Skip to main content
sharethis

เสมสิกขาลัย (SEM) เปิดรายงาน “แรงงานทวาย: ชีวิต ตัวตน และการประกอบร่างความฝัน” แรงงานเพื่อนบ้านชาวทวายที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดไผ่ตัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งทำความเข้าใจวิถีชีวิต ความพยามในการสร้างตัวตน และความฝันของแรงงานทวายจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

3 ธ.ค. 2565 เสมสิกขาลัย (Spirit in Education Movement - SEM) เปิดรายงาน “แรงงานทวาย: ชีวิต ตัวตน และการประกอบร่างความฝัน” มุ่งทำความเข้าใจวิถีชีวิต ความพยามในการสร้างตัวตน ของแรงงานเพื่อนบ้านชาวทวายที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดไผ่ตัน ในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

เสมสิกขาลัย ระบุว่า แรงงานทวายถือเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาหางานทำและสร้างเนื้อตัวไปจนถึงปักหลักชั่วคราวในไทยด้วยเหตุผลจากความยากจนข้นแค้นและภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ รวมทั้งค่าจ้างที่ตกต่ำอย่างมากไม่ต่างจากแรงงานชาวเมียนมากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นผลพวงจากการบริหารประเทศของคณะเผด็จการทหารเมียนมาที่ยาวนานซึ่งรวบอำนาจการปกครองประเทศและพรากความเป็นประชาธิปไตยไปจากพวกเขามายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ

นอกจากนั้นแล้วการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนเนื่องด้วยเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ในปี 2531 (1988) และการล้มการเลือกตั้งในปี 2553 (1990) ที่ส่งผลให้เมียนมาถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเหมารวมโดยการกีดกันและตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดการค้าสำคัญของโลก

แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเมียนมาจะสามารถปฏิรูปไปสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยได้สำเร็จ แต่กระบวนการประชาธิปไตยก็กลับมาถูกตัดตอนโดยการรัฐประหารที่ทำให้สภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจกลับหวนคืนสู่การปกครองภายใต้กองทัพอีกครั้ง จึงส่งผลให้แรงงานเพื่อนบ้านชาวเมียนมาจากทั่วทุกมุมโลกที่มีความหวังและความฝันในการสร้างชาติและกลับไปลงหลักปักฐานในประเทศบ้านเกิดเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ที่แย่ไปกว่านั้นเมียนมาและไทยเองก็ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งในทางสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้แรงงานเพื่อนบ้านชาวเมียนมา รวมถึงแรงงานชาวทวายต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่มั่นคงอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตในต่างแดน

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม

รายงาน “แรงงานทวาย: ชีวิต ตัวตน และการประกอบร่างความฝัน” ฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจและศึกษาวิถีและชีวิต รวมถึงความพยามในการสร้างตัวตนและการดำเนินรอยตามความตั้งใจและเป้าหมายชีวิตในการมีอนาคตที่ดีกว่าการมีสถานะเป็นแรงงานเพื่อนบ้านของแรงงานชาวทวายที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดไผ่ตัน ในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จำนวน 17 คน เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนแรงงานชาวทวายในพื้นที่ดังกล่าว โดยเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม การสัมภาษณ์เชิงลึกและการร่วมกิจกรรมการอบรมของเสมสิกขาลัย มาวิเคราะห์และเรียบเรียงเพื่อให้อย่างน้อยที่สุดรายงานฉบับนี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ฉบับย่อของคนที่ถูกรัฐมองข้ามและถูกกระทำว่าเป็นคนอื่นในเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์แห่งชาติภายใต้เหตุการณ์ปัจจุบันที่สำคัญที่สุดในทางประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์หลัก หนึ่ง การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และ สอง การรัฐประหารในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net