Skip to main content
sharethis

'ผู้ป่วยจิตเวชกับลักษณะต้องห้ามในการทำงาน' ผลบวก-ลบ ที่ต้องการการตีความบนหลักความเสมอภาค และดำเนินการด้วยองค์ความรู้เชิงประจักษ์เพื่อคุณภาพชีวิต ความเป็นธรรม และประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

ปัจจุบันเรื่องสุขภาพจิต กลายเป็นประเด็นที่สังคมมีความตระหนักถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่สถานการณ์หลายอย่าง ล้วนเป็นสิ่งเร้าที่อาจทำให้เกิดการสะสมความเครียดในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาครอบครัว การงาน การเจ็บป่วยหรือโรคภัยต่างๆ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งหากใครจัดการความเครียดต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ อาจมีแนวโน้มภาวะทางอารมณ์ผิดปกติ หรือต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตค่อนข้างสูง จนบางคนอาจถึงขั้นกลายเป็น “ผู้ป่วยโรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติ” ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าปีงบประมาณ 2564  มีการให้บริการผู้ป่วยจิตเวช จำนวน327,527 คน เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2563 ที่มีจำนวน 265,202 คน (ข้อมูลจากเว็บกรมสุขภาพจิต) รวมถึงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วย โรคทางจิตที่มักเกิดปัญหากับการทำงาน ที่มารับบริการด้านจิตเวช ประจำปีงบประมาณ 2564 อาทิ โรคจิตเภท 284,273 คน โรคอารมณ์สองขั้ว 34,675 คน โรคซึมเศร้า 353,267 คน และโรคจิตอื่นๆ 102,703 คน(ข้อมูลจากเว็บกรมสุขภาพจิต)  

นอกจากนี้จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ยังพบอีกว่า ประชากร 1 ใน 8 คน หรือ 970 ล้านคนทั่วโลก กำลังเผชิญกับความเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิต อาทิ โรคซึมเศร้า วิตกกังวล โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา(ข้อมูลจาก WHO)  ส่วนรายงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปีงบประมาณ 2564 พบว่า มีการขึ้นทะเบียนคนพิการประเภท 4 ด้านจิตใจหรือพฤติกรรม จำนวน 164,230 คน คิดเป็นร้อยละ 7.84 ของคนพิการที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด และส่วนใหญ่อายุ 15-59 ปี ซึ่งยังอยู่ในวัยทำงาน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ทั้งนี้ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวยิ่งตอกย้ำว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับประเทศและโลกที่สังคมมิอาจเพิกเฉย

ทั้งนี้ จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. … ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจโรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติ โดยคณะกรรมการการแพทย์ของ ก.พ. ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษา สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว มีการยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน ขณะที่มีการเสนอให้โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้าม

ซึ่งลักษณะต้องห้ามดังกล่าว อาจมีความไม่สอดคล้องกับประเด็นในด้านสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของกลุ่ม
คนพิการทางจิตสังคม และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช และนโยบายการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการในหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีให้การรับรอง ซึ่งการระบุให้โรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน อาจส่งผลให้กลุ่มคนพิการทางจิตสังคม และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการรักษา ทำให้สภาวะความเจ็บป่วยมีความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนเป็นการซ้ำเติมและตีตราต่อคนพิการทางจิตสังคมว่าไม่สามารถทำงานได้ ทั้งๆ ที่กลุ่มคนพิการทางจิตสังคม และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและหายขาดจากโรคได้ หากได้รับการรักษาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

 

ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ชวนผู้คนที่เกี่ยวข้องมาขบคิด แลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็น ในเวทีเสวนา “ปิดช่องว่าง สร้างโอกาส เพิ่มความเป็นธรรม กับประเด็นสุขภาพจิต จิตเวชและจิตสังคม”
โดยมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน  คุณสนธยา บุณยภูษิต รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  คุณพรชัย เมธาภรณ์พงศ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงาน ก.พ.  คุณเพียรชนันท์ ลีอาห์ ผู้แทนคนพิการทางจิตสังคม และ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นที่น่าสนใจทั้งในเชิงกฎหมาย เชิงวิชาการ การแพทย์ สวัสดิการสังคม ฯลฯ รวมถึงรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดความเห็นกับผู้ร่วมฟังเวทีเสวนา ทั้งกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ องค์กรภาคเอกชน เครือข่ายสมาคมคนพิการ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ผู้ป่วยจิตเวชคนพิการทางจิตสังคม ครอบครัวและผู้ดูแล สื่อมวลชน ฯลฯ

'โรคทางจิต-กับสิ่งที่มองไม่เห็น' ต้องดำเนินการบนหลักความเสมอภาค และกระบวนการบนข้อมูลเชิงประจักษ์

ด้วยเพราะกฎหมายเป็นฐานคิดที่สำคัญต่อการมองเรื่องสิทธิและเสรีภาพ บรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขยายความกฎหมายในมุมที่เกี่ยวข้องและควรนำมาตีความด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ในสายตาทางกฎหมาย มองคนกลุ่มจิตเวช/จิตสังคม ผ่านประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วยมาตราต่างๆ  

โดยในประเด็นด้านการประกอบอาชีพ สิ่งสำคัญคือ เรื่องกระบวนการ เช่น อาชีพผู้พิพากษา ต้องมีกระบวนคัดกรองที่มีหลักฐานทางการแพทย์รับรอง แต่เนื่องจากโรคทางจิตมองไม่เห็นทางกายภาพ จึงเป็นเรื่องที่ประเมินค่อนข้างยาก แต่มีความสำคัญมาก เพราะสุขภาพจิตส่งผลต่อสุขภาพกายและการแสดงออกของมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องหลัก
ความเสมอภาคที่ว่า สิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน ซึ่งสาระสำคัญของมนุษย์มีสองเรื่องคือกายและจิต เช่น ถ้าคนขาขาดถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นคนขับรถ ย่อมไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค เนื่องจากร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่กรณีมิติทางจิตใจ เป็นเรื่องที่มองไม่เห็น จึงต้องอาศัยองค์ความรู้ของจิตแพทย์ อธิบายให้เห็นว่า บุคคลนั้นๆ มีความบกพร่องในระดับที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งถ้าถูกประเมินว่าจิตไม่เหมือนกับบุคคลทั่วไป หากต้องมีการปฏิบัติงาน ถือว่าไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค

ดังนั้นกระบวนการที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์จึงเป็นสิ่งสำคัญของประเด็นนี้ เช่น การคัดกรองคนก่อนเข้าทำงานต้องเป็นกระบวนการที่มีองค์ความรู้รองรับชัดเจนโดยผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ และการกำหนดเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรมีข้อมูลเชิงวิชาการรองรับชัดเจนและเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับ นอกจากนี้กระบวนการระหว่างทางก็เป็นเรื่องสำคัญ การค้นหาคนที่เกิดปัญหาสุขภาพจิตระหว่างการทำงาน ถ้าสามารถค้นหาและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วก็จะไม่เกิดผลกระทบต่อสังคม และยังเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ ไม่ให้เกิดการพิพากษาจากสังคม ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจในสังคม และหาจุดร่วมเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งผลต่อภาครัฐหรือประโยชน์ต่อส่วนรวม พร้อมๆ กับการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ป่วย ซึ่งอาจไม่ใช้แค่การทบทวนกฎ ก.พ. แต่ต้องมองระดับมหภาค โดยต้องสร้างมาตรการทางสังคม เพื่อให้เกิดดุลยภาพ
ที่สมดุลและเป็นธรรมร่วมกัน  

แค่คัดกรอง หรือควรมองทั้งระบบการดูแลสุขภาพจิตที่เข้าถึง ต่อเนื่อง และตรงจุด

ในยุคที่สังคมมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้ผู้คนต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่กระทบทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงสังคมโดยรวม  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เผยข้อมูลสถานการณ์สุขภาพจิตไทยในปัจจุบันว่า โรคทางจิตเวชที่พบบ่อย ซึ่งมีความชุกมากกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนประชากร เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ติดสารเสพติด เด็กสมาธิสั้น ส่วนโรคทางจิตเวชที่มีความรุนแรง เช่น จิตเภท ไบโพลาร์ เด็กออทิสติก โดยมีการแบ่งปัญหาสุขภาพจิตเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มป่วยและกลุ่มไม่ป่วย ซึ่งในกลุ่มไม่ป่วยก็สามารถมีปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น ปัญหาการฆ่าตัวตายที่มากกว่าร้อยละ 50 ไม่ใช่การเจ็บป่วยทางจิตเวช และความรุนแรงในสังคม มากกว่าร้อยละ 95 เกิดจากคนที่ไม่ได้ป่วยทางจิตเวช  ทั้งนี้ในด้านสถานการณ์การบำบัด เนื่องจากประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมโรคทางจิตเวช จึงทำให้มีอัตราการเข้าถึงบริการสูง แต่พบปัญหาสำคัญคือ ยังขาดคุณภาพของการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ ซึ่งการดูแลด้านสุขภาพจิต ไม่ใช่แค่การเข้าถึงบริการ แต่ควรได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดูแลทางจิตสังคม เพื่อการรักษาอย่างมีคุณภาพ 

