Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (CSIS) ในวอชิงตัน จำลองเกม 'จีนบุกไต้หวัน' พบไต้หวันชนะเป็นส่วนใหญ่ เงื่อนไขสำคัญที่สุดของการชนะคือไต้หวันจะต้องไม่ถอดใจ ก่อนการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรจะมาถึง แนะสหรัฐอเมริกาไม่ควรช่วยเหลือครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นชัยชนะที่ตนเองเจ็บหนักไม่ต่างจากผู้แพ้

 

13 ม.ค. 2566 รายงานของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (CSIS) ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 ม.ค. 2566) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาธารณะชนได้รับข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้านและถกเถียงประเด็นไต้หวันได้แหลมคมขึ้น ผ่านข้อมูลจำลองสถานการณ์ที่จีนบุกไต้หวันในภาพรวมอย่างเป็นระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาการวิเคราะห์มักถูกปิดเป็นความลับหรือเผยแพร่เพียงบางแง่มุม

เกมในท้องตลาด เช่น Next War: Taiwan แม้จะผ่านการค้นคว้าข้อมูลมาเป็นอย่างดี และมีประโยชน์ในการทำความเข้าใจสถานการณ์จริงในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความบันเทิง ไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยตรงได้

ไต้หวันมีโอกาสชนะสูง

จากการจำลองสถานการณ์ในรูปแบบเกม และเปิดให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้เข้าเล่นผ่านบทบาทสมมติ โดยแสดงบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนสำคัญในสถานการณ์บุกไต้หวันทั้งหมด 24 ครั้ง พบว่าการรุกรานจะเริ่มขึ้นแบบเดิมเสมอ คือจีนทำการระดมทิ้งระเบิดเพื่อโจมตีกองทัพเรือและกองทัพอากาศของไต้หวัน

จากนั้นจีนจะทำการปิดล้อมไต้หวันเพื่อป้องกันไม่ให้เรือและเครื่องบินสามารถเข้าถึงบริเวณเกาะได้ ตามด้วยการส่งไพร่พลหลายหมื่นคนผ่านช่องแคบ โดยใช้พาหนะสะเทินน้ำสะเทินบกของทหาร และเรือบรรทุกรถยนต์ของพลเรือน

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด ปฏิบัติการรุกรานไต้หวันของจีนจะล่มลงอย่างรวดเร็ว แม้จีนจะกระหน่ำทิ้งระเบิดลงมา กองกำลังภาคพื้นดินของไต้หวันก็ยังคงหลั่งไหลไปยังหัวหาด ขณะที่จีนยังคงเผชิญข้อจำกัดในการลำเลียงเสบียงและยกพลขึ้นฝั่ง

ขณะเดียวกัน เรือดำนำ เครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินต่อสู้อากาศยานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบางครั้งสนธิกำลังกับกองกำลังปกป้องตนเองของญี่ปุ่น ก็เข้ามาโจมตีขบวนยกพลขึ้นฝั่งของจีน จีนพยายามโจมตีฐานทัพของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาแต่ไม่เป็นผล สุดท้ายแล้วไต้หวันก็ยังปกป้องตนเองได้สำเร็จ

สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดคือไต้หวันจะต้องต่อต้านการรุกรานของจีน และไม่ถอดใจไปเสียก่อน หากไต้หวันยอมแพ้กองที่กองกำลังของสหรัฐอเมริกาจะเข้าร่วมสมรภูมิแล้ว  ไม่ว่าความช่วยเหลือจะมาในรูปแบบใดย่อมเป็นการเปล่าประโยชน์

ลดความเสียหาย

รายงานฉบับนี้พูดถึงแนวคิดเรื่องการเป็นฝ่ายชนะแต่เจ็บหนักไม่ต่างจากผู้แพ้ หรือสร้างความเสียหายในระยะยาว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pyrrhic Victory มาจากเหตุการณ์ในอดีตที่กษัตริย์พีริกของอิพิรัสสามารถชนะจักรวรรดิโรมันได้ แต่สูญเสียไพร่พลไปจำนวนมากจนเกิดคำถามว่าคุ้มแก่การต่อสู้หรือไม่

แนวคิดนี้ถูกนำมาพูดถึงในการรุกรานไต้หวัน กล่าวคือต่อให้สามารถป้องกันไต้หวันเอาไว้ได้ ต้นทุนที่ต้องจ่ายก็สูงมาก สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจะสูญเสียเรือรบหลายสิบลำ เครื่องบินกว่าหลายร้อยลำ และสูญเสียไพร่พลกว่าหลายพันคน ความสูญเสียเหล่านี้อาจส่งผลต่อสถานะทางอำนาจของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกไปอีกหลายปี 

แม้ไต้หวันจะป้องกันตนเองไว้ได้ แต่ความสามารถของกองทัพก็จะลดลงอย่างมาก เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก บนไต้หวันจะไม่มีไฟฟ้าและสาธารณูปการพื้นฐาน จีนก็จะได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน กองทัพเรือจะอยู่ในสภาพดูไม่ได้ กองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกจะชำรุดจนถึงแก่น ไพร่พลจะเป็นเชลยนับหมื่นคน​ จนการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์​จีนสั่นคลอน

เพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด ศูนย์วิจัยแนะนำว่าสหรัฐ ฯ ควรเตรียมพร้อมหลายด้าน เช่น การพูดคุยแผนการรบกับพันธมิตรให้ชัดเจน การหลีกเลี่ยงที่จะจู่โจมหรือล่วงล้ำเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ การเตรียมใจกับการสูญเสียไพร่พล การขยายฐานทัพอากาศในญี่ปุ่นและกวม การคุ้มกันเครื่องบินรบไม่ให้ถูกโจมตีก่อนขึ้นบิน เป็นต้น

4 กุญแจสำคัญในการปกป้องไต้หวัน

เงื่อนไขสำคัญสำหรับชัยชนะของไต้หวันมี 4 ประการด้วยกัน ประการแรกคือไต้หวันจะต้องไม่ถอดใจในการป้องกันตนเอง ศูนย์วิจัยแนะว่าไต้หวันควรเสริมกำลังในกองกำลังภาคพื้นดินเป็นหลัก เพื่อคุ้มกันหัวหาดและโจมตีตอบโต้เมื่อระบบการนำส่งไพร่พลและเสบียงของจีนอ่อนกำลัง

กองกำลังภาคพื้นดินของไต้หวันยังมีจุดอ่อนร้ายแรงหลายอย่าง ไต้หวันจะต้องยกระดับให้กองกำลังภาคพื้นดินเป็นศูนย์กลางการป้องกันประเทศ โดยเพิ่มปริมาณกำลังพลและทำการฝึกซ้อมแบบผสมเหล่าอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมา ไต้หวันอ้างว่าตนเองใช้ "ยุทธศาสตร์แบบเม่น" ในการป้องกันประเทศ ทว่าในความเป็นจริงยังคงไม่เป็นเช่นนั้น

ไต้หวันคงใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับเรือรบและเครื่องบินราคาแพง ซึ่งจีนสามารถทำลายได้ทิ้งได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นการดีกว่า หากไต้หวันหันไปลงทุนกับอาวุธขนาดเล็กเคลื่อนที่เร็วและซุกซ่อนได้ง่าย เช่น จรวดสติงเกอร์และจรวดเจเวลินแบบพกพา เพื่อสร้างความได้เปรียบในภาวะไพร่พลและทรัพยากรน้อยกว่าจีน

ประการที่ต่อมา ขณะที่ในกรณีของยูเครน สหรัฐอเมริกาและนาโต้ยังส่งอาวุธจำนวนมหาศาลไปให้ยูเครนได้ โดยไม่ต้องส่งไพร่พลเข้าไป กรณีของไต้หวันต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะจีนสามารถปิดล้อมไต้หวันได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน 

สหรัฐ ฯ ต้องร่วมมือกับไต้หวันในการส่งอาวุธที่จำเป็นไปยังไต้หวันในยามสงบ และต้องเข้ามีส่วนร่วมในการรบโดยตรงในยามสงคราม หากสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือล่าช้าและครึ่ง ๆ กลาง ๆ สถานการณ์จะยากขึ้น สหรัฐ ฯ จะได้รับความเสียหายมากขึ้น จีนลำเลียงกำลังเข้าไปได้มากขึ้น และเสี่ยงนำไปสู่การยกระดับความขัดแย้งกับจีน

ประการที่สาม สหรัฐ ฯ จะต้องสามารถใช้ฐานทัพในญี่ปุ่นเพื่อปฏิบัติการรบได้ แม้พันธมิตรประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลียและเกาหลีไต้จะมีความสำคัญในการแข่งขันกับจีนในภาพใหญ่ และอาจบทบาทในการป้องกันไต้หวัน แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด

หากสหรัฐ ฯ ไม่สามารถใช้ฐานทัพในญี่ปุ่นได้ เครื่องบินจู่โจมและต่อสู้อากาศยานของสหรัฐ ฯ จะไม่สามารถเข้าร่วมสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ศูนย์วิจัยจึงแนะนำว่าสหรัฐ ฯ ควรกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและการทหารกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับการรุกรานไต้หวัน

ประการสุดท้าย สหรัฐ ฯ จะต้องสามารถกระหน่ำโจมตีฝูงเรือของจีนได้อย่างรวดเร็วจากด้านพื้นที่ด้านนอกเขตคุ้มกันของจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจมฝูงเรือของจีน กองทัพสหรัฐ ฯ ควรเพิ่มจำนวนจรวดร่อนต่อต้านเรือวิสัยไกลไว้ในคลังแสง

การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อสะกัดฝูงเรือจีน และการใช้จรวดพิฆาตเรือรบ เป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุดในการเอาชนะการรุกรานของจีน และช่วยให้สหรัฐ ฯ ลดความสูญเสียได้มากที่สุด นอกจากจะจมฝูงเรือของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยให้สหรัฐ ฯ ไม่ต้องเสี่ยงล่วงล้ำเข้าไปในเขตน่านน้ำของจีนด้วย

หลีกเลี่ยงได้หรือไม่

รายงานฉบับนี้ของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศเกิดขึ้นจากความกังวลในช่วงที่ผ่านมาว่า จีนอาจบุกไต้หวัน เพราะผู้นำจีนแสดงความต้องการในการผนวกรวมกับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง และระบุว่าจะไม่ตัดทางเลือกในการใช้กำลังเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น การรุกรานไต้หวันจึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลเกินจริงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ระบุหมายเหตุเอาไว้ว่า การรุกรานไต้หวันของจีนไม่ได้จำเป็นต้องเกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเสมอไป ขณะเดียวกัน รายงานฉบับนี้ก็ไม่ได้ศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น โอกาสที่จีนอาจทำเพียงการปิดล้อม หรือใช้อุบายทางการเมืองรูปแบบอื่น แต่ไม่ได้รุกรานไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบ

สิ่งที่ไม่ได้อยู่ขอบเขตการศึกษาของรายงานชิ้นนี้เช่นกัน คือคำตอบต่อคำถามที่ว่าเมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้กับผลเสียแล้ว สหรัฐอเมริกาควรให้ความคุ้มครองแก่ไต้หวันหรือไม่ และหลักเกณฑ์ในการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียของการให้ความคุ้มครองแก่ไต้หวันควรเป็นอย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นไต้หวันเป็นหนึ่งในปมความขัดแย้งที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ระบุเอาไว้ว่าเนื้อหาในรายงานไม่ใช่ "คำพยากรณ์" เป็นเพียงการจำลองสถานการณ์และการวิเคราะห์แบบหนึ่งเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเตรียมพร้อม​เท่านั้น

 

 

เรียบเรียงจาก

The First Battle of the Next War Wargaming a Chinese Invasion of Taiwan

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net