เขื่อนมาปลาหายหมด? - ปัญหาปากท้องหลังสร้างเขื่อนไซยะบุรี 

แม่น้ำโขงเป็น​แหล่งระบบนิเวศน์​ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง​ ความมั่นคงทางอาหารและภูมิปัญญาของประชาชนในพื้นที่​ แต่​ตอนนี้​วิถีชีวิตของคนกับปลาในแม่น้ำโขงกำลังตกอยู่ในอันตราย​ เพราะเขื่อนจำนวนมากทำให้ปลาอพยพยากขึ้น​ แถมเปลี่ยน​วงจรฤดูน้ำลด-น้ำหลาก​จนปลาขยายพันธุ์​ไม่ได้​ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่เป็นอันมาก

แม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวเป็นอันดับ 7 ของโลก (4,880 กิโลเมตร) มีที่มาจากการละลายของหิมะในที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านประเทศจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในส่วนของไทย แม่น้ำไหลผ่านบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศลาวและกลับเข้าสู่ไทยอีกครั้งที่ อ.เชียงคาน จ.เลย แล้วผ่าน จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ก่อนไปสู่กัมพูชา

 

แม่น้ำโขงมีปลามากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพเข้ามาในช่วงฤดูน้ำลด (กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม) ปลาที่พบในช่วงแรกคือปลาพันธุ์ขนาดเล็ก จากนั้นปลาที่อพยพเข้ามาจะเป็นพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ปลาเหล่านี้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในพื้นที่ และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดยมีปลาต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังนี้

ปลาแปป (Paralaubuca)

ปลาแปบ เป็นปลาขนาดเล็กที่พบเห็นได้ในช่วงแรก ๆ ของขบวนปลาอพยพ เดินทางมาถึง จ.หนองคาย ในช่วงระหว่างกุมภาพันธ์-มีนาคม ชาวประมงนำมาขายในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท เมนูเด็ดคือปลาแดดเดียว

ปลาสร้อย (Henicorhynchus siamensis)

คนท้องถิ่นเรียกว่าปลากระบอก เป็นปลาขนาดเล็กอพยพเข้ามาที่ จ.หนองคาย พร้อมกับปลาแปปในช่วงระหว่างกุมภาพันธ์ - มีนาคม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ประชาชนนิยมเอามาทำปลาแห้งและปลาแดก อันเป็นเมนู signature ของชาวอีสาน

ปลากาแดง (Epalzeorhynchos frenatum)

มีชื่อท้องถิ่นเรียกว่าปลาดอกงิ้ว อพยพมาไล่เลี่ยกับกับปลาแปป เดินทางมาถึง จ.หนองคาย ในช่วงระหว่างมกราคม - กุมภาพันธ์ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท นำมาต้ม แกง หรือแปรรูปเป็นปลาแห้งแดดเดียวก็อร่อย

ปลาโจก (Cyclocheilichthys)

มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่าปลาตะโกก เป็นปลาเกร็ดขนาดกลางอพยพมาถึง จ.หนองคาย ช่วงประมาณมีนาคม-เมษายน ปลาโจกราคาดีเพราะร้านอาหารชอบซื้อไปประกอบอาหาร ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท เมนูเด็ดคือต้มยำ

ปลารากกล้วย (Acanthopsis)

เป็นปลาขนาดกลางที่่อพยพเข้ามาทีหลังปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาแปปและปลาสร้อย เริ่มอพยพเข้ามาตั้งแต่ช่วงประมาณเมษายน-มิถุนายน 

อ.ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ความรู้ว่าตามประเพณีท้องถิ่นของบางพื้นที่ ปลารากกล้วยเป็นอาหารที่รับประทานกันในช่วงพิธีไหว้ครู เพราะอพยพมาถึงในช่วงพิธีไหว้ครูพอดี

ราคาขายอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 80-90 บาท ผู้ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าบางปีจับได้ถึง 200 กิโลกรัม สร้างรายได้หลักแสนบาท นำมาทอดกรอบ แดดเดียว อร่อยนักแล

ปลาหว้า (Bangana behri)

มีชื่อเล่นว่า “ปลาอิตู๋” เป็นปลาใหญ่ที่อพยพเข้ามาถึง จ.หนองคาย ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม เป็นปลาราคาดี กิโลกรัมละ 300 บาท ประชาชนในพื้นที่นิยมนำมาทำต้มยำและลาบ น่ากินสุด ๆ

ปลาสะงั่ว (Phalacronotus micronema)

อพยพเข้ามาถึง จ.หนองคายในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม เป็นปลาเนื้ออ่อนราคาดี กิโลกรัมละ 500 บาท เหมาะมาทำห่อหมกยิ่งนัก ในภัตตาคารบางแห่งราคาสูงถึง 1,500 บาท

สะอี (Mekongina erythrospila)

เป็นปลาขนาดกลาง-ใหญ่ที่อพยพเข้ามาที่ จ.หนองคาย ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ให้ข้อมูลว่าถึงจะราคาไม่สูงนักในประเทศไทย แต่ปลาสะอีเป็นที่นิยมมากในกัมพูชา ขายที่พนมเปญราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 40 ดอลลาร์ หรือ 1,200 บาท

ปลาบึก (Pangasianodon gigas)

เป็นปลาน้ำจืดที่ขนาดใหญ่ที่สุด ปัจจุบันหาไม่ได้ในแม่น้ำโขงแล้ว อยู่ได้เพราะการผสมเทียมเท่านั้น ปลาบึกที่เกิดจากการผสมเทียมยังไม่สามารถขยายพันธุ์เองได้ ปลาบึกเลี้ยงมีราคากิโลกรัมละ 300 บาท หัวเอามาทำต้มยำ ท้องเอามาทำห่อหมกใบยอ

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของปลาทั้งหมดในแม่น้ำโขงเท่านั้น ซึ่งมีกว่า 130 ชนิด
ภาพ: http://www.livingriversiam.org/image/pub/poster-fish-chiangkarn1.jpg?fbclid=IwAR3U--ayVJ_nMtlyX1uDxIkR6tg0HoN8dRQYdr-sN-wQ_NtoIcBh-NsDyAI

ภาพ: 
http://www.livingriversiam.org/image/pub/poster-fish-chiangkarn2.jpg?fbclid=IwAR15wdOlbrEoJpgJJBi6flXRax0A6D2tCX2Pk7uCLDKX4z12WVw8THFP1Zw

ปลาเหล่านี้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง เพราะเป็นแหล่งโปรตีนและรายได้ของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ปลาเหล่านี้กำลังอยู่ในความเสี่ยง จำนวนปลาลดลงเรื่อย ๆ ปลาบางชนิดหาจับไม่ได้แล้ว

สาเหตุที่ปลาลดจำนวนลง เพราะการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนอื่น ๆ กว่า 39 แห่งในแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้เกิดจากน้ำแห้งอย่างที่คนเข้าใจกัน แต่เป็นเพราะสาเหตุหลายอย่าง

1. เขื่อนปิดทางไม่ให้ปลาว่ายมาวางไข่ได้ ถึงผู้สร้างเขื่อนจะยืนยันว่ามีทางให้ปลาผ่าน แต่ประชาชนในพื้นที่ยืนยันว่าแรงสะเทือนจากการทำงานของเขื่อนจะทำให้ปลาตื่นตระหนักและว่ายหนีไปหมด ไม่ว่ายผ่านทางอพยพปลาที่เขื่อนสร้างไว้ 

2. เขื่อนกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำไม่เป็นเวลา ปล่อยน้ำฤดูน้ำลด และเก็บน้ำฤดูน้ำหลาก ส่งผลต่อระดับน้ำ อุณหภูมิ และความเข้มข้นของตะกอนน้ำ จนปลาวางไข่และฟักตัวไม่ได้ บางทีก็ปรับตัวไม่ได้แล้วค่อย ๆ ตายไป 

3. ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการระเบิดเกาะแก่งที่ลุ่มน้ำโขงในส่วนของประเทศไทย เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ เพื่อให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านได้ เกาะแก่งเหล่านี้เต็มไปด้วยต้นไคร้ซึ่งยึดเกาะหน้าดิน และลดความเชี่ยวของกระแสน้ำ เป็นสถานที่วางไข่และอนุบาลลูกปลาขนาดเล็ก พอไม่มีเกาะแก่ง ก็ไม่มีต้นไคร้ พอไม่มีต้นไคร้ ก็ไม่มีปลาวางไข่ พอไม่มีปลาวางไข่ก็ไม่มีปลา พอไม่มีปลาก็เลยไม่มีอาหาร


การลงเก็บข้อมูลภาคสนามได้รับการสนับสนุนจากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท