Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ เผยผลสำรวจ 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' คะแนนนิยมนำในภาคใต้ ส่วน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ก้าวไกล-ประชาชาติ-เพื่อไทย นำ

26 เม.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (26 เม.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เรื่อง ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 

ผลการวิจัยพบว่า

1. ทุกกลุ่มเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ ตอบรับความนิยมต่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่สูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ ได้แก่ พรรคก้าวไกล เพื่อไทย และประชาชาติ โดยพรรคประชาชาติมีความนิยมน้อยมากในเขตสิบจังหวัดภาคใต้ แต่มีมากในเขตสี่จังหวัดชายแดนใต้ สามพรรคนี้มีคะแนนนิยมร่วมกันอยู่ราวร้อยละ 50 ส่วนพรรคสืบทอดอำนาจ คสช. และพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนนิยมรวมกันอยู่ราวร้อยละ 20 สำหรับคะแนนเสียงที่เหลือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งน่าจะตัดสินใจกันโค้งสุดท้าย

2. คนสิบจังหวัดภาคใต้ ตัดสินใจจะเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 ก้าวไกล 34.6% อันดับที่ 2 เพื่อไทย 19.0% อันดับที่ 3 รวมไทยสร้างชาติ 7.7% อันดับที่ 4 ประชาธิปัตย์ 6.7% อันดับที่ 5 พลังประชารัฐ 3.3% อันดับที่ 6 ภูมิใจไทย 2.4% ที่เหลือได้น้อยกว่า 1% มีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ 16.8% และไม่แสดงความเห็น 6.4%

บทวิเคราะห์เบื้องต้น : สิบจังหวัดภาคใต้ ปีเลือกตั้งนี้ 2566 มีประชากรรวม 7.014 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากปีเลือกตั้ง 2562 ที่มี 7.042 ล้านคน แต่มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น 8 คน จาก ส.ส. ปี 2562 มีได้ 37 คน เพิ่มขึ้นเป็น 45 คน (ทั้งนี้เพราะปี 2562 ส.ส. เขตมี 350 คน ปีนี้ 2566 มี ส.ส. เขต 400 คน) ดังนั้น จังหวัดที่มี ส.ส. เพิ่มขึ้น จะมีขนาดพื้นที่เขตเลือกตั้งเล็กลง และนี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเบียดแทรกของพรรคการเมืองและนักการเมืองใหม่ๆ นอกเหนือจากปัจจัยของกระแสการแข่งขันหาเสียงทางการเมืองระดับชาติ

จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. เท่าเดิม ได้แก่ ชุมพร 3 คน พัทลุง 3 คน ระนอง 1 คน

จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่ กระบี่ เพิ่ม 1 คน เป็น 3 คน ตรัง เพิ่ม 1 คน เป็น 4 คน พังงา เพิ่ม 1 คน เป็น 2 คน ภูเก็ต เพิ่ม 1 คน เป็น 3 คน สุราษฎร์ธานี เพิ่ม 1 คน เป็น 7 คน สงขลา เพิ่ม 1 คน เป็น 9 คน นครศรีธรรมราช เพิ่ม 2 คน เป็น 10 คน

ปี 2562 คนภาคใต้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 78.08 การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบว่าจะมาเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 91.3

คำถามของนักวิจัย คือ ปี 2562 ป้อมค่ายกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นป้อมค่ายสำคัญของพระประชาธิปัตย์แตกแล้วนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ 2566 ป้อมค่ายอันแข็งแกร่งในภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ระดับเขตเลือกตั้ง จะยังรักษาไว้ได้หรือไม่ และพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย จะสามารถเจาะทะลวงที่นั่งของพรรคร่วมรัฐบาลในสิบจังหวัดภาคใต้นี้ได้หรือไม่

3. คนสี่จังหวัดชายแดนใต้ ตัดสินใจจะเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 ก้าวไกล 20.1% อันดับที่ 2 ประชาชาติ 16.6% อันดับที่ 3 เพื่อไทย 13.7% อันดับที่ 4 พลังประชารัฐ 5.6% อันดับที่ 5 ประชาธิปัตย์ 4.1% อันดับที่ 6 ภูมิใจไทย 3.1% อันดับที่ 6 รวมไทยสร้างชาติ 2.7% ที่เหลือได้น้อยกว่า 1% มีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ 23.5% และไม่แสดงความเห็น 7.8%

บทวิเคราะห์เบื้องต้น : สี่จังหวัดชายแดนใต้ ปีเลือกตั้งนี้ 2566 มีประชากรรวม 2.43 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีเลือกตั้ง 2562 ที่มี 2.35 ล้านคน มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น 2 คน จาก ส.ส. ปี 2562 มีได้ 13 คน เพิ่มขึ้นเป็น 15 คน (ทั้งนี้เพราะปี 2562 ส.ส. เขตมี 350 คน ปีนี้ 2566 มี ส.ส. เขต 400 คน) ดังนั้น จังหวัดที่มี ส.ส. เพิ่มขึ้น จะมีขนาดพื้นที่เขตเลือกตั้งเล็กลง และนี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเบียดแทรกของพรรคการเมืองและนักการเมืองใหม่ๆ นอกเหนือจากปัจจัยของกระแสการแข่งขันหาเสียงทางการเมืองระดับชาติ

จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. เท่าเดิม ได้แก่ ยะลา 3 คน สตูล 2 คน

จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปัตตานี เพิ่ม 1 คน เป็น 5 คน นราธิวาส เพิ่ม 1 คน เป็น 5 คน

ปี 2562 คนภาคใต้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 78.08 การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบว่าจะมาเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 93.9

คำถามของนักวิจัย คือ พรรคประชาชาติจะยังคงรักษาที่นั่งไว้ได้หรือไม่ และพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย จะสามารถเจาะทะลวงที่นั่งของพรรคร่วมรัฐบาลในสี่จังหวัดนี้ ได้หรือไม่

4. คะแนนนิยมของประชาชนต่อพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้รวมสี่จังหวัดชายแดนใต้ มีร้อยละ 5.60 และในระดับประเทศมีร้อยละ 2.76 ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจคะแนนนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์ในระดับประเทศของสำนักนิด้าโพล (เมษายน) ได้ร้อยละ 4.50 มติชน-เดลินิวส์โพล (ครั้งที่ 1) ได้ร้อยละ 1.83 ไทยรัฐโพล (ครั้งที่ 2) ได้ร้อยละ 2.38 เนชั่นโพล (21 เมษายน) ได้ร้อยละ 3.50

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566

ภาคใต้ (10 จังหวัด) ตอบแบบสอบถาม 794 คน

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 419 คน (52.8%) ชาย 350 คน (44.1%) เพศหลากหลาย 25 คน (3.1%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 363 คน (45.7%) Gen Y (27-44 ปี) 184 คน (23.2%) Gen X (44-58 ปี) 162 คน (20.4%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 85 คน (10.7%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 79 คน (9.9%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 190 คน (23.9%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 87 คน (11.0%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 389 คน (49.0%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 49 คน (6.2%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 308 คน (38.8%) เกษตรกร 138 คน (17.4%) พนักงานเอกชน 52 คน (6.5%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 52 คน (6.5%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 119 คน (15%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 78 คน (9.8%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 23 คน (2.9%) อื่นๆ 24 คน (3.0%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 190 คน (23.9%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 169 คน (21.3%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 212 คน (26.7%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 110 คน (13.9%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 46 คน (5.8%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 67 คน (8.4%)

สี่จังหวัดชายแดนใต้ ตอบแบบสอบถาม 588 คน

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 289 คน (49.1%) ชาย 290 คน (49.3%) เพศหลากหลาย 9 คน (1.5%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 184 คน (31.3%) Gen Y (27-44 ปี) 159 คน (27.0%) Gen X (44-58 ปี) 158 คน (26.9%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 87 คน (14.8%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 45 คน (7.7%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 81 คน (13.8%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 50 คน (8.5%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 312 คน (53.1%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 100 คน (17%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 121 คน (20.6%) เกษตรกร 51 คน (8.7%) พนักงานเอกชน 49 คน (8.3%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 58 คน (9.9%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 59 คน (10%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 181 คน (30.8%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 45 คน (7.7%) อื่นๆ 24 คน (4.1%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 84 คน (14.3%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 154 คน (26.2%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 112 คน (19.0%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 73 คน (12.4%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 59 คน (10.0%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 106 คน (18%)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net