Skip to main content
sharethis

'พรรคสามัญชน' ออกแถลงการณ์ต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ยืนยันยกเลิก ม.112 และกฎหมายอื่นที่ถูกใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

21 ม.ค. 2566 เพจพรรคสามัญชน เผยแพร่ 'แถลงการณ์พรรคสามัญชนต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง' ความว่า

จากรณีที่ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ ภู่พงศ์ สองนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อสังคมเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา 3 ประการ ได้แก่

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116

และเพื่อแสดงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ “ตะวัน” และ “แบม” ขอถอนประกันตนเองในคดีที่ทั้งสองถูกกล่าวหาในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการตั้งคำถามถึง “ความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จฯ” ทำให้ทั้งสองถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2566

“ตะวัน” และ “แบม” ตัดสินใจยกระดับการต่อสู้ในเรือนจำด้วยการ “อดอาหารและน้ำ” มาตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 โดยเข้าใจดีว่านั่นหมายถึงการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

พรรคสามัญชนขอแสดงความคารวะในอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่ต้องการให้สังคมที่ดีมาถึง และพรรคสามัญชนในฐานะพรรคการเมืองขอตอบรับข้อเรียกร้องทั้งหมด[a] อันสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคอันได้แก่ ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน เท่าเทียมเป็นธรรม

พรรคสามัญชนขอสนับสนุนข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ด้วยว่าอำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของ “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจตุลาการเป็น “ชิ้นส่วน” ที่มีความสำคัญ ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจกับอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร

หากการถ่วงดุลอำนาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะยังผลให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองรองรับ

ทว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมไทยนั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจใดมานำหรือไม่ก็ตาม ได้ดำเนินการอย่างไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้วิญญูชนผู้มีสามัญสำนึกได้เคลือบแคลงสงสัยถึงความเป็นกลางมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก

พรรคสามัญชนขอสนับสนุนข้อเรียกร้องข้อที่ 2 ให้รัฐยุติการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพไม่สามารถถูกจำกัดได้ แม้แต่ในภาวะที่รัฐตกอยู่ในอันตรายก็ตาม

การดำเนินคดีต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองนั้นไม่ต่างอะไรกับการดำเนินคดีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไปคูหาเลือกตั้ง แล้วกากบาทบัตรเลือกตั้ง เพื่อเลือกผู้แทนของตน ดังนั้นการดำเนินคดีต่อผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก คดีความทั้งหมดจะต้องยุติ และประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจะต้องได้รับการเยียวยา

สำหรับข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ให้พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116 นั้นพรรคสามัญชนขอใช้โอกาสนี้ยืนยันอีกครั้งว่า พรรคสามัญชนยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนในการ #ยกเลิก112 และกฎหมายอื่นที่ถูกใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ไม่เพียงแต่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 เท่านั้นที่ต้องถูกยกเลิกและแก้ไข เพื่อการนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.คอมพวิเตอร์, กฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหาร, กฎกระทรวงฯ แม้กระทั่งกฎในสถานที่ราชการหรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะต้องได้รับการยกเลิกหรือแก้ไขเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองอย่างแท้จริง

พรรคสามัญชนขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนประชาชนทุกท่านมาร่วมกันการผลักดันข้อเรียกร้องข้างต้น รวมถึงข้อเรียกร้องทั้งหลายตลอดการต่อสู้ทางการเมืองในระยะที่ผ่านมา ด้วยการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

พรรคสามัญชนยังขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทั้งหลายที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ให้รับฟังข้อเรียกร้องของผู้สนับสนุนพรรคของท่าน และร่วมกันผลักดันข้อเรียกร้องเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม โดยใช้กระบวนการรัฐสภาในการแก้กฎหมาย

ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ใช่การร้องขอความเมตตากรุณาธิคุณหรือความเห็นอกเห็นใจแต่อย่างใด แต่เป็นการยืนยันหลักการทางกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนว่า มนุษย์ทุกคนต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เพื่อมีส่วนร่วมทางการเมือง ร่วมกำหนดกฎเกณฑ์และจัดสรรทรัพยากรของสังคมที่ตนต้องใช้ชีวิตอยู่

และเมื่อถูกกล่าวหาดำเนินคดี ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องได้รับสิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ความยุติธรรม”

ด้วยความเคารพ
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
หัวหน้าพรรคสามัญชน
21 ม.ค. 2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net