Skip to main content
sharethis

วงสนทนา ครป. “ไม่มี #บัตรทอง = ไม่มีสิทธิ.. "HIV-ท้องไม่พร้อม"!?” ระบุสถานการณ์ที่งบฯ P&P ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างครอบคลุมประชาชนทุกคน อาจทำให้สถานการณ์ HIV ในไทยกลับสู่ภาวะถดถอย

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2566 ได้จัดกิจกรรมการสนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ในหัวข้อ “ไม่มี #บัตรทอง = ไม่มีสิทธิ.. "HIV-ท้องไม่พร้อม"!?” ผู้สนทนาประกอบด้วยสุภาพร เพ็งโนนยาง ผู้จัดการด้านการพัฒนาศักยภาพและรณรงค์เชิงนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และศรัญญา เกตจันทร์ เจ้าหน้าที่ประสานส่งต่อ สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ดำเนินการสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. 

นอกจากนี้ในช่วงท้ายรายการ ยังได้มีผู้ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง ทั้งสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING), ทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่าย RSA รวมไปถึงแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคม 130 กว่าองค์กรในนาม “ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ครั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนคือ สิทธิด้านบริการสุขภาพในปัจจุบันแยกออกเป็น “สิทธิการรับบริการรักษาพยาบาล” กับ “สิทธิการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P)” ซึ่งสิทธิส่วนแรกนั้น ประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลอื่นใด หรือเรียกว่าบุคคลที่มีสิทธิ Universal Coverage (UC) ซึ่งก็คือประชาชนที่ถือ “บัตรทอง” ก็จะได้รับสิทธิโดยตรงจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนบุคคลที่มีสิทธิการรักษาเฉพาะของตัวเองหรือบุคคลNon UC พูดง่ายๆคือ คนที่อยู่ในสิทธิประกันสังคม คนที่อยู่ในสิทธิข้าราชการ สิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับครูโรงเรียนเอกชน หรือสิทธิในการเป็นพนักงานองค์กรอื่นใดที่มีกฎหมายสวัสดิการการรักษาพยาบาลของตนเองโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้ถือบัตรทอง ก็จะใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนหรือตามหลักการที่กฎหมายกำหนดสิทธิของตน 

ในขณะที่บริการ P&P นั้น เป็นสิทธิที่ สปสช. จะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กับประชาชนไทยทุกคน โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลเฉพาะบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นพันธกิจหลักของ สปสช. ในการให้หลักประกันว่าจะต้องไม่มีคนไทยคนใดต้องตายตามยถากรรมหรือประสบภาวะล้มละลายทางการเงินเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ใช่เพียงแค่จัดงบให้บริการรักษาพยาบาลฟรีแก่ผู้ถือบัตรทองอย่างที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจกันมาตลอด ในทุกๆปีงบประมาณแผ่นดิน เมื่อ สปสช. จัดทำงบประมาณส่วนบริการ P&Pให้กับประชาชนทุกคนทั้งประเทศเสร็จแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะมีหน้าที่ในการลงนามในเอกสารประกาศคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นอันให้สถานพยาบาลต่างๆสามารถให้บริการ P&P แก่ประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลของแต่ละคนก็ดี หรือที่สถานพยาบาลที่สามารถให้บริการเฉพาะตามความต้องการจำเป็นของประชาชนอย่างบริการยุติการตั้งครรภ์ (Abortion) ซึ่งเป็นบริการที่ทุกวันนี้ไม่ได้มีในทุกสถานพยาบาล รวมไปถึงบริการที่จำเป็นต้องมีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมเป็นหน่วยให้บริการอย่างบริการเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยจากเชื้อเอชไอวี (HIV) อันเป็นสิ่งที่ผู้รับบริการต้องการใช้บริการในสถานบริการที่ตนรู้สึกปลอดภัย มั่นใจในการคุ้มครองความเป็นส่วนบุคคลและความเชี่ยวชาญในการให้บริการ 

แต่ปัญหาในปีงบประมาณ 2566 ได้เกิดขึ้นจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษากฎหมายไม่ให้ลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งชี้ว่า งบประมาณบริการ P&P จะสามารถจัดสรรให้ประชาชน Non UC ได้ ต้องทำกฎหมายพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) รองรับ ซึ่งหากว่ารัฐมนตรีคิดเรื่องนี้มาแต่แรกแล้วทำ พรฎ. รองรับให้เสร็จมีผลบังคับใช้ก่อน 1 ต.ค. 2565 (วันแรกของปีงบประมาณแผ่นดิน 2566) หรือไม่ก็ทำตามวิธีปฏิบัติเดิมไปก่อน แล้วมาออก พรฎ. ตามหลัง อาจจะเป็นการทำเพื่อรองรับแผน P&P ในปีงบประมาณ 2567 ก็ได้ เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นมาเป็นปัญหาอย่างที่วันนี้ได้เกิดขึ้นแล้วคือ ประชาชน Non UC จำนวนมากเสียสิทธิ กับมีสถานพยาบาลบางแห่งที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่ยังไม่สามารถเบิกคืนจาก สปสช. ได้เกือบ 10 ล้านบาทเพื่อให้ประชาชน Non UC ยังคงได้รับบริการตามปกติ บางแห่งจำเป็นต้องเลือกปฏิบัติ แจ้งให้ประชาชน Non UC รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งบางบริการเช่น การฝากครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์ ยา HIV นั้น ค่าใช้จ่ายก็สูงเกินกว่าที่ประชาชนจะรับได้ไหว นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ โดยในปีนี้ที่จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป (เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) กว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ขอแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ได้ หากไม่มีทางออกก่อนที่คณะรัฐมนตรีปัจจุบันจะสิ้นสุดลง อาจหมายถึงการที่ประชาชน Non UC ไม่สามารถใช้สิทธิรับบริการ P&P ได้ ทั้งๆ ที่มีงบประมาณ P&P สำหรับประชาชน Non UC รวมกันประมาณ 9 พันล้านบาทเตรียมไว้ตามแผนงบประมาณแผ่นดิน 2566 แล้ว แต่ไม่สามารถดึงออกมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนตามแผนได้ 

สุภาพร เพ็งโนนยาง ผู้จัดการด้านการพัฒนาศักยภาพและรณรงค์เชิงนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่นอกจากทำงานด้านการพัฒนานวัตกรรมและการรณรงค์ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะการระบาด การเจ็บป่วยจากเชื้อเอชไอวีแล้ว ยังเป็นผู้ให้บริการ สหคลินิกด้านเอชไอวี คือคลินิกพริบตาและคลินิกแทนเจอรีน ได้เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า สำหรับ IHRI นอกจากการให้บริการสหคลินิกแล้ว ยังมีเรื่องการทำงานร่วมกับองค์กรประชาสังคมอีกกว่า400แห่งในการทำงานเชิงรุก ตั้งแต่การปูพรมค้นหาบุคคลที่มีความเสี่ยงด้านเชื้อเอชไอวีในชุมชน การให้ความรู้ประชาชนเพื่อตระหนักในภาวะความเสี่ยงของตนเพื่อตัดสินใจเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี รู้วิธีดูแลสุขภาพตนเอง และเข้ารับการรักษาหากพบเชื้อ (Risk & Recruit) งานส่วนนี้ก็ใช้งบ P&P ซึ่งตั้งแต่ ต.ค. 2565 เป็นต้นมา งบส่วนนี้ก็ถูกนำมาใช้ให้บริการได้เฉพาะประชาชน UC หรือผู้ถือบัตรทอง ก็เกิดเป็นผลกระทบแรกแล้ว เพราะในหน้างานการให้บริการในชุมชน เราไม่สามารถจะแยกได้ว่าคนไหนถือบัตรทอง คนไหนเป็น Non UC เมื่องบประมาณถูกตัดไป หมายความว่า กิจกรรมการเอาชุดป้องกันเข้าสู่ชุมชนก็จะไปไม่ถึง อีกส่วนคือมีบางองค์กรที่ให้บริการคลินิกเหมือนIHRIเช่น สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มูลนิธิซิสเตอร์ ฯลฯ ผู้อยากตรวจหาเชื้อเอชไอวี สามารถเลือกไปตรวจได้ทุกที่ที่มีบริการเหล่านี้ โดยผู้รับบริการก็จะไม่ค่อยเลือกไปตรวจที่สถานพยาบาลหลักตามสิทธิของตนกันสักเท่าไหร่ เพราะเรื่องเอชไอวีเป็นสิ่งที่ผู้รับบริการไม่อยากเปิดเผยตนกับสถานพยาลหลักตามสิทธิของตน รวมถึงปัจจัยความสะดวกเรื่องหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ผู้รับบริการ ให้บริการนอกเวลาทำงานของผู้รับบริการ ซึ่งคลินิกที่เป็นขององค์กรภาคประชาสังคมนั้นพบว่า สัดส่วนของผู้มารับบริการระหว่างกลุ่ม UC และ Non UC นั้น มีจำนวนใกล้เคียงกันประมาณครึ่งต่อครึ่ง หากไปดูประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของปีงบประมาณ2565 จะเห็นว่าเรื่องการบริการตรวจ การรับถุงยาง การรับยา PreP (ยาป้องกันเชื้อ HIV ก่อนสัมผัสเชื้อ) ยา PeP (ยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อ HIV) ประกาศฯ ได้ระบุชัดเจนว่า งบบริการเหล่านี้มีไว้สำหรับคนไทยทุกคน 

แต่ของปีงบประมาณ 2566 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อ้างว่าสามารถจัดให้ได้สำหรับเฉพาะผู้ถือบัตรทองเท่านั้น สปสช. จึงต้องแก้ไขประกาศตามที่ สธ. อ้าง หน่วยบริการของภาคประชาสังคมอย่างเช่นคลินิกพริบตาของ IHRI เอง ก็ไม่มั่นใจว่า เมื่อให้บริการประชาชนส่วนที่เป็น Non UC ไปด้วยแล้ว จะสามารถเบิกงบคืนได้หรือไม่? อย่างบริการยา PreP เราจะต้องไปเบิกจาก สปสช. โดยการพิมพ์ข้อมูลเข้าไปในระบบ สมมติว่าเรามียาเก็บไว้อยู่ 20 ขวด เราเอาไปให้บริการแล้ว เวลาเราพิมพ์ข้อมูลเพื่อเบิกค่าใช้จ่ายคืนจาก สปสช. เราก็จะไม่ได้เงินงบประมาณคืนกลับมาสำหรับส่วนที่เราเอาไปให้กับผู้รับบริการที่เป็น Non UC ณ ตอนนี้คือที่คลินิกพริบตา ยาของเราหมดสต๊อกแล้ว และเมื่อเบิกงบจาก สปสช. ให้กับส่วนที่เป็น Non UC ไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องเอางบจากของโครงการ แผนงานอื่นๆมาเจียดส่วนเพื่อที่จะยังให้บริการประชาชน Non UC ได้ แต่หากเนิ่นนานไปด้วยเหตุปัจจัยทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งอย่างที่ประเมินกัน IHRI ก็คงทำงานกันต่อไปไม่ไหว บางองค์กรก็แก้ปัญหาด้วยการนำงบจากกองทุนโลกมาใช้ไปก่อน ซึ่งก็ได้เงินมาไม่มากเพียงพอ ที่กล่าวมานี้ยังไม่ได้รวมไปถึงโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญาให้บริการของ สปสช. ที่ต้องอธิบายให้ผู้รับบริการเข้าใจว่าจะต้องจ่ายค่ายาเอง ตนก็ทราบมาว่าหลายกรณี ผู้รับบริการไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายเองได้ จึงต้องของดรับการบริการ เท่ากับว่าเป็นสถานการณ์ที่ผลักให้ประชาชนไทยเดินเข้าสู่ความเสี่ยงของเชื้อเอชไอวีมากขึ้น ซึ่ง 30 กว่าปีที่ผ่านมา เราก็พยายามตั้งเป้าที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดและเจ็บป่วยจากเชื้อเอชไอวี (ภาวะโรคเอดส์ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง) ให้เหลือ 0 ภาวการณ์มีผู้ติดเชื้อในปัจจุบันไม่นำไปสู่การแพร่ระบาดใหม่ได้ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และให้ผู้ติดเชื้อแล้วได้เข้าถึงการตรวจเพื่อไปสู่การบำบัดรักษา ได้รับยากดเชื้อเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดต่อไปอีกได้ ใช้ชีวิตเช่นคนปกติ มีเพศสัมพันธ์ได้ 

สหประชาชาติเคยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องยุติเอชไอวีให้ได้ภายใน ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) พวกเราคนทำงาน นักวิชาการเคยคิดว่าได้ แต่สุดท้ายตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นภายใน ค.ศ.2030 เปลี่ยนเป้าหมาย ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ ด้วยการรุกเข้าหาคนในชุมชนให้มากขึ้น เอาคนเสี่ยงในชุมชนมารับการตรวจให้ได้ ตามเป้าหมาย 95-95-95 คือ 95% ของผู้ติดเชื้อ รู้ถึงภาวการณ์ติดเชื้อของตนเอง 95% ต่อมาคือผู้ที่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ ได้รับการรักษาพยาบาล และสุดท้ายคือ 95% ของผู้ที่รับการรักษาภาวะติดเชื้อเอชไอวี สามารถกดเชื้อได้ ถ้าทำได้ตามแผนนี้ เชื่อว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นอีก หมายถึง เรายุติโรคเอดส์ได้ พวกเรามุ่งเป้าหมาย 95-95-95 ให้เป็นจริง งบ P&P คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เป้าหมาย 95% แรก (ผู้ติดเชื้อรู้ว่าตนเองติดเชื้อแล้ว) และรวมไปถึงการมีงบประมาณจัดสรรให้เครือข่ายผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวีที่จะไปทำกิจกรรมเชิงรุกในชุมชน ไปเยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ ดูแลเพื่อนผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวีในการกดเชื้อด้วย ซึ่งเรากำลังจะไปได้ดีในเป้าหมายนี้ แต่พอเจอสถานการณ์งบ P&P ที่ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างครอบคลุมประชาชนทุกคนเช่นนี้ อาจทำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะถดถอย ถ้าสถานการณ์ปีงบประมาณ 2566 ยังเป็นเช่นนี้ เป้าหมายที่เราจะตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 1,500,000 คนจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เป้าหมายการให้บริการยา PreP ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 150,000 คน ปีที่แล้ว เราพยายามแต่ก็ให้ได้จริงก็ไม่ถึง 20,000 คน ยิ่งมาเจอแบบตอนนี้ เราจะตั้งเป้าให้ได้มากกว่านี้ หรือว่าหวังแค่ให้ได้ถึง 10,000 คนก็คงเป็นไปไม่ได้ ที่บอกว่า หาก พรฎ. ผ่านแล้ว งบประมาณก็จะกลับมาคืนในส่วนที่พวกเราหาทุนทางอื่นมาหมุนใช้ไปก่อนแล้วและยังอาจต้องหมุนกันต่อไป ความเป็นจริงคือ เราก็ไม่ได้มีทุนรอน ทรัพยากรที่จะแบกรับภาระได้ขนาดนั้น หากเป็นเช่นนี้ ประเทศเราอาจต้องเผชิญปัญหาที่หนักกว่า คือการต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อการรักษาโรคเอดส์ ยังไม่นับรวมผลกระทบทางสังคม อย่างการสูญเสียเรื่องโอกาสการทำงาน ภาวะทางเศรษฐกิจต่างที่ตามมา แทนที่จะจบตั้งแต่การยับยั้งป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีได้ 

ศรัญญา เกตจันทร์ เจ้าหน้าที่ประสานส่งต่อ สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ซึ่งเป็นบริการที่เกิดขึ้นโดยภาคประชาสังคมในการให้คำปรึกษาและประสานงานส่งต่อผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมให้เข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย หรือบริการอื่นๆที่เหมาะสมอย่างการฝากครรภ์ การคุมกำเนิด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นบริการ P&P ที่ สปสช. มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้เช่นเดียวกัน ได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์จากการทำงาน เสียงสะท้อนจากทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการว่า สิทธิการรับบริการP&Pเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอันประกอบด้วย การบริการฝากครรภ์ 5 ครั้งต่อ 1 ครั้งการตั้งครรภ์ (คนละส่วนกับสิทธิของประกันสังคม ที่มีค่าใช้จ่ายให้ย้อนหลัง ภายหลังจากคลอดบุตรแล้ว ในวงเงิน 15,000 บาท) ซึ่งเป็นสิทธิหนึ่งที่ประชาชนไม่ค่อยรู้ สิทธิต่อมาคือสิทธิรับบริการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งอย่างปลอดภัย (Abortion) ในกรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (ซึ่งจะอยู่ในงบประมาณที่ สปสช. ตั้งไว้ให้ 3,000 บาทต่อคน หากรับบริการในโรงพยาบาลของรัฐ) ซึ่งในข้อเท็จจริงคือ ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะให้บริการ หลายกรณีต้องส่งต่อไปสถานพยาบาลอื่นข้ามจังหวัด สิทธิต่อมาคือสิทธิการฝังยาคุมกำเนิด 

ทีนี้ตนในฐานะผู้ให้บริการประสานส่งต่อผู้ที่โทรเข้าสายด่วน 1663 เดิมก็ทราบเพียงว่าในปีงบประมาณ 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่เซ็นอนุมัติงบ  P&P แก่ประชาชน Non UC (หมายถึง ไม่อนุมัติให้นำงบที่ตั้งเอาไว้อยู่แล้วตามแผนปีงบประมาณ ให้สามารถนำออกมาใช้ได้) แต่ก็ยังไม่เห็นภาพว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร จนประมาณช่วง ต.ค. 2565 เริ่มได้ยินเสียงสะท้อนจากประชาชน Non UC ผู้ที่โทรมาขอรับบริการ ที่อาจตั้งครรภ์แล้ว หรือต้องการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ก็จะเจอผลกระทบ เช่น ถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อเอชไอวี หรือเคยได้รับยา PreP ฟรี แล้วอยู่ดีๆ ก็ไม่ได้ ส่วนเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม จนช่วง พ.ย. 2565 เริ่มมีเสียงสะท้อนจากหน่วยบริการเอกชนที่รับกรณีส่งต่อให้มารับบริการการยุติการตั้งครรภ์ ว่าเบิกจ่ายงบจาก สปสช. ผ่านการพิมพ์ข้อมูลบนระบบ E-Claim ไม่ได้ (พิมพ์ส่งไปแล้ว แต่ไม่ได้เงินหรือยากลับมาตามรอบ) ไม่ทราบสาเหตุ เลยต้องขอปรับขึ้นค่าบริการกับทางผู้รับบริการ 

จนเมื่อประมาณไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ก็ได้ทราบว่า สถานบริการยุติการตั้งครรภ์ของรัฐมีการขาดแคลนยาเมตาบอร์นที่ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ โดยการควบคุมของกรมอนามัย ซึ่งจะต้องเบิกผ่านทางกรมอนามัยเท่านั้น สถานพยาบาลต้องขึ้นทะเบียนไว้ วิธีการได้ยามี 2 ทาง ทางแรกคือซื้อผ่านกรมอนามัย กับอีกวิธีคือเก็บสต๊อคยาไว้แล้วทำ E-Claim เพื่อเบิกยากลับคืนมาแทนที่เอาไปให้บริการแล้ว ปรากฏว่าได้ยากลับคืนมาตามจำนวนของผู้รับบริการที่ถือบัตรทอง แต่ส่วนต่างที่ให้แก่ผู้ที่อยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น กรมอนามัยไม่จัดยากลับคืนมาให้สถานพยาบาล อย่างโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีผู้รับบริการ 10 คนในสัปดาห์ ครึ่งหนึ่งเป็น Non UC เท่ากับว่าโรงพยาบาลก็จะขอรับยากลับมาทดแทนได้แค่ครึ่งหนึ่ง เป็นเช่นนี้สะสมมาเรื่อยๆ จนช่วงต้นปี2566 โรงพยาบาลรัฐเริ่มสะท้อนกลับมาทางพวกเราว่า ไม่มียาเหลือให้บริการ หรือไม่ได้รับค่าใช้จ่ายจาก สปสช. จึงต้องขอหยุดให้บริการ บางที่ขอชะลอการให้บริการเพื่อรอดูระบบ เท่ากับว่าจำนวนสถานพยาบาลที่บริการยุติการตั้งครรภ์ได้อันมีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ก็มีที่สามารถให้บริการจริงได้น้อยลงไปอีก ทีนี้โรงพยาบาลรัฐถูก สธ. ขอความร่วมมือว่า ให้ทำการให้บริการดังเดิมไปก่อน โรงพยาบาลก็ต้องให้ความช่วยเหลือไปก่อนโดยแบกรับภาระเอง หรือบางแห่งก็ต้องปฏิเสธการให้บริการไปเลย

ล่าสุดราวๆ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวในจังหวัดที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ แจ้งว่ายาขาดแคลนมาหลายเดือนแล้ว ขาดทั้งยาและเงิน แต่มีผู้ขอรับบริการเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนเกิดเป็นยอดค่าใช้จ่ายคงค้างรอเบิกสะสม จนต้องแจ้งว่าไม่มียาจะให้บริการแล้ว แต่มีคนไข้5รายที่แพทย์ตรวจประเมินแล้วว่าควรได้รับความช่วยเหลือค้างอยู่ พนักงานของโรงพยาบาลแห่งนั้นแจ้งกับตนทางโทรศัพท์ว่า “พี่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น?” คือบุคลากรของรัฐเองก็ยังไม่ทราบว่าเกิดเหตุปัญหางบ P&P ขึ้นมาแล้ว และไม่สามารถรับปากคนไข้ว่ายาจะมาเมื่อไหร่ ในขณะที่เมื่อวันเวลาเดินผ่านไปทุกวันๆ นั้นก็หมายถึงการที่อายุครรภ์ของคนไข้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลต่อเรื่องการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขด้านสุขภาพของคนไข้และข้อกฎหมาย จนต้องประสานงานขอให้สถานพยาบาลเอกชนในเครือข่าย RSA ช่วยส่งยามาให้ยืมใช้ก่อน แล้วค่อยนำยามาคืนภายหลัง คือโรงพยาบาลกำลังต้องดิ้นรนหาทางแก้ปัญหากันเอง และทางส่วนกลางของ สธ. ก็ไม่ได้สื่อสารให้โรงพยาบาลรับทราบถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่อง P&P ด้วย 

และมีกรณีที่เข้ามาในวันนี้ (วันที่จัดรายการ) คนไข้แจ้งว่าหมอวางแผนว่าคนไข้จะต้องได้เข้าเป็น “ผู้ป่วยใน” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือยาหมด เพราะเบิกยากลับมาไม่ได้ สุดท้ายจึงทำได้แค่ตามเรื่องให้ โดยที่ยังให้คำยืนยันที่ชัดเจนไม่ได้ คนไข้อาจจะเลือกได้ว่าจะให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นหรือไม่ ตอนนี้ในส่วนของคนไข้ที่รับบริการในสถานพยาบาลที่แจ้งว่า ขอปรับขึ้นค่าบริการ คนไข้บางคนที่รับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ก็ต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนของเครือข่ายท้องไม่พร้อม ซึ่งก็คือเป็นกองทุนที่จัดตั้งโดยภาคประชาชนเอง ไม่ได้ใช้เงินภาษี รับเงินบริจาคตรงจากประชาชน มาเพื่อให้คนไข้ได้รับบริการตามที่สมควรจำเป็น ซึ่งในช่วง1เดือนที่ผ่านมา มีคนขอความช่วยเหลือจากกองทุนนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ปัญหาเรื่อง P&P สำหรับประชาชน Non UC เวลานี้ ในแต่ละกลุ่มยังมีความซับซ้อนต่างกันไปอีก อย่างเช่นในส่วนบริการวัคซีนสำหรับเด็ก หากเด็กนั้นเป็นบุตรของประชาชนในสิทธิประกันสังคม เด็กก็จะสามารถได้รับสิทธิบริการวัคซีนใน P&P ได้ด้วยสิทธิของตัวเด็กเองที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทันทีที่ถือกำเนิดออกมา แต่ถ้าหากเด็กเป็นบุตรของข้าราชการ เด็กก็จะไม่มีสิทธิรับบริการวัคซีนภายใต้ P&P เพราะถือว่า เป็นบุตรของข้าราชการ ต้องใช้สิทธิเพียงเท่าที่รัฐได้จัดไว้ให้สำหรับบุตรของข้าราชการ เป็นต้น 

ในช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นท้ายรายการ วรภัทรยังได้ย้ำทำความเข้าใจกับแทนคุณ จิตต์อิสระ ในฐานะนักการเมืองว่า ขอให้เข้าใจในประเด็นที่ทาง “ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” กำลังเรียกร้องนั้น ไม่ใช่การขอสิทธิเพิ่ม แต่เป็นการทวงคืนสิทธิที่ประชาชนพึงมีอยู่แล้วตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของ สปสช. และมีอยู่ในแผนงบประมาณปี 2566 อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถนำเอามาใช้ได้ อันเป็นผลจากการที่รัฐมนตรีไม่ทำตามวิธีปฏิบัติเดิม โดยไม่ได้เตรียมแผนแก้ไขปัญหาเอาไว้ และย้ำอีกว่า ความก้าวหน้าในเรื่องการแก้ไขปัญหาเอชไอวีและการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนทั้งสิ้น รัฐบาลในอนาคตจึงควรต้องพิจารณาทบทวนว่า งานส่วนใดที่ภาคราชการไม่สามารถทำเองได้อย่างเต็มที่ในการทำให้สิทธิด้านสุขภาพของประชาชนเกิดผลมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ ก็ควรให้ภาคประชาชนเป็นผู้ให้บริการแทนเต็มรูปแบบ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้และแก้ไขข้อติดขัดในเรื่องกฎหมาย นโยบาย 
    


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net