ภาพ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

สำหรับกรณีการตรวจสุขภาพจิตก่อนเข้ารับราชการ โดยมีการเสนอให้โรคทางจิตเวชที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังเป็นลักษณะต้องห้าม นพ.ยงยุทธ ให้ข้อมูลและข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โรคทางจิตเวชที่พูดถึงคือกลุ่มรุนแรง ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรง แนวโน้มไม่น่าจะสามารถสอบผ่านเพื่อเข้าทำงานได้ แต่กว่าร้อยละ 90 มักพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหลังจากที่เข้าทำงานแล้ว ดังนั้นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ที่มีเจตนาเพื่อให้ได้คนทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการคัดกรองตั้งแต่แรกเข้าทำงาน อาจไม่เกิดประโยชน์ แต่อาจส่งผลกระทบทางลบตามมาแบบได้ไม่คุ้มเสีย เช่น อาจทำให้เกิดการรังเกียจและตีตรา รวมถึงมีการหลีกเลี่ยงไม่เข้ารับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาโดยไม่ลงทะเบียน เพื่อไม่ให้มีประวัติในการรับราชการ ทั้งที่อาจเป็นแค่โรคซึมเศร้าที่สามารถรักษาแล้วกลับไปทำงานและใช้ชีวิตปกติได้ ส่วนคณะกรรมการการแพทย์ก็จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจที่ชัดเจนลำบาก

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและขยายความ นพ.ยงยุทธ มองว่า แต่ละองค์กรควรมีระบบดูแลสุขภาพจิตของคนทำงาน ตั้งแต่การป้องกันไปจนถึงการรักษา นอกจากตรวจสุขภาพกายประจำปีแล้ว ควรมีการตรวจสุขภาพจิตประจำปีด้วย โดยหน่วยทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรควรมีความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของคนทำงานทั้งกระบวนการ และใช้แนวคิดป้องกัน รักษา ฟื้นฟู เพื่อให้สามารถทำงานได้ปกติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกื้อกูลกัน และไม่ผลักคนเหล่านั้นไปเป็นปัญหาของสังคมโดยรวม

องค์ความรู้คือฐานคิด สู่คำตอบของการออกแบบเชิงระบบ

ก่อนที่จะออกแบบระบบเรื่องใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างชัดเจนและถูกต้อง
ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ย้ำถึงความสำคัญขององค์ความรู้จากงานวิจัยว่า ปัญหาแต่ละเรื่องจะมีจิ๊กซอว์หลากหลายชิ้นที่เราต้องรวบรวมให้ครบ และหาขอบว่ามีเรื่องอะไรบ้างเป็นกรอบคิด ตลอดจนมีกระบวนการอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งทุกกระบวนการ ล้วนต้องการองค์ความรู้จากงานวิจัยในการสนับสนุนทั้งสิ้น ตั้งแต่การออกแบบกฎหมาย การคัดกรอง การดูแลและรักษาโรค ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการมีงานทำของกลุ่มจิตเวช/จิตสังคม  นอกจากนั้น อคติและทัศนะของคนในสังคมก็ยังเป็นโจทย์ที่ต้องปรับเปลี่ยนกันยกใหญ่ เพื่อให้กลุ่มจิตเวช/จิตสังคมไม่ถูกตีตรา และรู้สึกปลอดภัย พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลเพื่อการเข้าสู่กระบวนการรักษาให้อาการดีขึ้นและสามารถกลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ  

อีกทั้งยังมีข้อมูล mental health in workplace ระบุว่า การมีงานทำช่วยให้คนมีสุขภาพจิตดี แต่งานก็ทำให้คน
มีปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลกำลังคนวัยทำงานของประเทศ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตระหว่างการทำงาน ไม่น้อยไปกว่าการคัดกรองคนเข้าทำงาน และถ้าหลักฐานทางการแพทย์ไม่มีประสิทธิผลที่จะนำมาใช้ในการคัดกรองคนเข้าทำงาน การดูแลสุขภาพจิตระหว่างทางก็น่าจะเป็นโจทย์วิจัยที่ต้องร่วมกันออกแบบเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม และสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้เวทีดังกล่าวยังมีการระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงประเด็นปัญหาสุขภาพจิต จิตเวช และจิตสังคม ซึ่งข้อมูลจากผู้เข้าร่วมฟังเวทีเสวนาฯ ส่วนใหญ่สะท้อนว่า ปัญหาที่พบ หรือ pain point ของเรื่องดังกล่าว จะเป็นการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องจิตเวชหรือคนพิการทางจิตสังคม ขาดระบบบริการดูแลอย่างต่อเนื่อง การนำเสนอของสื่อที่มักตีตราผู้ประสบปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลความรู้ยังมีน้อยและเข้าไม่ถึง ขาดการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีแนวทาง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เข้าถึงระบบบริการได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นการจัดกระบวนการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเลือกโจทย์วิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากสำนักงาน ก.พ. จะนำไปพิจารณาประกอบการร่างกฎ ก.พ. ให้มีความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุดแล้ว สวรส.ก็จะรวบรวมทุกประเด็นเพื่อนำไปพัฒนากรอบและโจทย์วิจัย ตลอดจนการจัดกระบวนการจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net