Skip to main content
sharethis

‘เก็บตก’ วันแถลงนโยบาย ครม. เศรษฐา 1 'ศุภณัฐ' สส.ก้าวไกล อภิปรายนโยบาย สธ. กว้าง และไม่ชัดเจน ไม่ระบุรายละเอียด พร้อมแจงปัญหาของบุคลากรสาธารณสุข ขาดแคลนกำลังคน ภาระงานล้นมือ หมอไหลออกจากระบบ ค่าตอบแทนน้อย ชี้หากรักษาบุคลากรไม่ได้ ระวังนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค จะเป็นแค่คำโฆษณา

 

14 ก.ย. 2566 ประชาไท เก็บตกวันแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี นำโดยเศรษฐา ทวีสิน เมื่อ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือการอภิปรายของ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคก้าวไกล ที่วิจารณ์นโยบายแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากร ภาระงานล้นมือ ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม สิทธิด้านแรงงาน และบุคลากรทางการแพทย์ 

ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ เขต 9 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ฟังแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แล้วรู้สึกผิดหวัง เพราะนโยบายสาธารณสุขชุดนี้เขียนกว้าง กลวง และไม่ชัดเจน นโยบายกว่า 14 หน้า มีระบุว่า ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ รวม 7 คำสั้นๆ จนต้องถามว่านี่คือคำมั่นจากรัฐบาล แต่ดูแล้ว เหมือนตั้งใจใส่ เพื่อให้จบๆ ไม่มีรายละเอียดหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ไม่มีเรื่องรายได้ หรือสวัสดิการที่ชัดเจน การแก้ไขกฎระเบียนต่างๆ และ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น สิ่งที่ สส.พรรคก้าวไกล อยากให้ทางภาครัฐเน้นความสำคัญมากที่สุดคือการแก้ไข ระบบสาธารณสุข ลดภาระงานบุคลากร และปลดล็อกสิทธิและสวัสดิการให้กับพวกเขา

"บุคลากรสาธารณสุขคือหัวใจ และเป็นฟันเฟืองหลัก ที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถเดินต่อได้ แต่เชื่อไหมว่า บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานหนักเกินไป ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ไหลออกจากระบบ” ” ศุภณัฐ กล่าว 

นอกจากนี้ ศุภณัฐ กล่าวชี้แจงถึง 4 ปัญหาถึงสิทธิและสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย ภาระงานที่หนักเกินไป และการขาดแคลนบุคลากร ภาระงานล้นมือ เรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการอันน้อยนิด กฎระเบียบ กพ. และสุดท้าย สังคมสูงวัยในยามที่บุคลากรขาดแคลน

ไทยขาดกำลังคน หมอ 1 คน ดูแล ปชช. 3 พันคน หนักสุดคือพื้นที่ ตจว.-ชุมชน

ศุภณัฐ ระบุต่อว่า ปัญหาแรกคือการขาดแคลนบุคลากร และภาระงานที่หนักเกินไป ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาคนไข้  

ศุภณัฐ ระบุต่อว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ราว 66,000 คน แต่ทำงานจริงเพียง 5-6 หมื่นคนเท่านั้น ส่วนแพทย์ในระบบของรัฐอยู่ที่ 24,000 คน แต่แพทย์ต้องดูแลคนไทย และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีประชากรอยู่ในระบบรวม 70 ล้านคน ขณะที่มีผู้ป่วยนอกเข้า OPD ประมาณ 300 ล้านครั้งต่อปี และ IPD นอนโรงพยาบาลกว่า 33 ล้านวัน 

สส.ก้าวไกล ระบุต่อว่า เมื่อมาดูที่ต่างประเทศ เขาวัดศักยภาพการให้บริการจากตัวเลขหมอต่อประชากร ซึ่งองค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า หมอ 1 คน ดูแลประชากร 1 พันคน (หรือ 1 ต่อ 1 พัน) ส่วนของไทย มีหมอจำนวน 2.4 หมื่นคนต่อประชากร 70 ล้านคน หรือจะอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 3 พันคน หรือมากกว่ามาตรฐานโลก 3 เท่า 

