'ศิริกัญญา' รองหัวหน้าฝ่ายนโยบาย 'ก้าวไกล' แนะ กขค.ตรวจสอบการลดรอบฉาย 'ขุนพันธ์ 3' กีดกันทางการค้าหรือไม่ มองต้นเหตุมาจากการผูกขาดโรงหนัง พร้อมชู 2 นโยบาย ทลายผูกขาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บังคับใช้ กม.แข่งขันการค้าอย่างจริงจัง และกำหนดสัดส่วนเวลาฉายขั้นต่ำสำหรับคนทำหนังไทยรายเล็ก-อินดี้
7 มี.ค. 2566 ทีมสื่อก้าวไกล รายงานต่อสื่อวันนี้ (7 ก.พ.) ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย ให้ความเห็นต่อกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหนัง 'ขุนพันธ์ 3' ที่ถูกลดรอบฉายจากโรงหนังของเครือธุรกิจเครือหนึ่งว่า การลดรอบหนังเพื่อกีดกันหนังของคู่แข่งไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เท่ากับเปิดโอกาสให้เกิดการเอาเปรียบคู่แข่ง

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย
"คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต้องเข้ามาดูสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร มีการกีดกันภาพยนตร์คู่แข่งจริงหรือไม่ ถ้าทำผิดจริงก็ต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย หรืออาจต้องมีการพิจารณาบังคับแยกธุรกิจการสร้างภาพยนต์ กับโรงฉายหนังไม่ให้เป็นเจ้าเดียวกัน" รองหัวหน้าก้าวไกลฝ่ายนโยบาย กล่าว
ศิริกัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การผูกขาดของโรงหนังไทยถือว่ารุนแรงมาก เพราะในเรามีเจ้าของโรงหนังรายใหญ่ในตลาดเพียงแค่ 2 เจ้าใหญ่ ซึ่งคนทำหนังก็แทบไม่มีทางเลือกมากอยู่แล้ว แต่เจ้าของโรงหนังรายใหญ่ยังขยายธุรกิจระดับต้นน้ำ คือ บริษัทค่ายภาพยนตร์ ซึ่งเป็นคนให้ทุนทำหนังเสียเอง จึงอาจนำมาสู่การค้าที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่ง เมื่อโรงหนังกับค่ายหนังเป็นเจ้าของเดียวกัน ก็สามารถใช้อำนาจกำหนดจำนวนรอบฉายเพื่อกีดกันไม่ให้เจ้าอื่นมาแข่งกับหนังของตัวเองได้ แต่กฎหมายแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ทำงาน
"เมื่ออำนาจในการกำหนดรอบฉายอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ คนทำหนังก็ไม่สามารถรับประกันได้เลยว่าหนังที่ทำมาจะได้รอบฉายจากโรงหนัง ทำให้คนทำหนังที่ต้องการผลิตเนื้อหาที่หลากหลายไม่กล้าลงทุน ผลสุดท้ายเนื้อหาของหนังก็กลับไปเป็นแบบเดิม" ส.ส.ก้าวไกล กล่าว
สำหรับการแก้ปัญหา ศิริกัญญา เสนอว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายอย่างน้อย 2 เรื่องที่จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้กว้างหลากหลายเป็นธรรมได้
เรื่องแรกคือ ทลายการผูกขาดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง จัดการผู้ประกอบการที่กินรวบตลอดทุกขั้นตอนการผลิต
"อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือเสนอให้มีการกำหนดสัดส่วนเวลาฉายขั้นต่ำสำหรับคนทำหนังไทยรายเล็ก และหนังอินดี้ เพื่อให้คนทำหนังรายอื่นที่ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหลากหลายได้มีพื้นที่ในการนำเสนอภาพยนตร์ต่อประชาชน จะอยู่รอดไม่รอดให้คนดูเป็นผู้ตัดสิน" ศิริกัญญา กล่าว