Skip to main content
sharethis

สถานีโทรทัศน์แดนกิมจิ ‘MBC’ จ่อยื่นคำร้องต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ หลังประธานาธิบดี ‘ยุน ซอก-ยอล’ ออกคำสั่งห้ามผู้สื่อข่าวของสถานีขึ้นเครื่องบิน ‘Air Force 1’ ร่วมทำข่าวการประชุม G20 ชี้คำสั่งขัด รธน.-หลัก ปชต. ด้านสื่อนอกโยงเหตุ MBC เผยแพร่คลิปหลุด ปธน. ด่า ส.ส.สหรัฐฯ

 

12 พ.ย. 2565 สื่อเดอะดิโพลแมต (The Diplomat) และเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) รายงานว่า สถานีโทรทัศน์ MBC ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สถานีฟรีทีวียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้เตรียมยื่นคำร้องต่อสมาคมผู้สื่อข่าวแห่งเกาหลีใต้และสหภาพแรงงานสื่อแห่งชาติ รวมถึงองค์กรความร่วมมือผู้สื่อข่าวอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยกเลิกคำสั่งห้ามผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ MBC ขึ้นเครื่องบิน Air Force 1 ซึ่งเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อไปทำข่าวการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. 2565 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดย MBC ระบุว่าคำสั่งดังกล่าว ‘ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ และ ‘เป็นข้อบังคับที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การรายงานข่าว’ พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังกล่าวลาออกจากตำแหน่ง

แถลงการณ์ของ MBC ระบุว่า "เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีใช้เงินภาษีประชาชนในการบริหารจัดการ และแต่ละสำนักข่าวต่างใช้เงินตัวเองเพื่อบริหารจัดการการรายงานข่าว ... การสังเกตการณ์และรายงานข่าวประธานาธิบดีในฐานะบุคคลสาธารณะว่าปฏิบัติหน้าที่และแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไรถือเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เราไม่อาจอดทนอดกลั้นความรู้สึกประหลาดใจที่ทำเนียบประธานาธิบดีแสดงออกถึงความสับสนระหว่างการใช้เครื่องบินประจำตำแหน่งและการใช้ทรัพย์สินส่วนตัวของผู้สื่อข่าว รวมถึง [ประหลาดใจ] ที่ทำเนียบประธานาธิบดีมองว่าการกระทำของยุนซอก-ยอล เป็นงานการกุศลในฐานะบุคคลทั่วไป"

ยุนซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ที่มา: Republic of Korea)

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวโคเรียจุงอังเดลี (Korea JoongAng Daily) รายงานว่า ทำเนียบประธานาธิบดีแจ้งว่าผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ MBC ถูกห้ามขึ้นเครื่องบินเจ็ตประจำตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากการนำเสนอข่าวที่ ‘บิดเบือนและมีอคติ’ พร้อมระบุในแถลงการณ์ว่า “เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีมีไว้เพื่อการอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุมด้านการทูตและความมั่นคง” ทั้งยังระบุว่าการรายงานข่าวครั้งล่าสุดของ MBC นั้นส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูต จึงตัดสินใจห้ามผู้สื่อข่าวจากสถานีดังกล่าวขึ้นเครื่องบินร่วมกับประธานาธิบดี เพื่อไปทำข่าวการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 และการเยือนอาเซียนตลอด 6 วัน 

ต่อมาในวันที่ 10 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้ถามยุนซอก-ยอล ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยประธานาธิบดีตอบว่าการตัดสินใจเช่นนี้เป็นไปเพื่อ 'ผลประโยชน์แห่งชาติ'

"เงินภาษีประชาชนจำนวนมากถูกใช้ไปกับการเดินทางเยือนต่างประเทศของประธานาธิบดีเพราะผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญๆ นั้นตกอยู่ในความเสี่ยง เราจึงอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมเฉพาะด้านการทูตและความมั่นคง" ยุนซอก-ยอล กล่าว

อย่างไรก็ตาม โคเรียจุงอังเดลี รายงานเพิ่มเติมว่า การเดินทางของสื่อร่วมกับประธานาธิบดีเพื่อรายงานข่าวนั้น สื่อจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการบิน และการเดินทางอื่นๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งตรงกับที่ MBC กล่าวในแถลงการณ์ นอกจากนี้ เดอะวอชิงตันโพสต์ ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่าหนังสื่อพิมพ์ฮันกยอเร (Hankyoreh) และคย็องยางชินมุน (Kyungyang Shinmun) สมัครใจสละที่นั่งบนเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อร่วมประท้วงกับ MBC ต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยฮันกยอเร ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็น "ความพยายามที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการควบคุมสื่อ" และผู้สื่อข่าวของทั้งสองหนังสือพิมพ์จะเดินทางด้วยสายการบินพาณิชย์เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวของ MBC เพื่อไปรายงานข่าวในครั้งนี้

สำนักงานใหญ่ MBC เมื่อปี 2557 (ที่มา: wikicommon)

ด้านสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำกรุงโซล (Seoul FCC) ออกแถลงการณ์ระบุว่า "ข้อห้ามที่บังคับใช้กับสำนักข่าวเพียงแห่งเดียวที่รัฐบาลมองว่าเสนอข่าว 'บิดเบือน' นั้นสร้างความกังวลต่อเสรีภาพสื่อในภาพรวมทั้งสื่อในประเทศและสื่อต่างประเทศ" นอกจากนี้ ทางสมาคมยังเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติต่อสื่อทุกสำนัก "ด้วยหลักการเดียวกันในการเข้าถึงข้อมูล ไม่ว่าสื่อนั้นๆ จะมีจุดยืนหรือรูปแบบการนำเสนอข่าวสารไปในทิศทางใด"

ขณะเดียวกัน ส.ส.จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลีใต้ (DP) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในปัจจุบัน และมีที่นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ ไอซีที การออกอากาศ และการสื่อสารมวลชน ได้ออกมาประณามคำสั่งแบนสื่อของประธานาธิบดีและรุบว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลได้ออกมาตำหนิ MBC พร้อมแสดงความสนับสนุนยุนซอก-ยอล

ปมขัดแย้งระหว่างยุนซอก-ยอล และ MBC

เดอะวอชิงตันโพสต์ เดอะดิโพลแมต และโคเรียจุงอังเดลี ตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า คำสั่งห้ามผู้สื่อข่าว MBC ขึ้นเครื่องบิน Air Force 1 ในครั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่สถานีโทรทัศน์ MBC รายงานข่าวคลิปยุนซอก-ยอล ใช้คำหยาบเรียก ส.ส.สหรัฐฯ และกล่าวถึง ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คลิปดังกล่าวเป็นคลิปฟุตเทจบรรยากาศด้านนอกห้องประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ แถลงก่อนหน้านี้ว่าจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้นานาประเทศเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย จำนวน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 ซึ่งเกาหลีใต้จะได้รับเงินสนับสนุนส่วนนี้จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยช่วงหนึ่งของคลิปได้ยินเสียงยุนซอก-ยอล พูดเป็นภาษาเกาหลีว่า "ถ้าไxพวก ส.ส. หน้าโxไม่ยอมอนุมัติ...ไบเดน คงเสียหน้า"

ต่อมา โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้ออกมาแถลงว่า ยุนซอก-ยอล ไม่ได้ใช้คำหยาบพูดพาดพิง ส.ส.สหรัฐฯ หรือไบเดน แต่แสดงความกังวลถึง ส.ส.ฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ว่าอาจจะไม่อนุมัติให้รัฐบาลนำงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ มาใช้ และคำที่ MBC อ้างว่าประธานาธิบดีใช้เรียกชื่อ โจ ไบเดน เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะยุนซอก-ยอล กล่าวเป็นภาษาเกาหลีโดยใช้วลีที่แสดงออกถึงความรู้สึกเสียดาย ไม่ได้เรียกชื่อของโจ ไบเดน

โจ ไบเดน (ซ้าย) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และยุนซอก-ยอล (ขวา) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ที่มา: ทวิตเตอร์ Joe Biden)

หลังจากคลิปดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ยุนซอก-ยอล เดินทางกลับถึงเกาหลีใต้ พร้อมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การรายข่าวเช่นนี้ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะเป็นการทำลายความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรด้วยการให้ข้อมูลที่ต่างไปจากข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้กล่าวถึงการใช้คำหยาบเรียก ส.ส.ฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ ตามคำแถลงของโฆษกฯ ก่อนหน้านี้
เสรีภาพสื่อในยุคผู้นำเกาหลีใต้คนก่อนหน้า

ในปี 2563 อดีตประธานาธิบดี 'มุนแจอิน' จากฝ่ายเสรีนิยม เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ หลังจากที่สมาชิกพรรครัฐบาลโจมตีผู้สื่อข่าวสัญชาติเกาหลีใต้ประจำสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เพราะผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวรายงานข่าวเกี่ยวกับนโยบายสันติภาพระหว่างสองเกาหลีของมุนแจอิน และเรียกมุนแจอินว่าเป็น ‘โฆษกแนวหน้า’ ในสหประชาชาติให้กับ 'คิมจองอึน' ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งการโจมตีดังกล่าวส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี ‘พัคกึนเฮ’ อัยการเกาหลีใต้ยื่นฟ้องผู้ข่าวสัญชาติญี่ปุ่นในข้อหาหมิ่นประมาทพัคกึนเฮ ด้วยการใช้ถ้อยคำลามกและปล่อยข่าวลือเรื่องที่อยู่ของเธอในวันเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเรือเซวอลล่ม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 ศพ

นอกจากนี้ อดีตประธานาธิบดี 'อีมย็องบัก' ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2551-2556 เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกรณีที่มีการจับกุมนักเขียนบล็อกผู้มีแนวคิดตรงข้ามกับรัฐบาล อีกทั้งอีมย็องบักยังถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจควบคุมเครือข่ายสำนักข่าวใหญ่เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงของตนด้วยการให้ผู้สนับสนุนของตนเข้าไปเป็นผู้บริหาร และเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์จำนวนไม่มากที่อนุมัติโดยรัฐบาล

ประสานเสียงคำสั่ง ปธน.ยุน ขัดหลักประชาธิปไตย

สำนักข่าวโคเรียเฮรัลด์ (Korea Herald) เผยแพร่บทสัมภาษณ์นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น คังยอนกน (Kang Youn-gon) ศาสตราจารย์ประจำคณะสื่อสารมวลชนแห่งมหาวิทยาลัยชุงอัง กล่าวว่า การตัดสินใจออกคำสั่งในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของรัฐบาต่อการรายงานข่าวและการทำหน้าที่ของสื่อ โดยเขาระบุว่า "นักข่าวควรแสดงจุดยืนในเรื่องนี้" พร้อมยกตัวอย่างกรณีพิพาทระหว่าง CNN สำนักข่าวสัญชาติอเมริกัน และทำเนียบขาวในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจาก CNN ถูกทรัมป์สั่งห้ามทำข่าวในทำเนียบเมื่อปี 2561 Fox News ซึ่งเป็นสื่อที่มีจุดยืนสนับสนุนทรัมป์ ออกแถลงการณ์สนับสนุน CNN เพราะการที่รัฐใช้อำนาจปิดกั้นสื่อ เท่ากับการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตย

ชินโฮชาง (Shin Ho-chang) ศาสตราจารย์จากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยโซกัง เปิดเผยว่าเขารู้สึกกังวลว่า คำสั่งนี้จะทำให้สื่ออื่นๆ ที่ได้ร่วมขึ้นเครื่องบินเดินทางไปกับประธานาธิบดีเพื่อทำข่าวการประชุม G20 ไม่กล้ารายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา พร้อมระบุว่าการกระทำเช่นนี้เป็นวิธีที่ไม่น่าพิสมัยที่สุดในด้านความสัมพันธ์สื่อ

ด้านนักวิจารณ์การเมืองของเกาหลีใต้หลายคนกล่าวในทำนองเดียวกันว่า การออกคำสั่งแบนสื่อเช่นนี้เป็นกลวิธีที่ไร้ประโยชน์ เพราะข้อถกเถียงเรื่องการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม [ของประธานาธิบดี] จะถูกนำกลับมากล่าวถึงอีกครั้ง และอาจเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งในอนาคต ขณะที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายคนที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ต่างแสดงความคิดเห็นด้วยท่าทีเดียวกันว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชาญฉลาด ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย รวมถึงอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ในฐานะประเทศที่มีเสรีภาพสื่อค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย


แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net