ขณะเดียวกัน ถ้าเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD (มีจำนวน 30 ประเทศ) มีแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 280 คน หมายความว่าไทยแย่กว่ากลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว 10 เท่า และทราบไหมว่า เขายังมีเป้าหมายจะเพิ่มหมอเข้าไปในระบบอีก ให้อัตราส่วนเป็น 1 ต่อ 230 คนเท่านั้น แต่รัฐบาลนี้กลับไม่มีนโยบายเลย

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรของหมอสูงมาก หมอต่อรายพื้นที่ต่างกันมาก หมอในโรงพยาบาลกรุงเทพฯ หมอ 1 คนดูแลคนไข้ 400 หรือ 1 ต่อ 600 คน แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัด หมอ 1 คนดูแลคนไข้ 3 พันคน หรือในโรงพยาบาลชุมชน หมอ 1 คน ดูแลประชากร 13,000 คน หรือ 1 ต่อ 2 หมื่นคน นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีในนโยบายแก้ไขในเรื่องดังกล่าว 

ศุภณัฐ อ้างข้อมูลจาก นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขานุการ แพทยสภา เผยว่าหมอ 90 เปอร์เซ็นต์ มีชั่วโมงทำงานหนักมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหมอ 60 เปอร์เซ็นต์ทำงานมากกว่า 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 30 เปอร์เซ็นต์ ทำงานมากกว่า 140 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

บุคลากรมทางการแพทย์ต้องควงเวร ทำงานติดต่อกัน 36-48 ชม. หรือ 2 วันเต็ม ทำงานเสมือนทาส “ผู้บริหารกระทรวง” ให้เขาทำงานเปรียบเสมือนหุ่นยนต์ ไม่มีมนุษยธรรม ไม่แปลกใจทำไมมีหมอฆ่าตัวตาย เสียชีวิตเพราะทำงานหนัก หรือเกิดอุบัติเหตุหลังจากออกเวรเสร็จแล้ว 

เคยมีการ พ.ร.บ. มาตรฐานการปฏิบัติงานสาธารณสุข เสมือนเป็นมาตรฐานว่า นักบินไม่ควรบินเท่าไร นี่เหมือนกันว่า หมอไม่ควรทำงานเกินกี่ ชม. ในกรณีที่มีการทำงานเกินมาตรฐานเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐ  แต่สิ่งๆ นี้ไม่เกิดขึ้นจริง เป็นการพูดถึง เพื่อหยุดกระแสข่าวต่างๆ เวลาที่มีแพทย์ฆ่าตัวตาย และปล่อยให้หายไป และแน่นอนว่าไม่ได้เขียนในนโยบายเช่นเดียวกัน

แต่นอนว่าภาระงานที่มากไม่ได้ส่งผลต่อแพทย์อย่างเดียว แต่ส่งผลต่อสวัสดิภาพของคนไทยทุกคน ผลการสำรวจพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเคสที่ผิดพลาด ส่วนใหญ่เกิดจากแพทย์พักผ่อนไม่เพียงพอ และทำงานหนักเกินไป 

15 เปอร์เซ็นต์ของเคสที่รักษาผิดพลาด ทำให้คนไข้เสียชีวิต และ 8 เปอร์เซ็นต์ทำให้คนไข้พิการ ไม่ใช่แค่หมอทำงานหนักจนตายเท่านั้น แต่คนไข้ก็เสี่ยงตายด้วยเช่นเดียวกัน มีคนไข้จำนวนมากเสียชีวิตในโรงพยาบาล เนื่องจากแพทย์ไม่เพียงพอ

"เราต้องรอให้หมอและคนไข้เสียชีวิตกันอีกกี่คน รัฐถึงจะออกแนวทางที่ชัดเจน พร้อมเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ลงไปในนโยบายของท่าน" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว 

ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม ทำงานนอกเวลาไม่ได้ค่าจ้าง 

ศุภณัฐ กล่าวต่อว่า เรื่องที่สอง คือเรื่องของค่าตอบแทน และสวัสดิการ และกฎหมายคุ้มครองบุคลากรสุขสาธารณสุข มีแพทย์หลายคนอยากออกจากระบบ และหลายคนยังทนทำอยู่ เพราะคำว่าห่วงคนไข้ แต่รัฐบาลที่ผ่านๆ มากลับทำตัวไม่มีมนุษยธรรมต่อเขาเลย และทำตัวเป็นนายจ้างที่ไร้จิตสำนึก 

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า เงินรัฐมนตรีเดือนละเป็นแสน แต่เงินเดือนแรกเข้าของหมอ ได้แค่ 18,000 บาท ส่วนตำแหน่งอาชีพอื่นๆ ได้น้อยกว่านี้มาก เพราะว่ามีสถานะแรงงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว เช่น เภสัชกร ได้เพียง 12,000 บาท พยาบาล-เทคนิคการแพทย์ ได้เงินเพียง 13,500 บาท ผู้ช่วยพยาบาลได้วันละ 300 กว่าบาท พวกเราคงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าพวกเขาเหล่านี้แห่กันลาออก ไปทำเอกชนกันหมด 

จำนวนงานภาระงานของเภสัชกร เขาดูจากจำนวนใบสั่งยาเท่านั้น ส่วนงานอื่นๆ ที่ต้องทำ เช่นงานในห้องจ่ายยา  ห้องผู้ป่วย คลังยา และเวชภัณฑ์ งานผลิต และงานคุ้มครองผู้บริโภค รัฐไม่นับว่าเป็นการทำงาน ทำงานฟรีทั้งหมด 

เทคนิคการแพทย์หลายคนโดนปลุกตอนตี 3 เนื่องจากแพทย์ต้องรีบใช้ผลตรวจ บุคลากรเหล่านี้เวลางีบต้องงีบหลับคาโต๊ะ ความเสียสละของเขาไม่ได้รับการตอบแทนที่เป็นธรรม มีเพียงสัญญาลมๆ แล้งๆ ว่าจะแก้ไข แต่ก็เงียบหายไป เป็นเหมือนปัญหาที่ซุกใต้พรมอยู่เหมือนเดิม

นอกจากนี้ ศุภณัฐ สะท้อนปัญหาด้วยว่า ค่าตอบแทนของแพทย์ศัลยากรรมผ่าตัดสมอง ได้เงินในเวลางานเพียง 0 บาทเท่านั้น แต่ถ้าทำงานนอกเวลางานได้เงิน 1,200 บาท ถ้าอยู่เอกชนได้มากกว่านี้เป็น 10 เท่า หมอไปดูคนไข้ที่โรงพยาบาลวันเสาร์-อาทิตย์ รัฐไม่นับเวลาทำงานให้แพทย์ และไม่ให้เงินแม้แต่บาทเดียว นอกจากนี้ ค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 เมื่อปี 2565 จำนวน 3,800 ล้านบาท ทุกวันนี้รัฐยังไม่จ่ายให้เขา ต้องให้เขารอถึงเมื่อไร หรือจะชักดาบเขากันแน่ 

ศุภณัฐ ระุต่อว่า หวังว่าในพุธนี้ (13 ก.ย.) จะมีการประชุม ครม. จะมีเรื่องของค่าเสี่ยงภัยเข้าที่ประชุม และขอให้ ครม.อนุมัติงบประมาณกลาง ช่วยเหลือประชาชน และคุณหมอ 

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์จะยังไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพราะมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มิให้บังคับใช้กับลูกจ้างภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ถ้าต้องฟ้องรัฐ เวลาเกิดขึ้นพิพาท ฟ้องได้แค่ศาลปกครองเท่านั้น ไม่ใช่ศาลแรงงาน ซึ่งโอกาสชนะย่อมต่ำกว่า เพราะศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลชำนัญพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีใส่ในนโยบายของคณะรัฐมนตรีอีกเช่นกัน

กฎระเบียบไม่เอื้อให้แก้ไขปัญหาขาดกำลังคน

ต่อมา ศุภณัฐ ระบุว่า ปัญหาที่สามคือเรื่องกฎระเบียน กพ. ที่ล็อกโควต้าในการบรรจุ ระเบียบ กพ. มีการจำกัดจำนวนโควต้าบุคลากรสาธารณสุขไว้ที่ประมาณ 2 พันคนต่อปีเท่านั้น ไม่สามารถบรรจุคนตามความต้องการของหน้างานได้ ถ้าสมมติเกิดวิกฤต หรืองานหนักขึ้น ก็ไม่สามารถบรรจุคนได้ บุคลากรไม่พอ และแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ของบุคลากรที่เป็นอาชีพเภสัชกร พยาบาล เทคนิคการแพทย์ และนักโภชนการ ก็จะถูกจ้างในฐานะลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น ค่าตอบแทนน้อย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคง แต่รัฐบาลก็ไม่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้ 

สังคมสูงวัย ระเบิดเวลา สธ.

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า สุดท้าย รัฐไทยกำลังเผชิญกับสังคมสูงวัย หรือ aging society มีสังคมสูงวัยกว่า 12 ล้านคนที่รัฐต้องดูแล ในอีกทางหนึ่ง สังคมสูงวัยหมายถึงจำนวนเคสที่ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยขึ้น มีเคสรักษาที่รุนแรง และเร่งด่วนมากขึ้น ต้องใช้เวลาต่อเคสนานมากขึ้น หมอต้องมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ต้องหาเวลาไปพัฒนาองค์ความรู้ให้ทันสมัยรับมือกับโรคอุบัติใหม่อีก ภาระงานที่สูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการปฏิบัติ 

นอกจากนี้ ไทยมีนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 'medical tourism' จะเกิดการที่ภาคเอกชนแข่งขันซื้อตัวบุคลากรจากโรงพยาบาลภาครัฐ แพทย์ที่เหลือในระบบจะน้อยลง คุณภาพการรักษาจะแย่ลง การรักษามีโอกาสผิดพลาดมากขึ้น มีเคสเสียชีวิตมากขึ้น สุดท้ายเราจะแย่กันหมด ภาพในสมัยโควิด-19 จะกลับมาอีกครั้ง คนจนคนไม่มีเส้นจะนอนรอหมอจนเสียชีวิต เพราะการบริหารที่ล้มเหลวของภาครัฐ สุดท้ายนะครับ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คงเพียงแค่ลมปาก ถ้าไม่มีคนรักษา 

"พรรคเพื่อไทย จะประกาศยกระดับ หลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค เลือกหมอ เลือก รพ.ได้ ทำนัดออนไลน์ สถานพยาบาล ศูนย์ชีวาภิบาล ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ว่าจะนโยบายใดก็ตาม หนีไม่พ้นการพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ว่านโยบายไหนก็จะเป็นเพียงการโฆษณา ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้เลย 

"คิดได้แล้วครับว่า ท่านจะทำอย่างไรภายใต้ระบบสาธารณสุขที่เป็นอยู่แบบนี้ เพราะว่าท่านจะทำนา บนหลังบนบุคลากร แบบนี้ต่อไปไม่ได้ ถึงเวลาที่เราจะรักษาบุคลากรที่เราอุตส่าห์ปั้นเขาขึ้นมาให้อยู่ในระบบของเราต่อไป" สส.พรรคก้าวไกล ระบุ

ศุภณัฐ ตั้งคำถามไปยังรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขว่า ท่านคิดจะแก้ปัญหาอย่างนี้หรือไม่ และจะทำอย่างไร เพื่อให้ออกจากวิกฤตนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานการทำงานสาธารณสุข การกำหนดชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม การให้ค่าตอบแทนบุคลากรอย่างเหมาะสม กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ครอบคลุมลูกจ้างภาครัฐ การลดการกระจุกตัวในโรงพยาบาล การทำดิจิทัลเฮลท์ และอื่นๆ 

"การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ใช่แค่การทวงสิทธิให้บุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของคนไทยทั้งประเทศในฐานะผู้ใช้บริการ สุดท้ายเราทุกคนต้องป่วย และเราทุกคนต้องเข้าโรงพยาบาล ถ้าระบบไม่รอด เราก็ไม่รอดเหมือนกันหมด" ศุภณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net