Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน ศาลอาญาเลื่อนนัดไต่สวนคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนของ 'อี ควิน เบอดั้บ' นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม ออกไปเป็นวันที่ 1 และ 19 ส.ค. นี้ เป็นการไต่สวนก่อนมีคำสั่งว่าเบอดั้บจะถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังเวียดนามประทศต้นทางหรือไม่ หลังเบอดั้บถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยจับกุมเมื่อกลางเดือนมิถุนายน อ้างว่ามีคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากเวียดนาม

 

17 ก.ค. 2567 เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เลื่อนนัดไต่สวนคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน กรณีอี ควิน เบอดั้บ (Mr. Y Quynh Bdap) นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม ไปเป็นวันที่ 1 และ 19 ส.ค. 2567 โดยนัดไต่สวนพยานผู้ร้อง (พนักงานอัยการ) ในวันที่ 1 สิงหาคม จำนวน 4 ปาก และนัดไต่สวนพยานผู้ถูกร้องขอ (อี ควิน เบอดั้บ) จำนวน 4 ปากในวันที่ 19 ส.ค. เพื่อไต่สวนก่อนมีคำสั่งว่าเบอดั้บ จะถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังประเทศเวียดนามหรือไม่

อี ควิน เบอดั้บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดเพื่อความยุติธรรม  (Montagnards Stand for Justice - MSFJ) เพื่อฝึกอบรมกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาดในเวียดนามเกี่ยวกับกฎหมายเวียดนามและกฎหมายระหว่างประเทศ กลไกภาคประชาสังคม และวิธีการรวบรวมและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยสาเหตุทางศาสนาต่อสหประชาชาติและนานาชาติ เบอดั้บได้ช่วยเตรียมรายงานหลายฉบับต่อสหประชาชาติเกี่ยวกับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางศาสนาในเวียดนาม งานเขียนของเบอดั้บเป็นส่วนหนึ่งในเอกสาร “หนังสือถึงรัฐบาลเวียดนาม” ที่ออกโดยสหประชาชาติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

เบอดั้บลี้ภัยมายังประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 เบอดั้บถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับกุม อ้างว่ามีคำขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและศาลในประเทศเวียดนามมีคำพิพากษาลงโทษฐานก่อการร้ายจากเหตุจลาจลเมื่อปี 2566 ในจังหวัดดั๊กลัก โดยที่เบอดั้บไม่ได้ปรากฏตัวที่ศาลและไม่ได้อยู่ในประเทศเวียดนามขณะเกิดเหตุจลาจลแต่อย่างใด เบอดั้บให้การปฏิเสธว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว และอ้างว่าการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของตนเป็นการกระทำโดยสงบและไม่มีความรุนแรงตลอดมา กรณีดังกล่าวทำให้เกิดข้อห่วงกังวลว่าหากเบอดั้บอาจถูกส่งกลับประเทศเวียดนาม โดยคำสั่งศาลให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามที่กระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามร้องขอ  ทั้งนี้ ตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศไทย หากความผิดซึ่งเป็นเหตุให้ร้องขอนั้นมิใช่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองก็จะเป็นข้อยกเว้นว่าศาลจะสั่ง “ไม่ให้ส่ง” บุคคลตามที่ร้องขอได้   และปัจจุบันในประเทศไทยมีพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ระบุว่าจะส่งเบอดั้บกลับประเทศต้นทางไม่ได้ หากเบอดั้บต้องตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงต่อการถูกกระทำทรมาน กระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ถูกบังคับให้สูญหาย

ในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้ย้ายการพิจารณาคดีจากห้องพิจารณาคดีที่ 807 ไปที่ห้อง 701 เพื่อรองรับผู้สังเกตการณ์การพิจารณาคดีประมาณ 50 คน ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย รวมถึงผู้แทนจากสถานทูตหลายแห่ง สหภาพยุโรป และ OHCHR นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังได้แจ้งต่อศาลว่ามีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงของเวียดนาม 9 คนเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย

ทนายความของเบอดั้บได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี โดยอ้างว่า มีความล่าช้าในการได้รับคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากต้องมีการแปลภาษาเป็นภาษาที่เบอดั้บสามารถเข้าใจ รวมถึงข้อจำกัดด้านเวลาในการเข้าเยี่ยมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเตรียมการสำหรับนัดไต่สวนในวันนี้ ทนายความของเบอดั้บแจ้งต่อศาลว่าเบอดั้บซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพึ่งได้รับสำเนาคำฟ้องหรือคำร้องจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 เนื่องจากเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องตรวจสอบเอกสารภาษาต่างประเทศก่อนส่งให้แก่เบอดั้บ นอกจากนี้เบอดั้บเป็นผู้ต้องขังใหม่ ทำให้ทนายถูกจำกัดเวลาในการเตรียมคดีและสอบข้อเท็จจริงเพียงวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ทั้งเบอดั้บเป็นชาวต่างชาติ การสื่อสารต้องทำผ่านลาม ทนายจึงไม่สามารถเตรียมตัวสำหรับการไต่สวนคดีในวันนี้  ศาลพิจารณาคำร้องแล้ว เนื่องจากเป็นคดีที่มีข้อพิพาทและมีความซับซ้อน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องขอได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม กรณีมีเหตุสมควรตามมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 จึงมีคำสั่งให้เลื่อนนัดไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 1 และ 19 ส.ค. 2567 เวลา 13.00 น. และ 13.30 น. ตามลำดับ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรภาคประชาชนที่สนใจ ร่วมติดตามนัดไต่สวนที่จะเกิดขึ้นต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าการพิจารณาคดีจะเป็นธรรมและเพื่อให้มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญาจะมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้ เพื่อป้องกันไม่เกิดกรณีการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net