Skip to main content
sharethis

เวทีสาธารณะ 'พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง' 9 พรรคการเมืองเสียงแทบไม่แตก เห็นด้วย 3 ข้อเสนอพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง 66 ย้ำ ส.ว.ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก

เพจ iLaw รายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2566 เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานจับตาการเลือกตั้งได้แก่ Opendream Rocket Media Lab และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดเวทีสาธารณะ ประกาศสามข้อเสนอ “พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง 66” ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเปิดเวทีให้ตัวแทนจากเก้าพรรคการเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าว และสามารถแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ว่าจะดำเนินการอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย

โดย 3 ข้อเสนอ มีดังนี้

1) นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. : สร้างนายกฯ ที่ยึดโยงกับประชาชนที่เป็นรูปธรรมผ่านการเลือกตั้ง และสร้างหลักประกันว่านายกฯ ในฐานะ ส.ส.คนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการตรวจสอบของสภาที่มาจากประชาชน
2) พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดควรได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน : โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเสียงข้างมากประสบความล้มเหลวจึงจะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองอันดับรองลงมาในการจัดตั้งรัฐบาลต่อ
3) ส.ว.ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก : แสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการยกมือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล

หลังจากตัวแทนจาก iLaw แถลงสามข้อเสนอเสร็จสิ้น ช่วงต่อมาเป็นเวทีให้ตัวแทนเก้าพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็น เก้าพรรคการเมืองที่เข้าร่วมสนทนาในครั้งนี้ ได้แก่

1) ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย
2) ชัยธวัช ตุลาธน ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล
3) แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์
4) วิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย
5) ศิธา ทิวารี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย
6) อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล้า
7) พลอยนภัส โจววณิชย์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ
8) สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา
9) ขดดะรี บินเซ็น ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ

เช็คความเห็นตัวแทน 9 พรรคการเมือง คิดอย่างไรกับสามข้อเสนอ?

เริ่มต้นด้วย ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่าเห็นด้วยกับทั้งสามข้อเสนอ โดยข้อเสนอข้อที่หนึ่ง ศิธาเห็นว่าเป็นการสร้างความชัดเจนยิ่งขึ้น หากเทียบกับนายกฯ ปัจจุบันที่มาด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก และขอยืนยันว่าไทยสร้างไทยยอมรับ และยินดีจะปฏิบัติตามข้อนี้ ส่วนข้อที่สอง ยืนยันในหลักการที่ต้องพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลเป็นอันดับแรก แต่ขอตั้งข้อสงวนไว้ว่าหากปรากฎว่าผลสุดท้ายพรรคทหารได้คะแนนเสียงมากที่สุดมาอย่างไม่โปร่งใสก็จะขอไม่สนับสนุน และข้อที่สาม ยอมรับอยู่แล้ว โดยเห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ แม้จะเห็นว่าในความเป็นจริงจะทำได้ยาก สุดท้ายเห็นว่าเป็นการแก้เกมที่ดีขอภาคประชาชน ศิธายังยืนยันว่าพรรคไทยสร้างไทยจะไม่เข้าร่วมกับฝั่งรัฐบาลเผด็จการอย่างแน่นอน แม้จะต้องเป็นฝ่ายค้าน

ขดดะรี บินเซ็น ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยข้อที่หนึ่ง เห็นว่าควรที่จะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว และคิดว่า ต้องมีส.ส. ต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และสนับสนุนให้ทุกพรรคแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากส.ส.ในการเลือกตั้ง ส่วนข้อที่สอง ยอมรับ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดเขาได้รับการไว้วางใจจากประชาชน ประชาชนเป็นคนเลือก แม้พรรคประชาชาติไม่มีโอกาสอยู่แล้วในการเสนอชื่อนายกฯ แต่ก็เข้าใจดีในข้อกฎหมาย

วิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยสรุปเห็นด้วยกับการที่นายกฯ ควรเป็นส.ส. แต่เห็นว่ายังไม่พอจึงเสนอว่าควรห้ามนายกฯ ที่มาจากการปฏิวัติด้วย ส่วนในข้อสองยอมรับเช่นกันในหลักการ แม้จะไม่มีกฎหมายเขียนไว้ก็ตาม

ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยพิจารณาในรายประเด็น ดังนี้ ข้อที่หนึ่ง ลิณธิภรณ์ระบุว่าในข้อนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยและยอมรับในหลักการ และยังเคยเสนอแก้รัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งในขั้นตอนของพรรคกระบวนการเสนอแคนดิเดตว่าจะเป็นบัญชีรายชื่อส.ส. หรือไม่นั้นกำลังอยู่ในขั้นพิจารณาของพรรค ข้อที่สอง เห็นว่าเป็นมารยาททางการเมือง และที่ผ่านมาจากการครั้งเลือกตั้งครั้งก่อน เพื่อไทยชนะมาโดยตลอด จึงยอมรับข้อเสนอนี้อย่างแน่นอน และฝากถึงพรรคการเมืองอื่น ๆ ให้ยอมรับข้อเสนอด้วย หากพรรคใดปฏิเสธข้อเสนอนี้ จะเป็นการปฏิเสธอำนาจประชาชน และในข้อสาม เห็นด้วยในหลักการอย่างยิ่ง แต่เพิ่มเติมว่าไม่สามารถคุมปัจจัยของ ส.ว. ได้ในทางปฏิบัติ เพราะเขามาจากการแต่งตั้งและที่ผ่านมาบทบาทของส.ว. ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า 250 เสียงพร้อมยืนข้างนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในข้อเสนอแรกอรรถวิชช์ เห็นว่าต้องย้อนกลับไปดูตามรัฐธรรมนูญ 2560  ซึ่งให้พรรคการเมืองต้องกำหนดบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ สามคน ตนคิดว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ส่วนนายกฯ จะต้องเป็น ส.ส. หรือไม่นั้น ตนคิดว่าไม่เหมาะกับบริบทในปัจจุบัน แต่แน่นอนว่าไม่รับนายกฯ คนนอกที่ไม่มีที่มา ข้อเสนอที่สอง ยอมรับและเห็นว่าเป็นไปตามกติการมารยาททางการเมือง ส่วนข้อสามตนสนับสนุนอยู่แล้ว และเห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 บทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ ส.ว. ชุดพิเศษมีอำนาจเลือกนายกฯ ก่อนเป็นอันดับแรก อีกทั้งฝากถึง ส.ว. ว่าควรมีหัวใจเป็นประชาธิปไตย และต้องโหวตให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากสุดจากสภาผู้แทนราษฎร

แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยข้อแรกให้เหตุผลว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เป็นสถาบันการเมือง และเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ที่เป็นส.ส อยู่แล้ว แต่ยังเห็นว่าไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนข้อที่สองยอมรับ และเห็นด้วย เพราะประชาธิปัตย์เคยทำมาแล้วเช่นกันในยุคสมัยของชวน หลีกภัย และข้อที่สามเห็นด้วยเช่นกัน เพราะประชาธิปัตย์เคยเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มาแล้ว

ชัยธวัช ตุลาธน ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ และกล่าวว่าเป็นหลักการพื้นฐานอยู่แล้วในทุกข้อเสนอซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะต้องมาพูดกันอีก ชัยธวัช เสริมในข้อแรกด้วยว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สถาบันการเมืองมีความเข้มแข็ง และพรรคก้าวไกลพร้อมส่ง พิธา หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นส.ส.เป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่แล้ว ส่วนในข้อที่สองและสาม ยืนยันว่าส.ว.ต้องเห็นชอบกับเสียงข้างมาก ในทางปฏิบัติจะมีการส่งชื่อนายกฯ เพียงสองชื่อจากสองฝั่งเท่านั้น เน้นย้ำว่าส.ว. ต้องโหวตตามมติมหาชน หากไม่ทำตนเชื่อว่าจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอย่างแน่นอน

พลอยนภัส โจววณิชย์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ ในข้อแรกพลอยนภัสเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะการเป็นนายกต้องได้รับฉันทามติจากประชาชน การที่ให้มีนายกฯ เป็นคนนอกจะเป็นการดูถูก สิทธิ และเสียงของประชาชนมากกว่า ในข้อที่สองเห็นเพิ่มเติมว่าไม่ควรที่จะเป็นแค่มารยาททางการเมือง และข้อที่สาม ยอมรับชัดเจนและเห็นว่าส.ว. ไม่ควรมีอำนาจจนเกินไป ควรเป็นเพียงผู้ให้ความเห็นในการแก้ไขกฎหมาย หากส.ว.จะมีสิทธิเลือกนายกฯ ได้ ควรจะมาจากการเลือกตั้ง

สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ยอมรับทั้งสามข้อเสนอ โดยลงรายละเอียดในข้อแรก ว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเกือบทุกพรรคการเมืองที่นายก ฯเป็นส.ส. ส่วนข้อสอง เห็นว่าไม่มีทางที่ครั้งต่อไปจะมีการอ้าง popular vote ชัดเจนว่าพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดต้องได้ตั้งรัฐบาลก่อนอยู่แล้ว แม้เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ ข้อสามเห็นด้วยในหลักการ แต่เห็นแย้งว่าคงไม่สามารถเป็นไปได้ในความเป็นจริง

หลายพรรคส่งเสียงย้ำ ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ในบรรดาเก้าพรรคการเมือง มีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองที่พูดถึงประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ได้แก่ ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย

ประเด็นการป้องกันการรัฐประหาร ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ตัวแทนจากหลายพรรคกล่าวถึง โดยตัวแทนจากพรรคประชาชน แสดงความเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ข้าราชการไม่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งจากคณะรัฐประหาร ห้ามศาลรับรองผลการรัฐประหาร ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ทางพรรคได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยระบุว่าจะบรรจุเรื่องการรัฐประหารคือกบฏในรัฐธรรมนูญ ไม่เปลี่ยนจุดยืน และทหารต้องขึ้นตรงกับรัฐบาล


ที่มาภาพปก: Chanakarn Laosarakham

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net