Skip to main content
sharethis

'เซียมัก นามาซี' นักธุรกิจสัญชาติอิหร่าน-อเมริกัน หยุดอดอาหารประท้วงแล้ว หลังครบกำหนด 1 สัปดาห์ตามที่สัญญาไว้ เขาเพียงต้องการให้สาธารณชนช่วยกดดันรัฐบาลของโจ ไบเดน ไม่ให้ลืมนักโทษอเมริกันในอิหร่าน  หลังอยู่ในเรือนจำอิหร่านมา 7 ปีเต็ม ด้านทางการสหรัฐฯ ระบุกำลังพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ในการยุติการอดอาหารประท้วง นามาซีเขียนแถลงว่า  "ผมทำการอดอาหารประท้วง เพราะผมเพิ่งรับรู้อย่างเจ็บปวดว่า ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาพึ่งพาปรอทวัดอุณหภูมิทางการเมืองมากกว่าเข็มทิศทางศีลธรรม เวลาตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเจรจาปล่อยตัวนักโทษกับอิหร่านหรือไม่ หรือที่จริงแล้วคือเลือกว่าจะช่วยให้ใครได้รับการปล่อยตัวบ้าง"

"ผมปฏิเสธไม่รับอาหาร เป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม เผื่อว่าบางทีประธานาธิบดีไบเดนจะตระหนัก ว่าสถานการณ์ของตัวประกันชาวอเมริกันที่นี่น่าสิ้นหวังเพียงใด เผื่อเขาจะตระหนักว่าเราทรมานมามากเกินพอและนานเกินพอแล้ว และถึงเวลาทำตามที่พูดแล้วว่า การปล่อยตัวพวกเราเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อนสำหรับรัฐบาลสหรัฐ โดยตัดสินใจในเรื่องที่ไม่ง่ายแต่จำเป็นเพื่อพาพวกเรากลับบ้าน พวกเราทุกๆ คน"

จาเรด เกนเซอร์ ทนายความของนามาซี ระบุในอีเมลว่า "เขาน้ำหนักลดลงประมาณ10 ปอนด์ และความดันโลหิตสูงกว่าปกติ" และ "ตลอดสัปดาห์ เขายังประสบปัญหาพลังงานตก ความสามารถในการเพ่งสมาธิลดลง และประสบปัญหาในการรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่น" 

นามาซี ระบุในแถลงการณ์ว่า เขาและนักโทษอเมริกันอีกสองคนในอิหร่าน ได้แก่ มอราด ทาห์บาซ และอีมาด ชาร์กี รู้สึกทราบซึ้งอย่างมาก "ต่อการแสดงความเห็นอกเห็นใจ ที่คุณมอบให้เราอย่างมากมาย ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา" ที่เขาทำการอดอาหาร

"กระแสการนำเสนอข่าว ช่วยให้ผมมีพละกำลังในการสู้ต่อ ในช่วงที่ร่างกายของผมอ่อนแอที่สุด มันช่วยเพิ่มกำลังใจให้เรา และทำให้เรามีหวังกลับมาอีกครั้ง" นามาซี ระบุ "ได้โปรดสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับชะตากรรมของเราต่อไป และอย่าชินชากับการเป็นตัวประกันอิหร่านของเรา อย่าให้ประธานาธิบดีไบเดนทิ้งเราอยู่ในนรกแห่งความโศกเศร้าแห่งนี้เลย" 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกของสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุว่า รัฐบาลของไบเดนยังคง "มุ่งมั่นในการทวงคืนเสรีภาพของเซียมัก นามาซี และเรากำลังดำเนินการเพื่อนำตัวเขากลับบ้าน พร้อมกับพลเมืองอเมริกันที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างไม่เป็นธรรมในอิหร่านอย่างไม่ย่อท้อ รวมถึง อีมาด ชาร์กี และโมราด ทาห์บาซ ด้วย"

โฆษกระบุอีกว่าเป็นเรื่อง "น่าโกรธมาก" ที่อิหร่านกักขังพลเมืองสัญชาติอเมริกัน เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง และ "สำหรับเราสิ่งที่มาก่อนคือการนำพลเมืองที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวกลับบ้านอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด และหาคำตอบในคดีพลเมืองอเมริกันที่สูญหายและถูกลักพาตัวด้วย"

ขณะนี้ สหรัฐอเมริกาไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลอิหร่านนับตั้งแต่การปฏิวัติใน ค.ศ. 1979 และความขัดแย้งระหว่างเตหะรานและประเทศตะวันตกก็ย่ำแย่ลง หลังรัฐบาลเตหะรานปราบปรามการประท้วงในอิหร่านและสั่งประหารผู้ประท้วงการแขวนคอไปแล้ว 4 คน

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ได้ทำการคว่ำบาตรบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามผู้ประท้วงโดยใช้ความรุนแรงในอิหร่าน หลังเกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นจากปมการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี ขณะอยู่ในการควบคุมของตำรวจศาสนา

ในประเด็นการปราบปรามผู้เห็นต่าง นามาซีระบุในแถลงการณ์ยุติการอดอาหาร ขอให้สาธารณชนอย่าลืมว่า "มีคนอื่นๆ อีกมากมายกำลังร่วงโรยอยู่ในเรือนจำอย่างไม่เป็นธรรมไปพร้อมกับผม" และ "ทุกคนที่นี่ที่ความผิดเพียงอย่างเดียวคือการแสดงความเห็นและเรียกร้องสิทธิและการปกครองของกฎหมาย ควรได้รับความสนใจและความเคารพจากเรา" 

"ผมต้องการมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปยังนักโทษการเมืองที่ไม่ยอมแพ้ในฝั่งเรือนจำหญิง เช่นเดียวกับนอกเรือนจำ ภายในกำแพงเรือนจำ ผู้หญิงผู้ไม่เกรงกลัวเหล่านี้พบเผชิญกับข้อจำกัดมากกว่าผู้ชายหลายเท่า แต่กลับแสดงความกล้าหาญในแบบที่เราพูดตรงๆ ว่าไม่กล้าทำ พวกเธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราอย่างแท้จริง"

'เซียมัก นามาซี' ประกาศอดอาหารตั้งแต่วันที่ 16-23 ม.ค. 2566 เพื่อรำลึกการอยู่ในเรือนจำอิหร่านครบ 7 ปี ในจดหมายที่เขาเขียนถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน เขาขอเพียงให้ประธานาธิบดีคิดถึงความทุกข์ยากของนักโทษอเมริกันในอิหร่านวันละ 1 นาที เป็นเวลา 7 วันในช่วงที่เขาอดอาหาร แลกกับ 7 ปีที่เขาเสียไปในเรือนจำเอวิน จากความล้มเหลวในการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 

เซียมัก นามาซี คือใคร


'เซียมัก นามาซี' นักธุรกิจสัญชาติอิหร่าน-อเมริกัน | ที่มาภาพ: Free Siamak and Baquer Namazi

'เซียมัก นามาซี' เป็นพลเมืองสัญชาติอิหร่านและอเมริกัน ย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็ก หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เขากลับไปเกณฑ์ทหารในอิหร่านตามกฎหมาย และทำงานให้กับกระทรวงการเคหะและการวางผังเมืองได้สองปี ก่อนผันตัวมาทำบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันในดูไบ และเป็นนักวิจัยนโยบายสาธารณะให้กับศูนย์วิจัยวูดโรว์ วิลสันในสหรัฐอเมริกา

เขาเคยแสดงความคิดเห็นว่าชาวอิหร่าน-อเมริกัน ควรเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านยอมรับบุคคล 2 สัญชาติ และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรอิหร่านของชาติตะวันตก หลังถูกควบคุมตัวโดยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามในปี 2556 ระหว่างเดินทางมาเยี่ยมสมาชิกครอบครัวในเตหะราน เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในข้อหาสมรู้ร่วมคิดรัฐบาลต่างชาติ โดยไม่ได้รับโอกาสให้ปรึกษาทนายความ ปัจจุบันเขาอยู่ในเรือนจำเอวิน ซึ่งใช้ขังนักโทษการเมืองในเตหะราน

บาเคียร์ นามาซี บิดาของเขา ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการในช่วงก่อนการปฏิวัติอิหร่าน ถูกจับกุมหลังเดินทางมาช่วยติดตามคดีของบุตรชาย และถูกสั่งจำคุก 10 ปีเช่นกัน ต่อมาได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 1 ต.ค. 2565 ขณะอายุ 85 ปี ทางการอิหร่านอ้างว่าอนุญาตให้เขาออกไปรักษาตัวในต่างประเทศ ในช่วงเดียวกับที่เกิดการประท้วงใหญ่ คาดกันว่ารัฐบาลอเมริกันยกเลิกการแช่แข็งทรัพย์สินของอิหร่านกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับการประกันตัวครั้งนี้ แต่รัฐบาลสหรัฐ ฯ ปฏิเสธความเชื่อมโยงดังกล่าว

เซียมัก นามาซี ได้รับอนุญาตให้พักโทษชั่วคราว และออกจากเรือนจำมาพร้อมกับบิดา อย่างไรก็ตาม กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามทำการจับตัวเขาเข้าเรือนจำอีกครั้ง โดยอ้างว่าไม่อนุญาตให้ขยายเวลาพักโทษต่อแล้ว ทางการอิหร่านถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และสมาชิกครอบครัวนามาซี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่เป็นบุคคลสองสัญชาติในอิหร่าน แต่ยังไม่นำพาไปสู่การปล่อยตัวแต่อย่างใด

เซียมัก นามาซี เคยมีความหวังว่าจะได้รับปล่อยตัวในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อนักโทษสัญชาติอเมริกันได้รับการปล่อยตัว 4 ราย ในปี 2559 ภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวนักโทษกับอิหร่าน แต่นามาซีกลับไม่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนั้น ทางการสหรัฐอเมริกาสัญญาว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวในอีกไม่กี่สัปดาห์ แต่เวลากลับล่วงเลยมากว่า 2 รัฐบาล  

ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและโลกตะวันตกยกระดับขึ้น สภายุโรปได้ลงมติเสนอแนะให้ขึ้นบัญชีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้จับกุมเซียมัก นามาซี และอยู่เบื้องหลังความรุนแรงทางการเมืองหลายเหตุการณ์ เป็นองค์กรก่อการร้ายในวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา แม้คณะมนตรียุโรปซึ่งมีอำนาจชี้ขาดยังตัดสินใจไม่ดำเนินการตามข้อเสนอในขณะนี้ แต่ก็ได้มีการยกระดับการคว่ำบาตรต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบเผด็จการในอิหร่าน


แปลและเรียบเรียงจาก
American detained in Iran ends week-long hunger strike
U.S. detainee in Iran Siamak Namazi on hunger strike
Dual Nationals and Foreigners Held in Iran
Iran condemns EU vote over ‘terrorist’ designation for IRGC

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net