Skip to main content
sharethis

'พิธา' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำจุดยืนแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมาหลังการรัฐประหารปี’64 ยึดหลักฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน เตรียมเปิดการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อนำเมียนมาไปสู่สันติภาพ และความมั่นคง เผยเตรียมตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน ดูแลปัญหานี้โดยเฉพาะ 

 

21 มิ.ย. 2566 ทีมสื่อก้าวไกล รายงานวานนี้ (20 มิ.ย.) ระบุว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงจุดยืนต่อการแก้ไขวิกฤตการณ์เมียนมาหลังการทำรัฐประหารของ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา 5 ข้อ 

พิธา ระบุว่า เขาและทีมงานติดตามสถานการณ์ปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมาอย่างใกล้ชิด แต่มีข้อกังวลบางประการ โดยเฉพาะจุดยืนของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ในเมียนมา  

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลขอย้ำถึงแนวคิดและจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ดังต่อไปนี้

1. การยึดมั่นในความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality): เราเชื่อในการดำเนินการที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางซึ่งจะนำไปสู่การหาทางออกในทางการเมืองต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่นำโดยอาเซียน และขอย้ำอย่างหนักแน่นถึงความสนับสนุนต่อการดำเนินการต่างๆ ในกรอบอาเซียน ทั้งโดยประธานอาเซียนในอดีตและในปัจจุบัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในฉันทามติห้าประการ (5PC) ทั้งนี้ ไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่สมาชิกประเทศอาเซียน และสนับสนุนหลักการและคุณค่าด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน

2. ผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของเมียนมา: รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ จะเสริมสร้างผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของอาเซียนและเพื่อนบ้านของเมียนมาต่อสถานการณ์ในเมียนมา กล่าวคือการเห็นเมียนมาเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และมีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในฐานะสมาชิกของอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศที่มีเขตแดนติดกับเมียนมาต่างปรารถนาและเห็นพ้องกัน รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจะประสานงานอย่างใกล้ชิดและปรึกษาหารือเป็นประจำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในประเด็นนี้ทุกฝ่าย อันเป็นหนทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

3. การเปิดพื้นที่เจรจาและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมเพื่อการรักษาเสถียรภาพ: เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการเปิดพื้นที่เจรจา และสร้างการมีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการหาทางออกต่อสถานการณ์เมียนมา โดยการเปิดพื้นที่เจรจาและสร้างการมีส่วนร่วมนั้นต้องครอบคลุม หลากหลายมิติ และเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามครรลองทางการทูต เพื่อนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพของเมียนมาตามวัตถุประสงค์และหลักการในกรอบอาเซียน ตามแนวทางที่ผู้นำอาเซียนเห็นชอบในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องขององค์การสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติในการหาทางออกทางการทูตผ่านการไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกทางการเมืองต่อสถานการณ์ในเมียนมา

4. การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์: ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ จะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในเมียนมาและในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นด้านมนุษยธรรมควบคู่ไปกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยการดำเนินงานภายในประเทศไทย พรรคก้าวไกลมีแนวคิดเกี่ยวกับการหาสมดุลยภาพระหว่างจุดเชื่อมต่อด้านมนุษยธรรมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ (Humanitarian-Economic Nexus) ซึ่งเป็นทั้งแนวทางที่ไม่เพียงแต่จะใช้รับมือกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม แต่จะสร้างสร้างโอกาสให้กับทรัพยากรมนุษย์ที่อยู่ในพิ้นที่เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย ในระดับภูมิภาค รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล จะสนับสนุนความพยายามในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยการไม่เลือกปฏิบัติและครอบคลุม

5.ความท้าทายเรื่องพม่าหลากหลายมิติ: พรรคก้าวไกลตระหนักดีว่า ความท้าทายเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาครอบคลุมหลากหลายมิติ เช่น ความมั่นคงทางพลังงาน การหลังไหลเข้ามาของผู้อพยพ การค้าอาวุธเถื่อน การค้ามนุษย์ ปัญหาฝุ่นควัน อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการลักลอบขนยาเสพติด รวมไปถึงปัญหาการสู้รบในเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา (Myanmar Inter-Agency Task Force) โดยเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยคณะทำงานเฉพาะกิจนี้จะทำหน้าที่บูรณาการประสานงานการทำงานระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในไทยเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาที่สามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อเผชิญความท้าทายหลากหลายมิติจากสถานการณ์ในเมียนมา

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้แจงหลัง ดอน ปรมัติถ์วินัย รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศในอาเซียนเข้าร่วมประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อ 19 มิ.ย. 2566 โดยการเชิญครั้งนี้มี 'ตันฉ่วย' ตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ของกองทัพเมียนมา เข้าร่วมด้วย

นอกจากประเทศเมียนมาแล้ว ยังมีประเทศลาว กัมพูชา จีน อินเดีย เวียดนาม และบรูไน ขณะที่ประเทศที่ไม่เข้าร่วมการประชุมนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ประธานอาเซียนปัจจุบัน มาเลเซีย และสิงคโปร์

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เปิดเผยสถิตินับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 จนถึงวันที่ 20 มิ.ย. 2566 มีผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมือของกองทัพเมียนมา จำนวนอย่างน้อย 3,679 ราย มีผู้ถูกจับกุมจำนวนอย่างน้อย 23,386 ราย และมีผู้ที่ยังถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 19,044 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net