ศาลพิพากษาจำคุก 12 ปี จำเลยคดีโพสต์เรื่อง ร.10 ไปเยอรมันและความนิยมของประชาชนต่อกษัตริย์

ศาลสมุทรปราการพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคดีโพสต์ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” 12 ปี จาก 4 ข้อความ ถึงเรื่องความนิยมของประชาชนต่อ ร.10 และการเสด็จประทับในเยอรมัน แต่สารภาพให้ลดโทษเหลือ 6 ปี ไม่รอลงอาญา

20 มิ.ย.2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลสมุทรปราการมีคำพิพากษาในคดีของ “ปุญญพัฒน์ อายุ 29 ปี จำเลยในคดีที่อัยการฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 4 ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส”

ศาลอ่านคำฟ้องของอัยการว่า ปุญญพัฒน์ใช้เฟซบุ๊กของตัวเองโพสต์ทั้ง 4 ข้อความลงในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และการพำนักในประเทศเยอรมันของรัชกาลที่ 10 ในช่วงวันที่ 9 – 10 พ.ค.2563 มีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหรือประชาชนโดยทั่วไปที่อ่านข้อความเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อรัชกาลที่ 10

ศาลระบุว่าทุกข้อความตัวอักษรของจำเลยเป็นการสื่อถึงรัชกาลที่ 10 และเป็นการใส่ร้าย ใส่ความและเป็นเท็จ เจตนาจาบจ้วงดูหมิ่น หมิ่นประมาทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ นอกจากนั้นยังทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อความได้ ถือว่ามีเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านแล้วรู้สึกคล้อยและดูหมิ่นเกลียดชังรัชกาลที่ 10

ศาลพิพากษาลงโทษว่าการกระทำของปุญญพัฒน์ เป็นความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(3) ทั้ง 4 ข้อความ ให้จำคุกข้อความละ 3 ปี รวม 12 ปี แต่รับสารภาพให้ลดโทษเหลือ 4 ปี 24 เดือน (ประมาณ 6 ปี) โดยไม่รอลงอาญา ศาลระบุอีกว่าจากรายงานการสืบเสาะและพินิจที่พนักงานคุมประพฤติทำส่งศาลไม่มีเหตุให้บรรเทาโทษ

นอกจากนั้นในข่าวของไอลอว์ระบุถึงรายงานของพนักงานคุมประพฤติไว้ด้วยว่า ในรายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงประวัติทางการแพทย์เกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตของปุญญพัฒน์ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทนายความใช้ต่อสู้คดีด้วยเพราะปุญญพัฒน์มีอาการทางจิต สมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ ดูแลตนเองไม่ได้และไม่สามารถใช้วิจารณญาณเหมือนคนในช่วงวัยเดียวกัน

อีกทั้งเหตุผลเรื่องอาการป่วยนี้ทำให้ปุญญพัฒน์และครอบครัวตัดสินใจกลับคำให้การจากปฏิเสธข้อกล่าวหามาเป็นรับสารภาพหลังเห็นว่าการพูดคุยและบุคลิกภาพของเขาผิดปกติ

อย่างไรก็ตามหลังฟังคำพิพากษา ทางทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ แต่หลังศาลมีคำพิพากษามีการเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวเพิ่มจากตอนประกันตัวในศาลชั้นต้นอีก 75,000 บาท รวมกับของเดิม 150,000 บาท เป็นทั้งหมด 225,000 บาท โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

จากนั้นเวลา 14.20 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข

ศูนย์ทนายฯ ระบุเกี่ยวกับอาการทางจิตของปุญญพัฒน์โดยอ้างอิงจากแม่ของเขาว่า ปุญญพัฒน์มีพัฒนาการช้ามาตั้งแต่เด็ก สมาธิสั้น มีความคิดวกวน ย้ำคิดย้ำทำ จดจ่อเฉพาะเรื่อง สื่อสารอย่างจำกัด หากจำเลยมีความเครียดหรือหวาดกลัว จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้ปัจจุบัน อายุ 29 ปีแล้ว จำเลยไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนมาไหนคนเดียวได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพการงาน หรือทำในสิ่งที่ต้องใช้วิจารณญาณเหมือนคนในวัยเดียวกันได้ ต้องอยู่ในความดูแลช่วยเหลือของครอบครัวโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ศาลกลับมองประเด็นนี้ว่าตัวปุญญพัฒน์มีความสามารถในการต่อสู้คดีได้ ไม่จำเป็นต้องส่งตัวไปพบแพทย์ เนื่องจากยังสามารถพูดคุยโต้ตอบและเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตนเองได้

นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ศูนย์ทนายฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่าคดีนี้เป็น 1 ใน 9 คดีเป็นอย่างน้อยที่ ศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปกล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ที่สภ.บางแก้ว โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563 และตำรวจได้มีการเริ่มออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงปี 2564 โดยคดีเหล่านี้ได้มีการสืบพยานและมีคำพิพากษาออกมาบ้างแล้ว

FIDH และศูนย์ทนายฯ แถลงยอดคดีม.112 แค่ปีครึ่ง 200 คนแล้ว ชี้ฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ

ปุญญพัฒน์ยังเป็น 1 ใน 201 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มนำข้อหานี้กลับมาใช้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2563 ที่เริ่มมีการพูดถึงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้งบนท้องถนนและในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง อีกทั้งกลุ่ม “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาก่อนเกิดปรากฏการณ์นี้ไม่นานนักและยังเป็นกลุ่มที่สมาชิกต่างร่วมออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในประเด็นต่างๆ 

“ด้วยอัตราการดำเนินคดีในปัจจุบัน และด้วยอัตราการตัดสินลงโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่สูงเป็นปกตินั้น ในไม่ช้าประเทศไทยอาจกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค รัฐบาลไทยต้องยุติการแพร่ระบาดของการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยทันที และปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

ข้อความข้างต้นเป็นของ Adilur Raman Khan เลขาธิการสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (FIDH) กล่าวไว้ในการแถลงข่าวร่วมกันกับศูนย์ทนายความฯ เมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์การใช้มาตรา 112 ในช่วงเวลาปีครึ่งนับตั้งแต่ 24 พ.ย.2563 จนถึง 16 มิ.ย.2565 ที่มีจำนวนสูงถึง 201 คน 

ในแถลงดังกล่าวยังมีข้อเรียกร้องให้รัฐไทยยุติการใช้มาตรา 112 ที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหลายประเทศในการดำเนินคดีและจับกุมคุมขังคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท