Skip to main content
sharethis

วงอภิปรายสภาที่ 3 ชี้ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษา ลดภาระแพทย์และแก้โรคสมองไหลได้  ปลื้มมีบางพรรคนำไปเป็นนโยบาย หวังปฏิรูประบบสาธารณสุขให้ดีขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย  พร้อมเสนอ สปสช.สนับสนุนร้านขายยาตามชุมชน ให้ชาวบ้านใช้ผ่านบัตรทองได้  

18 มิ.ย. 2566 สภาที่ 3 จัดเวทีสภาที่ 3 Speak วาระประเทศไทย เรื่อง "ระบบสุขภาพปฐมภูมิตามรัฐธรรมนูญ - การแก้สมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์" ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live "สภาที่สาม - The  Third Council Speaks" กล่าวเปิดประเด็นโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายแพทย์ (นพ.) ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้ริเริ่มสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิตามรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน , นายกิตติพันธุ์ ศิริคุปต์เกษ จาก Alliance Intertrade , นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร จากบริษัท โค้ดดิ้ง ฮับ จำกัด (Coding Hub) ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่น เครือ Huawei และนายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี

โดยนพ.ชูชัย กล่าวว่า ได้ผลักดันเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน จนสามารถบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กระทั่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระบบสุขภาพปฐมภูมิออกมารองรับแล้ว รวมทั้งการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรองรับในบางโรงพยาบาลชุมชน จึงยืนยันว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนสังคมและประเทศ ไม่ใช่ของข้าราชการประจำหรือนักการเมือง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทพยายามทำงานคู่ขนานในส่วนที่ติดระเบียบระบบราชการ รวมทั้งการส่งเสริมด้วยการเชื่อมต่อกับสปสช.ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสานกับ สสส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) รวมทั้งองค์กร เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ตลอดจนมีพรรคการเมืองหลายพรรคให้ความสนใจและมี หนึ่ง พรรคการเมืองได้สังเคราะห์นำมาเป็นนโยบายด้วย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งก็ให้ความสนใจที่จะดำเนินการเรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขหรือสุขภาพปฐมภูมิและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในระดับพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ

“ส่วนการแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ลาออกเนื่องจากมีงานหนักนั้นเป็นเรื่องระยะยาว แต่ระยะสั้นที่เห็นผลบ้างแล้วคือ มีแพทย์จบใหม่หันมาสนใจมาเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น จะเห็นว่าหากดำเนินการเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิเชิงรุกเข้าไปถึงครัวเรือน ถึงชุมชน ให้เกิดผลเป็นจริงจะช่วยลดภาระงานของโรงพยาบาลได้อย่างมาก อีกทั้งต้องเร่งผลิตนักบริบาลท้องถิ่น ซึ่งตนได้เสนอพรรคการเมืองบางพรรคให้ผลิตนักบริบาลท้องถิ่น 100,000 คนต่อปีที่จะสามารถดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงได้ 1 คนต่อ 3 ครัวเรือน ได้ประมาณ 200,00 ครอบครัวในเบื้องต้น ให้งบประมาณไม่เกิน หนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี รวมทั้งการเร่งยกระดับร้านยาที่มีคุณภาพ พร้อมเภสัชกรปฐมภูมิ ทั่วประเทศประมาณ 15,000 ร้าน ทางเลขาธิการสป.สช. นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารีย์ พร้อมที่สนับสนุนร้านยาคุณภาพทั่วประเทศโดยคนไทยเข้าไปรับยาจากร้านยาคุณภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ทางนายกสภาเภสัชกรรมรศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เภสัชกรปฐมภูมิมีบทบาทที่สำคัญมากในการลดผู้ป่วยที่จะเข้าโรงพยาบาลได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนต่อปี”

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า  น่ายินดีที่มีพรรคการเมืองบางพรรคให้ความสนใจนำไปเป็นนโยบาย ที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคนได้ และหากดำเนินการในระดับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการเร่งผลิตนักบริบาลท้องถิ่นร่วมกับ อปท. รวมทั้งที่มีค่าตอบแทนหรือเงินเดือนประมาณ 12,000 บาท เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากชุมชนทั่วประเทศ  ส่วนการฝึกอบรมระยะสั้น( 72ชั่วโมงต่อรุ่น) ทั่วประเทศ ใช้เวลาเพียง 6-9 เดือนสามารถสร้างบุคลากรนักบริบาลท้องถิ่นได้ 100,000 อัตรา ดูแลประชากรได้ 200,000-500,000 ครอบครัวทั่วประเทศ ที่สำคัญผู้สูงอายุ ครอบครัวและญาติจะมีความสุข แม้แต่การต้องสิ้นใจในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็จะจากไปสู่สุคติเพราะได้สิ้นใจที่บ้านใกล้ชิดลูกหลานและญาติมิตรในวาระสุดท้ายที่ผู้ป่วยล้วนปรารถนา และในขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิรูประบบอื่นๆได้ก็ควรจะปฏิรูประบบสุขภาพที่สามารถทำได้และเห็นผลแล้วให้สมกับที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่ามีระบบสุขภาพที่ดีลำดับต้นๆของโลก

ด้านนพ.สันติ กล่าวว่า ระบบสุขภาพปฐมภูมิ มีความสำคัญและเป็นทางออกด้านสาธารณสุขของไทย เพราะหากระบบนี้มีความเข้มแข็งปัญหาหลายอย่างจะคลี่คลายโดยเฉพาะคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยและความพึงพอใจในการใช้บริการ เพราะนอกจากจะให้ความสำคัญและเข้าใจความเป็นมนุษย์แล้วยังส่งเสริมและป้องกัน ทำให้คนไข้เข้มแข็งดูแลตัวเองได้ภายใต้การแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานร้อยเรียงไปกับอาสาสมัครต่างๆ ให้ผู้ป่วยมีแพทย์ประจำตัวและมีระบบการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่างผลดีที่จะเกิดกับบุคคล 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการได้ยาก ยางผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ ราว 2 แสนคนทั่วประเทศและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่ต้องมีการเจาะเลือดและการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต และวัดค่าหรือการตรวจพื้นฐานอื่นๆที่จำเป็น ให้ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวสามารถตรวจวัดได้เองและส่งข้อมูลเข้าโรงพยาบาล มีหน่วยปฐมภูมิคอยประสานงานหรือมอนิเตอร์เมื่อถึงเวลานัดพบแพทย์ก็สามารถใช้ระบบออนไลน์ได้ ซึ่งแพทย์จะประเมินรายการได้ใกล้เคียงกับการเจอผู้ป่วยจริงๆโดยที่คนไข้ไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล 2. ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่หวังจะใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายกับครอบครัว โดยไม่ต้องมาตายที่โรงพยาบาล ซึ่งสามารถตายดีที่บ้านได้  3. โรคเบาหวานและโรคความดันซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลมีภาระงานในกลุ่มนี้มากกว่าครึ่ง โดยเฉพาะในอนาคตถ้าออกแบบการแบบใหม่ดังกล่าวโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้จำนวนหนึ่งแทบไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล


นพ.สันติ กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังบัญญัติเรื่องแพทย์วิทยาศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นระบบสาธารณสุขเชิงรุก หากดำเนินการได้จะช่วยชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการดูแลอย่างอมรวมตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน อีกทั้งร้านขายยาทั่วประเทศราว 15,000 แห่ง ถ้าระบบปฐมภูมิทำได้สมบูรณ์ ประชากร 40% ที่เข้าร้านขายยานั้น ถ้าพัฒนาระบบให้ประชาชนเข้าร้านยาโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นคนจ่ายให้ 180 บาทต่อราย โดยมีเภสัชกร อธิบายการใช้ยาอย่างมีคุณภาพ เชื่อว่าจะลดความแออัดของโรงพยาบาลได้อย่างน้อย 2 ล้านคนต่อปี ยืนยันว่าจะลดภาพ 3 ที่เห็นคนไข้ติดเตียงต้องเหมารถมาโรงพยาบาลจนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว พร้อมยามว่าการชำนาญเชิงรุกจะครอบคลุมทั้งกรณีผู้ป่วยแพ้กดทับ ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดไส้ติ่งและอื่นๆที่สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อสม.และนักบริบาลท้องถิ่นดูแลร่วมกัน

ขณะที่นายจีรวุฒิ ระบุว่า องค์ประกอบผู้ใช้ซอฟแวร์ช่วยในระบบสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาล แพทย์พยาบาล อสม. นักบริบาล รวมทั้ง ผู้ป่วยและญาติ มี application สำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่จะเป็นแบบ real time เมื่อได้รับข้อมูลจากผู้ป่วย มีการวอร์รูม และส่วนที่ 2 คือระบบ cloud ที่เชื่อมกับเว็บ application ของโรงพยาบาลกับผู้ป่วยซึ่งจะเก็บข้อมูลทั้งหมดเพื่อตรวจสอบและดูย้อนหลัง ส่วนที่ 3 คืออุปกรณ์ตรวจสุขภาพ ที่ใช้มือถืออ่านค่าตัวเลขหรือให้อสมคีย์ข้อมูลผ่านระบบ รวมทั้งการใช้ wireless หรือระบบ bluetooth เพื่ออ่านข้อมูลส่งขึ้น cloud แบบอัตโนมัติ ที่สามารถลดความยุ่งยากสร้างความสะดวกในการนำส่งข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดได้มีการทดลองใช้แล้วในบางโรงพยาบาลพบว่ามีความปกติและมีประสิทธิภาพดี

ส่วนนายกิตติพันธุ์ ระบุว่า ปัจจุบันมี application ใช้รองรับการตรวจและรักษาผู้ป่วย แล้วผู้ป่วยหรือญาติผู้ดูแลสามารถดำเนินการเองได้ผ่านระบบเทคโนโลยี 5g ทำให้ส่งผ่านข้อมูลได้เร็วขึ้นมากช่วยเติมเต็มความจำเป็นของแพทย์วิทยาศาสตร์ครอบครัว ซึ่งผู้เกี่ยวข้องและผลักดันเรื่องนี้ได้มีการอบรมถ่ายโอนความรู้ให้กับศูนย์เด็กเล็ก ที่เทคโนโลยีดังกล่าวใช้ได้ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์โดยเห็นว่าควรขยับการอบรมในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาและเติมเต็มระบบสาธารณสุขและการศึกษาที่ควรเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก

“ส่วนการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์หรือ "สมองไหล" ที่พูดจบแพทย์ไปทำงานสวนอื่นและเป็นปัญหาของประเทศที่ผ่านมานั้น เห็นว่ามีแพทย์จบใหม่ราว 3,000 คนต่อปีมี 2400 คนที่อยู่ในระบบอีกประมาณ 600 คนเปลี่ยนอาชีพ เพราะวงการสาธารณสุขไม่ตอบโจทย์และแพทย์ทำงานหนักเกินไปไม่คุ้มกับค่าตอบแทน โดยยืนยันว่าทางบริษัทเห็นความสำคัญของปัญหานี้และมองว่าควรจะมีวิทยาการหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้หมอไม่ต้องทำงานหนักเกินไปหรือให้ การทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวที่สมดุลกัน และโรงพยาบาลบางแห่งได้ดำเนินการแล้วยืนยันว่ามีประสิทธิภาพดี พร้อมกันนี้สนับสนุนให้หน่วยงานสาธารณสุขทำโครงการร้านขายยาให้เป็นเซ็นเตอร์โดยให้ประชาชนใช้บัตรประกันสุขภาพเข้าร้านขายยาได้เลย เพียงใช้เทคโนโลยีลิงค์กับหน่วยงานภาครัฐ “

นายกิตติพันธุ์ กล่าวยืนยันว่า การอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยทางการแพทย์เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของไทยได้ โดยหน่วยงานกลางในกรุงเทพฯสามารถเทรนนิ่งออนไลน์หรืออบรมออนไลน์เจ้าหน้าที่บริบาล อสม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยในส่วนงานระดับจังหวัดที่สามารถอัพสกิลหรือรีสกิลบุคลากรได้ จะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศพัฒนาไปได้อีกหลายขั้น

ทางด้าน นายอดุลย์  กล่าวว่า โชคดีมีหลายจังหวัดอยากจะดำเนินการเรื่องสุขภาพผสมภูมิและแพทย์วิทยาศาสตร์ครอบครัว โดยเฉพาะจังหวัดพะเยาที่ให้ความสนใจพยายามร่วมมือกับ อปท. โดยจังหวัดพะเยามีประชากรไม่มากนักซึ่งน่าจะนำร่องได้ เพราะหากรอให้รัฐบาลดำเนินการก็ไม่ทราบว่าจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน ขณะเดียวกันตนก็ได้พูดคุยกับพรรคพวกที่พร้อมสนับสนุนทุนทรัพย์ในการจัดหาเครื่องมือ ภายใต้ สปสช. และโรงพยาบาลท้องถิ่น ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลด้วย ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งตนมีประสบการณ์ตรงในฐานะที่เป็นผู้ชราภาพและมีโรคประจำตัวอยู่โดยวาระสุดท้ายก็หวังที่จะ "ตายดี" หรือหากถึงวาระสิ้นใจก็อยากอยู่กับลูกหลานและญาติๆไม่ต้องไปนอนสิ้นใจที่โรงพยาบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net