'ก้าวไกล' ในสนามเลือกตั้งชายแดนใต้/ปาตานี ผ่านมุม 'อันวาร์ อุเซ็ง-ประเสริฐ ราชนิยม'

  • รายงานสัมภาษณ์ ‘อันวาร์ อุเซ็ง’ ก้าวลงสมัครสมาชิกพรรคก้าวไกล เขต 1 ยะลา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับอนาคตชายแดนใต้/ปาตานี ชี้ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร เรื่องสำคัญต่ออนาคตที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจ ขณะที่ ‘ปลดล็อคท้องถิ่น’ เพิ่มโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเอง
  • ด้าน ‘ประเสริฐ ราชนิยม’ หวังทำงานความคิดเพื่อสร้างอนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลงควบคู่กับการแข่งขันกันทางการเมือง ระบุยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุบ กอ.รมน. ปฏิรูปความมั่นคง ชี้เป็นรัฐซ้อนรัฐและไร้ประโยชน์ ขณะที่กระบวนการสันติภาพจำเป็นต้องมี "เสรีภาพความปลอดภัยในการถกเถียง"

ชวนสนทนากับ อันวาร์ อุเซ็ง ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดยะลา สังกัดพรรคก้าวไกล และ ประเสริฐ ราชนิยม หัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคก้าวไกล จังหวัดยะลา เพื่อทำความเข้าใจทิศทาง ความตั้งใจของเขาและพรรคในการทำงานการเมืองพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

อันวาร์ อุเซ็ง ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดยะลา สังกัดพรรคก้าวไกล

อันวาร์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดยะลา สังกัดพรรคก้าวไกล อันวาร์เติบโตในครอบครัวตระกูลการเมืองโดยอุสมานอุเซ็ง (เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกใน พ.ศ. 2519 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ) บูราฮานูดิน อุเซ็ง (ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกใน พ.ศ. 2538 สังกัดพรรคความหวังใหม่) ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวมลายู ที่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในสภาแทนประชาชน พวกเขาทำงานด้วยการลงพื้นที่รับฟังเสียงของชาวบ้าน ตอนเด็กๆ อันวาร์มีโอกาสติดตามการลงพื้นที่ของ บูราฮานูดินเป็นระยะ ๆ  เรื่องเล่าความทรงจำเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของครอบครัวอุเซ็งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำหรับอันวาร์

“ผมอยากทำงานการเมืองที่ต่างออกไป อยากให้การเมืองเป็นเรื่องสนุกและสร้างสรรค์ ตอนนี้ผมสนุกที่ได้เดินทาง พัฒนาตนเองด้วยการฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ได้โอกาสเรียนรู้จากคนในชุมชนต่างๆ”

อันวาร์กล่าว ความรู้สึกอยากทำงานการเมืองเริ่มมามีจริง ๆ ก็ตอนปรากฏพรรคอนาคตใหม่ ลึก ๆ ตอนนั้นสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่แบบนี้ รู้สึกว่าเป็นพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ตนจึงตัดสินใจเข้าร่วมพรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง

อันวาร์ มีความฝันอยากเป็นครู อยากส่งต่ออนาคตดีๆ ให้คนรุ่นถัดไป เคยทำงานเป็นผู้ติดตามผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีอยู่ขณะหนึ่ง กลับมาทำงานสังคมสงเคราะห์ในจังหวัดยะลา และเป็นครูพิเศษสอนรัฐศาสตร์การบริหารรัฐกิจ ด้วยความรู้สึกอยากเกษียณตนเองตอนอายุ 55 จึงตัดสินใจทุ่มเทกับการทำธุรกิจ นำเข้าหญ้าเทียม สร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียม ค้าขาย เปิดร้านอาหาร เมื่อตนรู้สึกประสบความสำเร็จเพียงพอแล้วในการทำธุรกิจ ตอนนี้จึงคิดว่าอยากทำงานการเมืองอย่างจริง ๆ จัง ๆ เพราะรู้สึกสนุกและท้าทายตนเอง อันวาร์ชอบขับมอเตอร์ไซต์ลงชุมชนต่าง ๆ คือมันง่าย สะดวกจอดรถตรงไหนก็ได้ ยิ่งไปมาในเมืองมันทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย

“มีคนบอกว่าลงการเมืองแล้ว ต้องไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์ เวลาลงพื้นที่ชาวบ้านจะได้ให้เคารพนับถือ ขับมอเตอร์ไซต์ใครจะไปเลือก ผมคิดว่าเขาไม่ได้เลือกเราเพราะรถยนต์หรือมอเตอร์ไซต์ ชาวบ้านเขาพิจารณาที่เนื้อหา ความมุ่งมั่นของเราที่จะทำงานการเมืองเพื่อพวกเขาหรือไม่เท่านั้นเอง ตอนนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าพวกเขาจะเลือกเรา เพราะกำลังทำการเมืองเพื่อเขา เพื่ออนาคตของเราร่วมกัน" ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดยะลา พรรคก้าวไกล กล่าว

ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร เรื่องสำคัญต่ออนาคตที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจ

อันวาร์เล่าว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้คือ อยากทำงานระดับนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร ศักยภาพของพื้นที่ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และทรัพยากรบุคคล แต่ทำไมในเชิงสถิติแล้วคนสามจังหวัดสี่อำเภอ/ปาตานี จึงมีสัดส่วนการบริโภคที่มากกว่าการผลิต คนที่นี่ต้องการอำนาจ ต้องการโอกาส เพื่อการเป็นเกษตรกรที่สามารถสร้างกำไรอย่างจริงจัง ภูมิศาสตร์ดีแบบนี้แปลกมากๆ ที่คนรุ่นใหม่ไม่มีความฝันอยากเป็นเกษตรกร เมื่อมีโอกาสได้ลงพื้นที่ปรากฏว่า เมื่อเราฟังเราได้ยิน เราเห็นความฝันของเกษตรกรเต็มไปหมด แต่มันก็เต็มไปด้วยอุปสรรคและเงื่อนไข โครงสร้างหลายอย่างที่เอื้ออำนวย กลับกลายเป็นภาระของชุมชน เป็นต้น พวกเขาเคยชินจนไม่มีความหวัง สิ่งที่ต้องทำร่วมกันคือการฟื้นฟูความหวังว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้สำคัญต่ออนาคตและความฝันของพวกเขาอย่างไร  ชาวบ้านต้องการความรู้วิทยาการที่ร่วมสมัยและการอำนวยความสะดวกเชิงโครงสร้างให้กับพวกเขา

ตอนนี้พืชผักส่วนใหญ่ในตลาดในจังหวัดมาจากการนำเข้า สิ่งที่อันวาร์สนใจคือ การทำให้คนที่นี่สามารถเป็นเกษตรกรที่สร้างรายได้ให้ตนเองและเป็นพืชผักที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกับการทะนุถนอมดูแลระบบนิเวศน์ของท้องถิ่นด้วย ตอนนี้ข้าวสารที่คนยะลา ปัตตานี นราธิวาส กินกันเป็นข้าวสารที่เข้ามาจากนอกจังหวัด ทั้งที่ท้องถิ่นเรามีศักยภาพที่จะผลิตอาหารได้ด้วยตนเอง “มันต้องมีอะไรผิดพลาดบางอย่างในเชิงนโยบาย ที่ทำให้คนที่นี่ไหลออกไปเป็นแรงงานนอกประเทศ โดยที่ละเลยศักยภาพของท้องถิ่นตนเอง” อันวาร์กล่าว คณะทำงานพรรคก้าวไกลจังหวัดยะลาไม่ได้รู้สึกอินไปกับการพยายามทำนโยบายเพื่อกลุ่มแรงงานต้มยำในต่างประเทศ เพราะพวกเขาอยากให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ซึ่งมันท้าทายความสามารถในการบริหารประเทศว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นกลับมาได้อย่างไร

อันวาร์ กล่าวว่า ไม่ว่าในอนาคตการเมือง รูปแบบการปกครองจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม คนที่นี่ยังต้องกินต้องใช้ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพ การออกแบบโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้เกิดระบบการผลิตอาหารที่ดีให้กับชุมชนต่างๆ จะทำให้เราอยู่ในจุดที่มีความมั่นคงทางอาหาร 

ปลดล็อคท้องถิ่น เพิ่มโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเอง

“หน้าที่ของผมคือต้องทำงานเพื่อให้มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 14 ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น จังหวัดยะลามีศักยภาพโดยตนเองอยู่แล้ว มีเทศบาลนครที่ดีมีความพร้อม แต่ไม่มีอำนาจในการจัดการเรื่องต่าง ๆ เราไม่จำเป็นต้องพูดหรือทำทุกอย่าง หน้าที่หลักของเราคือทำงานในสภา หนึ่งในวาระสำคัญ ของผมจึงต้องการเข้าไปแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นให้มากที่สุด” อันวาร์กล่าว หนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสคือกรณีการจัดการโรคระบาด ชาวบ้านรู้ว่าเทศบาลจัดการเรื่องโรคระบาดได้ดี มีแบบแผนเป็นระบบ แต่บางเรื่องเทศบาลทำด้วยตนเองไม่ได้ ติดเงื่อนไขอำนาจที่ถูกล็อคไว้จากระบบราชการ ซึ่งระบบราชการที่มีอยู่มิได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง หากผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากเลือกตั้ง การทำอะไรต่างๆ ของผู้ว่าฯ ก็ต้องคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก ในความรู้สึกของชาวบ้านที่สะท้อนออกมาคือ ผู้ว่าฯ ไม่ได้มีภาระผูกพันอะไรกับคนในพื้นที่ ความรับผิดชอบของพวกเขาจึงน้อยลงไป ความเสียหายจากวิธีการจัดการโรคระบาดที่ผ่านมา ตอนนี้ชาวบ้านกำลังฟื้นตนเองโดยลำพัง จากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ล่าช้า ติดอยู่กับระเบียบต่างๆ การใช้อำนาจปิดเมืองโดยไม่ฟังความเห็นอีกด้านของชาวบ้านมันทำลายมูลค่าทางเศรษฐกิจไปจำนวนมาก ตอนนี้สิ่งที่อันวาร์ทำ คือ การเดินสายพบปะ รับฟังความเห็นจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เกษตรกร ผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ คนในแวดวงการศึกษา

“หลายเรื่องต้องสื่อสารกันตรงไปตรงมาว่าผมทำไม่ได้ แต่ผมฟังเพื่อนำเสนอให้พรรค สื่อสารผลักดันกับหน่วยงานต่าง ๆ สิ่งที่ผมจะทำคือการเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น และทางที่ดีที่สุดคือการเลือกก้าวไกลให้เป็นรัฐบาล นั่นคือโอกาสที่เราจะสร้างอนาคตร่วมกัน” อันวาร์กล่าว

ก้าวหน้า ก้าวไกลและการทำงานระดับความคิด

ประเสริฐ ราชนิยม หัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคก้าวไกล จังหวัดยะลา ระบุว่าการทำงานของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลเป็นการทำงานระดับวิธีคิด การทำความเข้าใจกันใหม่ต่อการเมืองแห่งความหวัง รวมทั้งการทำความเข้าใจร่วมกันกับชาวบ้านเกี่ยวกับการเมืองแบบตัวแทน ด้านหนึ่งก็เพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้สมัคร และผู้แทนของพรรคว่าพวกเขา คือ ผู้แทนของประชาชน ไม่ใช่เจ้านาย การทำงานในระดับวิธีคิดในพื้นที่ก็พบความท้าทายอยู่บ้างในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองแบบตัวแทน

"ผมรู้สึกว่าอดีตทำให้เรารู้สึกกันไปเองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เราไม่ควรคาดหวังอะไรใด ๆ ต่อการเมือง และนั่นคือความสำเร็จของการเมืองแบบเก่า อนาคตใหม่เข้ามาในพื้นที่ตอนนั้นมันเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ไปได้ อนาคตใหม่เป็นพรรคเป็นพื้นที่ ที่รวบรวมผู้คนที่ยังใฝ่ฝัน ผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคตร่วมกัน อนาคตใหม่ในตอนนั้นจึงเป็นการเมืองแห่งความหวัง และก้าวไกลในตอนนี้ก็เช่นกันสำหรับผม" ประเสริฐกล่าว  

ประเสริฐ (กลาง) ที่มา : แฟ้มภาพ

การเมืองแบบตัวแทน ตอนนี้ก้าวไกลกำลังนำเสนอผู้หญิงในชายแดนใต้/ปาตานี เข้าสู่การเมืองของการเป็นตัวแทนอย่างจริงจัง ข้อถกเถียงมากมายในมิติความเชื่อวัฒนธรรม ทุกคนมีสิทธิเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถกเถียงวินิจฉัยในบริบทกันต่อไป แต่ที่แน่ ๆ การเป็นผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ ผู้นำ เขา คือ ผู้แทน ผู้หญิงจึงควรมีผู้แทนของตนเองในรัฐสภา คุยในสิ่งที่ผู้หญิงต้องการ ต้องการสวัสดิการแบบไหน นโยบายแบบไหนที่ตอบความต้องการของผู้หญิง ก้าวไกลเตรียมตัวที่จะเปิดตัวผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงในชายแดนใต้/ปาตานี อย่างน้อยสองเขตเลือกตั้ง ในภาพใหญ่อาจจะมีการพัฒนาสัดส่วนที่เหมาะสมต่อไป ตนเชื่ออย่างนั้น  

ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุบ กอ.รมน. ปฏิรูปความมั่นคง ชี้เป็นรัฐซ้อนรัฐและไร้ประโยชน์

ในความเห็นของหัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคก้าวไกล จังหวัดยะลา นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ มาจากการรับฟังเสียงของประชาชน คนเลือกเรามาด้วยความคาดหวัง หลายคนจึงถูกจัดให้เป็นผู้แทนที่ผลักดันวาระต่าง ๆ ที่นี่ก็เฉกเช่นเดียวกัน การรับฟังเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ต่างสะท้อนความคับข้องใจ ความรู้สึกเจ็บปวด จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีกฎหมายพิเศษคุ้มครองไว้ ไม่แปลกเลยที่คนที่นี่ไม่เอาความพิเศษแบบนี้ 20 กว่าปีแล้ว กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณเยอะมาก ไม่นับงบลับที่ตรวจสอบไม่ได้ จะเห็นได้ว่า กอ.รมน. จะปรากฏอยู่ในทุก ๆ หน่วยงานซ้อนหน่วยงานแต่ละหน่วยไป มันพิสูจน์เพียงพอแล้วว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการแบบนี้ไม่เวิร์ค

“เมื่อเราไม่ต้องการความพิเศษจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับต่าง ๆ ความพิเศษแบบการมีอยู่ของ ศอ.บต. เราก็ไม่เอา ในเชิงหลักการ เราควรที่จะแฟร์ๆ เราควรที่จะอยู่ในมาตรฐานที่เท่าเทียมกับคนในภูมิภาคอื่นๆ” ประเสริฐ กล่าว

การมีศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) นั้น เป็นกลไกพิเศษที่เกิดขึ้นมาเพื่อแสวงหาทางออกความขัดแย้งทางการเมือง และตอนนี้มีกระบวนการสันติภาพอยู่ ดังนั้นในความเห็นของประเสริฐ การมีอยู่ของ ศอ.บต. ควรมีไว้มีสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และแสวงหาทางออกทางการเมือง เมื่อหมดภารกิจก็ยุบทันที

“มันตลกดีที่ศอ.บต. เป็นกลไกพิเศษ ที่ทำทุกๆ อย่าง ทั้งที่มีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่แล้ว ปัญหาคือเมื่อหน่วยงานที่มีอยู่บริการประชาชนไม่ได้ ทำงานเพื่อประชาชนได้ไม่ดีพอ ก็สมควรแก่การแก้ไข หรือปฏิรูประบบหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านั้น การทุ่มงบประมาณมากมายทับซ้อนกันไปหมด อีกทางก็มิได้ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการของรัฐ ” ประเสริฐกล่าว

กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทุกคนเห็นบทบาทของศอ.บต.ที่ไม่เหมาะสม  ศอ.บต. เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไปผลักดันโครงการเหล่านั้นโดยไม่ฟังเสียงของชาวบ้านเลย นี่เป็นเหตุผลหลักที่สะท้อนให้เห็นกลไกพิเศษ ๆ แบบนี้ ไม่ควรมี  

หัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคก้าวไกล จังหวัดยะลา เล่าว่า ตนไม่ได้มีปัญหากับโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่การได้ถกเถียง ได้ฟังเสียงของชาวบ้าน มันจะมีความหมายต่อโครงการพัฒนาของรัฐ รัฐก็คือประชาชน มันไม่แฟร์ต่อคนจะนะที่จำเป็นต้องเสียสละเพื่อประเทศนี้ โดยที่ประเทศนี้ไม่ฟังเสียงของเขาเลย

“ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การปฏิรูปการศึกษาที่เหมาะสมต่อคนในท้องถิ่น และตอบโจทย์อนาคต เป็นเรื่องที่รัฐสมควรลงทุนมากกว่า” ประเสริฐกล่าว พร้อมระบุว่ามันน่าหดหู่มากๆ เด็กๆ สอบติดแพทย์ สอบติดมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีเงินที่จะเรียนต่อ ประเทศแบบไหนกันที่แขวนอนาคตของเด็กไว้แบบนี้ ประเสริฐกล่าว เขาคิดถึงประโยคของจอน แรมโบ้ ที่ตอบหัวหน้าของตนเองว่าอยากได้อะไรตอบแทนความเสียสละ จอน แรมโบ้บอกว่า เขาอยากให้ชาติรักเขา เฉกเช่นที่เขารักชาติ เมื่อมิติความเสียสละมันเปลี่ยนแปลงเราเห็นประชาชนทุกคนเป็นผู้สร้างสรรค์ ขับเคลื่อนประเทศนี้ ด้วยความสามารถที่แตกต่างออกไป แต่เรากลับไม่เห็นสวัสดิการของรัฐที่ตอบแทนพวกเขา

ก้าวไกลจะผลักดันให้เกิดสวัสดิการที่ดีเหมาะสมต่อประชาชนทุกคน ไม่ได้หมายถึงเราจะลดสวัสดิการของบรรดาข้าราชการ แต่อย่างน้อยจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีสวัสดิการที่เท่ากัน “ผมเห็นความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนประเทศนี้ พ่อแม่ที่ไม่ได้เป็นราชการ เวลารับยาเบาหวานรับยาเป็นกำมือ แต่คนที่เป็นราชการมีลูกหลานเป็นข้าราชการคุณภาพยาเป็นอีกแบบ ทำไมคนเท่ากันจึงได้รับการรักษาที่ต่างกัน” วัฒนธรรมการเมืองที่ก้าวไกลก้าวหน้ากำลังริเริ่มสร้างขึ้นมา คือ การเมืองแห่งความหวัง ซึ่งมันอาจจะเริ่มด้วยการมีคำถามเต็มไปหมด ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องเห็นเหมือนๆ กัน ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบด้วย การตั้งคำถามมันมีความหมายต่อการสร้างอนาคต ในความเห็นของประเสริฐ

กระบวนการสันติภาพจำเป็นต้องมี "เสรีภาพความปลอดภัยในการถกเถียง"

รายละเอียดกระบวนการสันติภาพเป็นอย่างไร ทางพรรคก้าวไกลมีคนที่ตามเรื่องนี้อยู่ สำหรับผมสิ่งสำคัญเบื้องต้น คือ เสรีภาพในการแสดงออก ความปลอดภัยต่อพลเรือน "เวลาเราพูดถึงความปลอดภัย เรากำลังเรียกร้องจากทุกฝ่ายที่ใช้อาวุธ เวลาพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็เช่นกัน ต้องไม่มีความกังวลถึงความปลอดภัยเวลาที่เราวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด ปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชน" หัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคก้าวไกล จังหวัดยะลา กล่าว

ประเสริฐสะท้อนความกังวลว่า เขามีทั้งต่อรัฐและขบวนการที่ใช้อาวุธ ความกังวลต่อรัฐเป็นความกังวลแบบหน้าตรง ความกังวลต่อขบวนการแบบลับหลัง ถ้าวันหนึ่งต้องตายก็ไม่รู้ว่าตายจากการกระทำของฝ่ายไหน ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนที่ไม่เห็นด้วยทั้งต่อรัฐและขบวนการ ถ้ามีมลายูโปรสยามเขาจะกล้าพูดไหม ประเด็นที่เราควรผลักดัน คือ เสรีภาพในการถกเถียง

ประเสริฐให้ความเห็นต่อประโยชน์ของการมีอยู่ของ ศอ.บต. คือ การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการแสวงหาทางออกความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ก็สมควรแก่การยุบ เมื่อประชาชนสามารถออกแบบการปกครองตนเองแล้ว มีรูปแบบ กระบวนการมากมายที่เป็นตัวอย่าง ซึ่งสามารถนำมาถกเถียง ขัดแย้ง ออกแบบร่วมกันได้ในอนาคต " ที่นี่ไม่ใช่ที่เดียวในโลกแน่ ๆ ที่มีความขัดแย้งลักษณะนี้ เราสามารถเรียนรู้จากที่อื่นได้"

"สุดท้ายแล้วรูปแบบการปกครอง ต้องถกเถียงและสิ้นสุดในรัฐสภา ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ ส.ส. ของเราเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพด้วย" หัวหน้าศูนย์ประสานงานพรรคก้าวไกล จังหวัดยะลา กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท