เวทีสภาที่ 3 ชี้นโยบายรัฐผิดพลาดทำ กฟผ. แบกรับหนี้แสนล้าน

เวทีสภาที่ 3 ชี้นโยบายรัฐผิดพลาดทำ กฟผ. แบกรับหนี้แสนล้าน เหตุคาดการณ์การใช้ไฟไม่สมเหตุผล เอื้อเอกชนผลิตเพราะได้ราคาสูง ทำกำลังสำรองไฟฟ้าล้นเกิน ถึง 50 %  ประชาชนแบกรับค่า ft แนะหยุดโรงไฟฟ้าเอกชน คุมราคาซื้อที่ 4 บาทต่อหน่วย พร้อมทบทวนแผน PDP

25 มี.ค. 2566 สภาที่ 3 (The Third Council Speaks) แจ้งข่าวว่าสภาที่ 3 ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดเวทีอภิปรายสภาที่ 3 ออนไลน์ วาระประเทศไทย ว่าด้วย "ค่าไฟแพงและการอนุญาตให้เอกชนผูกขาดพลังงานและการผลิตไฟฟ้า" ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live "สภาที่สาม - The Third Council Speak ผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค (สอบ./ TCC) , นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.), นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการ รณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพแรงงาน กฟผ.

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 กล่าวเปิดงานว่า สภาที่ 1 คือสภาผู้เเทนราษฎร ไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควร ขณะที่ ส.ว.คือสภาที่ 2 ไม่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ประชาชน ดังนั้น สภาที่ 3 จึงตั้งขึ้นมาเป็นเวทีเสนอปัญหาและทางแก้ไขต่อผู้เกี่ยวข้องเเละเพื่อผลประโยชน์ประชาชน เรื่องปัญหาราคาไฟฟ้านักวิชาการก็มองว่ามีการขึ้นค่าไฟแพงเกินจริง เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการคิดราคาที่คิดทุกอย่าง น้ำมันผลิตในประเทศไทยก็คิดมาจากสิงโปร์ แก๊สหุงต้มผลิตอ่าวไทยก็คิดราคามาจากซาอุดีอาระเบีย จึงมีราคาแพง ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า  5 หมื่นเมกกะวัตต์ ในฤดูร้อนที่พีคที่สุดเพียง 3หมื่นเมกกะวัตต์ เพราะฉะนั้นจำนวนที่เหลือ ที่ทำสัญญา Take or pay  ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ทำให้ระชาชนทุกฝ่ายแบกภาระจ่ายเงินเปล่าให้เอกชน

“ปัญหา เกิดจากวางนโยบายการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินจำนวนที่ต้องใช้จริง เป็นความผิดพลาดจากนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธิ์ เวทีวันนี้จึงนำผู้มีความรู้ความเข้าใจมาอภิปรายนำเสนอต่อสังคมและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลไม่ได้อุ้มประชาชนที่ลำบาก อุ้มแต่นายทุน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า เพราะรัฐบาลปล่อยให้เอกชนเอาเปรียบแบบนี้  เอกชนก็ไม่มีธรรมาภิบาล ทำให้ประชาชนลำบาก แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมกรรมยังทนไม่ไหว แล้วประเทศจะอยู่อย่างไร”นายอดุลย์ กล่าว

นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า สภาพของ กฟผ.ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าอีกต่อไปโดยในปี 2566 นี้ กฟผ.มีสัดส่วนเพียง 34-35% ที่เหลือเป็นของเอกชนและยังรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวด้วย ดังนั้น กฟผ.จึงเหลือสัดส่วนการผลิตน้อย ขณะที่ภาคเอกชนผลิตและจัดหาไฟฟ้าได้มากกว่า.กฟผ. กลายเป็นว่า กฟผ.ต้องรับซื้อไฟจากเอกชนแล้วมาขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ก่อนจะขายให้ถึงประชาชน เชื่อว่า ที่ค่าไฟฟ้าแพง มีที่มาจากการเเบ่งงานกันทำและกินผลประโยชน์ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง  เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินในระบบถึง 50 % เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าเอกชนจำนวนมากที่รับรับซื้อในอัตราที่สูงมากบางโรงรับซื้อในราคา 6-10 บาทต่อหน่วย จึงไม่แปลกใจที่ไปคำนวนในค่า ft ค่าไฟในรอบเดือนที่ผ่านมาจึงสูง

"ปัญหาเกิดจากการบริหารไฟฟ้าที่ผิดพลาด โดยใช้หลักการคาดเดาว่าเศรษฐกิจจะโตเท่าใด มีตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ มีสภาพัฒฯคำนวน GDP แล้วนำตัวเลขเหล่านั้นไปคำนวน ว่าประเทศไทยต้องการไฟฟ้าในปริมาณเท่าไหร่ แล้วก็ยัดให้โรงผลิตต่างๆแบ่งสัมปทานกัน เป็นการคาดการณ์หรือพยากรณ์ที่ผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เคยมีการรับผิดชอบ แต่ประชาชนต้องมารับผิดชอบผ่านการจ่ายค่า ft ที่สูงขึ้น มีการแบ่งงานกันทำ แย่งกันกินนอกเหนือจากการที่เขาแถลงข่าวว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น" นายอิฐบูรณ์

นายอิฐบูรณ์ เสนอว่า ภาครัฐต้องจัดการกับการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาแพง โดยอย่าอ้างสัญญาว่าทำไม่ได้ แต่ต้องใช้อำนาจต่อรอง โดยรัฐบาลควรกำหนดเพดานหรือราคากลางในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ซึ่งควรอยู่ที่ราคา 3-4 บาทต่อหน่วย ที่ประชาชนรับได้และตอนนี้รัฐบาลยิ่งมีอำนาจต่อรองเพราะไฟฟ้าล้นระบบอยู่แล้ว โดยสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ 1)รัฐบาลต้องต่อรองหรือสั่งให้โรงไฟฟ้าเอกชนหยุดเดินเครื่อง เเละจัดการภาระหนี้ "แสนล้าน" ของ กฟผ.จากซื้อก๊าซ ปตท.โดยขอยืดเวลาการชำระหนี้ หรือทำในลักษณะกรณีที่กระจายหนี้จาก ปตท.ให้รัฐวิสาหกิจด้วยกันในอดีต โดยนำมาใช้กับรัฐวิสาหกิจอย่างไฟฟ้านี้ได้ 2.) ใช้แนวทางภาครัฐเจรจายืดหนี้กับปตท.ออกไปเช่นกัน ในกรณีที่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าได้รับผลกระทบหรือเห็นว่าไม่เป็นธรรมจากการที่รัฐกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 4 บาทต่อหน่วย

ด้านนางณิชารีย์ กล่าวว่า กฟผ.ไม่ใช่ผู้ผลิตหลักแต่พยายามคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนและแบกรับภาระหนี้สินมาโดยตลอดและค่าไฟฟ้าที่แพง เกิดจากมีกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูง เนื่องจากมีการเอื้อให้โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ดูสัดส่วนหรือความต้องการไฟฟ้าที่เหมาะสม ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้านั้นเอกชนมีถึง 70% ขณะที่ กฟผ.มีราว 30% เท่านั้นและในส่วนเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าจากแก๊สและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.ต้องรับซื้อจากเอกชนหน่วยละเกือบ 10 บาท แต่ กฟผ.ไม่มีอำนาจกำหนดราคาไฟฟ้า ต้องทำตามนโยบายรัฐบาลและคำสั่งของหน่วยงานที่กำกับดูแล

นางณิชารีย์ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ดูแลค่าไฟฟ้าให้ประชาชนผ่านหน่วยงานรัฐอย่าง กฟผ. และกฟผ.ไม่มีอำนาจจัดหาก๊าซธรรมชาติในการนำมาผลิตไฟฟ้าเองได้ต้องซื้อจากหน่วยงานอื่นเท่านั้น แต่รัฐบาลกลับเอื้อประโยชน์ให้โรงไฟฟ้าเอกชนจำนวนมาก ทำให้กำลังไฟฟ้าสำรองสูง ประชาชนจึงมีภาระค่าไฟฟ้า  นอกจากนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP)ของรัฐบาลยังไม่สอดคล้องและยืดหยุ่นในการวางแผนคือไม่กำหนดประเภทเชื้อเพลิงในการนำมาผลิตไฟฟ้า และยังมีการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่โดยไม่คำนึงถึงความต้องการไฟฟ้าที่แท้จริง

"สหภาพแรงงานกฟผ.จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติหรือทบทวนสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน รวมถึง การทบทวนยุติอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งใหม่อีก ,ทบทวนแผน PDP ซึ่งเชื่อว่า หากแผน pdp นี้ผ่านจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกดูได้จากเชื้อเพลิงที่ควบคุมไม่ได้ ต่างจากของกฟภ.ที่มีโรงผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายในการผลิตไฟฟ้า พร้อมกันนี้ขอให้หน่วยงานที่กำกับดูแลหันกลับมาทำหน้าที่ตัวเองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนด้วย" นางณิชารีย์  กล่าว

ส่วน นายปรีชา ระบุว่าการที่ไทยมีไฟฟ้าสำรองเยอะๆ ราคาไฟฟ้าควรจะถูกลงตามหลักเศรษฐศาสตร์ demand supply แต่ราคาไฟฟ้ากลับแพง เนื่องจากมีกฎเกณฑ์บังคับ อย่างสัญญาหรือข้อผูกพันกับเอกชนต่างๆ  มีการพยาการณ์ตั้งเป็นนโยบายเทียมแล้วทำสัญญาภาครัฐกับภาคเอกชน กลายเป็นสัญญาผูกพัน เมื่อกำหนดไฟฟ้าสำรองไว้มาก กฟผ.ก็ต้องมารับภาระค่า ft ถ้าไม่รับภาระหนี้ "แสนกว่าล้านบาท" ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะสูงขึ้นแน่นินและประชาชนจะเดือดร้อน ซึ่งทั้งหมดมาจากนโยบายที่ผิดพลาดแต่ประชาชนต้องมารับกรรมและคนที่ได้ประโยชน์คือคนกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนนั่นเอง

นายปรีชา ย้ำว่า ปัจจุบันจะเห็นการเริ่มมีการทำลายความเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ.เพื่อเอาไปให้กับนายทุน ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ หยุดโรงไฟฟ้าเอกชนหรือหยุดสนับสนุนการสร้างและรับซื้อไฟฟ้าเอกชนไว้ก่อน แล้วกลับมาดูความมุ่งหมายของรัฐสิสาหกิจกับเอกชน ซึ่งแตกต่างกันขณะที่ปัจจุบันภาครัฐเองพยายามใช้ภาคเอกชนทำลายรัฐวิสาหกิจอย่างเช่นที่ทำร้ายองค์การโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการทำลายผลประโยชน์ประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท