแพทย์กว่าร้อยละ 60 ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์กว่าร้อยละ 30 ทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแพทย์หลายคนต้องทำงานดูแลผู้ป่วยติดต่อกันนานกว่า 40 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤต การทำงานแบบนี้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของแพทย์โดยตรง หลายคนลาออก เพราะไม่สามารถฝืนทำงาน ภายใต้แรงกดดันด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแรงได้ แม้จะมีค่าตอบแทนเป็นค่าเวร แต่แพทย์ส่วนมากไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่เวร หรือไม่ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลมีตำแหน่งแพทย์ไม่เพียงพอ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่น โดยบุคลากรทางการแพทย์ควรมีเวลาพักอย่างน้อย 8 ชั่วโมง รวมทั้งขอชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ และลดโอกาสความผิดพลาดในการปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท