Skip to main content
sharethis

 

ศาลยกฟ้อง 15 ประชาชน - นักกิจกรรม เหตุชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อปี’63 ไม่ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุ ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่สั่งปรับคนละ 200 จากกรณีปราศรัยบนเวทีโดยไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

22 มี.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (21 มี.ค. 2566) ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในส่วนของผู้ชุมนุม โดยคดีนี้มีจำเลย จำนวน 15 คน ได้แก่ ทักษกร มุสิกรักษ์, ปรัชญา สุรกำจรโรจน์, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, กฤษณะ ไก่แก้ว, ยามารุดดิน ทรงศิริ, พิมพ์สิริ เพ็ชรน้ำรอบ, สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ณัฐพงษ์ ภูแก้ว, ธนชัย เอื้อฤาชา, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, จิรฐิตา ธรรมรักษ์, ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, กานต์นิธิ ลิ้มเจริญ, จักรธร ดาวแย้ม และ ลัลนา สุริโย

ทั้ง 15 คน ถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ฟ้องใน 5 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วย ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะกีดขวางการจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยสิรินทร์ มุ่งเจริญ ยังถูกฟ้องในข้อหาเรี่ยไรในถนนหลวงหรือที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรฯ อีกข้อหาหนึ่ง กรณีถือกล่องขอรับบริจาคเงินจากผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อนำไปใช้ทำกิจกรรมทางการเมือง บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ด้วย

ศาลอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า การชุมนุมที่จะผิดข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น จะต้องเป็นการชุมนุมที่แออัด มีประชาชนจำนวนมาก เป็นสถานที่ปิด จากการเบิกความ ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม อ้างเพียงแค่เห็นจำเลยอยู่ในที่ชุมนุม สลับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย สถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง ไม่มีหลังคาปิด จึงยกฟ้องจำเลยทุกคนในข้อหาดังกล่าว

เช่นเดียวกันที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 15 ร่วมกันชุมนุมในวันเกิดเหตุกีดขวางทางสาธารณะและกีดขวางการจราจร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสิบห้ากระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เห็นว่า จำเลยทุกคนยกเว้นจำเลยที่ 7 (สิรินทร์) ปราศรัยบนเวทีโดยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษาลงโทษปรับคนละ 200 บาท รวมปรับเป็นเงิน 2,800 บาท

นอกจากนี้ ศาลยังพิพากษาปรับจำเลยที่ 7 (สิรินทร์) เป็นเงิน 200 บาท ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 มาตรา 8 และมาตรา 17 เนื่องจากโจทก์มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายขณะสิรินทร์ถือกล่องรับบริจาค และสิรินทร์ยอมรับว่าไม่ได้ขออนุญาตจากกรมการปกครองจริง

ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 4 (จตุภัทร์) เนื่องจากคดีนี้ศาลไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงจำคุก จึงไม่อาจเพิ่มโทษให้ได้ ยกคำขอส่วนนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net