Skip to main content
sharethis

สถิติ 'ค่าจ้างรายอาชีพ' ของกรมการจัดหางาน พบปี 2566 เฉลี่ยแล้วคนไทยมีค่าจ้างต่อชั่วโมงสูงสุด 160 บาท ต่ำสุด 42 บาท ค่าจ้างต่อวันสูงสุด 850 บาท ต่ำสุด 328 บาท และค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 300,000 บาท ต่ำสุด 8,550 บาท


ที่มาภาพ: สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน

อัตราค่าจ้างรายอาชีพคืออะไร?

ข้อมูลอัตราค่าจ้างรายอาชีพ เป็นข้อมูลตลาดแรงงานที่มีประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ นายจ้างอาจใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดอัตราค่าจ้างของตำแหน่งงานต่าง ๆ ผู้สมัครงานอาจใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาสมัครงาน ครูอาจารย์สามารถใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนวการศึกษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานสามารถใช้เป็นข้อมูลในการแนะแนวอาชีพแก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการจัดหางาน

สำหรับประเทศไทย กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้ทำการวิเคราะห์และจัดทำรายงานข้อมูลอัตราค่าจ้างแรกเข้ารายอาชีพ มาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยวิเคราะห์จากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางาน แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลอัตราค่าจ้างรายอาชีพในตลาดแรงงาน แต่ก็มีจำนวนที่มากและมีความหลากหลายพอสมควร ทั้งนี้การจัดทำข้อมูลอย่างต่อเนื่องจะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างแรกเข้าในตลาดแรงงานได้อีกด้วย

อนึ่ง การจัดทำข้อมูลค่า จ้างรายอาชีพปี 2566 ในครั้งนี้ศึกษาจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางานจำนวน 86 แห่ง ทั่วประเทศ ข้อมูลการจ้างงานในภาครัฐจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) และบริษัทจัดหางานเอกชน จำนวน 11 แห่งจึงทำให้บางสาขาอาชีพอาจไม่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ และการคำนวณอัตราค่าจ้างคิดจากค่าจ้างที่เป็นตัวเงินตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษา 'ค่าจ้างรายอาชีพปี 2566'

1) ค่าจ้างในภาพรวมทั่วประเทศ ค่าจ้างต่อชั่วโมงสูงสุด 160 บาท ต่ำสุด 42 บาท ค่าจ้างต่อวันสูงสุด 850 บาท ต่ำสุด 328 บาท และค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 300,000 บาท ต่ำสุด 8,550 บาท

2) ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 300,000 บาท อยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก 200,000 บาท ภาคตะวันตก 160,000 บาท ภาคเหนือ 130,000 บาทและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 120,000 บาท

3) ค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุดอยู่ในภาคใต้และภาคเหนือ 8,550 บาท กรุงเทพมหานคร 8,610 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,650 บาท ภาคกลาง 8,690 บาท ภาคตะวันออก 8,750 บาท และภาคตะวันตก 9,000 บาท

4) ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บริหาร ผู้จัดการ 29,442 บาท ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ 21,141 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 16,978 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 14,761 บาท พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 13,431 บาท ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ 12,901 บาท ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 12,250 บาท ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง 12,010 บาท และอาชีพงานพื้นฐาน 11,204 บาท

5) อาชีพที่มีค่าจ้างต่อเดือนสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) 300,000 บาท : ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการด้าน (การผลิต การเงิน การตลาด การขายและบริการ) วิศวกร ผู้ประกอบวิชาชีพด้านฐานข้อมูลและเครือข่าย (2) 250,000 บาท : ผู้จัดการด้านการบริการธุรกิจ (3) 230,000 บาท : หัวหน้าคุมงานด้านการผลิต (4) 200,000 บาท : ผู้บริหารระบบงานคอมพิวเตอร์ แพทย์ทั่วไป ผู้จัดการด้าน (การจัดหาและจัดส่งสินค้าการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัยและพัฒนา และทรัพยากรบุคคล) (5) 170,000 บาท : นักวิเคราะห์ด้านการบริหารและองค์การ

6) อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) นักวิเคราะห์การเงิน 47,225 บาท (2) ผู้บริหารระบบงานคอมพิวเตอร์ 37,588 บาท (3) นักวิเคราะห์และพัฒนาซอฟต์แวร์ 30,225 บาท (4) นักพัฒนาซอฟต์แวร์29,110 บาท และ (5) นักวิเคราะห์ด้านการบริหารและองค์การ 27,377 บาท

7) อาชีพที่มีความต้องการมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) พนักงานขายในศูนย์บริการลูกค้า(2) เสมียนทั่วไป (3) ตัวแทนขายด้านการค้า (4) ผู้ประกอบวิชาชีพด้านโฆษณาและการตลาดและ (5) เสมียนด้านบัญชี

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net