Skip to main content
sharethis

งานศึกษาชี้ 'คนสมัครงาน' เผชิญกับอคติ เมื่อโพสต์ปัญหาสุขภาพจิตลงในโซเชียลมีเดีย LinkedIn ถูกมองว่ามี 'ความมั่นคงทางอารมณ์-ความรับผิดชอบ' น้อย


ที่มาภาพประกอบ: CREST Research (CC BY-NC-SA 2.0)

ปัจจุบัน แม้ว่านายจ้าง หรือคนในสังคมโดยทั่วไปเต็มใจที่จะพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผยมากกว่าในทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา (NC State) พบว่ายังมีอคติต่อผู้สมัครงานที่โพสต์ปัญหาด้านสุขภาพจิตส่วนบุคคลของตนลงบนโซเชียลมีเดีย

จากงานศึกษา Is It #okaytosay I Have Anxiety and Depression? Evaluations of Job Applicants Who Disclose Mental Health Problems on LinkedIn โดย Jenna McChesney และ Lori Foster เผยแพร่ใน Journal of Business and Psychology เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2023 ที่ได้ศึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การจ้างงานจำนวน 409 คน พบว่าคนหางานส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับอคติ เมื่อโพสต์ปัญหาสุขภาพจิตลงใน LinkedIn

งานศึกษาพบว่า หลังผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การจ้างงานดูโพสต์บน LinkedIn ที่สมมติขึ้นจากผู้สมัครงานที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การจ้างงานจะมองว่าผู้สมัครคนนั้นมี 'ความมั่นคงทางอารมณ์-ความรับผิดชอบ' น้อย

“ผู้คนมักได้รับการสนับสนุนให้พูดคุยเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนด้านสุขภาพจิตของตนบนโซเชียลมีเดีย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอคติที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต” ลอรี ฟอสเตอร์ (Lori Foster) ผู้ร่วมเขียนบทความวิจัย และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ NC State กล่าว

“เราคิดว่าการลดอคติต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่การศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่าการโพสต์เกี่ยวกับสุขภาพจิตบนแพลตฟอร์มเช่น LinkedIn อาจส่งผลที่ไม่คาดคิดสำหรับผู้ที่เปิดเผยปัญหาด้านสุขภาพจิตของตนเอง”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราพบว่าการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้สามารถมีอิทธิพลต่อวิธีที่ผู้คนมองเราในบริบททางวิชาชีพ” เจนนา แมคเชสนีย์ (Jenna McChesney) ผู้ร่วมเขียนบทความวิจัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Meredith College กล่าวเสริม “เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เมื่อตัดสินใจว่าจะแบ่งปันประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตทางออนไลน์หรือไม่”

อคติที่เกิดขึ้น เมื่อคนหางานโพสต์ปัญหาสุขภาพจิตลงในโซเชียลมีเดีย


ที่มาภาพประกอบ: ccnull.de (CC0)

ในการทำวิจัยนี้ ทีมงานของ NC State มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินขอบเขตที่โพสต์เกี่ยวกับสุขภาพจิตลงบน LinkedIn ว่ามีอิทธิพลต่อวิธีที่ผู้อื่นรับรู้ถึงบุคลิกภาพและประสิทธิภาพการทำงานในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นในที่ทำงาน

ทีมวิจัยจึงได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การจ้างงานจำนวน 409 คน แล้วแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 25%) กลุ่มที่ 1 อ่านโปรไฟล์ LinkedIn ของผู้สมัครงานที่ไม่มีการระบุถึงปัญหาสุขภาพจิตใดๆ เลย กลุ่มที่ 2 เห็นโปรไฟล์ LinkedIn เดียวกัน แต่รวมโพสต์ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้สมัครที่มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า กลุ่มที่ 3 เห็นโปรไฟล์ LinkedIn ที่ไม่มีการระบุถึงปัญหาสุขภาพจิตใดๆ และได้ยินการสัมภาษณ์ทางเสียงของผู้สมัคร และกลุ่มที่ 4 อ่านโปรไฟล์ LinkedIn ของผู้สมัครงาน รวมถึงโพสต์เกี่ยวกับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า และได้ยินเสียงสัมภาษณ์

จากนั้น ทีมงานสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมการศึกษาทุกคน และถามคำถามเกี่ยวกับบุคลิกภาพของผู้สมัครงานและผลการปฏิบัติงานในอนาคตในที่ทำงาน

“เราพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เห็นโพสต์ใน LinkedIn เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิต มองว่าผู้สมัครงานมีความมั่นคงทางอารมณ์น้อยลงและมีความรับผิดน้อยลง” แมคเชสนีย์ อธิบาย “การได้ยินการสัมภาษณ์ช่วยลดคำถามของผู้เข้าร่วมการศึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอารมณ์ของผู้สมัครงานได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการได้ฟังการสัมภาษณ์ไม่ได้ส่งผลต่อความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับการประเมินความรอบคอบของผู้สมัครงาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง การรับรู้ที่ผู้ประเมินมีหลังจากดูโปรไฟล์ LinkedIn ส่วนใหญ่ยังคงมีอยู่ตลอดการสัมภาษณ์”

อนึ่งในส่วนบทคัดย่อ (Abstract) ของงานศึกษาชิ้นนี้ ระบุว่าเมื่อผู้สมัครเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าบน LinkedIn สิ่งนี้จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ประเมินในการมองลักษณะบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้สมัคร (เช่น ความมั่นคงทางอารมณ์ ความรับผิดชอบ) แต่ไม่ใช่ความคาดหวังเกี่ยวกับผลงานการทำงานของผู้สมัคร

แนะนายจ้างควรให้ความยุติธรรมแก่ผู้ที่เปิดเผยปัญหาด้านสุขภาพจิตของตนเอง


ที่มาภาพประกอบ: Gift Habeshaw (Unsplash License)

“การค้นพบของเราไม่ได้หมายความว่าผู้คนควรละเว้นจากการโพสต์เกี่ยวกับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าบน LinkedIn” แมคเชสนีย์ กล่าวต่อ “อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังพิจารณาที่จะโพสต์เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ควรตระหนักว่าการทำเช่นนั้นอาจเปลี่ยนการรับรู้ของนายจ้างในอนาคตเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ได้”

ผู้เขียนบทความวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่าสังคมจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ที่สนับสนุนให้คนทำงานของตน “เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง” ก็ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ตรวจสอบผลลัพธ์เชิงบวกหรือเชิงลบที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน ทีมวิจัยเชื่อว่าการศึกษาครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจหัวข้อที่เหมาะสมยิ่งนี้ และยังแสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้อีกมากเพียงใด

“ยังมีผลกระทบต่อนายจ้างด้วย” ฟอสเตอร์สรุป “เมื่อฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ค้นหาผู้สมัครงานบน LinkedIn พวกเขาเสี่ยงจะเห็นข้อมูลที่กระตุ้นอคติของตนเอง องค์กรควรใช้แนวทางในการใช้ LinkedIn ระหว่างกระบวนการจ้างงานเพื่อส่งเสริมการเปรียบเทียบที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้สมัครทั้งหมด รวมถึงผู้ที่เปิดเผยปัญหาด้านสุขภาพจิตของตนเอง”

 

ที่มา:
Is It #okaytosay I Have Anxiety and Depression? Evaluations of Job Applicants Who Disclose Mental Health Problems on LinkedIn (Jenna McChesney & Lori Foster, Journal of Business and Psychology , 15 August 2023)
Job seekers still face bias when posting about mental health on social media (John Anderer, Study Finds, 30 August 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net