Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการ ม.รังสิต เผยผลสำควจความเห็นต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด ของคนกรุงเทพฯ พบ 62.8% สนับสนุนให้มีการเลือกทุกจังหวัด ระบุผู้ว่าฯแต่งตั้งคือตัวแทนการรวมศูนย์อำนาจของรัฐเผด็จการ แถมเป็นคนรอคอยเกษียณอายุราชการ และเป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่งมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ เป็นต้น

 

20 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 17 ก.พ.ที่ผ่ามา เฟซบุ๊ก 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) เก็บแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน กับข้อคำถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย” 

ผลการวิจัยพบว่า

1. คนกรุงเทพฯ เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย จำนวน 754 คน คิดเป็นร้อยละ 62.83 คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วย 209 คน คิดเป็นร้อยละ 17.42 ส่วนไม่แสดงความเห็น 237 คน คิดเป็นร้อยละ 19.75

2. คนกรุงเทพฯ มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 จำนวน 2.67 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60.73 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน

3. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนกรุงเทพฯ ที่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย ให้คำอธิบายว่า ผู้ว่าฯแต่งตั้งคือตัวแทนการรวมศูนย์อำนาจของรัฐเผด็จการ, ผู้ว่าฯแต่งตั้งเป็นคนรอคอยเกษียณอายุราชการ, ผู้ว่าฯแต่งตั้งเป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่งมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ, ผู้ว่าฯแต่งตั้งวิ่งเข้าหาแต่นายที่มหาดไทย, ถึงยุคจังหวัดต้องปกครองตนเอง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือสายเลือดของท้องถิ่น, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือผู้ที่รู้ปัญหาจังหวัดที่แท้จริง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือผู้ที่มีจิตวิญญาณเพื่อประชาชนในจังหวัด, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือผู้มุ่งมั่นและมีความฝันที่จะพัฒนาจังหวัดให้เจริญ, ผู้ว่าฯเลือกตั้งคือคนที่ประชาชนตรวจสอบได้ทุกที่ทุกเวลา, คนทุกจังหวัดควรได้ผู้ว่าฯแบบชัชชาติ

คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในประเทศไทย ให้คำอธิบายว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สหพันธรัฐ, ประเทศไทยต้องรวมศูนย์ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ผู้ว่าฯแต่งตั้งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5, ผู้ว่าฯแต่งตั้งจะช่วยทำให้ทุกจังหวัดได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน, ทุกจังหวัดเจริญมาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะผู้ว่าฯแต่งตั้ง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะทำให้คนในจังหวัดนั้นตกอยู่ภายใต้ตระกูลเจ้าพ่อมาเฟีย, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะมุ่งกอบโกยผลประโยชน์จากการลงทุนเลือกตั้ง, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะไร้วิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัดไปสู่ความทันสมัย, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะชอบคิดโครงการเพื่อใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า, ผู้ว่าฯเลือกตั้งจะโคตรคอรัปชั่น

4. เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับทัศนคติของคน Gen Z (เผยแพร่เมื่อ 5 ตุลาคม 2565) คนกรุงเทพฯมีทัศนคติต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดในทิศทางเดียวกันกับคน Gen Z โดยคน Gen Z เห็นว่า ต้องยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง ร้อยละ 63 เห็นว่ายังต้องคงผู้ว่าฯแต่งตั้งต่อไป ร้อยละ 19 และไม่แสดงความเห็นร้อยละ 18

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคนกรุงเทพต่อสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565 รวม 1,200 คน โดยเก็บแบบสอบถามจาก กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 483 คน (40.25%) ชาย 546 คน (45.50%) เพศหลากหลาย 171 คน (14.25%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม: Gen Z (18-25 ปี) 377 คน (31.42%), Gen Y (26-42 ปี) 549 คน (45.75%), Gen X (43-57 ปี) 167 คน (13.93%), Gen Baby boomer (58 ปีขึ้นไป) 107 คน (8.92%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 193 คน (16.08%) พนักงานเอกชน 461 คน (38.42%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 143 คน (11.92%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 186 คน (15.50%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 115 คน (9.58%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน (7.75%) อื่นๆ 9 คน (0.75%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 109 คน (9.08%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 128 คน (10.67%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 262 คน (21.83%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 403 คน (33.58%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 198 คน (16.51%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 100 คน (8.33%)

ทีมผู้ช่วยวิจัย : สหรัฐ เวียงอินทร์ ชนวีย์ กฤตเมธาวี ศุภกาญจน์ เป็งเมืองมูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net