Skip to main content
sharethis

สื่อ China Labour Bulletin ยกกรณีศึกษาพบผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็กในจีนยังค้างจ่ายค่าจ้าง สะท้อนความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ คนทำงานที่เปราะบางมักจะเผชิญกับเคราะห์กรรมมากที่สุด


ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

8 พ.ย. 2565 สื่อ China Labour Bulletin ที่จับตาประเด็นแรงงานในประเทศจีนได้เผยแพร่รายงานพิเศษเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2565 พบว่าผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็กในจีนยังค้างจ่ายค่าจ้าง สะท้อนความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์

เป็นเวลา 7 เดือนหลังจากจบงานระยะสั้นในไซต์งานก่อสร้างแห่งหนึ่งทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน คนทำงานก่อสร้างที่ชื่อ 'ไต้'  ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างของเขา เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 เขาจึงได้โพสต์ทางออนไลน์เพื่อขอให้รัฐบาลและสำนักงานแรงงานช่วยเขาทวงค่าจ้างที่ค้างชำระจากผู้รับเหมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“ยังเหลืออีก 6,000 หยวนที่พวกเขายังไม่ได้จ่ายให้พวกเรา” ไต้บอกกับ China Labour Bulletin เขาและคนอื่นๆ อีกกว่าสิบคนทำงานเป็นเวลาครึ่งเดือนเมื่อเดือน พ.ย. 2564 พวกเขาติดตั้งฉนวนภายนอกให้กับไซต์งานก่อสร้างอาคาร Jinlan Plaza ในอักซู เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อพวกเขาเรียกร้องค่าจ้างจากผู้รับเหมา พวกเขาแต่ละคนได้รับเงิน 3,000 หยวน จากยอดค้างจ้างทั้งหมด 9,000 หยวน 

แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างเล็กน้อยแต่ผู้รับเหมาก็ไม่สามารถจ่ายได้ กรณีของไต้และเพื่อนร่วมงานของเขาไดเเปิดเผยถึงความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ พสต์ออนไลน์ของไต้แสดงให้เห็นว่าการไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนและตรงเวลาส่งผลต่อการดำรงชีวิตของเขาและครอบครัวอย่างไร

“ผมอยู่ภายใต้ความกดดันมากมายทุกเดือน” ไต้ระบุเขียนระหว่างการขอความช่วยเหลือผ่านทางออนไลน์ เขาให้รายละเอียดว่าเขามีเงินกู้จำนองที่ต้องชำระ และมีสมาชิกครอบครัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ต้องเลี้ยงดู


ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

“เราได้รับสัญญาว่าเราจะได้รับค่าจ้างเมื่อเราทำเสร็จ” ไต้กล่าว เขาอธิบายว่าผู้รับเหมาช่วงที่เขาทำงานให้ด้วยนั้น “น่าเชื่อถือ” และกล่าวว่าพวกเขาเคยทำงานร่วมกันมาก่อน ปัญหาคือผู้รับเหมาช่วงรายนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินเช่นกัน

China Labour Bulletin ชี้ว่ากรณีของไต้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่คนทำงานก่อสร้างต้องเผชิญ ณ จุดปลายสุดของห่วงโซ่ที่ซับซ้อนตามสัญญารับเหมาก่อสร้างในจีน บ่อยครั้งที่คนทำงานไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้รับเหมาหลักของโครงการ แต่ทำงานให้กับผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง และส่วนใหญ่คนทำงานมักรับปากทำงานให้บนความไว้วางใจมากกว่าการลงนามในสัญญาจ้างงาน เมื่อผู้รับเหมาหลักซึ่งอยู่ในทอดแรกๆ ของสัญญาไม่จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาช่วงลำดับรองลงมา คนทำงานอาจไม่ได้รับเงินค่าจ้างเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี

นอกจากนี้ 'กฎระเบียบว่าด้วยการรับประกันการจ่ายค่าจ้างของแรงงานต่างถิ่น' มีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค. 2563 ควรจะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

มาตรา 28 ของข้อบังคับนี้กำหนดให้ผู้รับเหมาหลักและผู้รับเหมาช่วงต้องเซ็นสัญญากับแรงงานต่างถิ่นที่ได้รับคัดเลือกและลงทะเบียนชื่อจริงก่อนที่จะอนุญาตให้เข้าไปในไซต์ก่อสร้างเพื่อทำงาน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยยืนยันด้านข้อผูกมัดการจ้างงานและเป็นหลักฐานในการรับ-จ่ายค่าจ้าง

แต่ไต้บอกกับ China Labour Bulletin ว่าเขาและเพื่อนร่วมงานไม่ได้เซ็นสัญญานี้

ส่วนมาตรา 30 กำหนดว่าผู้รับเหมาหลักควรรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างหากผู้รับเหมาช่วงไม่จ่ายค่าจ้างให้แรงงาน โดยถือเป็นการกู้เงินและให้ผู้รับเหมาช่วงคืนให้ในภายหลัง

แต่ไต้และเพื่อนร่วมงานของเขากลับไม่ทราบข้อมูลชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับเหมาหลัก “นี่เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงมีผู้รับเหมาจำนวนมาก” ไต้กล่าว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในอาชีพคนทำงานก่อสร้างที่ไต้ได้รับค่าจ้างล่าช้า ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เขามักได้รับค่าจ้างล่าช้า 1-2 เดือน แต่สำหรับกรณีนี้การรอคอยถึง 7 เดือนเป็นสิ่งที่ผิดปกติ จากประสบการณ์ของเขาแสดงให้เห็นว่าคนทำงานก่อสร้างคุ้นเคยกับการรับเงินล่าช้า นอกจากนี้ คนทำงานมักจะจากไซต์งานหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อหางานทำต่อเนื่อง การทวงค่าจ้างค้างจ่ายจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

เมื่อถูกถามว่าสำนักงานแรงงานเคยเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ ไต้กล่าวว่า "เจ้าหน้าที่รัฐมีหลายวิธีที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้" เขาอธิบายว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่เต็มใจที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้รับเหมาที่อยู่ในห่วงโซ่ที่สูงขึ้น สำนักแรงงานอาจเรียกผู้รับเหมาแล้วบอกคนทำงานว่าควรเจรจา และพิจารณาว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่ราชการของตนแล้ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ สหภาพแรงงานควรเข้ามาร่วมแก้ปัญหาในกรณีที่มีค่าจ้างค้างชำระ ตามมาตรา 51 ของข้อบังคับระบุว่าสหภาพแรงงานควรกำกับดูแลการจ่ายค่าจ้าง สามารถขอให้นายจ้างดำเนินการและยื่นคำร้องต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สำนักงานแรงงาน เพื่อจัดการกับกรณีที่นายจ้างปฏิเสธการจ่ายค่าจ้าง

เมื่อ China Labour Bulletin ติดต่อเพื่อขอข้อมูลจากสหภาพแรงงานท้องถิ่นเขตอักซู ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนที่ปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากโรคระบาด ที่เหลือก็ทำงานที่บ้าน โดยมีการชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวไม่สามารถไปที่ไซต์งานได้ แต่ก็ได้รายงานกรณีของไต้ต่อผู้บริหารสหภาพแรงงานแล้ว


สหภาพแรงงานท้องถิ่นเขตอักซูจัดงาน "ร้องเพลงกับมวลชน" | ที่มาภาพ: เว็บไซต์สหพันธ์สหภาพแรงงานซินเจียง (อ้างใน China Labour Bulletin)

เมื่อเร็ว ๆ นี้สหภาพแรงงานท้องถิ่นได้โน้มน้าวให้บริษัทต่างๆ ลงนามในข้อตกลงร่วมที่รับประกันสิทธิของคนทำงาน แต่เห็นได้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้มีผลบวกเพียงเล็กน้อยในทางปฏิบัติ

แม้ไต้จะรู้เรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน แต่เขากลับไม่เคยเข้าร่วม เขาใช้วิธีโพสต์ออนไลน์ในการขอความช่วยเหลือเพราะเขาไม่เคยพบตัวแทนของสหภาพแรงงานที่สามารถจัดหาช่องทางปกป้องสิทธิของตนเองได้ กรณีของเขาแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่สหภาพแรงงานจะต้องปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้แล้ว และรับประกันว่าคนทำงานจะได้รับค่าจ้างตรงเวลา ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ คนทำงานที่เปราะบางมักจะเผชิญกับเคราะห์กรรมทำนองนี้มากที่สุด


ที่มา
Workers unable to recover even small sums from contractors amid property market freefall (China Labour Bulletin, 18 October 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net